ที่มา:มติชนรายวัน 15 ม.ค.2556
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหนังสือขอความชัดเจนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 หรือไม่
คอมเมนต์จากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ
เมื่อมีการยื่นคำร้องมา คงนำเข้าที่ประชุมคณะตุลาการ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นคำร้องและมีเพียงเสียงเดียวคงตัดสินอะไรไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องอธิบายคำวินิจฉัยที่ออกไปหรือไม่ นายวสันต์ชี้แจงว่า ไม่มีหน้าที่ แต่ถ้าถามว่าคู่กรณีไม่เข้าใจในคำวินิจฉัยสามารถสอบถามได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า คู่ความตามคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูก่อนว่าคู่ความร้องมาว่าอย่างไร
ไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจ โง่จริงๆ หรือแกล้งโง่ ถ้าแกล้งโง่ ก็ขอให้โง่จริงๆ
คำอธิบายจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ เเกนนำ นปช.ก็คือ การเขียนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยากแก่การตีความ
หากตีความไม่ตรงก็โดนร้องเรียนอีก วิกฤตบ้านเมืองจะกลับมาใหม่ จึงต้องไปถามว่าต้องการให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือโหวตวาระ 3 ได้เลย
"ผมอุปมาว่าผมเป็นพนักงานเสิร์ฟ เเล้วไปถามตุลาการว่าต้องการรับประทานอาหารอะไร จะได้ไปบอกกุ๊ก ขอให้ตอบสองคำถามที่พวกผมยื่นไป ประเทศนี้จะมีทางออก"
สิ่งที่ไปสอบถามศาลนั้นเป็นคำถามจากคำวินิจฉัยที่กำกวม เเละไปถามว่าต้องการให้ปฏิบัติเช่นใด เเละอ้างรัฐธรรมนูญมาตราใด สองคำถามนี้ประหยัดงบประเทศ 2,000 ล้านบาท
"อยากให้ศาลชี้แจงให้ชัดเจน ท่านจะว่าพวกผมโง่หรือแกล้งโง่ก็ไม่เป็นไร พวกเราไม่โกรธ แต่ขอวิงวอนให้ท่านได้แกล้งฉลาดสักครั้ง" นายจตุพรกล่าว
ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าโหวตวาระ 3 แต่เมื่อสะดุด จึงไปมอบจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เสียดายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตอบโต้รวดเร็วเกินไป แต่ยังอยากรักษาไมตรีและมองในแง่ดีว่าข้อสงสัยจะได้รับการพิจารณา
พิจารณาตามเนื้อผ้า เห็นกันทั้งเมืองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ เวลานี้ ไม่ถึงทางตันก็เหมือนตัน
การลงมติในวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ที่ค้างคามาจากต้นปี 2555 ก็ไม่อาจกระทำได้
เพราะการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอแนะ หากจะยกร่างทั้งฉบับ ให้ทำประชามติถามประชาชนก่อน
แม้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความโน้มเอียงจะทำประชามติก่อน โดยเข้าใจว่า เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ก็ยังมีความไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่า จะเกิดปัญหาทำให้เกิดการยื่นตีความอีกหรือไม่
ต้องยอมรับว่า อาการชะงักมาร่วมปีของกระบวนการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมโยงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
และมีเสียงร่ำร้องหาความกระจ่างมาตลอด
ใครแกล้งโง่ ใครแกล้งฉลาด
คำตอบไม่ได้ลอยอยู่ในสายลมแต่อย่างใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น