ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 392 วันที่ 29 ธันวาคม 2555 – 4 มกราคม 2556 หน้า 6 คอลัมน์ เวทีความคิด โดย ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศคว่ำการทำประชามติ โดยเชื่อว่าเป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นชนวนที่พร้อมจะถูกจุดให้ลุกลามรุนแรง
*********
อาจารย์นิธิมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกร่างบนความไม่ไว้วางใจนักการเมือง ต้องการลดอำนาจของนักการเมืองและกันนักการเมืองออกไป แต่ถึงตอนนี้นักการเมืองต่างจังหวัดกลับได้ชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัดเป็นฐานเสียง โอกาสที่จะแพ้การเลือกตั้งจึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงโอกาสที่จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งในสังคมไทยก็ยากมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญกับสภาพทางการเมืองของไทยจะไม่สอดคล้องกันเพียงใด ในความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจในเมือง ข้าราชการ ทหาร คนงานคอปกขาว และกลุ่มแรงงาน กลับรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถจัดดุลอำนาจได้เหมาะสมที่สุด คือไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ติดอาวุธนานาชนิดในการกำกับนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการแบ่งอำนาจที่ลงตัวพอดี
“แต่ถามว่าลงตัวจริงหรือไม่ เมื่อจำนวนคนที่สนับสนุนนักการเมืองต่างจังหวัดคือพวกคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าเขาจะเลือกใครก็ได้นะครับ แต่ต้องเป็นนักการเมืองต่างจังหวัดที่จะกระจายทรัพย์สินของรัฐลงไปยังต่างจังหวัดด้วย คนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะมาก ผมจึงคิดว่ายังไม่ลงตัว มันจึงทะเลาะกัน แต่ที่ลงตัวจะเป็นการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่หรือไม่ ผมไม่ทราบ”
อาจารย์นิธิชี้ปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คนส่วนใหญ่มองเห็นคือ การสงวนอำนาจไว้กับกลุ่มที่เรียกว่าชนชั้นนำ ซึ่งประกอบไปด้วยขุนนาง กองทัพส่วนหนึ่ง และข้าราชการฝ่ายตุลาการที่มีอำนาจค่อนข้างมาก
เห็นได้จากฝ่ายตุลาการเป็นผู้กำหนดและคัดเลือกคณะกรรมการองค์กรอิสระและสมาชิกวุฒิสภาแม้ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับประชาชนแต่อย่างใด
อาจารย์นิธิชี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการสร้างฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ข้อผิดพลาดประการสำคัญในเชิงหลักการคือ การไว้วางใจให้การกำกับควบคุมฝ่ายบริหารอยู่ในมือองค์กรอิสระมากเกินไป แม้ว่าองค์กรอิสระจำเป็นต้องมี แต่ผู้ที่จะควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ดีที่สุดคือสังคม แต่อำนาจสังคมก็มีน้อยเกินไป เมื่อองค์กรตรวจสอบต่างๆล่มสลายในยุครัฐบาลทักษิณ จึงไม่เหลือกลไกใดๆไว้ตรวจสอบ กำกับ และควบคุมรัฐบาลอีกเลย
อาจารย์นิธิเห็นว่า การได้มาขององค์กรอิสระและวุฒิสภาเชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งควรมีการกำหนดระยะเวลาและบทลงโทษที่ชัดเจนในการออกกฎหมายลูกตามที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลละเลยสิ่งนี้ เช่น ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาลทันที เป็นต้น
ปฏิรูป 3 สถาบันหลัก
นอกจากการเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้แก่สังคม และทำให้อำนาจของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรปฏิรูป 3 สถาบันหลักในสังคม หนึ่ง-ปฏิรูประบบตุลาการ สอง-ปฏิรูปกองทัพ และสาม-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือต้องกำหนดพระราชอำนาจที่ชัดเจนว่าคืออะไร อย่าทิ้งให้คลุมเครือเป็นอันขาด อำนาจตามกฎหมายจริงๆของสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ส่วนจะใช้อำนาจทางวัฒนธรรมอย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ส่วนการปฏิรูปสถาบันตุลาการ อาจารย์นิธิกล่าวภาพรวมว่า การที่กระบวนการยุติธรรมไทยดำรงอยู่ได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน หัวใจสำคัญอยู่ที่กลุ่มต่างๆในสังคมสามารถจัดการกับกระบวนการยุติธรรมได้ตามอำนาจที่ตนเองมีอยู่
“ถ้าคุณมีอำนาจน้อย คุณก็จัดการได้น้อย ลักษณะการกระจายอำนาจการใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมสะท้อนอำนาจความเป็นจริงของสังคมไทย คำพูดง่ายๆที่ทุกคนรู้กันอยู่คือ รวยซะอย่าง ไม่ติดคุกหรอก จริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็แปลว่าเราให้ความรวยแก่คนที่มีอำนาจ แล้วเราก็ให้อำนาจแก่คนที่รวย”
สิ่งนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ทุกคนจึงพอใจที่จะกล่าวว่าศาลคือที่พึ่งสุดท้าย เพราะสามารถหลบหนีกฎหมายได้ตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมถ้ามีเงินและอำนาจ
คำถามคือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยน การจัดการกับกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบในแบบเดิมจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งอาจารย์นิธิเชื่อว่าไม่ได้ และนี่คือเหตุผลที่พบว่าเวลานี้กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ตำรวจ ศาล ถึงเรือนจำ กำลังถูกตั้งคำถามตัวใหญ่ เพราะยังมีคนที่ไม่มีเงินและอำนาจที่ต้องการกระบวนการยุติธรรมอีกชนิดหนึ่งที่ไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย
แม้จะดูเหมือนว่าการปฏิรูปสถาบันทั้ง 3 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่นับสถาบันกษัตริย์แล้ว อาจารย์นิธิเชื่อว่า การที่สถาบันตุลาการและทหารจะดำรงอยู่ได้ต้องเกิดจากการยอมรับของสังคม เมื่อใดที่สังคมตั้งคำถามต่อสถาบันทั้งสองนี้มากขึ้น เชื่อว่าในที่สุดทั้งสองสถาบันจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้จะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม
อาจารย์นิธิประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่า จะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังที่คิด เพราะหากจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญผูกพ่วงกับการปลดบ่วงคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจากับทุกกลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ นักธุรกิจอุตสาหกรรม หรือกลุ่มข้าราชการ
“ผลประโยชน์ของพวกคุณผมจะไม่แตะ แต่ครั้งนี้ขอเรื่องนี้เรื่องเดียว จะแลกกับอะไร นี่คือวิธีวิเคราะห์และแก้ปัญหาของนักการเมืองที่ไม่ได้ยึดหลักการ แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปมองว่าจะไปไม่รอด มันจะไปไม่รอดถ้าไม่สามารถเจรจากันได้ ไม่มีวันที่คุณจะเจอรัฐบาลไทยที่ไม่คอยเอาใจกลุ่มขุนนาง ทหาร ตุลาการ ไม่มีหรอก อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่เหยียบแข้งเหยียบขากัน แม้แต่คุณทักษิณเอง”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิเชื่อว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถสร้างดุลแห่งอำนาจที่ทุกคนยอมรับได้ และถูกทดลองใช้ไปสักระยะหนึ่ง ความขัดแย้งในสังคมน่าจะทุเลาลง แต่ก็อาจต้องแลกด้วยความไม่ชัดเจนในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดังเช่นที่ผ่านๆมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น