โดย จักรภพ เพ็ญแข จาก RED
POWER ฉบับที่
32 เดือนมกราคม 2556
ตอน ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน “ไผ่แดง” (ตอนที่ ๒)คอลัมน์ หนังสือกับประชาธิปไตย
ในบทต่อมาที่ชื่อ
“ข้าหวิดไม่แพ้” เป็นการแนะนำ แกว่น แก่นกำจร
กับผู้อ่านอย่างเป็นทางการ
ตัวละครที่ผู้เขียนกำหนดให้เป็นตัวแทนของลัทธิใหม่ทางการเมืองหรือคอมมิวนิสต์ คือนายแกว่นฯ
คนนี้ เป็นกรณีคลาสสิคของการปั้น “ผู้ร้าย” แบบไทยๆ เพราะสุดท้ายผู้ร้ายคนนี้ก็กลับใจมาคิดอะไรอย่างเดิมๆ
และรับใช้ทุกสิ่งทุกอย่างตามเดิม
เป็นการกลับมาเป็นพระเอกตามคติไทยอย่างน่ารักน่าเอ็นดู
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
เปิดตัวนายแกว่นฯ ว่า
“...เขากลับเคยนึกฝันที่จะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีหน้ามีตา
เขาเคยนึกว่าเขาจะไปศึกษาที่กรุงเทพฯ แล้วเข้ารับราชการ
ได้มียศมีตำแหน่งมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวง
มีทั้งเงินและอำนาจที่จะใช้คนอื่นอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตัวเขาเองได้
แต่ความปรารถนาอันหลงละเมอของเขานั้นได้ละลายหายสูญไปจนสิ้น เขาไปเรียนที่กรุงเทพฯ
จริง แต่สอบตกย่อยยับอยู่บ่อยๆ จนระอา ต้องเลิกเรียนกลับบ้าน
ระหว่างที่เขายังหนุ่มฉกรรจ์ พ่อแม่ก็ตายลง
ทิ้งบ้านและไร่นาไว้ให้กับเขาผู้เป็นลูกคนเดียว
ขณะนั้นเขาเป็นคนหนุ่มที่ยังอ่อนด้วยวัยและสติ
มิได้นึกเฉลียวว่าทรัพย์สมบัตินั้นหมดไปได้ ถ้าหากใช้ด้วยความฟุ่มเฟือย
แต่เขาก็เที่ยวเตร่คบเพื่อนฝูงและเล่นการพนันตามแบบอย่างที่คนหนุ่มชอบทำกัน
ไร่นาที่เขาได้รับตกทอดมาจากพ่อแม่ก็หมดไปทุกที จนเหลือแต่นาอีกแปลงหนึ่งหลังบ้าน
และตัวบ้านที่อาศัยอยู่ เพราะเหตุว่านายแกว่นเคยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เขาจึงติดตามอ่านหนังสือที่มาจากกรุงเทพฯ
โดยไม่ลดละ ชั้นบนของบ้านเขากองเต็มไปด้วยหนังสือต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน
รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน หนังสือเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเพื่อนแล้ว
ยังเป็นแสงสว่างฉายให้เขาได้เห็นชีวิตและความเป็นอยู่อันแท้จริงของสังคม หนังสือบางอย่างปลอบใจเขาให้รู้ว่าโชควาสนาอันอาภัพของเขานั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของเขาเองเลย
แต่เป็นไปตามกำหนดของสังคมปัจจุบันและระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
สังคมที่ฟอนเฟะเหม็นเน่า น่าสะอิดสะเอียน และระบบเศรษฐกิจที่ทารุณขูดรีด
ตั้งอยู่บนหยาดเหงื่อเลือดเนื้อและโครงกระดูกของคนเช่นเขา และชาวบ้านในบางนี้
ยกเว้นกำนันเจิมซึ่งเป็นตัวแทนของระบบศักดินาและสังคมที่น่ารังเกียจ
และสมภารกร่างผู้เป็นทั้งตัวแทนของชนชั้นต่ำ ศักดินา
และเป็นผู้ค้ายาเสพติดอย่างแรงคือ ศาสนา...”
ตัวละครผู้ร้ายที่ท้ายเรื่องจะกลับมาเป็น
“พระเอก” คนนี้
ถูกวางขั้นตอนของชีวิตให้สอดคล้องต่อความต่ำต้อยของชาวบ้านในสังคมแบบไทยเสียนี่กระไร
อาวุธสำคัญ ๒ อย่างของการดำรงไว้ซึ่งสภาพนิ่งตายในสังคมไทยปัจจุบันอยู่ตรงนี้เอง
หนึ่งนั้นคือความเชื่อว่าชาวบ้าน “โง่ จน เจ็บ”
เพราะความเลวของตัวชาวบ้านเอง ไม่มีใครทำอะไรให้ และไม่มีใครที่ควรพุทโธ
นานๆ ครั้งก็อาจจะขว้างเศษอาหารลงไปให้ด้วยความสมเพทเวทนาเท่านั้นเอง
และสองคือความเชื่อว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมนั้น
เกิดจากความล้มเหลวในชีวิตส่วนตัวของผู้เรียกร้อง
และอาจจะเรียกร้องสิทธิด้วยความอิจฉาริษยาคนอื่นที่เขาขยันกว่าและมีความสามารถสูงกว่า
ลัทธิบางอย่างเช่นคอมมิวนิสต์ก็มีไว้หลอกให้คนเหล่านี้ให้คิดโทษคนอื่นมากกว่าจะโทษตัวเอง
โดยในตัวลัทธิไม่ได้มีคุณค่าหรือสาระสำคัญใดๆ อีกเลย
ผมเองเคยศึกษาระบบการเมืองมาทุกระบบ
และไม่ได้เห็นว่าลัทธิสังคมคอมมิวนิสต์แบบสุดขั้วจะเป็นคุณประโยชน์อะไรนักต่อสังคมมนุษย์
ซึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดนั้นดีเกินกว่าที่ธรรมชาติและสันดานดั้งเดิมของมนุษย์จะอำนวยให้เป็นได้
แต่ผมก็คิดว่าผู้เขียนไม่ได้ให้ความเป็นธรรมนักต่อชาวบ้านที่ตั้งคำถามถึงระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่รอบตัวเขาว่าเป็นเหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาอยู่ในสภาพด้อยพัฒนาอย่างนี้หรือไม่
“ไผ่แดง” เขียนมานานขนาดไหนแล้ว
แต่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ชาวบ้านนิ่งตายต่อไปก็ยังไม่หยุดหย่อนและยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงฐานความคิดไปจากเดิมเลย
ลองเปรียบเทียบกับ
พ.ศ.๒๕๕๕ ดูก็ได้ วันนี้เรากำลังต่อสู้กับแนวคิดอะไร การที่มวลชนฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยมีความเกลียดชัง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง
ก็โยงได้ถึงเหตุผลในความเกลียดชังนั้นได้ไม่ยาก
พูดไปพูดมาก็จะตีตราว่ามวลชนฝ่ายประชาธิปไตยนั้นโง่
รับสินบนนิดหน่อยจากระบบทักษิณอุปถัมภ์แล้วก็มาหลงรักเขาหัวปักหัวปำ และยืนยันให้สังคมกลับไปยืนอยู่ที่เดิมคือ
ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยไม่ต้องมีคำว่า ประชาชน หรือ ประชาธิปไตย ต่อท้ายเลย
ไม่ต่างอะไรจากเหตุผลที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ อธิบายปรากฏการณ์ส่วนตัวของ แกว่น
แก่นกำจร แนวคิดที่ระบายออกมาทางองค์กรเฉพาะกิจอย่าง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “องค์การพิทักษ์สยาม”
ชี้สิ่งเหล่านี้ว่าไม่มีการพัฒนาขึ้นจากสังคมไทยสมัย “ไผ่แดง” เพียงใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยขึ้น
ใครที่อ่าน “ไผ่แดง” ในยุคนั้น
โดยเฉพาะอ่านแล้วรู้สึกสนุกเข้าไส้และชื่นชมว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ช่างเข้าใจในจิตใจของชาวบ้านไทยเหมือนกับที่ผมเคยรู้สึก
ย่อมจะคิดว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษยิ่งไปกว่าสังคมอื่นใดในโลก
โลกเขาเปลี่ยนมายอมรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่
ไทยไม่ต้องเพราะ “เมืองไทยนี้ดี” ตามที่โฆษณาชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา การเมืองของไทยก็ถูกวาดภาพให้ชั่วร้ายเลวทราม
เพราะไม่ต้องการให้นักการเมืองมาแทนที่ผู้มีอำนาจเก่าๆ ที่ใครเลือกมาก็ไม่รู้
นี่คือวิธีสื่อสารที่ไม่มีความแตกต่างอะไรเลยจากวันที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
นั่งเขียนเรื่อง “ไผ่แดง” เป็นตอนๆ
ให้กับนิตยสาร “ชาวกรุง” ซึ่งอยู่เครือเดียวกับ
“สยามรัฐ” ที่ตัวเป็นเจ้าของ
อยู่มาวันหนึ่ง
แกว่นก็เดินไปบ้านกำนันเจิม ใจคิดจะเอาเรื่องเต็มที่
เมื่อไปถึงแล้วก็เห็นกำนันกำลังสั่งการให้ลูกจ้างขนข้าวเปลือกออกจากลานนวดขึ้นฉางอยู่พอดี
แกว่นจึงออกโรงทันที
“ข้าวเปลือกนี่ท่านกำนันจะเก็บไว้ทำไม?” เขาถามขึ้น
“อ้าว! “ กำนันออกอุทานแล้วก็มองหน้าเขาอย่างสงสัย
“ก็เก็บไว้กินบ้างทำบุญบ้าง เหลือก็ขาย เอ็งไม่รู้หรอกหรือ?”
“ถ้าเป็นฉัน ฉันกินไม่ลงหรอกท่านกำนัน” เขาพูดเรียบๆ พยายามข่มความรู้สึกที่มีอยู่ในใจของเขาไว้
“เอ๊ะ! เอ็งเป็นอะไรไปหรือแกว่น” กำนันถามอย่างไม่เข้าใจ “เจ็บไข้เป็นอะไรจนกินข้าวไม่ได้เชียวหรือ?”
“ข้าวน่ะฉันกินได้หรอก” แกว่นตอบ
“แต่ที่ฉันกินไม่ได้และไม่ยอมกินนั้นก็คือ
แรงงานส่วนเกินของชนชั้นที่ถูกขูดรีด”
“อะไรนะ?” กำนันหย่อนตัวลงมานั่งแล้วเหลียวมามองดูเขาด้วยความสนใจ
ในดวงตาของกำนันนั้นแสดงว่ามีความตกใจและความวิตกอยู่มาก “อะไรนะแกว่น?
ไหนว่าให้ข้าฟังอีกทีเถอะ ข้ามันแก่แล้ว หูเฟืองมันไม่ใคร่ดี
ได้ยินอะไรมันเขวๆ อยู่บ่อยๆ”
แกว่นกำหมัดแน่นแล้วก็ตอบกำนันว่า
“ฉันว่า
ว่าข้าวเหล่านี้เกิดจากแรงงานส่วนเกินของคนอื่น
มันควรจะเป็นของคนเหล่านั้นจึงจะถูก แต่นี่มันกลายเป็นของกำนันไป” เขาพูดพลางกวาดตาดูรอบๆ เจ้าถม เจ้าซ้อน เจ้าแทน และคนอื่นๆ
อีกสองสามคนซึ่งรับจ้างกำนันขนข้าววางสัดวางถังลงและยืนฟังเขาอย่างสนใจ
เจ้าถมพยักหน้าให้เขาทีหนึ่งเป็นเชิงให้ท้าย
ส่วนเจ้าแทนนั้นเบือนหน้าไปถ่มน้ำลายอย่างแรงเป็นการสนับสนุนคำพูดของเขา
กำนันยกมือเกาหัวแล้วก็พูดว่า
“แกว่น นี่ถ้าเป็นคนอื่นพ่อตีกบาลแยกไปแล้ว
แต่เอ็งมันเหมือนลูกเหมือนหลาน ข้าจึงไม่ถือ
เอ็งว่าอะไรของใครก็ไม่รู้มันเกินเข้ามาในข้าวของข้า...”
“แรงงานส่วนเกิน” แกว่นแนะให้
“เออ! นั่นแหละ” กำนันตอบ “ข้าจะว่าให้เอ็งฟัง ข้าอยู่บางนี้มาตั้งแต่หนุ่มก่อนเอ็งเกิด คนบางนี้เขารู้จัก
ถ้ามีอะไรเกินก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ข้าเอง ถ้ามีอะไรเหลือกิน ข้าก็ทำบุญบ้าง
แจกจ่ายไปบ้าง ไม่เคยเก็บสุมหัวให้มันรกบ้านอย่างข้าวที่กำลังขนอยู่นี้
ถ้าเป็นแต่ก่อนก็ไม่ต้องเสียอัฐ
เพราะบอกแขกช่วยกันตั้งแต่ดำไปจนเกี่ยวมานวดมาขนและขนขึ้นยุ้งฉาง เดี๋ยวนี้เสียอีก
ข้าต้องจ้างคนมาเกี่ยวมานวดมาขน เพราะข้าทำเองไม่ไหว แก่ก็แก่แล้ว
งานหลวงก็ยังมีจะต้องทำ แต่ไอ้ข้าวที่เห็นนี่มันก็ไม่มากมายอะไร
ลำพังข้ากับลูกหลาน กินบ้างทำบุญบ้าง ก็เกือบจะไม่พอ แต่ข้าบอกว่า ในบางนี้แหละ
ถ้าใครอดใครอยากก็มาเอาไปกิน ข้าไม่หวง...”
หลังจากที่ตัวละครฝ่าย
“ลัทธิใหม่” และฝ่าย “อำนาจเก่า”
เปิดฉากโต้วาทีกันเรียบร้อยที่ลานนวดข้าวของกำนันเจิม
แทนที่เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็น “การปฏิวัติ”
กลางหมู่บ้านไปในบัดดล ปรากฏว่าท่านกำนันท่านก็แสดงบทบาทของอำนาจเก่าที่เราคุ้นเคยกันมานาน
ซึ่งอาจเรียกได้ว่ายุทธศาสตร์ “ปรองดอง”
“เอาเถิด! เอาเถิด! แกว่นข้ายอมแล้ว
ข้าไม่มานั่งค้าความกับเอ็งอีตอนนี้ล่ะ นี่แน่ะกระบุง เอ็งเอาไปตวงข้าวโน่น
ส่วนไหนมันเป็นอะไรส่วนเกินของเอ็ง เอ็งก็ตวงเอาไป อย่ามัวชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่เลย
ตะวันก็บ่ายแล้ว เสียเวล่ำเวลาทำมาหากินของคนอื่นเขาเปล่าๆ
เอ็งก็เหมือนลูกเหมือนหลานข้าคนหนึ่ง อยากได้อะไรทำไมไม่บอกข้าตรงๆ
ข้าเคยหวงกีดกันเอ็งมาตั้งแต่เมื่อไหร่?”
“กำนันยังเข้าใจฉันผิด...” แกว่นพูดแล้วกวาดสายตาดูรอบๆ
แต่คนที่กำลังฟังเขาอย่างสนใจเมื่อกี้นั้นได้พากันขนข้าวเข้ายุ้งต่อไปเสียแล้ว
คงเหลือแต่เขายืนพูดอยู่กับกำนันเจิมคนเดียวจะมีประโยชน์อะไรที่เขาจะพูดต่อไปกับกำนันเจิม
ซึ่งจะไม่มีวันเข้าใจอะไรได้
เพราะคนอย่างกำนันเจิมนี่แหละที่จำเป็นต้องชำระล้างบัญชีกัน ในที่สุด
เมื่อวันนั้นมาถึง แกว่นกางแขนยกไหล่ แล้วหันหลังขบกรามแน่น ลงเรือกลับบ้าน...”
ถึงเรื่องจะพักลงตรงที่แกว่นไม่ยอมแพ้
ยังต่อสู้อย่างทรหดในใจของตนเองที่ไม่มีใครรู้เห็น แต่ผู้เขียนยังอุตส่าห์เขียนให้
“มวลชน” หมดความสนใจในสิ่งที่แกว่นนำเสนอ
โดยหันหน้าไปขนข้าวต่อ
นี่คือแนวคิดที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
ผู้คนที่เห็นแตกต่างไปจากมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งยังที่รู้สึกว่ามวลชนฝ่ายนี้เป็นเพียงเด็กเล็กๆ
ที่กำลังอาละวาดกระทืบมือกระทืบเท้าเพื่อจะเอาของบางอย่างที่ตัวต้องการเท่านั้น
หากฝ่ายอำนาจเดิมยื่นความเมตตาปรานีลงมาให้
เหมือนท่านกำนันเจิมที่โยนกระบุงมาให้แกว่นเอาไปตวงข้าว มวลชนก็จะดีอกดีใจเหมือนเด็กได้ของเล่น
และบ้านเมืองก็จะกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง
ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายอำนาจเก่าลองมาแล้วทุกอย่าง
ไม่ว่าจะยอมให้ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล (แต่ไม่ให้อำนาจรัฐอย่างแท้จริง)
เสนอคืนเงินหลายหมื่นล้านที่ยึดมาจากอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกกับการยุติความบาดหมาง
ฯลฯ แต่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียงกระบุงข้าวที่โยนลงมาให้เพื่อตัดความรำคาญและตัดปัญหาเท่านั้น
แกว่นหันหลังและเดินกลับไปลงเรือนั้นถูกแล้ว แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ยังวาดภาพต่อมาว่าแกว่นเดินกลับไปท่ามกลางความไม่สนใจของคนอื่นๆ
ที่คอยลุ้นระทึกอยู่ เสมือนจะพูดว่าทุกคนต้องการผลได้ของตัวเองเท่านั้นเอง
หากหลักการของแกว่นกินไม่ได้เขาก็ไม่เอาด้วย
และพร้อมจะกลับไปหากินกับระบบของกำนันเจิมอย่างเก่า
ปัญหาคือฝ่ายเขายังโยนกระบุงข้าวมาเรื่อยๆ
จนปัจจุบัน มวลชนประชาธิปไตยนั้นสว่างจนไม่น่ากลัวแล้วว่าจะไปงับเหยื่อเขา
แต่ผู้นำการเมืองและแกนนำการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ดูจะพอใจกันง่ายๆ นี่สิ
ไม่รู้ว่าจะรับกระบุงข้าวจากมือกำเนินเจิมหรือจะหันหลังลงเรือและพายกลับไปสู่ที่ตั้งเพื่อการต่อสู้อย่างเป็นระบบต่อไปกันแน่
คำพูดคำนี้ยังมีอานุภาพนัก มักจะลอยมาทางอากาศเสมอๆ ว่า “เอ็งก็เหมือนลูกเหมือนหลานข้าคนหนึ่ง
อยากได้อะไรทำไมไม่บอกข้าตรงๆ...” อันเป็นของที่พึงระวัง
ท่ามกลางความตึงเครียดในหมู่บ้านไผ่แดง
ก็ปรากฏว่าทุกข์ร่วมกันของชาวบ้านเกิดขึ้นมาตามการกำหนดของผู้เขียน
ทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้นมาทันทีว่าควรแก้ไขปัญหาข้อใดก่อนดี
ตัวละครที่ไม่ได้แสดงในเรื่องนี้ แต่ถูกเอ่ยอ้างเป็นผู้ร้ายตัวจริงมีชื่อว่า
เสี่ยเหล็ง ซึ่งจู่ๆ ก็ประกาศเป็นเจ้าของที่ดินผืนมหาศาลในหมู่บ้านไผ่แดง
โดยอ้างว่าตัวเองมีโฉนดที่ดินที่แสดงกรรมสิทธิ์อย่างครบครัน ขอให้ชาวบ้านทุกคนที่ล่วงละเมิดเขาอยู่จัดการอพยพไปอยู่เสียที่อื่นโดยพลัน
มิฉะนั้นจะให้นักเลงหัวไม้ถิ่นอื่นมาแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์กันให้แหลกไปข้างหนึ่ง
โดยที่เชื่อว่านายอำเภอก็เป็นคนของฝ่ายนายทุนขุนศึก
กำนันเจิมก็เป็นคนของหลวงและช่วยหลวงขูดรีดชาวบ้านอยู่ทุกเช้าค่ำ
สมภารกร่างหรือก็เป็นตัวแทนของศาสนาที่คอยหลอกลวงและเอาเปรียบมวลชนอยู่อีกแรงหนึ่ง
แกว่น แก่นกำจร จึงตัดสินใจรวมพลหมู่ชาวบ้านเข้าสู้ในงานนี้เอง
เขากระชับไม้เหลี่ยมในมืออย่างมั่นใจก่อนจะพายเรือไปยังวัดไผ่แดง
(ซึ่งไปทำไมก็ไม่รู้เหมือนกัน
เพราะสถานที่ที่กะว่าจะเผชิญหน้ากับสมุนของเสี่ยเหล็งก็มิใช่ที่วัด
แต่เป็นที่โคกกอไผ่หลังวัด)
เมื่อไปถึง
แกว่นก็ต้องแปลกใจเมื่อ “กองทัพ” ของเขาจำนวนหลายคนพากันมารวมตัวอย่างชุลมุนอยู่บนศาลาวัด ปรากฏว่า
สมภารกร่างกำลังทำพิธีแจกเครื่องรางของขลังต่างๆ
กับชายฉกรรจ์ทั้งหลายกันอย่างคึกคักอยู่ ณ ที่นั้น
จนแกว่นต้องเอ่ยอย่างถากถางออกมาว่า
“กำลังโรยยาพิษอยู่ทีเดียวสมภาร!”
สมภารกร่างทำเป็นหูทวนลมและออกปากว่าได้เก็บพระเครื่องไว้ให้แกว่นองค์หนึ่ง
เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันถ้าจะต้องเข้าตีกับพรรคพวกของเสี่ยเหล็ง
แต่แกว่นก็มิได้หยุดหย่อน ยังอยากประคารมกับเกลอเก่าคือสมภารกร่างต่อไป
ฉากละครฉากนี้จึงเกิด
“สหาย! ขอให้เราพูดกันอย่างเพื่อนเถิด
สหายจงอย่าฉวยโอกาสในเมื่อประชาชนเดือดร้อนคับขัน ประกาศลัทธิอันล้าสมัยของสหายเลย
วันหนึ่งการกระทำของสหายเช่นนี้จะถูกจับได้ สหายจะต้องรับผิดชอบต่อชนชั้นกรรมาชีพ
จริงนะสหาย! เราเตือนอย่างเพื่อน”
ชาวบ้านหลายคนพึมพำแสดงความไม่พอใจที่ได้ยินนายแกว่นเถียงพระ
และขณะเดียวกัน ขันติของสมภารกร่างก็แตกเปรี้ยงเหมือนใครทุบหม้อ
พระกร่างผุดลุกขึ้นแล้วก็ร้องว่า
“ไอ้แกว่น! เอ็งอย่ามาเบ่งที่นี่!
ไอ้พวกนี้มันมาขอพระข้าเอง ข้าไม่ได้ไปชักชวนมัน
มันบอกว่ามันจะไปตีกับพวกที่เข้ามารุกที่ไล่ที่ ข้าห้ามมันมันไม่ฟัง ไอ้ข้าก็เห็นใจ
เพราะไอ้พวกนักเลงจากจังหวัดมาข่มเหงคนถึงไผ่แดง ถ้ากูไม่ได้นุ่งผ้าเหลือง
กูก็จะไม่ยอมเหมือนกัน แต่จะให้กูไปตีกับเขาทั้งผ้าเหลือง กูไม่ไป กูก็ได้แต่ใช้อาวุธของกู
เออ! พระเครื่องตะกรุดที่มึงไม่เอานี่แหละวะ เมื่อมึงไม่เอาก็ดีแล้ว
แต่มึงอย่ามาดูถูก ออกไปเดี๋ยวนี้ ไอ้แกว่นออกไปให้พ้นวัดกู พาพวกมึงออกไปด้วย! ไป!
ขืนอยู่ช้ามึงจะเจ็บตัว มึงอย่าประมาทว่ากูเป็นพระทำอะไรมึงไม่ได้
มึงอยากจะลองก็เอา!...”
แต่ความเป็นละครคงจะไม่พอ
เมื่อถึงเวลาจะตีกันจริงๆ เพราะเห็นชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่เดินข้ามทุ่งมาแต่ไกล ผู้เขียนก็ให้แกว่นวิ่งเข้ามาคุกเข่าประณมมืออยู่ข้างสมภารกร่างและกระตุกจีวรเสียถี่ยิบ
“...ก่อนที่สมภารจะพูดอะไรทัน แกว่นพูดละล่ำละลักขึ้นก่อนว่า
“หลวงพ่อครับ... หลวงพ่อ... ขอพระผมองค์ครับ
เร็ว! มันมาโน่นแล้ว ขอผมองค์... ตะกรุดยังเหลือก็เอา!”
สมภารกร่างคอหอยตีบตันพูดไม่ออก หูอื้อ นัยน์ตาลาย
ล้วงลงไปในย่ามด้วยมือไม้อันสั่น หยิบพระส่งให้แกว่นแล้วก็เสกพึมพำไปตามเรื่อง
แกว่นรับพระไปใส่กระเป๋าก้มลงกราบที่ตีนสมภาร แล้วก็วิ่งเหย่ากลับไปหาพวกพ้อง...”
ทัศนะหนึ่งของผู้มีอำนาจแต่เดิม
เมื่อเห็นประชาชนทวงถามสิทธิและเสรีภาพขึ้นมา
คือคิดว่าประชาชนในท้ายที่สุดก็ต้องวิ่งกลับมาและตนเป็นที่พึ่ง
ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในหลายประเทศจึงกลายเป็นบันทึกแห่งความรุนแรงและการเสียเลือดเนื้อ
เพราะฝ่ายประชาชนก็สู้เต็มที่ในขณะที่ผู้ครองอำนาจเดิมเกิดชะล่าใจหรือประมาทว่าผู้คนเขายังรักตนอยู่
ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะไปเผลอหลงเชื่อในการโฆษณาชวนเชื่อเกียรติคุณอันหนักหนาที่ตนสั่งทำขึ้นเอง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ใช้พระเครื่องและตะกรุดเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งปันเจือจานระหว่างผู้มีอำนาจและมวลชน
ซึ่งดูเหมือนจะมีคุณค่าทางใจมากล้นจนแม้สมภารกร่างยังหยิบพระส่งให้เกลอเก่าด้วยมือไม้สั่น
และทำให้สาแก่ใจโดยเขียนว่า “แกว่นรับพระไปใส่กระเป๋าก้มกราบที่ตีนสมภาร...” ทั้งที่คำว่าเท้าหรือแทบเท้าก็น่าจะได้ความหมายอย่างเดียวกัน
มวลชนที่วิ่งกลับมากอดเท้าเขา
เพื่อขอส่วนแบ่งที่เป็นเศษเนื้อข้างเขียง
ควรรู้ด้วยว่าเขาเหยียดหยามขนาดที่คิดว่ามากอด “ตีน” เขาด้วยซ้ำไป
เรื่องทั้งหมดกลับจบลงด้วยดี
เมื่อชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ที่เดินมานั้น ปรากฏว่าเป็นพวกของนายอำเภอที่กำนันเจิมไปตามมาช่วยระงับข้อพิพาทในไผ่แดง
หาใช่นักเลงของเสี่ยเหล็งไม่
นายอำเภอไหว้สมภารกร่างแล้วก็ชี้ทางออกที่ฟังง่ายเสียเหลือเกิน ตามประสาคนที่แก้ไขปัญหาของชาวบ้านด้วยปาก
นั่นคือบอกว่า “กรรมการสอบสวนเรื่องที่ดินรายนี้จะมาถึงมะรืนนี้
ฉันรับรองจะไม่ให้ใครมาทำอะไรพวกเราได้...” ราวกับว่าประเทศไม่รู้จักกี่แห่งที่เขาลุกฮือขึ้นฟาดกันเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเขาโง่เง่าเต่าตุ่นแท้ๆ
ท้ายของบทที่สอง
สมภารกร่างกลับเข้าไปสารภาพกับหลวงพ่อพระประธานว่าลืมตัวขาดความสำรวม
“ขออภัยผมเถิดครับ หลวงพ่อ”
“ขออภัยฉันไม่ได้หรอกสมภาร” หลวงพ่อตอบ “เมื่อรู้ตัวว่าอาบัติแล้วก็ต้องรีบปลง”
“หลวงพ่อครับ... หลวงพ่อ” สมภารกร่างพูดอึกอัก
“ผมอาบัติข้อไหนน่ะครับ”
“เอ! ไม่รู้สิสมภาร” หลวงพ่อว่า
“แต่ถ้าสงสัยก็ปลงอาบัติทุกกฎไปก็แล้วกัน
รีบไปปลงอาบัติกับหลวงตาหรุ่มเสียไป๊!”
การทำผิดผีทางการเมือง
มักจะแตกต่างจากความผิดทางกฎหมายที่มักบอกกันได้ชัดเจนว่าผิดอะไรและผิดมากผิดน้อยอย่างไร
เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจแท้ๆ เหมือนหมาที่มันถูกหมาอีกตัวฟัดเอาจนต้องยอมศิโรราบ
มันก็จะลงไปนอนหมอบและยอมรับความผิดในทุกกฎทุกข้อเหมือนกัน
เพราะมันต้องการโอกาสในทางการเมืองอีกครั้ง
แต่ในเมื่อมวลชนฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในบ้านเมือง
มองผู้นำฝ่ายเราอยู่อย่างตาไม่กระพริบ ข้อความข้างบนนี้ย่อมไม่ใช่คำแนะนำต่ออดีตนายกรัฐมนตรีที่ไหนทั้งนั้น.
(อ่านต่อฉบับหน้า)
*************************************************************************************************
คอลัมน์ "ร้านทีพีนิวส์แนะนำหนังสือ"
คีตกวีลูกทุ่ง... ไพบูลย์ บุตรขัน
"แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่
กล่อมลูกน้อยนอนเปลมิห่างหันเหไปจนไกล..." เพลงอมตะที่มีชื่อว่า
"ค่าน้ำนม" จากฝีมือและหัวใจของครูเพลงที่ชื่อ ไพบูลย์ บุตรขัน
เป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของอัจฉริยภาพอย่างไทยที่คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จัก
น่าดีใจที่นักเขียนมือรางวัลและเป็นกวีเสื้อแดงที่น่าภาคภูมิใจอย่าง วัฒน์
วรรลยางกูร ได้เสียสละเวลามาค้นคว้า สัมภาษณ์ ครุ่นคิด
และเรียบเรียงออกมาเป็นสารคดีประวัติที่อ่านสนุกไม่แห้งแล้ง
เพราะเขียนด้วยฝีมือนักเขียนอาชีพ หนังสือที่ได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเล่มนี้ย่อมเป็นการเล่าเรื่องของชีวิตหนึ่งที่เราได้เคยสัมผัสผลงานของท่านมาอย่างไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะแง่มุมของเพลง "ค่าน้ำนม" ที่ครูไพบูลย์ฯ
เขียนเป็นของขวัญให้กับแม่ของท่านเอง
ขณะที่เจ้าตัวไม่มีเงินที่จะซื้ออะไรให้แม่ผู้เป็นที่รักของตนเลย
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งฯ
เรามักพูดถึงการเลือกตั้งกันอย่างหยาบๆ
ฉาบฉวย
ในทำนองว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้มวลชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสามารถแสดงเจตนารมณ์ของตนได้
ในสังคมเผด็จการจึงสาละวนอยู่กับการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง ไปจนถึงการเลือกตั้งที่ต้องโปร่งใส
บริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่อาจขาดความเข้าใจที่ลุ่มลึกเพียงพอ
หนังสือรวมบทความของนักวิชาการต่างประเทศทั้ง ๔ คน และมีอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ
เป็นบรรณาธิการเล่มนี้ เป็นการรวมดาราที่ศึกษาจนชำนาญในเรื่องของไทยศึกษา
และลงไปเก็บข้อมูลในสนามอย่างท้าลุย
ใครที่อยากรู้จักตัวเองว่าการเลือกตั้งในเมืองไทยเราเป็นกระจกสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยจริงหรือ
ต้องจับเล่มนี้ขึ้นอ่าน อย่าให้การเมืองแดง เหลือง
และหลากสีบังตาเราจนลืมศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ของบ้านเมือง
อยากรู้ว่าชนบทไทยรู้สึกนึกคิดจริงๆ อย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งไทยโดยตลอดมาก็ต้องอ่านในเล่มนี้เช่นกัน
ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
ตบหน้าฉาดใหญ่ท่ามกลางสังคมอันฉ้อฉลของไทย
เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของ ดร.ปรีดี พนมยงค์
ผู้ล่วงลับแล้วทั้งคู่ ได้เขียนพินัยกรรมด้วยสำนวนเรียบๆ แต่สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งสังคมว่า
"ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น"
คนรุ่นหลังที่ไม่รู้ลึกว่าเหตุใดประโยคที่ดูเหมือนธรรมดานี้จึงไม่ธรรมดา
และถึงกับทำให้กลุ่มคนเล็กๆ
ที่นึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศไทยถึงกับนั่งนอนไม่ติดที่อยู่หลายสัปดาห์
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะรวมเรื่องราวคำอธิบายการต่อสู้ของลูกผู้หญิงที่กร้าวแกร่งเสมอด้วยสามีของท่าน
ยังเป็นที่รวมภาพประวัติศาสตร์อีกมากมายที่นักประชาธิปไตยทั้งหลายควรเก็บรักษาไว้
อย่างน้อยชีวิตของท่านก็เป็นกำลังใจอย่างสำคัญให้กับเราว่า
สุภาพสตรีผู้สูญเสียสามี ลูกชาย ชื่อเสียงเกียรติยศไปทั้งหมดทั้งปวง
ท่านรักษาจิตใจของท่านไว้ได้ด้วยอะไร
**************************************************************************
**************************************************************************