เมื่อสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ เพื่อนหนุ่มสาวรุ่นเดียวกับผม ส่วนใหญ่รายได้ยังไม่มากนัก
หากไม่ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้
แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บางคนก็อยาก“โชว์”ว่า มี”ฐานะ” เครื่องบ่งบอกฐานะประการหนึ่ง
ของคนหนุ่มสาวในยุคเดียวกับผม ก็คือ
การสวมใส่สร้อยคอ /เลสข้อมือ / หรือแหวนที่ทำด้วยทองคำ
บางคนพยามเก็บหอมรอมริบอยู่นานกว่าจะได้เลสทอง(แท้)สักเส้น แต่บางคนก็ใช้วิธีรวยลัด ด้วยการใส่สร้อย
หรือเลสที่เป็นทองชุบ งานทองชุบดีๆนี่ดูแทบไม่ออกเลยนะครับ
แค่นี้ก็ทำให้ผู้สวมใส่ดูดีมีฐานะในสายตาคนภายนอก เป็นที่ชื่นชมและอยากคบค้าสมาคม(สำหรับคนที่ชอบคบคนโดยดูฐานะ)
แต่เมื่อไม่ใช่ทองแท้ เป็นแค่ “ทองชุบ” ต่อให้ใช้กรรมวิธีดีแค่ไหน
ในที่สุดทองมันก็ลอกเข้าสักวัน
ใครที่อยากรวยแบบหลอกๆ ก็เอากลับไปให้ช่างชุบใหม่
ผมคิดถึงเรื่อง “ทองชุบ”
/ “ทองลอก” เพราะเผอิญช่วงนี้เห็นข่าว
กรณีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกกล่าวหาว่า
“หนีทหาร” และใช้เอกสารที่มีพิรุธเพื่อสมัครเข้าเป็นอาจารย์ร.ร.นายร้อยจปร.
กลับมาเป็นข่าวโด่งดังอีกครั้ง
ตอนที่มีการเปิดประเด็นข่าวนี้ครั้งแรกๆเมื่อปี
๒๕๔๒
และอีกหลายปีต่อมาเมื่อคุณจตุพร พรหมพันธุ์ นำมาโจมตีคุณอภิสิทธิ์(และถูกฟ้องร้องเป็นคดีความอยู่ในศาลขณะนี้)
ผมเองยังมองว่าเป็นประเด็นที่ “ไม่เข้าท่า”นัก
เพราะจากประวัติชีวิตของคุณอภิสิทธิ์ ผู้ที่สังคมวาดหวังว่า นี่คือ “นักการเมืองในฝัน”(การศึกษาดี/บุคคลิกภาพดี/ชาติตระกูลดี/วาทศิลป์ดี/หน้า ตาดี)
ใครๆก็รู้ว่า เคยรับราชการเป็นอาจารย์ร.ร.นายร้อยจปร.
มียศร.ต.อีกต่างหาก แล้วจะมามีปัญหา “หนีทหาร”ได้อย่างไร
สารภาพผิดเลยว่า ช่วงนั้นในฐานะบรรณาธิการข่าว ผมยังบอกกับนักข่าวในสังกัดว่า
อย่าเล่นเรื่องนี้เลย เพราะนอกจากรู้ว่าคุณอภิสิทธิ์เคยรับราชการทหารแล้ว
ยังมั่นใจกับ“ภาพลักษณ์”ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ที่ปรากฎ
ว่าคนๆนี้ เป็น “นักการเมืองน้ำดี”ที่ต้องช่วยกันส่งเสริม
จนเกิดเหตุเมษา-พฤษภา ๕๓ พร้อมความตาย ๙๘ ศพนี่แหละครับ ที่ทำให้ความเชื่อของผมสั่นคลอนและพังทลาย
“ทองชุบ” ที่ผมเคยเชื่อว่าเป็น “ทองแท้” เริ่มลอกร่อน
และเมื่อเรื่องเก่าหลายปีมาแล้ว ถูกนำมารื้อฟื้น ผมกลับไปตรวจสอบ อ่านและฟังการลำดับหลักฐานข้อมูล
ของฝั่งผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ คำว่า “ทองลอก” ก็ผุดขึ้นมาในมโนสำนึก
โธ่ !
ไม่ต้องไปไกลถึงขั้นว่าใช้เอกสารปลอมหรือไม่หรอกครับ เอาแค่ว่ารับราชการหนึ่งปี แต่ลากิจถึง
๒๐๐ กว่าวัน แถมตอนที่เริ่มใช้สิทธิ์ลา ก็เพิ่งบรรจุได้ไม่กี่วันอีก ถามว่าถ้าเป็นสามัญชนทั่วไป
มีใครทำได้ และมีองค์กรไหนที่อนุญาตให้ทำได้บ้าง(ถึงบางอ้อเลย ว่า
ทำไมถึงชื่อ “อภิสิทธิ์”)
และถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ ปรากฎการณ์ “ทองลอก” ที่ผมคิดว่าสั่นสะเทือนความรู้สึกสังคมไทย
ในระดับหลายริกเตอร์ ยังมีอีก ๒ กรณี
กรณีแรกคือ ผลสอบการถือครองที่ดินเขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา
ของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี
และองคมนตรีในปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดมีข้อสรุปว่า
เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ(แต่พล.อ.สุรยุทธ์ กลับไม่มีความผิดใดๆ?)
“ภาพลักษณ์”ของพล.อ.สุรยุทธ์ ก่อนจะเกิดกรณีรุกเขายายเที่ยง
ก็เหมือนๆกับคุณอภิสิทธิ์นั่นแหละครับ คือ
มีภาพของความเป็นคนดี มีคุณธรรมและจริยธรรมสูงส่ง แต่ที่เหนือกว่าคุณอภิสิทธิ์ และย้อนแย้งกับข้อหารุกป่าอย่างมาก
ก็ คือ พล.อ.สุรยุทธ์ มีภาพของความเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ
ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป เพราะเคยเป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่
ทั้งสองคนนี้(คุณอภิสิทธิ์และพล.อ.สุรยุทธ์) ช่างบังเอิญเหมือนกันอีกอย่าง คือ
ต่างถูกรับประกันในคุณสมบัติที่เพียบพร้อมของความเป็น “คนดี” จากพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ผู้ซึ่งมักเดินสายเรียกร้องให้คนไทยและสังคมไทย
ประพฤติตัวเป็นคนดีมีคุณธรรม เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
อยู่เนืองๆ
กล่าวสำหรับพล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อครั้งก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร
๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ พล.อ.เปรม เคยกล่าวชมในทำนองว่า
เป็นคนที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง เหมือนวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง(๑๕ พ.ย. ๒๕๔๙)
ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะพล.อ.เปรม
ก็เคยกล่าวชมเมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆเหมือนกันว่า “คนไทยโชคดีที่ได้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี”(๒๘
ธ.ค. ๒๕๕๑)
แต่คนไทยและประเทศไทยโชคดีที่เคยมีคุณอภิสิทธิ์
และพล.อ.สุรยุทธ์
เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วันนี้หลายคนคงได้คำตอบกันแล้ว
ปรากฎการณ์ “ทองลอก”อีกกรณี ที่วันนี้หลายคนอาจจะลืมเลือนชื่อนี้ไปบ้างแล้ว
คือ กรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ที่โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กรณีจัดสัมมนาโครงการ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” เป็นเท็จ
โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการเบิกงบเพื่อจัดงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน(๖
ก.ย. ๒๕๕๔)
ก่อนหน้าเกิดการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน
๒๕๔๙
ถ้ายังจำกันได้ ชื่อคุณหญิงจารุวรรณ
หอมฟุ้งอย่างมากในฐานะ“คนดีของแผ่นดิน”
ซื่อสัตย์สุจริต/มีคุณธรรมจริยธรรมสูงส่ง เป็นแบบอย่างของข้าราชการในอุดมคติ จึงไม่แปลกที่หลังการรัฐประหาร คุณหญิงจารุวรรณ
จึงยิ่งมีบทบาทโดดเด่นขึ้นไปอีก เพราะถูกมอบดาบอาญาสิทธิ์
ในนามคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.(ร่วมกับ “คนดี”อื่นๆ) ให้เล่นงานนักการเมืองในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร ที่ถูกโค่นล้ม ด้วยข้อหาหนึ่งคือ
การทุจริตคอรัปชั่น
เพียงสัปดาห์แรกหลังรัฐประหาร คุณหญิงจารุวรรณ ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างมั่นใจว่า
จะดำเนินคดีกับนักการเมืองเหล่านี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
โดยเฉพาะกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์
หลักฐานพร้อมสุด เอาผิดได้แน่นอนเป็นกรณีแรก(๒๑
ก.ย. ๒๕๔๙)
แต่จนถึงวันนี้ อย่างที่รู้กัน คดีซีทีเอ็กซ์เงียบหายไปแล้ว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เป็นผู้เปิดประเด็นทุจริตจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์
ยังต้องลงขอโทษ “เสียเช” นายวรพจน์ ยศะทัตต์ ผู้ขายเครื่องซีทีเอ็กซ์
โดยยอมรับว่าเข้าใจผิด
และวิเคราะห์ข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง(๒๒ ก.ย. ๒๕๕๑)
เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคุณอภิสิทธิ์
/ พล.อ.สุรยุทธ์ และคุณหญิงจารุวรรณ “คนดี”ของสังคมไทย? ที่ผมไล่เรียงมา จึงถือเป็นปรากฎการณ์ที่สั่นสะเทือน สถาบัน”คนดี”
อย่างมาก
น่าจะอนุมานได้กับปรากฎการณ์“ทองลอก”.
ประทีป คงสิบ
๒๕ ก.ค. ๕๕
http://www.voicetv.co.th/blog/1240.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น