จาก มติชนออนไลน์
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตสมาชิกสภา กทม. และผู้สมัคร ส.ส.กทม. และเป็นคนกรุงเทพฯที่เสียภาษี เห็นว่าการใช้งบประมาณของกทม.เพื่อใช้ดำเนินการในโครงการต่างๆ มีความไม่ชอบมาพากลและส่อไปในทางทุจริต แต่เมื่อใกล้จะครบวาระ 4 ปี กลับใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยเกินความจำเป็น
นายภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า ตนจึงต้องออกมาชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลที่อาจไม่โปร่งใสของกทม.3 เรื่อง คือ โครงการจัดหาเครื่องมือหนักสำหรับใช้ในการซ่อมบำรุง 3 รายการ คือรถบดสั่นสะเทือนล้อเหล็ก, รถขุดตีนตะขาบ แขนยาวพร้อมหัวคีบตัด และรถไสผิวถนนขนาดความกว้างหัวไสไม่น่อยกว่า 2 เมตร รวมทั้งหมด 10 ชุด โดยใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯปี 55 จำนวน 100 ล้านบาท และงบฯผูกพันปี 56 กทม. จำนวน 900 ล้านบาท ซึ่งไม่ระบุว่าจะนำไปซื้ออะไร
นายภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า ที่น่าสังเกตคือการที่นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากทม. ใช้เวลาพิจารณาเพียง 2วัน ก่อนโอนงบประมาณให้สำนักการโยธาดำเนินการ อีกทั้งยังไม่ระบุสเปกของสิ่งของที่จะจัดซื้อจัดจ้างและนำ 3 รายการมารวมกัน เพื่อให้บริษัทที่ยื่นประมูลได้แบบเหมารรวม โดยไม่มีราคากลาง โดยไม่แยกเปิดประมูล 3 รายการ ซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน อีกทั้งข้อกำหนดในของบริษัทที่จะเข้ามาประมูลนั้นมีเงื่อนไขให้ผู้เสนอราคาต้องเป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายที่รับการแต่งตั้งโดยตรงจากผู้ผลิตคุรุภัณฑ์ และหนังสือต้องออกภายใน 180 วัน และจดหมายตอบกลับไปยังบริษัทที่เสนอไม่มีการลงวันที่แต่อย่างใด หมายถึงถ้ามีบริษัทที่เป็นผู้แทนจำหน่ายและดำเนินการมา 15 ปี เข้าประมูลไม่ได้ เพราะเกิน180 วัน ถามว่าเป็นการกีดกั้นตัวแทนจำหน่ายที่ตั้งมากว่า 10 ปี ไม่ให้เข้ามาประมูลแข่ง และส่อพิรุธให้เห็นว่าเข้าข่ายแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานราชการและพ่อค้า หรือไม่ ตนเข้าใจว่าการดำเนินการเช่นนี้ของกทม.เป็นเพราะได้คุยกับบริษัทที่รับเหมาไว้เรียบร้อยแล้วใช้หรือไม่ นอกจากนั้นทราบว่ามีหลายบริษัทที่ไม่ได้รับการพิจารณาได้ส่งหนังสือเปิดผนึกสอบถามและร้องเรียนไปยังกทม.ถึงเรื่องนี้ว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่ และมี 2-3 บริษัทที่พบว่าเจ้าของเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ตนจะยื่นเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต่อไป และจะส่งสำเนาเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาต่อไปโดยที่บริษัทที่เป็นผู้เสียหายจากการผู้ขาดข้อสัญญาและข้อกำหนด
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีโครงการที่น่าสังเกต อาทิ โครงการจัดซื้อรถดูดล้างท่อ ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร ยี่ห้ออีซูซุ จำนวน 42 คัน ซึ่งราคาเกินกว่าที่กำหนดไว้ถึง 1 เท่า จากที่กำหนด คันละ 4 ล้าน กลับคันละกว่า 8 ล้านบาท ทั้งที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ไม่ได้ร้องขอและไม่เคยได้รับการจัดสรร แต่กลับให้สำนักงานเขตตรวจรับ สร้างภาระให้เขตในการสร้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานขับ แต่ปรากฎว่ารถที่ส่งไปให้เขตใช้การไม่ได้จริง ดูดน้ำไม่ได้จริง เพราะถ้าทำได้ต้องการันตีว่าน้ำจะไม่ท่วมกทม. และในข้อสัญญาซื้อขายระบุว่าหากรถเกิดความเสียหายสามารถส่งกลับซ่อมแซมภายใน 7 วัน ซึ่งกทม.ไม่ดำเนินการฟ้องร้อง
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในข้อกำหนดเรื่องราคาระบุว่าให้จัดซื้อได้ไม่เกินคันละ 4 ล้านบาท แต่กลับซื้อมากถึงคันละกว่าละ 8 ล้าน ถามว่าทำไมกทม.ไม่ฟ้องร้องบริษัทที่จัดซื้อ จึงมีข้อสังเกตว่าสาเหตุที่กทม.ไม่ฟ้องร้องเพราะบริษัทที่จัดซื้อเป็นพวกเดียวกับข้าราชการระดับสูงและฝ่าบบริหารหรือไม่
นายภักดีหาญส์ กล่าวว่า สำหรับโครงการเช่ารถเก็บขยะ 4 โครงการ เป็นเวลา 7 มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดยสำนักสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับของนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ดูแลอยู่ ใช้วิธีประมูลด้วยวิธีอีออ๊อกชั่น ซึ่งบริษัทที่ประมูลงานได้ทั้ง 4 โครงการ เป็น 2 บริษัท คือ บ.อิทธิพร อิมพอร์ต จำกัด มีนายสมาน เตชะอิทธิพร เป็นเจ้าของ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีไอพี ออโต้พาร์ท เป็นผู้ที่ได้งานทั้งหมด ซึ่งการใช้งบประมาณจะแยกย่อยในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ แต่มีแค่ 2 บริษัทที่ชนะการประมูลแบบผูกขาด ซึ่งน่าสังเกตว่าเจ้าของบ.อิทธิพรนั้นมีบริษัทนอมินีอีกนับ10บริษัท ได้รับงานจากกทม. ซึ่งในตามกฎหมายที่ระบุนั้นผู้รับงานต้องไม่มีประโยช์ร่วมกันกับผู้เสนอราคารายอื่น คือไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดชนะการประมูลต้องไม่ใช่เจ้าของเดียวกันหรือนอมินีเพื่อป้องกันการล็อกสเปก จึงเห็นว่าทั้ง 4 โครงการ มีการล็อกสเป็กเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการต่างๆที่พูดมา ตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวของเร่งตรวจสอบโดยเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น