Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กบฏในราชวงศ์ชิงกบฏชาวนาก่อนยุคประชาธิปไตย


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 373 วันที่ 18 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 หน้า 13 คอลัมน์ พายเรือในอ่าง โดย อริน


ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับนิยาม กบฏเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นเอกภาพสำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ เนื่องจากคำว่า กบฏครอบคลุมความหมายอยู่หลายบริบทที่หมายถึง การยึดอำนาจการปกครองที่ไม่สำเร็จไม่ว่าการยึดอำนาจนั้นจะมีจุดมุ่งหมายหรือเนื้อหา เปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองหรือเพียงแต่ เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจการปกครองแต่ทั้งนี้ เนื้อหาที่มีลักษณะร่วมประการสำคัญคือเป็นการลุกขึ้นใช้กำลังอาวุธเข้าโค่นล้มอำนาจการปกครองเดิมโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในหมู่ผู้ปกครองหรือ การลุกขึ้นสู้โดยผู้คนธรรมดาสามัญชนหรือข้าทาสบ่าวไพร่ที่เป็นผู้ถูกปกครอง

ในประวัติอารยธรรมของมนุษย์ยุคการปกครองก่อนประชาธิปไตยคือ ยุคศักดินาสวามิภักดิ์ และยุคราชาธิปไตย หรือที่ในประเทศไทยใช้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเคยเกิดการลุกขึ้นสู้ขึ้นหลายครั้ง จากสาเหตุหลักถูกสภาพแวดล้อมบังคับกดดันอย่างหนัก และหาทางออกด้วยการล้มล้างสังคมเก่า โดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นอุดมการณ์ บางครั้งเป็นความพยายามลุกขึ้นสู้ของ ทาสในประวัติศาสตร์ยุโรป บางครั้งเป็นการลุกขึ้นสู้ของไพร่ที่มีรากฐานการผลิตแบบเกษตรกรรม ซึ่งเรียกกันว่ากบฏชาวนาที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของผู้คนในท้องถิ่น ก่อตัวกันลุกฮือขึ้นต่อต้านนโยบายของรัฐอันก่อให้เกิดผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น การเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ทั้งนโยบายที่มีลักษณะการเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ทั้งที่มาจากส่วนกลางและทั้งจากขุนนางอำมาตย์หรือเจ้าศักดินาในท้องถิ่นเอง เช่น การเพิ่มภาษีอากร การเก็บส่วนเกณฑ์แรงงานไปการศึกสงคราม

ทั้งนี้ ที่จะละเว้นไม่นำมาพิจารณาในข้อเขียนชิ้นนี้คือ การแย่งยึดอำนาจกันเองของ ชนชั้นผู้ปกครองทั้งการแย่งราชสมบัติในเชื้อสายราชวงศ์เดียวกัน หรือจากต่างสายราชวงศ์ รวมทั้งการลุกขึ้นแย่งยึดอำนาจจากเจ้าศักดินาเดิมโดยขุนนางอำมาตย์ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์ใหม่ในกรณีที่ก่อการสำเร็จ หรือการกลายเป็น กบฏที่เรียกกันว่า ประหารเจ็ดชั่วโคตร

สำหรับในบริบทของ กบฏชาวนาที่แยกออกจากการ แย่งยึดอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นปกครองในระบอบศักดินาก็ดี หรือในระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ดี ล้วนแล้วแต่ยากหรือแทบไม่เคยประสบความสำเร็จเลยในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างในอาณาจักรจีน นับจากการรวมแผ่นดินและสถาปนาเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวในสมัย จิ๋นซีฮ่องเต้ที่เรียกว่า ยุคจ้านกว๋อที่ต่อจาก ยุคชุนชิวซึ่งเป็นยุคแห่งการสู้รบกันระหว่างแคว้นต่างๆเพื่อชิงความเป็นใหญ่กว่า 255 ปี โดยมีแคว้นขนาดใหญ่ 7 แคว้นคือ ฉู่, ฉี, หาน, เอี้ยน, จ้าว, เว่ย และฉิน มีกบฏครั้งใหญ่ 3 ครั้งในยุคราชวงศ์ ชิงอันเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮั่นซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของจีนถูกปกครองโดยชาวแมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ยกทัพเข้าโจมตีและเข้ายึดกรุงปักกิ่งอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หมิงได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1644 และได้เปลี่ยนชื่อจาก แมนจูเป็น ชิงและสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นในปีเดียวกันนั่นเอง (ราชวงศ์ชิงปกครองจีนจนถึงปี ค.ศ. 1911 มีจักรพรรดิทั้งสิ้น 10 พระองค์ และถูกโค่นล้มโดย การปฏิวัติซินไฮ่ที่มี ดร.ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ จนได้รับสมญาว่าเป็น บิดาของจีนใหม่”)

การลุกขึ้นสู้หรือกบฏชาวนาครั้งใหญ่ 3 ครั้งดังกล่าวคือ

กบฏพรรคดอกบัวขาว ในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิง (ไต้เหม็ง) แต่การลุกขึ้นสู้ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1794 และขยายตัวจนดูเหมือนว่าอาจนำไปสู่ชัยชนะขั้นต้นในปี 1796 ถูกทำลายล้างสิ้นในปี 1800 มีการบันทึกตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการลุกขึ้นสู้นี้ 16 ล้านคน

กบฏไท่ผิง โดยราษฎรจีนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐ มีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน เป็นชาวอำเภอฮัวเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา ร่วมกับเฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าในคริสต์ศาสนาที่มณฑลกว่างซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 ปลายรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวง

กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานมีกำลังพลกว่าล้านคนบุกยึดเมืองหนานจิงได้ในปี ค.ศ. 1853 เป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเสียนเฟิง แต่แล้วหลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 1863 รัชสมัยของจักรพรรดิถงจื้อ (ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของอดีตสามัญชนชื่อ เยโฮนาลาหากได้เข้าวังเป็นนางสนมและได้รับการยกเป็น เจ้าจอมหลันและในเวลาต่อมาได้เป็นพระนางซูสี มเหสีฝ่ายซ้าย หรือซูสีไทเฮา) ปีที่ 2 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจินได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจินแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกว๋อลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาต่อมา ตลอดช่วงของการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้มีการบันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคน

ก่อนหน้าที่จักรพรรดิเสียนเฟิงจะสิ้นพระชนม์ได้ฝากราชโองการลับไว้ฉบับหนึ่งให้กับมเหสีฝ่ายขวาคือ พระนางซูอัน กำจัดพระนางซูสี มเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งในเวลานั้นมเหสีทั้งคู่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระโอรส ฮ่องเต้ถงจื้อ ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ ต่อมาพระนางซูสีวางยาสังหารพระนางซูอัน จนสามารถรวบอำนาจไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว)

กบฏนักมวย ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านจักรวรรดินิยมและคริสต์ศาสนา นำโดยสมาคมอี้เหอถวนเริ่มต้นขึ้นในเมืองซานตงในปี 1898 มีการลอบสังหารมิชชันนารีชาวตะวันตก ประณามชาวต่างชาติ และเผาโบสถ์ ฯลฯ ในชั้นต้นกบฏนักมวยได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีไทเฮามาก ทั้งด้านการส่งทัพหลวงมาช่วย และหนุนช่วยในด้านอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆ จนกล่าวได้ว่าถูกหลอกใช้ โดยคิดจะคานอำนาจและสร้างการต่อรองกับมหาอำนาจตะวันตกหลังจากเข้ามามีอิทธิพลในจีน และได้ส่งกำลังทหาร อาวุธที่ทันสมัย และมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ แต่ในที่สุดในการยุทธ์หลายครั้งที่เรียกกันว่า ศึกพันธมิตรแปดชาติ” (รวมญี่ปุ่นด้วย) ก็สามารถปราบกบฏนักมวยลงได้สำเร็จ สามารถยึดเมืองเทียนจินได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 ความสูญเสียที่มีบันทึกไว้ ผู้เสียชีวิตเป็นทหารต่างชาติ 2,500 คน พลเรือนชาวต่างชาติ 525 คน ชาวจีนที่นับถือศาสนาคริสต์หลายพันคน ในขณะที่ทหารจีนที่ทางราชสำนักส่งมาสนับสนุนเสียชีวิตประมาณ 20,000 คน และกองกำลังกบฏนักมวยประมาณ 100,000-300,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง และสามารถสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นในปี ค.ศ. 1911

ในการลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง รวมทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากการถูกสภาพแวดล้อมบังคับกดดันอย่างหนัก และหาทางออกด้วยการล้มล้างสังคมเก่านั้น...

กบฏทั้งหมดใช้ไสยศาสตร์นำ และถูกปราบราบคาบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น