Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศาลอาญาระหว่างประเทศกับนายอภิสิทธิ์ ปชป.ส่งสัญญาณงานใกล้เข้าแล้ว

โดย ส.ส.ดร.สุนัย  จุลพงศธร  ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ


                     จากจุดเริ่มต้นที่ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดา ในฐานะตัวแทนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บต่อการสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์เลือดราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะคนสัญชาติอังกฤษเป็นจำเลยต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ และกระผมในฐานะตัวแทนประชาชนในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศพร้อมเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮกและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อ 9 ธันวาคม 2554 เป็นคนแรกและครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับแต่การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้มีสัญญาณบ่งบอกแล้วว่าแสงสว่างแห่งนิติธรรมที่แท้จริงกำลังสาดแสงเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะจากการดิ้นรนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีที่ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือยื่นแก้เกี้ยวร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนควรให้ความสนใจเพราะโอกาสที่จะมีการนำตัวฆาตกรตัวจริงขึ้นศาลที่    กรุงเฮกกำลังใกล้เข้ามาแล้ว

กระบวนยุติธรรมไทยไร้น้ำยาต่อกรณีสังหารโหดทางการเมือง
                   อดีตและปัจจุบันได้พิสูจน์ยืนยันแล้วว่าระบบศาลยุติธรรมของไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะมีพลังที่จะควบคุมตรวจสอบอำนาจของระบบเผด็จการทหารไทยที่แอบแฝงอยู่ในโครงสร้างการเมืองมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้ว่าคดีฆาตกรรมทางการเมืองที่โหดร้ายไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่ใช้ชื่อว่าอะไรก็ตามหากเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของผู้ถืออาวุธในระบบราชการไทยแล้ว ผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทยเลย นับตั้งแต่การสังหารโหด 4 รัฐมนตรีผู้ใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์ ในปี 2492 โดยมีการกล่าวอ้างเท็จว่าถูกโจรจีนแย่งชิงตัว ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ นายปรีดี พนมยงค์ ถูก จอมพลป. พิบูลสงคราม ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ทำรัฐประหารโค่นล้มเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และติดตามมาด้วยการสังหารโหดประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516,การล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายในธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519,การสังหารโหดในเหตุการณ์เลือดพฤษภาทมิฬ 2535 ,จนถึงเหตุการณ์สงกรานต์เลือดเมื่อ 12 เมษายน 2552 และตามมาด้วยกรณีสังหารโหดประชาชนจากผ่านฟ้าถึงราชประสงค์จาก 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งการสังหารโหดในชนบทในอดีตไม่ว่าจะเป็นกรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดงที่พัทลุงและกรณีตากใบ ซึ่งทุกคดีที่กล่าวมานี้ไม่มีคดีใดเลยที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะนำผู้กระทำผิดเข้าสู่การรับโทษได้

กรณี 3 ส.ส. ฟ้องจอมพลถนอมศาลไทยก็เป็นใบ้
                   หลักฐานที่ยืนยันได้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถที่จะให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายต่อกรณีการใช้อำนาจอันไม่ชอบของทหารได้แม้ว่าผู้ร้องขอความเป็นธรรมจากศาลจะเป็นผู้แทนราษฎรโดยชอบก็ตามได้แก่กรณีที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน สส.ชลบุรี,นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ  สส.พิษณุโลก และนายบุญเกิด หิรัญคำ  สส.ชัยภูมิ รวม 3 คน ได้ยื่นฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร และพวกต่อศาลอาญาในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักรต่อกรณีที่จอมพลถนอมฉีกรัฐธรรมนูญทำรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 แต่ปรากฏว่าทันทีที่ยื่นฟ้องนั้นทั้ง 3 สส.กลับถูกจับบนศาลขณะที่ยื่นฟ้องส่งเข้าคุกและศาลไทยก็ไม่รับคำฟ้องพิจารณาโดยอ้างว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คล้ายกับเหตุการณ์ในวันนี้

ประธาน กมธ.ตปท.ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม
                   จากกรณีการสังหารโหดประชาชนไทยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ารวมตลอดถึงการที่ไม่สามารถพึ่งอำนาจศาลไทยต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องของอำนาจเผด็จการทหารได้ กระผมเห็นว่าหากยังปล่อยให้เหตุการณ์สังหารโหดประชาชนเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปโดยกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่อาจจะเอื้อมมือเข้ามาถึงได้ก็น่าเชื่อได้ว่าสังคมไทยจะเกิดกลียุคอย่างหลีกหนีไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะเกิดการสังหารโหดขึ้นในอนาคตอีก (เพราะไม่มีหลักประกันใดๆที่จะหยุดการสังหารโหดทางการเมืองได้) ก็จะเป็นเชื้อปะทุก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองไม่ต่างอะไรไปจากเหตุการณ์ในประเทศลิเบีย,ซีเรีย และอีกหลายประเทศในกลุ่มประเทศอาหรับที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนคนไทยต้องล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง ดังนั้น ด้วยความสำนึกในหน้าที่ของผู้แทนราษฎร กระผมจึงร่วมกับประชาชนคนไทยที่พักอาศัยในสหภาพยุโรป เดินทางไปพบกับประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ และตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศและยื่นหนังสือ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจต่อการไร้ทางออกของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บต่อการสังหารโหดที่อุกอาจที่สุดในกรณีราชประสงค์เลือด ดังนั้นหนังสือฉบับนี้จึงเป็นหนังสือฉบับแรกที่เป็นทางการจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยที่มีถึงอัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ


การจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ

                   เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องต่อบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐเผด็จการ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริงต่อมนุษยชาติ และเพื่อเป็นการปกป้องการบิดเบือนข่าวสารที่จะให้ร้ายต่อการแสวงหาความเป็นธรรมของผู้เสียหายในประเทศไทยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ทางกรรมาธิการการต่างประเทศจึงได้จัดสัมมนาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ ตึกรัฐสภา ประกอบไปด้วยนักวิชาการ อาทิเช่น นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการอาวุโส และคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเคยดำรงตำแหน่งวุฒิสภาจากจังหวัดตากที่มาจากการเลือกตั้ง,นายปิยบุตร  แสงกนกกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาวสุดสงวน  สุธีสร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และนางเอเวอร์รีน บาลาอิส     ชาวฟิลิปปินส์ ตัวแทนศาลอาญาระหว่างประเทศ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประชาชนก็ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจนล้นห้องประชุม
                    การจัดสัมมนาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ถือได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรได้รับรู้อย่างเป็นทางการถึงบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว และผลจากการสัมมนาครั้งนี้ได้เกิดผลสะเทือนทางสังคมได้เกิดคลื่นการเรียนรู้ของประชาชนและให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรนานาชาติที่จะเข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนในประเทศไทยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนองค์กรต่างๆมากยิ่งขึ้นต่อกรณีนี้ ดังเช่นการเดินทางไปศาลอาญาระหว่างประเทศของคณะ นปช.และเกิดคลื่นการสัมมนาอย่างต่อเนื่องในภาคต่างๆ อาทิเช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 18 สิงหาคม 2555 เป็นต้น


ประธาน นปช. นำผู้เสียหายร้องเรียนอัยการที่กรุงเฮก

                   เหตุการณ์สำคัญที่จำเป็นต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารอีกประการหนึ่งที่จะส่งผลให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีความชอบธรรมที่จะเปิดการพิจารณาไต่สวนคดีตามคำฟ้องของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ในอนาคตอันใกล้ก็คือ การเดินทางไปให้การต่อสำนักงานอัยการสูงสุดที่กรุงเฮก ของผู้เสียหายนำโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์  ประธาน นปช.เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งประกอบไปด้วย นางพเยา อักฮาด มารดาของน้องเกด ผู้เสียชีวิตในวัดปทุม นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช. และนักวิชาการระดับโลก     ดร.ธงชัย วนิจกุล ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินสหรัฐอเมริกา ในฐานะอดีตนักโทษในเหตุการณ์สังหารโหด กรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่ต้องถูกจับขังคุกนานกว่า 2 ปี ทั้งที่ตัวเองถูกไล่ฆ่าอย่างไม่เป็นธรรมในเหตุการณ์นั้น

 กมธ.ต่างประเทศยกคณะไปศาลอาญาระหว่างประเทศ

                   กระผมในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ได้นำคณะกรรมาธิการอันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮกเข้าพบประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ          นายซาง-ฮยุน ซอง (Sang-Hyun Song) ชาวเกาหลีใต้ และนายฟากิโซ โมโชโชโก (Phakiso Mochochoko) ตัวแทนอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555




ณ ที่ทำการของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยครั้งนี้ทางศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดการต้อนรับคณะผู้แทนราษฎรไทยอย่างเป็นทางการโดยประดับธงชาติไทยคู่กับธงของศาลอาญาระหว่างประเทศในห้องประชุม โดยมีประเด็นสำคัญในการหารือ คือบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญแห่งกรุงโรม และการเชิญประธานศาลอาญาระหว่างประเทศและตัวแทนอัยการสูงสุดให้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการอย่างเป็นทางการที่กรรมาธิการการต่างประเทศจะจัดให้มีขึ้นในปลายปีนี้และพร้อมนี้ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เพื่อติดตามเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมลงวันที่ 9 ธันวาคม ปีที่แล้วด้วย


การยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีต่างประเทศ
                    เมื่อคณะของคุณธิดา ถาวรเศรษฐ์ และสส.นายแพทย์เหวง โตจิราการ กลับจากยุโรปแล้วได้เปิดประเด็นยื่นหนังสือต่อนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล  เรียกร้องให้รัฐบาลมีมติรับรองเป็นกรณีพิเศษให้นำเฉพาะคดีราชประสงค์เลือดไปสู่การพิจารณาของศาลฯตามมาตรา 12 วรรค 3 แห่งธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่ง่ายและรวดเร็วที่จะให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเอื้อมมือเข้ามาดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และพวกที่ถูกกล่าวหาเป็นฆาตกร กรณีสังหารหมู่ประชาชนได้ และมีข่าววงในว่ารัฐมนตรีต่างประเทศกำลังจัดกำหนดการจะเดินทางไปเยือนศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ด้วยเหตุนี้เองภาพของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่มาเปิดตัวที่สภารับหนังสือร้องเรียนนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณให้พรรคประชาธิปัตย์ร้อนตัวว่าความหวาดวิตกกังวลว่านายอภิสิทธิ์ จะเป็นคนไทยที่ได้รับเกียรติเป็นจำเลยในศาลอาญาที่กรุงเฮกเป็นคนแรกใกล้เป็นจริงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จึงมีมติให้นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลงข่าวแก้เกี้ยวว่าจะเร่งเดินทางไปยื่นหนังสือต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อจะเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ บ้าง (ข่าวมติชน ฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2555)
                   นอกจากนี้ขบวนการของประชาชนโดยเฉพาะขบวนการเสื้อแดงจากสหภาพยุโรปยังได้ร่วมมือกับคนไทยในประเทศยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 สิงหาคมเพื่อผลักดันให้เกิดการพิจารณาคดีฆาตกรรมหมู่ประชาชนนี้ในศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย

DSI รื้อคดี 91 ศพ ตบตาประชาชน?
                    DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ซึ่ง 2 ปีเศษที่ผ่านมาที่ไม่เพียงแต่วางท่าทีเฉยเมยต่อการฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ แต่หากยังใส่ร้ายผู้ตายและผู้บาดเจ็บเป็นผู้ก่อการร้าย แต่วันนี้ได้แสดงบทบาทเอาการเอางานที่จะรื้อฟื้นคดีการฆาตกรรมประชาชนอย่างโหดร้ายขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยเปลี่ยนตัวหัวหน้าพนักงานสอบสวนใหม่เป็น พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประสุข รองอธิบดี DSI (ข่าวไทยรัฐ 9 สิงหาคม 2555 หน้า 16 ) คนที่เห็นข่าวนี้อาจจะเข้าใจว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนรัฐบาลจึงทำให้นายธาริตเปลี่ยนท่าที แต่หากเราจะมองถึงเบื้องหลังความเป็นมาของโครงสร้างอำนาจของระบอบการเมืองและตัวอย่างรูปธรรมต่างๆทางประวัติศาสตร์ที่กระบวนการยุติธรรมไทยไม่อาจจะให้ความเป็นธรรมต่อกรณีสังหารหมู่ทางการเมืองได้แล้ว ก็พอมองเห็นอนาคตได้ทันทีว่า ข่าวดีเอสไอรื้อฟื้นคดีเพื่อจะเอาคนผิดมาลงโทษในคดีนี้ต้องเป็นละครตลกตบตาประชาชนอย่างแน่นอน เพราะตามโครงสร้างอำนาจของไทยที่เป็นอยู่นี้มิใช่ระบอบประชาธิปไตยหากแต่เป็นระบอบเผด็จการอำมาตย์ที่เป็นมายาวนานแล้ว ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นของฝ่ายไหนหากไม่เดินตามกลไกของระบอบเผด็จการอำมาตย์ก็จะต้องมีอันเป็นไป ด้วยเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าและล่าสุดก็คือ ความผิดการทำกับข้าวออกโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นต้น


อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ดีเอสไอต้องแสดงละครกลับลำครั้งนี้?
                   ปัจจัยหลักน่าจะเกิดจากแรงกดดันของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันให้คดีอุกฉกรรจ์นี้ไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีส่วนโดยตรงต่อการสังหารประชาชน มาเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมมีส่วนสำคัญต่อท่าทีใหม่ของดีเอสไอ แต่ประเด็นสำคัญคือ หากระบอบเผด็จการอำมาตย์ต้องการให้ฆาตกรตัวจริงหลุดลอยนวลในสถานการณ์โลกยุติธรรมล้อมไทยนี้ได้แล้วมีทางออกทางเดียวคือ ต้องนำคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลไทยจึงจะรอดพ้นเงื้อมมือของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ส่วนจะซูเอี๋ยกันด้วยฟ้องก่อนแล้วตัดสินปล่อยทีหลังก็ถือว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยได้เดินหน้าแล้ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็คงจะใช้เวลาอีกนานและก็สามารถฟันธงล่วงหน้าได้ว่าเวลาที่ทอดนานในกระบวนการยุติธรรมไทยและหากยังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่แฝงเร้นนี้ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีการลงโทษฆาตกรตัวจริงได้แน่ อนาคตจะพิสูจน์สัจธรรมนี้


บทสรุป
                   ภายในรอบปีของการขึ้นบริหารประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระบวนการต่างๆของรัฐบาลและประชาชนก็ได้เริ่มขับเคลื่อนตามกลไกแห่งหลักนิติธรรม แม้จะมีมือที่มองไม่เห็นเป็นอุปสรรคขัดขวางในเรื่องหลักๆที่จะไม่ให้ประเทศไทยกลับคืนสู่หลักนิติธรรมด้วยเพราะความอาฆาตแค้นของใครบางคนที่สะท้อนออกเด่นชัดที่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและขัดขวางการปรองดอง แต่หลายกระบวนการก็ขับเคลื่อนไปได้อย่างเงียบๆ อาทิเช่น การขับเคลื่อนเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเวลาผ่านมาประมาณ 10 เดือน นับจากการเริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2554 จนถึงขณะนี้ก็ก้าวรุดหน้าไปได้มากจนถึงขนาดกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องออกมาแสดงละครกลับลำรื้อฟื้นคดีสังหารโหดขึ้นมาพิจารณาใหม่ จึงขอให้คนไทยต้องอดทนที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บให้ได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น