จากไทยรัฐออนไลน์
แต่อุบแผนปฏิบัติการลับ ฉะ‘กรณ์’อย่าออกมาต้าน ‘ปู’ขอยุติ-พร้อมเปิดเจรจา
“ยิ่งลักษณ์” เรียกถกด่วน รมต.-ผบ.ตร. ประเมินม็อบโค่นล้มระบอบทักษิณ ออกทีวีพูลปัดข้อเสนอตั้งสภาประชาชน อ้างขัดรัฐธรรมนูญ ชงเปิดโต๊ะเจรจาด้วยตัวเอง วอร์รูมรัฐบาลขู่งัดยาแรง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกำราบม็อบยึดสถานที่ราชการ ศอ.รส.ตั้งลำขอคืนพื้นที่ ก.คลัง ประสาน ตม.ปิดช่อง “เทือก” บินออกนอกประเทศ มท.1 มั่นใจคุมอยู่ศาลากลางจังหวัด มวลชนราชดำเนินยกพลบุกกลาโหมจี้ทหารยืนเคียงข้างประชาชน ด้าน กปท.ลุย สตช.เป่านกหวีด-ตัดไฟกดดันตำรวจ มือมืดยิงหัวนอตใส่รอง ผกก.สส.ภ.จ.นครพนม หน้าผากแตกเลือดอาบ “สุเทพ” ยึดศูนย์ราชการเปิดเวทีถาวร โวยึดศาลากลางค่อนประเทศ เมินเทียบเชิญ “ปู” เดินหน้าปฏิรูปประเทศ 29 พ.ย. ดีเดย์เฮือกสุดท้ายเคลื่อนมวลมหาชนคว่ำรัฐบาล นปช.นัดชุมนุมใหญ่ 30 พ.ย. กางปีกป้องประชาธิปไตย
กลุ่มผู้ชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ เดินหน้าเชิงสัญลักษณ์ปิดล้อมกระทรวงต่างๆ หน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่องทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด บั่นทอนอำนาจรัฐให้อ่อนแอ แถมกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตั้งสภาประชาชนให้ได้ จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องออกโทรทัศน์ร่วมเฉพาะกิจ ส่งสัญญาณรัฐบาลมีอำนาจรัฐเต็มร้อย พร้อมย้ำเดินไปหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมเวทีประชาธิปไตย เพื่อเปิดฉากเจรจาหาทางออกให้ประเทศไทย
นายกฯเรียก รมต.–ตร.หารือด่วน
เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 28 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ภายหลังที่ประชุมโหวตลงคะแนนไว้วางใจในเวลา 11.20 น. นายกฯเดินทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เรียกรัฐมนตรีประชุมประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.
ลั่นรัฐบาลกุมอำนาจเต็มร้อย
ต่อมาเวลา 13.55 น. ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ตามที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยการประท้วงและเข้ายึดสถานที่ราชการบางแห่ง ปรากฏเป็นข่าวตามที่ทราบโดยทั่วกันนั้น ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน รวมถึงเพื่อนมิตรต่างชาติที่เป็นห่วงเป็นใยในสถานการณ์ว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยความละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นเกิดความรุนแรง ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตาย ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีต การที่รัฐบาลใช้แนวทางสันติไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศ หรือไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยได้ ทุกวันนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ยังดำเนินการอยู่ แม้การให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนบางหน่วยงานที่อาจได้รับผลกระทบ และมีความไม่สะดวกบ้าง แต่รัฐบาลมีแผนรองรับที่จะให้บริการอย่างทั่วถึง
อ้อนม็อบยุติชุมนุม–คืนพื้นที่ยึด
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ต้องการเล่นเกมทางการเมือง เพราะเกมการเมืองจะทำให้ประเทศถดถอย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอ ข้อเรียกร้องของประชาชนทุกกลุ่มที่ชุมนุมที่ยังยึดสถานที่ราชการอยู่ แต่ข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ให้จัดตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่ามีความตั้งใจอย่างแท้จริง ที่จะให้เกิดความร่วมมือในการหารือ เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ ขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เรื้อรังต่อเนื่องยาวนาน และสร้างความเสียหายให้กับประเทศมามากพอแล้ว ดังนั้นขอเสนอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม คืนสถานที่ราชการเพื่อให้กลไกระบบราชการเดินหน้าต่อไปได้
พร้อมเปิดฉากเจรจาทุกรูปแบบ
นายกฯกล่าวว่า ในการเจรจาแกนนำผู้ชุมนุม รัฐบาลพร้อมทุกรูปแบบ จะให้ไปเจรจาเองก็ได้ เพราะอยากให้บ้านเมืองเกิดความสงบ เมื่อถามว่าหลังอภิปรายเสร็จสิ้นรู้สึกสบายใจขึ้นหรือไม่ นายกฯตอบว่าก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อยากให้ทุกอย่างในบ้านเมืองสงบมากกว่า อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน พร้อมจะเปิดเวทีพูดคุย เพราะรัฐบาลไม่ต้องการการเผชิญหน้า แต่พร้อมที่จะร่วมมือหาแนวทางกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อวางกระบวนการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ช่วงเวลาต่อไปนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนทุกคนควรร่วมใจกันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ด้วยการน้อมนำกระแสพระราชดำรัส รู้รัก สามัคคี เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่ในหลวงที่เป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน
ขู่ฉีดยาแรงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมรัฐมนตรีและตำรวจเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุม นายกฯได้สั่งให้รัฐมนตรีทุกคนทำหน้าที่ชี้แจงสถานการณ์ต่างๆต่อประชาชนและผู้ชุมนุม โดยให้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หลังจากนี้รัฐบาลจะขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการยึดสถานที่ราชการ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยอาจจะประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาพื้นที่หน่วยงานราชการ
“ประชา” ยันรัฐไม่สั่งสลายม็อบ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าวที่รัฐสภาถึงการชุมนุมตามศาลากลางจังหวัดว่า ศาลากลางจังหวัดที่ภาคใต้ยังเปิดบริการประชาชนตามปกติ ในภาพรวมทุกส่วนราช– การยังทำงานได้ปกติ ส่วนกรณีนายสุเทพนำมวลชนเดินทางไปยังหน่วยราชการต่างๆ ไม่ใช่การบุกยึด เป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์ ผู้ชุมนุมเดินไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่หากมีการล่วงละเมิดกฎหมายมากเกินไปคงต้องขอร้องกัน ยืนยันรัฐบาลจะไม่สลายการชุมนุมหรือใช้ความรุนแรง ส่วนที่นายสุเทพประกาศไม่พูดคุยกับรัฐบาล เชื่อว่ายังพูดคุยกันได้ ต้องถามนายสุเทพว่าจะเอาอะไรกันแน่ จะไปถึงจุดไหนขอให้คุยกันดีกว่า การประกาศว่าไม่สนใจการยุบสภา แต่ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณ อย่าลืมว่ารัฐบาลมาตามระบอบประชาธิปไตย จะล้มล้างคงไม่ถูกต้อง
มท.1 มั่นใจเอาอยู่ม็อบ ตจว.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวที่รัฐสภาว่า ได้สั่ง ผวจ.ว่าผู้ชุมนุมเป็นคนไทย จะมาศาลากลางเป็นร้อยเป็นพันคนก็มาได้ ให้คุยกันด้วยดี ส่วนสถานการณ์การชุมนุมในต่างจังหวัด ไม่มีการเข้าในพื้นที่ศาลากลาง 14 แห่ง ยกเว้น จ.สุราษฎร์ธานี แต่ได้เจรจาจนผู้ชุมนุมลงมาอยู่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง ไม่มีคำว่ายึดศาลากลาง คาดสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ในที่สุด
ศอ.รส.ตั้งลำกระชับพื้นที่ ก.คลัง
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ศอ.รส. กล่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามขับเคลื่อนมวลชนกดดันรัฐบาลแบบดาวกระจายในหลายพื้นที่ แต่เป็นเพียงการเดินเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับกรณีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดแต่ละจังหวัดในภาคใต้ ตำรวจได้วางกำลังเพื่อป้องกันการกระทบ กระทั่งของมวลชนที่มีความเห็นต่างกัน จึงเพิ่มสายตรวจและจุดตรวจเข้มแข็ง แสดงกำลังเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่ช่วงนี้เกิดเหตุความวุ่นวายบ่อยครั้ง เชื่อว่าหากตำรวจคุมสถานการณ์ตรงจุดนี้ได้ สถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ส่วนกรณีการขอคืนพื้นที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ได้จัดทีมประสานงานเตรียมเจรจากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อขอคืนพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้าง และมวลชนเข้าไปเป็นจำนวนมากต้องค่อยๆดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับการขอคืนพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
ดับข่าวลือจับลูกชาย “สุเทพ”
เวลา 15.15 น. ที่ บช.น. ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รอง ผบก.น.1 แถลงสถานการณ์ชุมนุมระบุว่ากรณีมีกระแสข่าวตำรวจจะจับตัวลูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวประกัน เพื่อให้นายสุเทพมอบตัวและยุติการชุมนุม จากการสอบถาม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ทราบว่าไม่เป็นความจริง คาดว่ามีการปล่อยข่าวจากฝั่งผู้ชุมนุม เพื่อเรียกให้มวลชนมาชุมนุมเพิ่มเติม ให้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ปกป้องนายสุเทพ นายสุเทพหนีความผิดไม่พ้น เพราะศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ขณะนี้การประสานไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศป้องกันไม่ให้นายสุเทพ หลบหนีไปต่างประเทศ
“บิ๊กอู๋” กำชับพิเศษดูแลทำเนียบฯ
พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รอง ผบก.น.1 กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. ได้กำชับให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะแนวตำรวจที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุมอย่าได้ตอบโต้ใดๆ และห้ามใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะกลั่นแกล้งก็ตาม แกนนำที่ดูแลการชุมนุมควรควบคุมดูแลการ์ด เพราะทุกคืนจะมีการตั้งวงดื่มสุรา พอเมาก็ออกมาทำร้ายตำรวจนำประทัดยักษ์ หนังสติ๊กมายิ่งใส่แนวตำรวจ ขอร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าว
ยกพลบุก กห.จี้ทหารยืนข้าง ปชช.
ด้านการชุมนุมของกลุ่มโค่นระบอบทักษิณ ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อเวลา 11.30 น. น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ได้นำกลุ่ม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่กระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องทหารออกมายืนเคียงข้างประชาชน มี พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ รองเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ออกมาพบกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อรับมอบดอกไม้และนกหวีด พร้อมกล่าวกับ น.ส.จิตภัสร์ ว่ากระทรวงกลาโหมไม่สามารถหยุดปฏิบัติงานได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานความมั่นคง ต้องดูแลความปลอดภัยของบ้านเมือง ขอให้เข้าใจเรา ทหารมีความห่วงใยอยากให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัยทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ขอยืนยันว่าทหารจะยืนเคียงข้างประชาชนและดูแลประชาชนทุกฝ่าย
ขณะที่ น.ส.จิตภัสร์กล่าวว่า ขอฝากดอกไม้และนกหวีดไปให้ปลัดกระทรวงกลาโหม และอยากให้ พ.อ.คงชีพเป่านกหวีด เพื่อเป็นสัญญาณของคนรักชาติเหมือนกัน แต่ พ.อ.คงชีพปฏิเสธที่จะเป่านกหวีดขอเพียงรับดอกไม้และนกหวีดแทน
รมว.กลาโหมกำชับห้ามใช้กำลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกลับ ภายในกระทรวงกลาโหม พล.อ.นิพัทธ์ได้มาตรวจความเรียบร้อย พร้อมกล่าวขอบคุณกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อยว่า “เมื่อเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้แสดงความห่วงใย ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้ผมไปกำชับกำลังพลว่าจะต้องไม่มีความรุนแรงใดๆ เพราะประชาชนที่มาชุมนุมล้วนเป็นพี่น้องร่วมชาติกับเราทั้งนั้น ผมเชื่อว่าประชาชนมีความรู้สึกที่ดี มีความเข้าใจทหารและตำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงกลาโหมได้ซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ทั้งการเจรจา การใช้รถฉีดน้ำควบคุมฝูงชนพร้อมมีคำสั่งให้ทหารงดพกอาวุธทุกประเภท รวมถึงปืนประจำกายของกองรักษาการณ์หน้ากระทรวง เข้ามาไว้ด้านใน พร้อมปิดประตูห้ามบุคคลภายในและภายนอกเข้าออก โดยได้นำรั้วลวดหนามมาวางทางเข้า-ออกทุกประตู
ขรก.ศธ.ปีนรั้วร่วมชุมนุม
ขณะที่เวลา 11.00 น. นายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำผู้ชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ นำมวลชนพร้อมรถหกล้อติดเครื่องขยายเสียง ตั้งแถวเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เส้นทางถนนประชาธิปไตย ผ่านแยกประชาเกษมมุ่งหน้าจะไปกระทรวงศึกษาธิการ แต่ขบวนต้องหยุดขบวนที่แยกวังแดง ถนนนครราชสีมามีแนวแบริเออร์และลวดหนามกั้นอยู่ จึงหันหัวรถกลับไปปักหลักชุมนุมด้านหน้าอาคารหอประชุมคุรุสภา ที่ด้านในถูกปิดประตูทุกด้าน และตำรวจนำรถควบคุมผู้ต้องหา มาจอดขวางประตูอีกชั้น โดยแต่ละตึกให้เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาฯ ลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่างทั้งหมด ห้ามออกไปภายนอกในวันทำงาน แต่ข้าราชการบางส่วนก็ยังแอบปีนรั้วหนีออกมาด้านหัวมุมสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ เพื่อกลับบ้าน และบางส่วนเข้าไปร่วมชุมนุมด้วย นายอิสสระ สมชัย กล่าวปราศรัยขอให้ตำรวจ ผู้บริหารกระทรวงฯเปิดประตูให้ข้าราชกลับบ้าน พร้อมขอเชิญชวนข้าราชการเข้าร่วมชุมนุม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมือง เพื่อไม่ให้บ้านเมืองตกอยู่ในมือตระกูลชินวัตรตระกูลเดียว จากนั้นนำนกหวีดมอบให้ตัวแทนข้าราชการแล้วเดินทางกลับที่ตั้ง
“เทือก” คุมทัพพักแรมศูนย์ราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมโค่นระบอบทักษิณ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ ตลอดคืนวันที่ 27 พ.ย. ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมหนาตากระจายอยู่รอบด้านหน้าอาคารบี บางส่วนไปอาศัยนอนพักที่ลานชั้น 1 ขณะที่บางส่วนกางเต็นท์สำเร็จรูปและปูผ้านอน โดยมีผู้บริจาคที่นอนปิกนิกหลายร้อยชุดให้ใช้ปูรองนอน โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่นายสุเทพ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำผู้ชุมนุม ใช้พื้นที่ลานจอดรถชั้นใต้ดินเป็นที่หารือและปักหลักพักค้างแรม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของการ์ดหลายสิบคน
ตั้งเวทีปราศรัยถาวรปักหลักยาว
ในช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย. บรรยากาศกลุ่มผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตา มีกิจกรรมบนเวทีรายงานสถานการณ์ข่าวสารการเมือง ส่วนแกนนำได้หารือถึงการเคลื่อนไหวตามปกติ ขณะที่ยังมีข้าราชการของหน่วยงานในศูนย์ราชการอาคารบี เดินทางมาทำงานตามปกติ เช่น สำนึกงาน กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาในบ่ายบรรยากาศเริ่มคึกคัก มีแกนนำสลับกันขึ้นเวทีปราศรัยต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน บริเวณถนนหน้าอาคารดังกล่าวได้จัดตั้งเวทีถาวรขนาดใหญ่ สูง 1.6 เมตร กว้าง 14 เมตร และนำโรงครัวของภาคและจังหวัดต่างๆมาตั้งไว้บริการ เพื่อรองรับผู้ชุมนุมที่เข้ามาสมทบเพิ่มเติมด้วย
โวยึดศาลากลางค่อนประเทศ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีประชาชนลุกขึ้นมาเป็นแนวร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดรวมตัวที่ศาลากลางกว่าค่อนประเทศแล้ว เพราะหากปล่อยให้ระบอบทักษิณอยู่ต่อไปจะทำให้ประเทศเสียหาย แม้นายกฯจะยุบสภาหรือลาออกก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา หากมีการเลือกตั้งก็ยังมีการทุจริต ได้รับเลือกกลับเข้ามาอีก ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้จัดตั้งสภาประชาชน อาจต้องแก้ไขกฎหมายบางมาตรา เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากระบอบทักษิณเป็นเผด็จการ การได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งซื้อเสียงและเข้ามาทำร้ายประเทศ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการต่อสู้จะชนะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน
ไม่รับข้อเสนอนายกฯปู
นายเอกนัฎ พร้อมพันธ์ โฆษกกลุ่มผู้ชุมนุมโค้นล้มระบอบทักษิณ แถลงว่า กรณีนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ยุติการชุมนุม เป็นเพียงมารยาหลอกให้ตายใจ และขุดหลุมให้นำไปสู่การเจรจาที่ไม่มีข้อยุติ เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ยืนยันว่ากลุ่มฯจะไม่เจรจากับรัฐบาล เพราะข้อเสนอของรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ส่วนกระแสข่าวจะรื้อเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ยืนยันว่าขณะนี้แกนนำมีมติไม่ยุบเวทีดังกล่าว
ตรึง 3 เวทีสู้จนปิดฉากรัฐบาล
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่าได้หารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม โดยยืนยันจะไม่ยุบเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่จะมีเวทีหลัก 3 เวทีคือ 1. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวทีสะสมมวลชนและเป็นโรงอาหารใหญ่ 2. เวทีกระทรวงการคลัง เป็นส่วนหน้าสำหรับรักษาระบบการเงินประเทศ และ 3. เวทีศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ยืนยันทุกเวทีจะเดินหน้าต่อไปถึงวันที่ 30 พ.ย. ถ้ารัฐบาลจบเราก็จบ แต่ถ้าไม่จบ ต้องขอมติมวลชนว่าจะเดินหน้าไปต่อหรือไม่
คปท.งดเคลื่อนขบวนชั่วคราว
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) บริเวณแยกนางเลิ้ง ถนนพิษณุโลก ช่วงเช้าคณะแกนนำ คปท.งดการเคลื่อนไหวเดินขบวนตามที่กำหนดไว้ว่าจะมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 28 พ.ย.ชั่วคราว หลังจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แจ้งระงับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้แนวร่วมพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ให้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมแกนนำหรือสลายการชุมนุมของกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่ดาวกระจายไปทั่วเมือง ขณะที่นายนัสเซอร์ ยีหมะ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย คปท. กล่าวว่า จะมีการวางกำลังทุกทางเข้า-ออก และสอดส่องเคร่งครัด เพื่อเฝ้าระวังมือที่สามสร้างสถานการณ์ปั่นป่วน โดยเร่งนำทรายบรรจุกระสอบไปกองไว้ริมเกาะกลางถนน ห่างจากแนวแท่งแบ–ริเออร์ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ประมาณ 200 เมตร เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันพื้นที่
ไม่เจรจาจนกว่า รบ.หยุดบริหาร
ต่อมาเวลา 15.15 น. นายอุทัย ยอดมณี แกนนำ คปท. และนายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท.แถลงข่าวภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯแถลงเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลทุกกลุ่มยุติการเคลื่อนไหว แล้วมาตั้งโต๊ะเจรจาว่า คปท.จะไม่ยุติชุมนุม และจะไม่มีการเจรจากับนายกฯ จนกว่ารัฐบาลจะยุติการบริหารประเทศ การแสดงความ จงรักภักดี คปท.จะช่วยกำจัดคนไม่ดีให้พ้นออกไปจากบ้านเมือง ในวันที่ 29 พ.ย. คปท.พร้อมเคลื่อนขบวนชุมนุมใหญ่ แต่ยังไม่ขอบอกสถานที่ ยืนยันว่าหากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใดถูกสลายผู้ชุมนุม คปท.พร้อมต่อสู้และจะเข้าสู่พื้นที่ทำเนียบรัฐบาลแน่นอน
ยื่นหนังสืออย่าทำร้ายมวลชน
กระทั่งช่วงค่ำภายใน สตช.ยังคงมืดมิดไม่มีไฟฟ้าใช้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ต้องกำชับให้ตำรวจรักษาความปลอดภัยดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังส่งเสียงโห่ร้องกดดัน ก่อนที่ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เข้ายื่นหนังสือผ่านตัวแทน ผบ.ตร. เรียกร้องให้ตำรวจอยู่เคียงข้างประชาชน อย่าทำร้ายประชาชน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง
กปท.บุกเป่านกหวีดหน้า สตช.
เมื่อเวลา 12.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุม กปท. นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายทศพล แก้วทิมา นำกลุ่มชุมนุมเดินทางไปหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน บรรยากาศในช่วงแรกเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้ชุมนุมถ้อยทีถ้อยอาศัยกับตำรวจ มีการเป่านกหวีด ส่งเสียงโห่ร้อง ปรบมือแสดงความดีใจเป็นระยะ เมื่อเวลาผ่านไปบรรยากาศเริ่มเข้าสู่ความตึงเครียด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ต้องลงมาสังเกตการณ์ สั่งให้ดูแลความปลอดภัยภายใน สตช. ขณะที่นายทศพลยืนยันว่า การเดินทางมาเพื่อต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ตำรวจร่วมมือกับประชาชน จะไม่มีการปีนรั้ว บุกรุกเข้าไปภายใน สตช.ขอชุมนุมอย่างสงบ สันติ อหิงสา
ตัดไฟสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาช่วงบ่ายสถานการณ์ทวีความเข้มข้นขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งเอาผ้าคาดใบหน้า ใช้คีมตัดเหล็กตัดกระแสไฟฟ้าใน สตช. 3 จุด คือบริเวณด้านหน้าถนนพระราม 1 บริเวณหัวมุมตึกกองพิสูจน์หลักฐาน และด้านหน้าอาคารนิติเวชวิทยา ถนนอังรีดูนังต์ ส่งผลให้ไฟฟ้าใน สตช.ดับสนิท แต่ไม่คาบเกี่ยวกระทบถึงโรงพยาบาลตำรวจ ที่มีคนไข้นอนรักษาตัวอยู่ 414 คน เป็นผู้ป่วยหนักห้องไอซียูถึง 48 คน แต่ทำเอาญาติ และผู้ป่วยหลายคนตื่นตระหนก พยายามประสานขอย้ายโรงพยาบาลกันโกลาหล กระทั่ง พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจออกมายืนยันว่า โรงพยาบาลไม่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้และมีมาตรการเตรียม พร้อมอยู่แล้ว
ยิงหัวนอตใส่ ตร.หัวแตกเลือดอาบ
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนเริ่มปฏิบัติการยั่วยุตำรวจ โดยใช้หนังสติ๊กยิงหัวนอตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน ที่ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณอาคารสำนักงานเลขานุการ ตร. ติดกับรั้ว รพ.ตำรวจ ส่งผลให้ พ.ต.ท.มานะ ธัญญะวานิช รอง ผกก.สส.ภ.จ.นครพนม หัวหน้าชุดควบคุมฝูงชน ที่รับผิดชอบพื้นที่ถูกหัวนอตเข้ากลางหน้าผากแตกเลือดอาบ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล แต่เหตุการณ์ไม่ได้ลุกลามบานปลาย เมื่อตำรวจได้รับคำสั่งให้อดทนอดกลั้นอย่าตอบโต้ ทั้งนี้ ผบ.ตร.ประกาศยืนยันจะไม่ให้ผู้ชุมนุมปักหลักพักแรมที่นี่ จะไม่ยอมให้ สตช.ถูกยึดแน่นอน ถ้ามีการบุกเข้ามาตัดน้ำตัดไฟ จะดำเนินการขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ศาลยกคำร้อง “สนธิ” วืดขึ้นเวที
เมื่อเวลา 10.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ที่เคยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้ายยึดสนามบิน บุกทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งอยู่ระหว่างการประกันตัว ได้ยืนคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอลดจำนวนหลักประกันปล่อยชั่วคราว ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาตในแต่ละครั้ง ไม่ต้องวางหลักประกันเพิ่ม และขออนุญาตขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อชี้นำทางความคิดให้มีการปฏิรูปการเมืองก้าวให้พ้นระบอบทักษิณ ศาลเห็นว่าคำร้องของนายสนธิไม่มีเหตุผลเพียงพอให้ศาลเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวตามคำสั่งเดิม ส่วนคำร้องขอขึ้นเวทีปราศรัยเห็นว่าหากนายสนธิขึ้นเวทีแล้ว ไปกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ กระทบต่อความเสียหายความสงบเรียบร้อย หรือกระทำการใด เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันอาจเป็นการผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว ศาลจะสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายสนธิทันที ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง
ชี้กองทัพมีอำนาจต่อรองเพิ่ม
นายสนธิให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบคำสั่งศาลอาญาว่า วันนี้แม้ว่าจะแพ้หรือชนะก็คงไม่สำคัญแล้ว เพราะสถานการณ์ในการชุมนุมของกลุ่มต่างๆที่ต่อต้านรัฐบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภารกิจของนายสุเทพถือว่าสำเร็จที่สามารถระดมมวลชนได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากนี้เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พรรคเพื่อไทยจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลง เนื่องจากไม่สนับสนุนนายสุเทพเปรียบเสมือนกึ่งลอยแพ สื่อและภาคประชาชนเริ่มตื่นตัว มีการจับตามองเรื่องการเมืองขึ้น ส่วนอำนาจต่อรองจะตกอยู่ที่กองทัพมากขึ้น ทางกองทัพควรออกมาแสดงบทบาทหากรัฐบาลทำไม่ถูกต้อง
ม็อบต้าน–ม็อบหนุนรัฐบาลขึ้นพรึบ
ด้านความเคลื่อนไหวผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่บุกยึดศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการหยุดงาน เมื่อเวลา 08.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักชุมนุมประท้วงที่สนามหน้าศาลากลางหลังเก่า จ.นครศรีธรรมราช มีข้าราชการหยุดทำงาน และแกนนำ ผู้ชุมนุมนำป้ายผ้าไวนิลขนาดใหญ่พื้นสีม่วง ตัวหนังสือสีเหลือง มีข้อความว่า “ศาลาประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช” มาปิดทับป้าย “ศาลากลางจังหวัดนครศรี– ธรรมราช” สร้างความสนใจให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา
ขณะที่ ศอ.บต.จ.ยะลา กลุ่มเครือข่ายผู้นำศาสนา และประชาชนผู้รักสันติ รักประชาธิปไตยใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยนายมะหะมะ วาแมดีซา ที่ปรึกษานายก อบจ.ยะลา เข้ายื่นแถลงการณ์ต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ผ่านไปยังนายกฯ เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนรัฐบาล พร้อมมอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้กับนายกฯและรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศชาติต่อไป
สงขลาเปิดให้บริการ ปชช.ปกติ
ส่วนที่ศาลากลาง จ.สงขลา ส่วนราชการต่างๆ ยังเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ ไม่มีการหยุดงานหรือปิดศาลากลางแต่อย่างใด โดยผู้ชุมนุมยังปักหลักชุมนุมภายในศาลากลางอย่างสงบ ขณะที่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ประกาศหยุดการเรียนการสอน 2 วัน รวม 15 แห่ง ส่วนที่หน้าศาลากลาง จ.สตูล ผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่กางเต็นท์ตั้งเวทีเปิดปราศรัย ขณะที่หน่วยงานราชการต่างๆที่ปฏิบัติหน้าที่บนศาลากลาง เจ้าหน้าที่ยังหยุดงานไปถึงวันที่ 29 พ.ย. ส่วนที่ศาลากลาง จ.ตรัง เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ข้าราชการหยุดงาน แต่มีเวทีผู้ชุมนุมหน้าศาลากลาง ขณะที่ศาลากลาง จ.ภูเก็ต มี อส.และฝ่ายปกครองคอยดูแลความปลอดภัยเป็นไปด้วยความเงียบเหงาเช่นกัน ขณะผู้ชุมนุมไม่เข้ามายึดพื้นที่ภายในศาลากลางแต่อย่างใด ด้านศาลากลาง จ.พังงา ประกาศปิดหลังจากผู้ชุมนุมตั้งเวทีปราศรัยกดดัน ที่ศาลากลางจ.ชุมพร ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันใช้เป็นสถานที่กดดันให้หน่วยงานราชการหยุดงานเป็นวันที่ 2 มีนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาเข้าร่วมชุมนุม ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 จำนวน 22 โรงสั่งปิดเรียน
ผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายหวิดปะทะที่เลย
ขณะที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ผู้ชุมนุมนำดอกไม้และนกหวีดมามอบให้พ.อ.ทนงศักดิ์ กิตติศันท์ รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 ก่อนเดินทางต่อไปที่สำนักงานอัยการ มอบดอกกุหลาบให้แล้วเดินทางต่อไปที่หน้าอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลาง จ.นครราชสีมา นำดอกกุหลาบและนกหวีดมามอบให้นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.นครราชสีมา ก่อนเดินทางกลับมาล็อกประตูทางเข้าศาลากลาง ทำให้ข้าราชการต่างๆ ตกใจรีบเดินทางออกจากที่ทำงานบริเวณด้านข้างศาลากลาง ท่ามกลางเสียงนกหวีดที่ผู้ชุมนุมมาเป่าดังสนั่น
ส่วนที่หน้าศาลากลาง จ.เลย ผู้ชุมนุมเดินขบวนมาที่ประตูทางเข้าศาลากลาง แต่ถูกตำรวจและ อส.ตั้งแผงกั้นปิดทางเข้า-ออกไว้ไม่ยอมให้เข้าไป จนเวลาผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเกิดการกระทบทั้งดันแผงกั้นเหล็กไปมาแต่ไม่สามารถผ่านไปได้ พร้อมประกาศให้นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ.เลย ออกมารับช่อดอกไม้แต่ได้ส่งรอง ผวจ.ลงมารับแทนทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ จึงประกาศว่าใครพบ ผวจ.ที่ไหนให้เป่านกหวีดใส่ที่นั้น พร้อมกับใช้เท้าเหยียบดอกไม้เพื่อระบายอารมณ์ ก่อนสลายตัวกลับไป
แดงเชียงใหม่ป้องศาลากลาง
ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กลุ่ม นปช.เชียงใหม่ ระดมคนเสื้อแดงจากอำเภอต่างๆ มาชุมนุมกันและประกาศให้คนเสื้อแดงออกมาช่วยกันปกป้องศาลากลาง หลังมีข่าวว่ากลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะนัดรวมตัวมายึดศาลากลาง คนเสื้อแดงยอมไม่ได้เพราะเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี หากกลุ่มดังกล่าวเข้ามาจะนำถุงปลาร้าปาใส่ ด้านนายภานุพงศ์ วีระตันยาภรณ์ แกนนำกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเชียงใหม่ กล่าวว่า จะไม่ยึดสถานที่ราชการแน่นอน ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังศาลากลาง จ.นครสวรรค์ ขอพบนายชัยโรจน์ มีแดง ผวจ.นครสวรรค์ โดยนำนกหวีดและดอกไม้มามอบให้และร่วมเป่านกหวีด 3 ครั้ง ก่อนแยกย้ายกลับ
หนุน–ต้านหวุดหวิดฟาดปาก
ต่อมาที่ประตูทางเข้าศูนย์ราชการ จ.เพชรบูรณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายเสรีชนนำดอกไม้และนกหวีดมามอบให้กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.เพชรบูรณ์ และเตรียมเดินทางกลับ แต่นายสิทธิชัย ต๊ะอาจ แกนนำ นปช.51 นำมวลชนพร้อมเครื่องเสียงมาด่าทอทำให้เกิดปากเสียงจนหวิดปะทะกัน ทำให้ตำรวจต้องรีบเข้าห้ามปรามจนเหตุการณ์คลี่คลาย ส่วนที่ จ.พิษณุโลก กลุ่มแพทย์ พยาบาล นิสิต นักศึกษา เดินทางมาร่วมชุมนุมที่ศาลากลางต่อมานายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.พิษณุโลก ลงมารับหนังสือ ผู้ชุมนุมส่งนกหวีดให้เป่า แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจเป่านกหวีดไล่
แดงสุพรรณห้ามปิดจวน ผวจ.
ที่ศูนย์ราชการ จ.สุพรรณบุรี พล.ต.เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ ประธาน นปช.สุพรรณบุรี นำมวลชนคนเสื้อแดงรวมตัวเปิดเวทีปราศรัยอยู่นอกรั้วของศาลากลาง พร้อมประกาศห้ามไม่ให้ใครมาปิดล้อมสถานที่ราชการและบังคับให้ข้าราชการหยุดงานเด็ดขาด สนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อไป ที่ศาลากลาง จ.ตราด ผู้ชุมนุมนำดอกไม้นกหวีดมามอบให้ ผวจ.ตราด แล้วสลายตัวไป ที่ศาลากลาง จ.อุทัยธานี กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาขอให้นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผวจ.อุทัยธานี แสดงอารยะขัดขืนอนุญาตให้ข้าราชการหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา พร้อมเป่านกหวีด นายวันชัยยอมทำตามข้อเรียกร้องโดยมีข้อแม้ว่า จะให้ข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลระบบสารสนเทศและบริการประชาชนอยู่ปฏิบัติงานได้ ส่วนที่ศาลากลาง จ.สมุทรสงคราม กลุ่มผู้ชุมนุมนำดอกไม้มามอบให้นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผวจ.สมุทรสงคราม พร้อมกับนกหวีดและสั่งให้หน่วยงานราชการหยุดงาน
แดงปทุมตีกันกลุ่มไล่รัฐบาล
ด้านหน้าศาลากลาง จ.ปทุมธานี กลุ่มคนเสื้อแดงปทุมธานี นำดอกกุหลาบแดงมามอบให้กำลังใจนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผวจ.ปทุมธานี พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จ.ปทุมธานี และข้าราชการเพื่อเป็นกำลังใจ ขณะตำรวจมาคอยดูแลความสงบทั้งภายในและภายนอกศาลากลางจังหวัด ต่อมานายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงปทุมธานี พร้อมพวกประกาศ ห้ามปิดศาลากลาง ต่อมากลุ่มต่อต้านเดินทางมาตามถนนปทุมธานี-นนทบุรี ถือธงชาติโบกสะบัดและเป่านกหวีด ทำให้ตำรวจต้องรีบวางกำลังสกัดกั้นไม่ให้เผชิญหน้ากัน
นปช.ตั้งป้อมปกป้องรัฐบาล
เคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ที่ยังคงปักหลักชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อแสดงพลังปกป้องรัฐบาลต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 5 เมื่อเวลา 10.00 น. แกนนำ นปช.ขึ้นเวทีแถลงท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองกำลังเขม็งเกลียวขึ้น โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า ขณะนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผบ.สูงสุดของม็อบที่ยึดสถานที่ราชการ อ้างจะโค่นระบอบทักษิณ แต่ความจริงกลับทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ หวังสถาปนาการปกครองแบบใหม่ ข้อเสนอของนายสุเทพเป็นแค่ข้อเสนอลมๆแล้งๆ จะนำประเทศไปสู่หายนะครั้งยิ่งใหญ่ โอกาสจะกู้คืนกลับมาได้ยาก ขอความร่วมมือประชาชนที่มีสติ ยกเลิกไปร่วมทำร้ายประเทศไทย การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะประชาชนไม่นิยม จึงต้องโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย โดยทำให้สังคมไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว เกิดการตั้งรัฐบาลในนามผู้ที่ก่อความไม่สงบ
“ตู่” ฮึ่มกองทัพห้ามเล่นนอกกติกา
นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า ทางออกทางเดียวที่คนกลุ่มนี้ คือการตีไพ่เปิดประตูให้เกิดรัฐประหารโดยทหารหรือองค์กรอิสระ เหมือนที่กลุ่มพันธมิตรฯเคยทำ รัฐบาลไม่ใช้กำลัง ศอ.รส.จับกุมนายสุเทพ และผู้ชุมนุม ใช้การเมืองนำการใช้กำลัง เป็นแนวทางที่ถูกต้อง นปช.วิงวอนคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยให้ใช้ความอดทนอดกลั้น ถ้าใช้ความสะใจจะพ่ายแพ้ เชื่อนายสุเทพจะขยายการชุมนุมไปจนถึงวันที่ 12 ธ.ค. ตรงกับวันที่อัยการส่งฟ้องศาลข้อหาฆ่าคนตาย แต่ถ้าไม่ไปพบศาลในวันดังกล่าวจะถูกหมายจับคดีฆ่าคนตายทันทีอย่างไร ก็ตาม การสู้กับคนชั่วเราไม่ต้องชั่วเหมือนเขา แต่รัฐบาลและ ศอ.รส.ควรเอาข้อเท็จจริงออกมาให้ประชาชนเห็น ควรทำความจริงให้ปรากฏ เรามีหน้าที่ทำให้สถานการณ์นี้เดินไปถึง 12 ธ.ค. เพื่อลากนายสุเทพสู่ศาล ส่วนในวันที่ 30 พ.ย. คนเสื้อแดงที่ร้างเวทีจะกลับมาเข้าฝักอีกครั้ง กองทัพไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถ้ากระทำการ จะเสียประชาชน เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาสู้ กองทัพมีกำลังเท่าไรไม่สามารถฆ่าคนในชาติได้หมด
“ธิดา” ย้ำชุมนุมใหญ่ 30 พ.ย.
ต่อมาในช่วงค่ำ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. ขึ้นปราศรัยอีกรอบ ว่าตอนนี้มีการปล่อยข่าวว่าแกนนำ นปช.ยกเลิกชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ แกนนำยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกชุมนุม ยังนัดชุมนุมใหญ่ตามนัดวันเดิม เพื่อแสดงพลังของฝ่ายประชา– ธิปไตยต่อต้านอำนาจระบอบอำมาตย์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ปราศรัยว่า ข้อเรียกร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้มีสภาประชาชน เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ ทางออกที่ง่ายที่สุดให้นายสุเทพไปผูกคอตาย หรือฆ่าตัวตายจะง่ายกว่า แม้แต่นายกรัฐมนตรีต้องการเจรจาด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงเกิดเหตุปะทะ นายสุเทพก็ไม่ยอมเจรจา เนื่องจากต้องการให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง หากเป็นเช่นนั้นก็ให้ยึดสถานที่ราชการต่อไป สุดท้ายนายสุเทพจะตายซากเอง
สื่อต่างชาติเกาะติดการเมืองร้อน
สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ บีบีซีและซีเอ็นเอ็น รายงานเกาะติดสถานการณ์เหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่ากลุ่มผู้ประท้วงยังคงเดินขบวนไปชุมนุมตามสถานที่ราชการต่างๆทั้งใน กทม.และที่ศาลากลางในหลายจังหวัด ที่ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อกดดันรัฐบาล ขณะที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้องกลุ่มผู้ประท้วงยุติการชุมนุมและหันมาเจรจากัน ท่ามกลางความวิตกของนานาชาติ หวั่นลุกลามเป็นเหตุรุนแรง ล่าสุด นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาแสดงความเป็นห่วงด้วยเช่นกัน
เปิดแผนขจัดระบอบทักษิณ 29 พ.ย.
ต่อมาเวลา 21.15 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นเวทีปราศรัยว่า เป้าหมายแนวทางที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปประเทศไทยให้สมบูรณ์เสียที จะเกิดได้ต้องขจัดระบอบทักษิณหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยเสียก่อน การปฏิบัติการคราวนี้ ในการขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่น– ดินไทย ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มาร่วมให้มากันมากกว่า 1 ล้านคน 2 ล้านหรือ 3 ล้านคน ร่วมแรงร่วมใจที่ยิ่งใหญ่ให้ออกมาให้ปฏิบัติการให้สำเร็จ หากประชาชนไม่ออกมาการปฏิบัติการครั้งนี้ก็จะล้มเหลว หลวงปู่และตนต้องติดคุกแน่นอน ผมจะได้ไปเรียนกรรมฐานในห้องขัง การเคลื่อนครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พระคุณเจ้าเดินนำหน้าขบวน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจบให้เร็วที่สุด ไม่อยากให้นายกฯไปทำอะไรบาดตาบาดใจอีกต่อไป แผนปฏิบัติการที่ว่านั้นจะเก็บไว้คืนวันที่ 29 พ.ย. พูดเสร็จอาจจะปฏิบัติการเลยทันที พี่น้องต้องเตรียมรองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ เป้ย่ามเอามาด้วยใส่ผ้าขนหนู ขวดน้ำ ข้าวห่อด้วย คราวนี้ถ้าแพ้ก็ไม่คิดจะซัดทอดใคร
เป่านกหวีดปลุกประชาชนลุกฮือยึด
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาแถลงรัฐบาลจะปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งที่นายกฯสั่งตำรวจใช้อาวุธทุกอย่างให้สลายผู้ชุมนุมที่กระทรวงการคลังให้ได้เมื่อคืนวันที่ 27 พ.ย. ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่นายกฯพูดปากกับใจไม่ตรงกัน ส่วนที่นายกฯบอกยังมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ ขอให้ปากแข็งไปเถอะ วันที่ 29 พ.ย.พี่น้องลุกฮือขึ้นทุกวัน ส่วนที่นายกฯบอกว่าจะเจรจาด้วย ขอบอกว่าไม่ต้องส่งใครมาคุย ไม่ต้องมาคุยด้วย ส่วนที่นายกฯระบุว่าการตั้งสภาประชาชนไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ตอนนี้ไม่มี แต่จะมีในเร็วๆนี้
ถล่ม “กรณ์” ยับแส่วิจารณ์ม็อบ
นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่ผู้ชุมนุมยึดกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ไม่สบายใจถึงกลยุทธ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม และบอกต้องรักษากฎเกณฑ์การชุมนุม เรื่องนี้นายกรณ์มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย แต่ผู้ชุมนุมมีสิทธิ์ดำเนินการใดที่จำเป็นให้เกิดความสำเร็จในการต่อสู้ระบอบทักษิณ ผู้ชุมนุม แกนนำทุกคนไม่เคยติดหนี้นายกรณ์แต่ประการใด และเราได้ลาออกจาก ส.ส.ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ มุ่งหน้าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่สนใจผลประโยชน์ของพรรคการเมืองอีกต่อไป แกนนำทั้ง 9 คนจะไม่ทำตามคำสั่งใครนอกจากคำสั่งของมวลมติมหาชนที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่เท่านั้น ขอเตือนนายกรณ์ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ปฏิบัติการเสร็จไม่ต้องออกมาพูดอะไรอีก ไม่เช่นนั้นจะลำบากมากที่สุดในชีวิต
วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ทำไมรัฐบาลไม่ควรยุบสภา
โดย ใจ อี๊งภากรณ์
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ควรยุบสภาหรือลาออก ตามคำเรียกร้องของคนชั้นกลางเสื้อเหลืองที่มาประท้วงภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผมฟันธงแบบนี้ทั้งๆ ที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และการปกป้องกฏหมายเผด็จการ 112 ของรัฐบาล
ในประการแรก การยุบสภาจะไม่ทำให้ผู้ประท้วงพอใจแต่อย่างใด เพราะเขาไม่สนใจประชาธิปไตยและรู้ดีว่าถ้ายุบสภา ประชาธิปัตย์ สุเทพ และพรรคพวกของเขา ไม่มีวันชนะการเลือกตั้ง เราควรคำนึงถึงการยุบสภาของอดีตนายกทักษิณในปี ๒๕๔๙ เพราะพอจัดการเลือกหลังจากนั้นตั้งพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมลงสมัคร เพราะรู้ว่าจะแพ้ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถครองใจคนส่วนใหญ่ได้ การไม่ลงสมัครของพรรคฝ่ายค้านเพิ่มวิกฤต จนตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วนำไปสู่รัฐประหาร ข้อแก้ตัวของฝ่ายเหลืองตอนนั้นและในขณะนี้คือ เขามองว่าประชาชนส่วนใหญ่ “ขาดวุฒิภาวะพอที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้ง” ซึ่งเป็นข้ออ้างของฝ่ายเผด็จการมาแต่ไหนแต่ไร พวกนี้จะไม่พอใจจนกว่าคนล้าหลังของเขาขึ้นมาตั้งรัฐบาลด้วยวิธีใดก็ได้
ในประการที่สอง อภิสิทธิ์กับสุเทพเป่าประกาศว่ารัฐบาล “ขาดความชอบธรรม” เราอาจถกเถียงในเรื่องนี้ได้ แต่เราเถียงไม่ได้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งขาดลอยในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง ต้องให้ทหารตั้งเป็นรัฐบาลแทน
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ คนที่กล่าวหาว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม เป็นพวกมือเปื้อนเลือด เพราะเขาดำรงตำแหน่งสูงในรัฐบาลตอนที่มีการเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดงที่ไม่ถืออาวุธ ผมนึกไม่ออกว่าศีลธรรมฉบับไหนในโลกมองว่ามาตกรมีความชอบธรรม ดังนั้นเราไม่ต้องไปให้ความสำคัญกับคำพูดของสุเทพหรืออภิสิทธิ์ เขาพร้อมจะฆ่าคนเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการ
นักวิชาการหลายคนเสนอว่ารัฐบาลควรจัดทำประชามติโดยเร็ว เพื่อถามประชาชนว่าต้องการยกเลิกหรือแก้รัฐธรรมนูญทหารปี ๕๐ ทั้งฉบับหรือไม่ ผมเห็นด้วย ควรรีบทำ แต่ขณะที่ทำประชามติไม่ต้องยุบสภาแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลชนะประชามติ ก็พิสูจน์ว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐบาล ถ้าแพ้ประชามติ รัฐบาลก็ควรลาออกและยุบสภา นี่คือกระบวนการประชาธิปไตยรัฐสภาในระดับสากล
คำถามคือรัฐบาลกล้าทำประชามติแบบนี้หรือไม่ เพราะที่แล้วมาก็จับมือประนีประนอมกับทหารมาตลอด
ส่วนเรื่องตลกร้ายของ “ม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” และสุเทพ ที่พูดถึง “สภาประชาชน” หรือ “รัฐบาลประชาชน” เราไม่ต้องให้ความสำคัญเลย เพราะเป็นคำโกหกตอแหลของกลุ่มคนที่ดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคารพมติประชาชน และมัวแต่เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร พวกนี้ไม่มีแม้แต่เศษขี้เล็บของความชอบธรรมเลย
--
วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ปฏิรูปให้เหมือนเดิม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา:มติชนรายวัน 25 พ.ย. 2556
ก่อนอื่น ต้องขอประทานโทษ อาจารย์ประเวศ วะสี เป็นอย่างยิ่ง ที่ขอเอาบทความของท่านมาวิจารณ์ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านท่านในฐานะบุคคล แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การมองปัญหาและทางออกของชนชั้นนำตามประเพณี แม้ในบุคคลที่มีความหวังดีอย่างสุจริตใจต่อส่วนรวม ก็ยังขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนที่มีอยู่จริงในสังคมไทย และทำให้ทั้งปัญหาและทางออกในทรรศนะของเขา มันง่ายเกินกว่าความเป็นจริง จนนำไปปฏิบัติไม่ได้
หากไม่นับการปฏิวัติแล้ว มีจุดพลิกผันในประวัติศาสตร์อย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศจินตนาการถึงหรือไม่ เท่าที่ผมทราบ อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลย คนรุ่นหลังอาจชี้ว่าที่จุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ แนวทางความเป็นไปของสังคมได้เปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ หรือเพลโต หรือการขยายตัวของพุทธศาสนาสายที่เรียกกันว่าลังกาวงศ์ แต่หากศึกษากรณีต่างๆ เหล่านี้เท่าที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหลือให้ศึกษาได้ ก็จะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงอื่น เล็กๆ จนแทบจะไม่มีใครสังเกตเห็น เกิดสะสมมาจนกระทั่ง "โครงสร้าง" (ตามคำที่ท่านอาจารย์ชอบใช้) เก่า ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น การผลิตในอังกฤษก่อนเครื่องจักรไอน้ำได้พัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อตลาดอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ไม่ว่าในทางหัตถอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม รวมแม้กระทั่งภาคการเงิน มีความต้องการอย่างเหลือล้นที่จะได้แหล่งกำเนิดพลังงานใหม่ ที่สามารถทำงานได้เร็วขึ้น และหนักขึ้น มากกว่ากำลังคนและกำลังสัตว์หรือสายน้ำ เครื่องจักรไอน้ำเป็นคำตอบที่ตรงกับความต้องการที่สุด เพราะผลิตขึ้นได้ไม่ยากไปกว่าความรู้ทางเทคโนโลยีที่อังกฤษมีอยู่เวลานั้น
เราไม่อาจชี้ต้นเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปที่เครื่องจักรไอน้ำได้ แต่ต้องชี้ไปที่ความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เกิดขึ้นในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมาว่าเป็นต้นเหตุสำคัญกว่า ซึ่งยากที่จะพูด จึงชี้ไปที่เครื่องจักรไอน้ำ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายดี
แม้แต่การปฏิวัติ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง มีเหตุทั้งเล็กและใหญ่สั่งสมกันมานาน ก่อนที่จะปะทุขึ้นเป็นการปฏิวัติอเมริกัน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน หรือเวียดนามและอินโดนีเซีย หรือแม้แต่สยาม (เราไม่อาจพูดถึงนักเรียนไทยคุยกันที่ปารีส โดยไม่พูดถึงความเสื่อมโทรมและความแย้งกลับของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้)
นี่ดูเหมือนเป็นเรื่องถกเถียงทางวิชาการ (สายสังคมศาสตร์) เท่านั้น แต่ที่จริง การมองโลกแบบจุดพลิกผัน มักทำให้เห็นการกระทำหรือไม่กระทำของคนหรือสถาบันว่าเป็นตัวตัดสินมากเกินไป ดังเช่น การขอพระราชอำนาจในการตั้งนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะแก้ปัญหาประชาธิปไตยไทยให้สงบราบเรียบได้ เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบ "ราชประชาสมาศัย" หรือใช้รัฐประหารในการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ก็มาจากความเชื่อเรื่องจุดพลิกผันนั้นเอง
เพื่อความเป็นธรรมต่ออาจารย์ประเวศ ท่านไม่ได้คิดว่าบุคคลหรือสถาบันจะสร้างจุดพลิกผันได้ ท่านเสนอว่าสังคมเข้มแข็งต่างหากที่จะสร้างจุดพลิกผันได้
แต่สังคมเข้มแข็งเป็นอย่างไร แค่คนออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนเท่านั้นคือสังคมเข้มแข็งหรือ คนในสังคมไทยออกมาชุมนุมในท้องถนนกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว นับตั้งแต่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชิงดินแดนมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศส และเลือกตั้งสกปรก จนถึง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภามหาโหดปี 35, ขับไล่ระบอบทักษิณเมื่อปี 48-56 และปัจจุบัน, รวมทั้งเมษา-พฤษภาเลือดใน 2553 ด้วย แต่ยิ่งมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น "พื้นที่" ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่ได้ขยายขึ้นแต่อย่างไร สื่อเคยถูกรัฐควบคุม แต่เมื่อปล่อยให้สื่อคุมกันเองแล้ว ถามว่าในทุกวันนี้สื่อยังเป็น "พื้นที่" แห่งเสรีภาพที่รับผิดชอบอยู่หรือไม่ การเลือกตั้งถูกทำให้ไม่น่าไว้วางใจ และต้องมีอำนาจอื่นที่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนคอยตรวจสอบควบคุมเสมอ (ดังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งล่อนจ้อนกับทฤษฎีนี้จนหมดตัว) "พื้นที่" ในกระบวนการตุลาการก็ถูก "อภิวัตน์" ไปส่วนหนึ่งเสียแล้ว
กัมมันตภาพของประชาชนมี "พื้นที่" น้อยลง แม้เรามีพลเมือง "ที่มีจิตสำนึก รู้เท่าทัน" มากขึ้นก็ตาม
ท่านอาจารย์พูดถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนตรวจสอบไม่ได้ว่าคือ "ระบอบทักษิณ" คำนี้แปลว่าอะไร? เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตร ถ้าเกี่ยวก็ไม่ใช่ "ระบอบ" ถ้าไม่เกี่ยว อำนาจนี้ย่อมสลับซับซ้อนกว่าคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย
ผมจึงเชื่อมานานแล้วว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นระบอบที่ผู้นำทางการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารล้วนทำอย่างเดียวกันตลอด คือหลีกเลี่ยงและขจัดการตรวจสอบ รับประโยชน์จากการวางนโยบายสาธารณะ (ตัวเองรับหรือพรรคพวกรับก็ไม่ต่างกัน) นอกจากหีบบัตรเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากไปกว่านั้น และด้วยเหตุที่ยังใช้การเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมทางการเมือง จึงพยายามทุกวิถีทางมิให้การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่เท่าเทียมและเสรี
การทำลายระบอบทักษิณจึงอาจไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ไม่ว่าแกเป็นนายกฯ หรือคนอื่นเป็น ก็ต้องช่วยกันทำลายระบอบนี้
และระบอบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่ในเมืองไทยเพียงเพราะคุณทักษิณมีอำนาจ "ทางการเงิน, การเมือง และสังคม" เท่านั้น ถึงคนอื่นๆ ไม่มีอำนาจเท่านั้น ก็ยังบริหารประเทศในระบอบทักษิณอยู่เหมือนกัน การยกสาเหตุทั้งหมดไปให้อำนาจของคุณทักษิณ ดูจะง่ายเกินไป เพราะอำนาจในสังคมไทยมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้นมากทีเดียว
นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวถึงอำนาจในการเมืองไทยว่า แบ่งออกเป็นหลายเครือข่าย ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น นักธุรกิจ ปัญญาชน นักการศาสนา นักปลุกระดม นักวิชาการ ฯลฯ หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นเครือข่ายอำนาจอีกอย่างหนึ่ง เครือข่ายเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อน ในบางครั้งบางสถานการณ์ บางเครือข่ายอาจเป็นศูนย์รวม (node) ของเครือข่ายอำนาจกว้างขวางที่สุด เพราะเครือข่ายอื่นพากันเข้ามาเชื่อมเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ในอีกบางครั้งบางสถานการณ์ ก็อาจปลีกตัวออกไปเพื่อไปร่วมกับเครือข่ายอื่น
ไม่มีใครหรอกครับที่มีอำนาจขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะมาด้วยหีบบัตรเลือกตั้งหรือรถถัง เขาคือคนหนึ่งในเครือข่ายของเขา และเครือข่ายของเขาก็ร่วมเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น และนี่คือฐานรากของ "ระบอบทักษิณ" ที่ไม่ได้เกิดกับคุณทักษิณคนเดียว
อย่างไรก็ตาม ในรอบสักสองทศวรรษที่ผ่านมา เกิดคนหน้าใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นั่นคือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือที่บางคนเรียกว่าคนชั้นกลางใหม่ (คงเพื่อเทียบกับคนชั้นกลางที่สนับสนุนนักศึกษาใน 14 ตุลา และเป็นม็อบมือถือในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ซึ่งต่างก็ "ใหม่" ในตอนนั้นเหมือนกัน) คนเหล่านี้สร้างเครือข่ายที่อาจแตกต่างจากเครือข่ายในการเมืองไทยมาก่อน เพราะเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันน้อยกว่า แต่เน้นความเหมือนด้านจุดยืนทางการเมืองมากกว่า เครือข่ายเหล่านี้มีมาก่อนเสื้อแดงเสียอีก แต่อาจถูกบดบังด้วยระบบ "หัวคะแนน" เสียจนทำให้เรามองไม่เห็น และคิดว่าพรรคทรท.ชนะการเลือกตั้งจากระบบหัวคะแนนแต่เพียงอย่างเดียว (คำอธิบายที่นักวิชาการฝรั่งให้ก็คือ พรรคทรท.สามารถควบรวมพรรคเล็กได้หมด จึงทำให้ได้หัวคะแนนเกือบทั้งระบบในกำมือ แต่ผมสงสัยว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอ และคงต้องมีการศึกษาประเด็นเชิงประจักษ์มากกว่านี้)
เครือข่ายที่เกิดใหม่ของคนเหล่านี้เริ่มเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น ที่สำคัญคือเครือข่ายของพรรค ทรท.เก่า (รวมทั้งพรรค พท.ด้วยแน่) แต่ไม่สามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอำนาจอื่นๆ ได้ แม้กระนั้นก็เป็นระบบเครือข่ายที่มีคนจำนวนมากอยู่ในนั้น เรื่องจึงอยู่ที่ว่า เขาจะสามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่นได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน เครือข่ายอื่นจะสามารถเข้ามาเชื่อมพันธมิตรกับเขาได้หรือไม่ แต่ความคิดที่จะทำลายเครือข่ายทั้งกลุ่มออกไปทั้งยวงนั้น เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
จริงอย่างที่อาจารย์ประเวศคิด นั่นคือหากคนส่วนใหญ่หลุดจากเครือข่าย และกลายเป็นพลเมืองผู้รู้เท่าทันและกัมมันตะ สภาพการเมืองไทยย่อมเปลี่ยนไปแน่นอน แต่นี่คือวิธีคิดถึงสังคมในฐานะเป็นที่รวมของปัจเจกบุคคล แต่สังคมเช่นนี้ไม่มีในความเป็นจริงทั่วโลก นอกจากจินตนาการของผู้คน
สังคมไหนๆ ก็ตาม ปัจเจกบุคคลย่อมมีพฤติกรรม (รู้ทันและกัมมันตะ) จากปัจจัยแวดล้อม มงคลสูตรพูดถึงปฏิรูปเทสวัสโส ก็หมายถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมนี่แหละครับ และหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมของมนุษย์คือความสัมพันธ์หรือเครือข่าย การเกิดเครือข่ายใหม่จึงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้ข่าวสารข้อมูลมากขึ้นจากหลายมุมมอง และกัมมันตะมากขึ้น (อย่างน้อยก็มากกว่าสังกัดอยู่แต่ในเครือข่ายเก่าตลอดไป)
ผู้ร่วมชุมนุมในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา จะเป็นพลเมืองที่ "รู้เท่าทัน" ได้อย่างไร ในเมื่อการชุมนุมของทุกฝ่ายล้วนถูกกำกับโดยผู้นำการชุมนุม ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีส่วนร่วมมากไปกว่ามือตบและตีนตบ ทั้งสองฝ่ายต่างส่งเสียงเชียร์ให้แก่คำพูดที่บิดเบือนความจริง เพราะไม่สนใจติดตามข้อมูลเพียงพอจะรู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง รวมทั้งจริงแค่ไหน และไม่จริงแค่ไหน
ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า นี่คือสัญญาณของการเกิดสังคมเข้มแข็งได้อย่างไร
แทนที่จะไปกำหนดสังคม เราปล่อยให้สังคมได้ต่อสู้ขัดแย้งกันด้วยความเท่าเทียมและยุติธรรมไม่ดีกว่าหรือครับ พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะ เกิดขึ้นจากการได้ร่วมในการต่อสู้ถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และแน่นอนโดยมีเสรีภาพเต็มเปี่ยม หากเราต้องการความก้าวหน้าของสังคม ช่วยกันระแวดระวังให้การต่อสู้ถกเถียงนั้นได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน น่าจะช่วยให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การวางแผนให้เสร็จว่าต้องเดินไปอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ
ที่จริงผมยังสงสัยด้วยว่า พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะสามารถแก้ไขอะไรในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบันได้ ระหว่างความพยายามจะหยุดยั้งการละเมิดชีวิตของผู้คนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ กับความพยายามยุติการเหยียดผิว(ดำ)ในสหรัฐ อย่างแรกไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด ในขณะที่อย่างหลังประสบความสำเร็จอย่างมาก ความแตกต่างอยู่ที่ว่าอย่างหลังสามารถเอาชนะสมองของคนอเมริกันได้ แต่อย่างแรกไม่สามารถทำสำเร็จ คนอเมริกันยังเชื่อว่าอย่างไรเสีย บรรษัทควรมีอำนาจมากกว่ารัฐ
อำนาจในโลกปัจจุบันไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน แต่มาจากการช่วงชิงนิยามความชอบธรรมต่างหาก
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
แผนรุก 2 พรรค หลังศึกตุลาการ "เพื่อไทย"เมินอำนาจ-ยื่นฟ้องกลับ "ปชป."ต่อยอด 5 คดีถอดถอน !!
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อุณหภูมิทางการเมืองกลับมาร้อนขึ้นอีกระดับ หลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กระบวนการและเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขัดต่อมาตรา 68 และอีกหลายมาตราสำคัญ
แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.จะไม่ชี้ชัดถึง "บทลงโทษ" ทั้งการยุบพรรคหรือถอดถอนสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตามขั้นตอนการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
และย่อมเป็นบรรทัดฐานในการขีดเส้นทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ในฐานะเสียงข้างมาก-ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องนำมาซึ่งแนวทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ผ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยินยอมรับอำนาจ-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.การที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน
2.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ย่อมไม่เกี่ยวข้อง
"ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291"
3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาได้
4.คำวินิจฉัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม และเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา ก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้ว
5.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ใน 9 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด
"ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3 หรือ 4 คน ดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม"
6.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตราต่าง ๆ นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
"ถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 เรื่องกำหนดหลักนิติธรรม และมาตรา 6 เรื่องกำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ในขณะที่ประกาศคำสั่งของ
คณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการ กระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด"
7.การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง และสภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย
8.เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้น 90 วัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย
9.หากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน หรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับ ก่อนปี 2540 วางหลักการไว้
"การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร"
ทั้งนี้ นอกจากคำแถลงการณ์ 9 ข้อ พรรคเพื่อไทยยังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมยื่นคำร้อง-ข้อมูลเพื่อยื่นถอดถอน และดำเนินคดีอาญาต่อ ส.ส.-ส.ว. และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป
โดยทีมกฎหมายพรรคเชื่อว่า กระบวนการพิจารณาหลังจากนี้จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น "บรรทัดฐาน" และมีผล "ผูกพัน" ทุกองค์กร
เป็นกระบวนการที่ยึดโยงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
ประกอบกับมาตรา 27 ระบุว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
อันสะท้อนยุทธวิธีการรบของ ปชป.ได้จากมุมคิดของหัวหน้าพรรค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่เปิดเผยภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยของศาล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
"ผมว่าประเด็นเหล่านี้มันชัดว่าเป็น กระบวนการที่ไม่ชอบ แล้วถามว่าเมื่อกระบวนการมันไม่ชอบนี้ แล้วเราบอกว่าจะไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ ถ้างั้นต่อไปจะโกงกันยังไงก็ได้ ถูกมั้ย ลงคะแนนยังลงแทนกันได้ เอกสารเสนอก็ปลอมกันได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วล่ะครับ"
เขาบอกว่า บทลงโทษกรณีดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด บุคคลที่ดำเนินการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยครั้งนี้ ควรแสดงความรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง
"ผมก็พูดตรง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่อยากเรียกร้องอะไร เพราะไม่เคยมีการตอบสนอง ไม่เคยมีคำตอบอยู่แล้ว ตั้งแต่กฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว สุดท้ายก็เพียงแต่บอกว่าขอเก็บไว้ 180 วัน แล้วสัญญาว่าจะไม่ยุ่ง นี่เพียงพอแล้วหรือต่อความรับผิดชอบ"
"ส่วนกรณีที่มีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดกฎหมายตามที่ศาลระบุนี้ เราก็จะดำเนินการต่อไปครับ ในกระบวนการถอดถอน หรือกระบวนการกล่าวโทษทางอาญาครับ"
"ประเด็นจะมีประเด็นเดียวครับว่า ใครคือผู้เสียหาย หรือจะหวังพึ่งอัยการ คือกระบวนการของกรณีนี้ ด้วยความเคารพอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายนะครับ คือ ป.ป.ช.ท่านก็อาจจะมีกระบวนการของท่าน แต่ผมมองว่ามันไม่ช้า ตรงที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ผูกพันทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ชี้ไว้แล้ว แต่ผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้นเมื่อศาลบอกว่าคนนี้ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ป.ป.ช.ก็ต้องยึดถือตามที่ศาลชี้ว่าคนนี้ทำผิด"
จากถ้อยคำของ "อภิสิทธิ์" จึงถูกแปรสัญญาณตรงถึงคณะทำงานด้านกฎหมาย อันมี "วิรัตน์ กัลยาศิริ" หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวขบวนหลัก
แหล่งข่าวในทีมกฎหมาย ปชป.เปิดเผยว่า แม้เบื้องต้นยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่กำลังจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ ปชป.ได้เตรียมข้อมูล-เอกสาร รวมถึงร่างคำร้องไว้เรียบร้อย โดยสรุปเป็นไปได้อย่างน้อย 5 สำนวน เพื่อเดินหน้าต่อยอดกระบวนการดังกล่าว
สำนวนแรก ดำเนินคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปลอมแปลงเอกสาร-กดบัตรแทนกัน โดยทีมกฎหมาย ปชป.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยื่นฟ้องพาดพิงถึงบุคคลใดบ้าง
โดยอาศัยความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ที่ระบุว่า ผู้ใดปลอมแปลงเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท และมาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการพิจารณายึดโยงถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สำนวนสอง การยื่นถอดถอน "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157
สำนวนสาม การยื่นถอดถอน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157
"ทั้งสองสำนวนข้างต้น เป็นประเด็นที่ทีมกฎหมายพรรคคาดว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลแทบจะชี้มูลความผิดของทั้งนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.อาจใช้เวลาพิจารณาไม่มากนัก"
สำนวนสี่ การยื่นถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะร่วมกันลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ของ ส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมาย
สำนวนห้า ภายหลังที่ ส.ส.+ส.ว.จำนวน 312 คน อ่านคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมประสบช่องในการยื่นฟ้อง ที่ถูกตีความว่าเป็นกบฏต่อไป
"ประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และเหนือศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ"
เป็นแผนรับ-ตำรารบของ 2 ขั้วการเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นนับจากนี้
แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตามขั้นตอนการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
และย่อมเป็นบรรทัดฐานในการขีดเส้นทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ในฐานะเสียงข้างมาก-ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องนำมาซึ่งแนวทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ผ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยินยอมรับอำนาจ-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.การที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน
2.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ย่อมไม่เกี่ยวข้อง
"ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291"
3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาได้
4.คำวินิจฉัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม และเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา ก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้ว
5.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ใน 9 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด
"ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3 หรือ 4 คน ดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม"
6.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตราต่าง ๆ นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
"ถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 เรื่องกำหนดหลักนิติธรรม และมาตรา 6 เรื่องกำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ในขณะที่ประกาศคำสั่งของ
คณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการ กระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด"
7.การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง และสภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย
8.เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้น 90 วัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย
9.หากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน หรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับ ก่อนปี 2540 วางหลักการไว้
"การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร"
ทั้งนี้ นอกจากคำแถลงการณ์ 9 ข้อ พรรคเพื่อไทยยังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมยื่นคำร้อง-ข้อมูลเพื่อยื่นถอดถอน และดำเนินคดีอาญาต่อ ส.ส.-ส.ว. และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป
โดยทีมกฎหมายพรรคเชื่อว่า กระบวนการพิจารณาหลังจากนี้จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น "บรรทัดฐาน" และมีผล "ผูกพัน" ทุกองค์กร
เป็นกระบวนการที่ยึดโยงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
ประกอบกับมาตรา 27 ระบุว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
อันสะท้อนยุทธวิธีการรบของ ปชป.ได้จากมุมคิดของหัวหน้าพรรค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่เปิดเผยภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยของศาล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
"ผมว่าประเด็นเหล่านี้มันชัดว่าเป็น กระบวนการที่ไม่ชอบ แล้วถามว่าเมื่อกระบวนการมันไม่ชอบนี้ แล้วเราบอกว่าจะไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ ถ้างั้นต่อไปจะโกงกันยังไงก็ได้ ถูกมั้ย ลงคะแนนยังลงแทนกันได้ เอกสารเสนอก็ปลอมกันได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วล่ะครับ"
เขาบอกว่า บทลงโทษกรณีดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด บุคคลที่ดำเนินการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยครั้งนี้ ควรแสดงความรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง
"ผมก็พูดตรง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่อยากเรียกร้องอะไร เพราะไม่เคยมีการตอบสนอง ไม่เคยมีคำตอบอยู่แล้ว ตั้งแต่กฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว สุดท้ายก็เพียงแต่บอกว่าขอเก็บไว้ 180 วัน แล้วสัญญาว่าจะไม่ยุ่ง นี่เพียงพอแล้วหรือต่อความรับผิดชอบ"
"ส่วนกรณีที่มีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดกฎหมายตามที่ศาลระบุนี้ เราก็จะดำเนินการต่อไปครับ ในกระบวนการถอดถอน หรือกระบวนการกล่าวโทษทางอาญาครับ"
"ประเด็นจะมีประเด็นเดียวครับว่า ใครคือผู้เสียหาย หรือจะหวังพึ่งอัยการ คือกระบวนการของกรณีนี้ ด้วยความเคารพอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายนะครับ คือ ป.ป.ช.ท่านก็อาจจะมีกระบวนการของท่าน แต่ผมมองว่ามันไม่ช้า ตรงที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ผูกพันทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ชี้ไว้แล้ว แต่ผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้นเมื่อศาลบอกว่าคนนี้ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ป.ป.ช.ก็ต้องยึดถือตามที่ศาลชี้ว่าคนนี้ทำผิด"
จากถ้อยคำของ "อภิสิทธิ์" จึงถูกแปรสัญญาณตรงถึงคณะทำงานด้านกฎหมาย อันมี "วิรัตน์ กัลยาศิริ" หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวขบวนหลัก
แหล่งข่าวในทีมกฎหมาย ปชป.เปิดเผยว่า แม้เบื้องต้นยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่กำลังจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ ปชป.ได้เตรียมข้อมูล-เอกสาร รวมถึงร่างคำร้องไว้เรียบร้อย โดยสรุปเป็นไปได้อย่างน้อย 5 สำนวน เพื่อเดินหน้าต่อยอดกระบวนการดังกล่าว
สำนวนแรก ดำเนินคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปลอมแปลงเอกสาร-กดบัตรแทนกัน โดยทีมกฎหมาย ปชป.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยื่นฟ้องพาดพิงถึงบุคคลใดบ้าง
โดยอาศัยความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ที่ระบุว่า ผู้ใดปลอมแปลงเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท และมาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการพิจารณายึดโยงถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สำนวนสอง การยื่นถอดถอน "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157
สำนวนสาม การยื่นถอดถอน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157
"ทั้งสองสำนวนข้างต้น เป็นประเด็นที่ทีมกฎหมายพรรคคาดว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลแทบจะชี้มูลความผิดของทั้งนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.อาจใช้เวลาพิจารณาไม่มากนัก"
สำนวนสี่ การยื่นถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะร่วมกันลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ของ ส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมาย
สำนวนห้า ภายหลังที่ ส.ส.+ส.ว.จำนวน 312 คน อ่านคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมประสบช่องในการยื่นฟ้อง ที่ถูกตีความว่าเป็นกบฏต่อไป
"ประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และเหนือศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ"
เป็นแผนรับ-ตำรารบของ 2 ขั้วการเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นนับจากนี้
วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
คำวินิจฉัยศาลเปิดช่องก.ม.ฟัน312ส.ส.-ส.ว.
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ
กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา
ส.ว.ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกมติ 6 ต่อ 3
ว่าการกระทำของ ส.ส. , ส.ว ผู้ถูกร้องมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา คือมาตรา122
,มาตรา125 ,มาตรา126 ,มาตรา 291 และมาตรา 3 คือ
ใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการและเนื้อหาสาระ และประเด็นที่สอง มติ 5 ต่อ 4
บอกว่า
เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศนอกวิถีทางตามรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา
68 และประเด็นที่สาม ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขการยุบพรรค
คำถามคือว่าต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของพระมหากษัตริย์
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ หากมีการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 ศาลต้องสั่งหยุดการกระทำ แต่กรณีนี้ศาลกลับไม่สั่งให้หยุดการกระทำ สิ่งนี้เป็นอันตราย เพราะว่าขณะนี้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จไปแล้ว ขณะนี้การกระทำที่เหลืออยู่คือกระบวนการของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธย หรือว่าจะพระราชทานคืนมา หรือปล่อยไว้ 90 วัน ตอนนี้ก็เลยเกิดสูญญากาศทางกฎหมายว่าศาลต้องการสื่ออะไร ดังนั้นก็ต้องติดตามทางราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้ถือเอกสารอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลแล้ว เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ กระบวนการขั้นตอนไม่ชอบ มีการเสียบบัตรไม่ถูกต้อง เวลาแปรญัตติน้อยเกินไป กระบวนการเหล่านี้มีความรุนแรงเข้าข่ายมาตรา 68 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเสียงเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 จึงไม่นำไปสู่การยุบพรรค
"แต่ ส.ส., ส.ว. 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ยังไม่ปลอดภัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีการกระทำผิดหลายมาตรามาก ซึ่งทำให้กระบวนการเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. , ส.ว ที่คุณสุเทพได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว มีน้ำหนักขึ้นทันทีเพราะวันนี้มีการชี้ชัดจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่ามีการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อเรื่องไปถึง ป.ป.ช. ว่าเรื่องนี้มีการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็อาจโดน ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีผลทันทีในวันนี้ต่อตัวส.ส. ส.ว. แต่ไปเปิดช่องทาง กม. ให้มีการใช้กระบวนการอื่นๆ เช่นกระบวนการถอดถอนโดยวุฒิสภา หรือกระบวนการโดย ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปแต่ในส่วนของวุฒิสภา เมื่อ ส.ว. ส่วนหนึ่งทำผิดเองเสียแล้ว แล้วจะวินิจฉัยว่าตัวเองทำผิดได้อย่างไร เป็นกระบวนการที่แปลกประหลาด ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่า ป.ป.ช. จะว่าอย่างไร หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะว่าอย่างไร หรือศาลอื่นๆซึ่งอาจมีผู้นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาล หรือว่าจะไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดประตูไปสู่หลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังมองไม่ออกว่าจะไปจบตรงส่วนไหน " นายวีรพัฒน์ กล่าว
นักวิชาการอิสระท่านนี้ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เสียงข้างน้อยที่แพ้โหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ก็จะไปร้องเรียนดำเนินการถอดถอน เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาเดินเกมต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ตั้งอนุกรรมการ และชี้มูลว่าทำผิดหรือไม่
" วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค แต่ผมเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ว่านี้คือเงื่อนไขอะไร ศาลไม่ได้แยกให้ชัดว่าอะไรคือการกระทำของพรรคการเมือง อะไรไม่ใช่การกระทำของพรรคการเมือง ทำให้กระบวนการตรงนี้คลุมเครือต่อไป "
ส่วนกรณีที่ว่ามีช่องทางให้นายกฯขอถอนร่างคืนมาหรือไม่ นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการถอนร่างเอาไว้ ตามรัฐธรรมนูญระบุ ว่าทันทีที่มีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้าไปขอคืนมา ก็เป็นการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการกระทำผิดอีก
"สำหรับ ส.ส. , ส.ว . 312 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้างนั้น ต้องไปดูอุณหภูมิทางการเมืองภาคประชาชนว่ายืนข้างไหน ถ้าเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนอาจจะยอมให้ ส.ส. ส.วปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แต่ถ้าจะให้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกคงจะยาก เพราะ ส.ส. ส.ว.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้ออกมาแถลงก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ " นายวีรพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้นายวีรพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามว่า หากเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตาม แต่วันนี้เมื่อสภาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ ก็ยังโต้เถียงกันได้แต่เป็นการโต้เถียงที่นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย แต่เป็นการโต้เถียงทางการเมือง แต่สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามมาตรา 291 ที่ค้างคาอยู่ในสภามาโหวตในวาระ 3หรือไม่ เพราะว่าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว. ผิด ทำไม่ได้เสียแล้ว และต้องดูมาตรา 270 รัฐธรรมนูญที่สามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญนูญได้และก็ต้องรอดู ป.ป.ช. ว่าจะวินิจฉัยอย่างไร จะวินิจฉัยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและเพียงแค่ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งทำให้เสียงในสภาเปลี่ยนไปทันที โดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทย ที่เสียงต้องหายไปมาก
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ หากมีการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 ศาลต้องสั่งหยุดการกระทำ แต่กรณีนี้ศาลกลับไม่สั่งให้หยุดการกระทำ สิ่งนี้เป็นอันตราย เพราะว่าขณะนี้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จไปแล้ว ขณะนี้การกระทำที่เหลืออยู่คือกระบวนการของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธย หรือว่าจะพระราชทานคืนมา หรือปล่อยไว้ 90 วัน ตอนนี้ก็เลยเกิดสูญญากาศทางกฎหมายว่าศาลต้องการสื่ออะไร ดังนั้นก็ต้องติดตามทางราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้ถือเอกสารอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลแล้ว เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ กระบวนการขั้นตอนไม่ชอบ มีการเสียบบัตรไม่ถูกต้อง เวลาแปรญัตติน้อยเกินไป กระบวนการเหล่านี้มีความรุนแรงเข้าข่ายมาตรา 68 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเสียงเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 จึงไม่นำไปสู่การยุบพรรค
"แต่ ส.ส., ส.ว. 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ยังไม่ปลอดภัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีการกระทำผิดหลายมาตรามาก ซึ่งทำให้กระบวนการเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. , ส.ว ที่คุณสุเทพได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว มีน้ำหนักขึ้นทันทีเพราะวันนี้มีการชี้ชัดจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่ามีการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อเรื่องไปถึง ป.ป.ช. ว่าเรื่องนี้มีการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็อาจโดน ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีผลทันทีในวันนี้ต่อตัวส.ส. ส.ว. แต่ไปเปิดช่องทาง กม. ให้มีการใช้กระบวนการอื่นๆ เช่นกระบวนการถอดถอนโดยวุฒิสภา หรือกระบวนการโดย ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปแต่ในส่วนของวุฒิสภา เมื่อ ส.ว. ส่วนหนึ่งทำผิดเองเสียแล้ว แล้วจะวินิจฉัยว่าตัวเองทำผิดได้อย่างไร เป็นกระบวนการที่แปลกประหลาด ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่า ป.ป.ช. จะว่าอย่างไร หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะว่าอย่างไร หรือศาลอื่นๆซึ่งอาจมีผู้นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาล หรือว่าจะไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดประตูไปสู่หลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังมองไม่ออกว่าจะไปจบตรงส่วนไหน " นายวีรพัฒน์ กล่าว
นักวิชาการอิสระท่านนี้ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เสียงข้างน้อยที่แพ้โหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ก็จะไปร้องเรียนดำเนินการถอดถอน เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาเดินเกมต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ตั้งอนุกรรมการ และชี้มูลว่าทำผิดหรือไม่
" วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค แต่ผมเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ว่านี้คือเงื่อนไขอะไร ศาลไม่ได้แยกให้ชัดว่าอะไรคือการกระทำของพรรคการเมือง อะไรไม่ใช่การกระทำของพรรคการเมือง ทำให้กระบวนการตรงนี้คลุมเครือต่อไป "
ส่วนกรณีที่ว่ามีช่องทางให้นายกฯขอถอนร่างคืนมาหรือไม่ นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการถอนร่างเอาไว้ ตามรัฐธรรมนูญระบุ ว่าทันทีที่มีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้าไปขอคืนมา ก็เป็นการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการกระทำผิดอีก
"สำหรับ ส.ส. , ส.ว . 312 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้างนั้น ต้องไปดูอุณหภูมิทางการเมืองภาคประชาชนว่ายืนข้างไหน ถ้าเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนอาจจะยอมให้ ส.ส. ส.วปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แต่ถ้าจะให้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกคงจะยาก เพราะ ส.ส. ส.ว.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้ออกมาแถลงก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ " นายวีรพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้นายวีรพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามว่า หากเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตาม แต่วันนี้เมื่อสภาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ ก็ยังโต้เถียงกันได้แต่เป็นการโต้เถียงที่นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย แต่เป็นการโต้เถียงทางการเมือง แต่สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามมาตรา 291 ที่ค้างคาอยู่ในสภามาโหวตในวาระ 3หรือไม่ เพราะว่าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว. ผิด ทำไม่ได้เสียแล้ว และต้องดูมาตรา 270 รัฐธรรมนูญที่สามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญนูญได้และก็ต้องรอดู ป.ป.ช. ว่าจะวินิจฉัยอย่างไร จะวินิจฉัยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและเพียงแค่ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งทำให้เสียงในสภาเปลี่ยนไปทันที โดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทย ที่เสียงต้องหายไปมาก
ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน คำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2556
เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม
(ความเห็นส่วนตัว ในทางวิชาการ วิจารณ์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ)
(ความเห็นส่วนตัว ในทางวิชาการ วิจารณ์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ)
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ (ยกเว้นว่ามาตรา 309 ที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ) รัฐธรรมนูญกำหนดและมอบอำนาจ อธิปไตยของประเทศ ผ่าน 3 องค์กรหลัก คือ ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ แต่ ประชาชนบางส่วนคิดว่า พอได้ยินคำว่า ศาล จะนึกว่า ศาลอยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะทั้ง 3 องค์กร มีสถานะในการใช้อำนาจเท่าเทียมกัน หรือ ในระนาบเดียวกัน แต่ในบทบาทที่ต่างกัน
เช่นเดียวกับ ศาล รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น ศาลพิเศษ ที่อำนาจเฉพาะตามที่ รัฐธรรมนูญ "มอบอำนาจให้"เท่านั้น ศาลไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปทึกทักขยายอำนาจของตนเอง เพราะถ้าศาลทำแบบนั้น เท่ากับศาล เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่าง โดยอำนาจของประชาชนแต่เป็นอำนาจศาลด้วยตัวเอง
ในกรณีแรก ต้องชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (2554) กำหนดขั้นตอนการแก้ไขชัดเจน ใน มาตรา 291 โดย สมาชิกรัฐสภา ใช้อำนาจ หน้าที่ ในฐานะ สมาชิกขององค์กรรัฐสภาโดยรวม ไม่ได้ทำในนามพรรคการเมืองหนึ่งใด และ มาตรา 291 นี้ ไม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าศาล รัฐธรรมนูญ เข้ามาตรวจสอบ "อนุมัติ" หรือ "ไม่อนุมัติ" การแก้ไข เท่ากับเป็นการใช้อำนาจ เหนือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับ การใช้อำนาจอย่างชัดแจ้งของศาล ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่าง พ.ร.บ. ทั้งก่อนและหลังประกาศใช้ เพียงมีข้อห้าม 2ข้อเท่านั้นที่ห้ามทำคือ ห้ามแก้ไขระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ (จากรัฐเดี่ยว เป็นสหพันธรัฐ อย่างนี้เป็นต้น)
กรณีที่2 ศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ส.ส. และ ส.ว. กระทำผิด มาตรา 68 เพราะเป็นการใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการ ใช้คำแทนกันไม่ได้ ระหว่าง สิทธิและเสรีภาพ (ตามมาตรา 68) และ อำนาจ และหน้าที่ (ตาม มาตรา 291) เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ผู้พิพากษาตัดสินคดี การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจ และหน้าที่ ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตำรวจ อัยการ และ ผู้พิพากษา ไม่ได้ใช้ "สิทธิ และเสรีภาพ" เช่นเดียวกับ สมาชิก รัฐสภา ที่จะต้องทำหน้าที่ที่ มาตรา 291 ระบุไว้อย่างชัดเจน และให้อำนาจในการแก้ไข "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" กรณีนี้อาจมีคนเถียงว่า ศาลตัดสินแล้วทำไม ไม่เคารพศาล ผมตั้งคำถามง่ายว่า ถ้า ศาลสั่งให้ นาย อภิสิทธิ์ ไปกระโดดน้ำตาย หรือ เลิกเล่นการเมือง ท่าน อดีต นายก จะทำไหม ดังนั้นที่ผ่านมาทุกคดีความที่เกี่ยวกับ พรรคเพื่อไทย และฝั่งของทักษิณ ทุกครั้ง พรรคของคุณ ทักษิณก็ปฏิบัติตาม คำตัดสินตลอด เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่า ศาล รัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินได้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ "ศาลไม่มีอำนาจ"
กรณีที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ "ต้อง"ขัดกับรัฐธรรมนูญ เดิมอย่างชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้น จะแก้ไขไปทำไม การที่ท่าน ตุลาการ กำหนด เงื่อนไขว่า การกำหนดคุณสมบัติ สว จะแตะไม่ได้ แปลว่า ท่านกำลังเขียน รัฐธรรมนูญ(ใหม่)ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ อ้างคำวินิจฉัย เพื่อผูกพันองค์กรอื่นและประชาชนทั้งประเทศ ทำให้เงื่อนไขนี้เป็นบทบัญญัติอันเป็นนิรันด์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดไป ซึ่งท่านต้องจำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้ ไม่ใช่ว่า เรื่องใดๆที่เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ท่านจะรับวินิจฉัยได้ทั้งหมด
รัฐบาล นายก ยิ่งลักษณ์ มีความผิดพลาดเองที่ไปยอมรับ "คำแนะนำ"ของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ "ก็ควรจะให้"มีการทำประชามติ เสียก่อนแต่ถ้าจะแก้รายมาตราก็สามารถทำได้ ครั้นพอจะแก้รายมาตรา มาวันนี้คงเห็นแล้วว่าก็แก้ไม่ได้ เพราะนั่นคือการสร้างความชอบธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่แล้วในฐานะองค์กรตุลาการ ให้สร้างอำนาจขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการของประชาชนใดๆทั้งสิ้น
ดังนั้น ผมจะคอยดูว่า สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 ท่าน จะกล้าหาญ และยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอทูลเกล้าไปแล้ว หรือ ท่านจะถอยและถอนร่าง แก้ไขนี้ออกจากขั้นตอนการทูลเกล้า และผมเสนอให้ท่านนำข้อเสนอ ของนิติราษฎร ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทน เพราะคราวนี้ องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเอง จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เนื่องจากสถานะและตำแหน่งของท่านจะสิ้นสุดลง ตุลาการทุกท่านจะไม่สามารถตัดสินร่างแก้ไขนี้ได้เพราะผลประโยชน์ขัดกัน
ปล.
(เคยคิดกันไหมครับ ว่า ทำไมทุกครั้งที่ ผู้ถูกร้อง อ้างว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มาจาก การปฏิวัติยึดอำนาจ และ ทำลาย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทำลาย สภาผู้แทน วุฒิสภา และ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศ คมช. ฉบับที่ 3 ตุลาการรัฐธรรมนูญจะยึดหลักที่ว่า ถ้าผู้ยึดอำนาจ ได้สำเร็จถือว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ผลคือ ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ พรรคพลังประชาชน และ พรรคเพื่อไทย ก็พยายามแก้รัฐธรรมนูญ คมช. มาโดยตลอด แต่ถูกยุบพรรคและ นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะคำว่า ลูกจ้าง เราเคยคิดไหมครับว่า การแก้ในระบบตาม ที่ ม 291 กำหนดไว้ กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ เรายอมรับการรัฐประหาร โดยสดุดี เพราะเหตุใด?)
ปล 2. (โปรด อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2554 หน้า 3จาก 4หน้า วรรค2 ว่า ศาล รัฐธรรมนูญชุดนี้ ระบุอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ นาย อภิสิทธิ์ เป็นไปตาม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 )
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
สถานีต่อไป ปชป.ซักฟอก "ครม." ทั้งคณะ "สุเทพ" เร่งเผด็จศึกใน "พ.ย." ก่อนม็อบนกหวีด "ท่อตัน"
ประกาศเดดไลน์ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น. สำหรับม็อบนกหวีด ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแกนนำตัวยงอย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นหัวขบวน
โดยเส้นตายในครั้งนี้ หวังจะยกระดับการชุมนุม เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากทีมงานนกหวีดอย่างท่วมท้น ตั้งแต่ม็อบสามเสน จนมาถึงม็อบราชดำเนิน
โดยหัวใจหลักในการจุดม็อบติดคือการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม
ด้วยเหตุที่ว่า รัฐบาลคิดเองเออเอง ว่าม็อบนี้เป็นม็อบฟืนเปียก จึงให้สภาดันทุรัง อย่างที่ม็อบว่า "เป็นการลักหลับ" ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในช่วงตี 4 ครึ่ง ของวันที่ 1 พฤศจิกายน
ตั้งแต่นั้นมา ม็อบคนเมือง เริ่มเติมเต็มเวทีสามเสนขึ้นเรื่อยๆ จากฟืนเปียก กลายเป็นม็อบที่เปี่ยมไปด้วยไฟแค้น ชนิดลุกโชน จนต้องขยับขยาย เคลื่อนพล ยกระดับการชุมนุม ยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ยิ่งประชาชนหลั่งไหลมาเติมเต็มม็อบมากแค่ไหน ยิ่งทำให้แกนนำมั่นใจขึ้นแค่นั้น จนทำให้อัตราต่อรองม็อบสูงขึ้น
ขณะที่รัฐบาลถอยรูดแบบสุดซอย ยอมทุกอย่าง ถอนทุกร่างที่เนื้อหาว่าด้วย พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 6 ร่างออกจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อ "ดับไฟ"
แต่ก็ไม่เป็นผลสำหรับผู้ชุมนุม เพราะแกนนำกลับระบุว่า 6 ร่างที่ถูกถอนไปนั้นเป็นการสับขาหลอกของรัฐบาล เพราะร่างเจ้ากรรม ยังค้างอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภา ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรง
แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยัน และส่งสัญญาณให้สมาชิกวุฒิสภา คว่ำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อยุติความร้อนแรงของม็อบที่ถูกปลุกเร้าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ไม่เป็นผล แกนนำบนเวทียังปลุกปั่นอย่างต่อเนื่อง และผู้ชุมนุมยังคงหลั่งไหลเขาร่วมชุมนุมมิได้ขาด แถมนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นๆ
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ "สุเทพ" มั่นใจว่า อัตราต่อรองของผู้ชุมนุมเหนือกว่ารัฐบาล จึงประกาศขีดเส้นตาย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก พิพากษากรณีข้อพิพาท ไทย-กัมพูชา บนที่ดินบนเขาพระวิหาร โดยหวังใจว่า ไทยจะแพ้อย่างย่อยยับ และจะหยิบยกกระแสคลั่งชาติ เสียดินแดน มาเป็นประเด็นในการยกระดับ
ในขณะที่อีกขาหนึ่ง ก็ปล่อยให้ 40 ส.ว. ออกโรง เล่นบทผู้หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่เข้าร่วมประชุมด่วน ตามที่ "นิคม ไวยรัชพานิช" ประธานวุฒิ นัดอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน จากเดิมที่เคยตกลงไว้ว่าจะประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อหาทางออก ในขณะที่ประเทศชาติอยู่ในสภาวตึงเครียด
แต่สุดท้าย 40 ส.ว. กลับเล่นเหมือนเด็ก ปิดประตูขังตัวเองไว้ในห้อง โดยไม่เข้าร่วมประชุม จนทำให้ที่ประชุมวุฒิ ล่มในที่สุด เพราะมีผู้ร่วมลงชื่อเพียง 69 คน จาก ส.ว. ทั้งหมด 149 คน
ความหวังที่ริบหรี่จึงตกไปอยู่กับการประชุมตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังว่าการคว่ำร่างรัฐบาลจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะถึงเดดไลน์ของ "สุเทพ" แต่สุดท้ายการถกเถียงก็ไม่ได้จบลงก่อนเวลา
ทว่า ความมั่นใจที่ทะยานขึ้นสูง ทำให้ "สุเทพ" และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 8 คน ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อร่วมต่อสู้แบบเต็มรูปแบบก่อนที่จะถึงเวลาที่ได้ขีดเส้นตายเอาไว้
แต่ผิดคาด เมื่อศาลโลกพิพากษาให้ไทยเสียดินแดนเพียงเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวปราสาทพระวิหาร ส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นข้อพิพาทนั้น ศาลให้ 2 ประเทศ ได้ตกลงกันเอง
ทำให้ลาวา ที่กำลังเดือดดาล เย็นลงอย่างกะทันหัน กระแสคลั่งชาติ สะบั้นลงโดยพลัน ผนวกกับวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้สำเร็จ ในเวลา 22.30 น. ของวันเดียวกัน
ในขณะที่ "สุเทพ" ประกาศให้กองหนุน เดินหน้าต่อต้านรัฐบาลต่อไป เพราะร่างที่ถูกคว่ำไปนั้นยังค้างอยู่ในสภา โดยให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ให้งดการจ่ายภาษี ให้ติดธงชาติหน้าบ้าน พร้อมทั้งเจอนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ไหนให้เป่านกหวีดใส่ทันที
ผลที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น ผู้ชุมนุมบางลงถนัดตา หลายมหาวิทยาลัย ที่คัดค้านการนิรโทษ ประกาศไม่หยุดเรียน ผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง ประกาศยุติการชุมนุม เพราะถือว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ถูกคว่ำไปแล้ว และทำให้คนกลุ่มนี้มองว่า แกนนำบนเวที "ได้คืบ จะเอาศอก"
ในขณะที่ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปรับท่าที โดยมีการตักเตือน การปราศรัยบนเวที ที่หลายต่อหลายคนมักจะปราศรัยหยาบคาย และป่าเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคขอให้ลดๆ ลงบ้าง
ส่วนท่าทีของ "อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ต้องเล่นหลายบท เพราะต้องเทียวขึ้นเวที ในนามแขกรับเชิญ มิใช้แกนนำม็อบ และยังต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน
โดยในสัปดาห์หน้า พรรคประชาธิปัตย์จะใช้แผน 2 ในการยืนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าด้วยการมุ่งโจมตีการทุจริตในหลายโครงการ
ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า การประกาศไม่ลงรับสมัคร ส.ส. อีกต่อไป ของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เพื่อลดข้อครหาว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นจุดที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ "สุเทพ" ประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ลมปากนักการเมือง พร้อมที่จะกลืนน้ำลายได้ทุกเมื่อ...
หรือเป็นการส่งสัญญาณลุยเต็มที่ เพราะล่าสุด "สุเทพ" เอง ไปประกาศเเล้วว่า จะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความเร้าใจให้กับฝูงชนที่มาชุมนุม
ส่วนม็อบนกหวีดก็ยังจะยื้อการชุมนุมให้ยืดเยื้อต่อไป เพราะยังมีผู้ชุมนุมอีกไม่น้อยที่ยังอารมณ์ค้าง และการชุมนุมจะถูกเปลี่ยนจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชาชนเริ่มถอยหนี เป็นการต่อต้านการทุจริต และจะยกระดับสู่การโค่นล้มรัฐบาล โดยล่าสุด "สุเทพ" ประกาศเดดไลน์อีกครั้งว่า "จะต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน"
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เดดไลน์ครั้งนี้เป็นช่วงเดียวกับที่มีพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ.2556 ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนั้น แน่นอน เพราะหากปิดสมัยประชุมแล้ว บทบาทของรัฐสภาจะลดลงทันที โดยจะเหลืออยู่เพียงแค่การทำหน้าที่ของรัฐบาล การปั่นเรื่องกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา ก็จะลดลง ดังนั้น ม็อบนกหวีดจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งม้วนเสื่อให้เร็วที่สุด
แต่อีกเสียงลือเล่าอ้างจากคนในพรรคประชาธิปัตย์เองบอกว่า ที่ต้องรีบเผด็จศึกให้เร็วที่สุดในครั้งนี้ ก็เพราะท่อส่งกำลังจะตัน!!!!!...
โดยเส้นตายในครั้งนี้ หวังจะยกระดับการชุมนุม เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากทีมงานนกหวีดอย่างท่วมท้น ตั้งแต่ม็อบสามเสน จนมาถึงม็อบราชดำเนิน
โดยหัวใจหลักในการจุดม็อบติดคือการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม
ด้วยเหตุที่ว่า รัฐบาลคิดเองเออเอง ว่าม็อบนี้เป็นม็อบฟืนเปียก จึงให้สภาดันทุรัง อย่างที่ม็อบว่า "เป็นการลักหลับ" ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในช่วงตี 4 ครึ่ง ของวันที่ 1 พฤศจิกายน
ตั้งแต่นั้นมา ม็อบคนเมือง เริ่มเติมเต็มเวทีสามเสนขึ้นเรื่อยๆ จากฟืนเปียก กลายเป็นม็อบที่เปี่ยมไปด้วยไฟแค้น ชนิดลุกโชน จนต้องขยับขยาย เคลื่อนพล ยกระดับการชุมนุม ยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ยิ่งประชาชนหลั่งไหลมาเติมเต็มม็อบมากแค่ไหน ยิ่งทำให้แกนนำมั่นใจขึ้นแค่นั้น จนทำให้อัตราต่อรองม็อบสูงขึ้น
ขณะที่รัฐบาลถอยรูดแบบสุดซอย ยอมทุกอย่าง ถอนทุกร่างที่เนื้อหาว่าด้วย พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 6 ร่างออกจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อ "ดับไฟ"
แต่ก็ไม่เป็นผลสำหรับผู้ชุมนุม เพราะแกนนำกลับระบุว่า 6 ร่างที่ถูกถอนไปนั้นเป็นการสับขาหลอกของรัฐบาล เพราะร่างเจ้ากรรม ยังค้างอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภา ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรง
แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยัน และส่งสัญญาณให้สมาชิกวุฒิสภา คว่ำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อยุติความร้อนแรงของม็อบที่ถูกปลุกเร้าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ไม่เป็นผล แกนนำบนเวทียังปลุกปั่นอย่างต่อเนื่อง และผู้ชุมนุมยังคงหลั่งไหลเขาร่วมชุมนุมมิได้ขาด แถมนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นๆ
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ "สุเทพ" มั่นใจว่า อัตราต่อรองของผู้ชุมนุมเหนือกว่ารัฐบาล จึงประกาศขีดเส้นตาย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก พิพากษากรณีข้อพิพาท ไทย-กัมพูชา บนที่ดินบนเขาพระวิหาร โดยหวังใจว่า ไทยจะแพ้อย่างย่อยยับ และจะหยิบยกกระแสคลั่งชาติ เสียดินแดน มาเป็นประเด็นในการยกระดับ
ในขณะที่อีกขาหนึ่ง ก็ปล่อยให้ 40 ส.ว. ออกโรง เล่นบทผู้หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่เข้าร่วมประชุมด่วน ตามที่ "นิคม ไวยรัชพานิช" ประธานวุฒิ นัดอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน จากเดิมที่เคยตกลงไว้ว่าจะประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อหาทางออก ในขณะที่ประเทศชาติอยู่ในสภาวตึงเครียด
แต่สุดท้าย 40 ส.ว. กลับเล่นเหมือนเด็ก ปิดประตูขังตัวเองไว้ในห้อง โดยไม่เข้าร่วมประชุม จนทำให้ที่ประชุมวุฒิ ล่มในที่สุด เพราะมีผู้ร่วมลงชื่อเพียง 69 คน จาก ส.ว. ทั้งหมด 149 คน
ความหวังที่ริบหรี่จึงตกไปอยู่กับการประชุมตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังว่าการคว่ำร่างรัฐบาลจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะถึงเดดไลน์ของ "สุเทพ" แต่สุดท้ายการถกเถียงก็ไม่ได้จบลงก่อนเวลา
ทว่า ความมั่นใจที่ทะยานขึ้นสูง ทำให้ "สุเทพ" และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 8 คน ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อร่วมต่อสู้แบบเต็มรูปแบบก่อนที่จะถึงเวลาที่ได้ขีดเส้นตายเอาไว้
แต่ผิดคาด เมื่อศาลโลกพิพากษาให้ไทยเสียดินแดนเพียงเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวปราสาทพระวิหาร ส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นข้อพิพาทนั้น ศาลให้ 2 ประเทศ ได้ตกลงกันเอง
ทำให้ลาวา ที่กำลังเดือดดาล เย็นลงอย่างกะทันหัน กระแสคลั่งชาติ สะบั้นลงโดยพลัน ผนวกกับวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้สำเร็จ ในเวลา 22.30 น. ของวันเดียวกัน
ในขณะที่ "สุเทพ" ประกาศให้กองหนุน เดินหน้าต่อต้านรัฐบาลต่อไป เพราะร่างที่ถูกคว่ำไปนั้นยังค้างอยู่ในสภา โดยให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ให้งดการจ่ายภาษี ให้ติดธงชาติหน้าบ้าน พร้อมทั้งเจอนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ไหนให้เป่านกหวีดใส่ทันที
ผลที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น ผู้ชุมนุมบางลงถนัดตา หลายมหาวิทยาลัย ที่คัดค้านการนิรโทษ ประกาศไม่หยุดเรียน ผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง ประกาศยุติการชุมนุม เพราะถือว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ถูกคว่ำไปแล้ว และทำให้คนกลุ่มนี้มองว่า แกนนำบนเวที "ได้คืบ จะเอาศอก"
ในขณะที่ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปรับท่าที โดยมีการตักเตือน การปราศรัยบนเวที ที่หลายต่อหลายคนมักจะปราศรัยหยาบคาย และป่าเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคขอให้ลดๆ ลงบ้าง
ส่วนท่าทีของ "อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ต้องเล่นหลายบท เพราะต้องเทียวขึ้นเวที ในนามแขกรับเชิญ มิใช้แกนนำม็อบ และยังต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน
โดยในสัปดาห์หน้า พรรคประชาธิปัตย์จะใช้แผน 2 ในการยืนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าด้วยการมุ่งโจมตีการทุจริตในหลายโครงการ
ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า การประกาศไม่ลงรับสมัคร ส.ส. อีกต่อไป ของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เพื่อลดข้อครหาว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นจุดที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ "สุเทพ" ประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ลมปากนักการเมือง พร้อมที่จะกลืนน้ำลายได้ทุกเมื่อ...
หรือเป็นการส่งสัญญาณลุยเต็มที่ เพราะล่าสุด "สุเทพ" เอง ไปประกาศเเล้วว่า จะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความเร้าใจให้กับฝูงชนที่มาชุมนุม
ส่วนม็อบนกหวีดก็ยังจะยื้อการชุมนุมให้ยืดเยื้อต่อไป เพราะยังมีผู้ชุมนุมอีกไม่น้อยที่ยังอารมณ์ค้าง และการชุมนุมจะถูกเปลี่ยนจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชาชนเริ่มถอยหนี เป็นการต่อต้านการทุจริต และจะยกระดับสู่การโค่นล้มรัฐบาล โดยล่าสุด "สุเทพ" ประกาศเดดไลน์อีกครั้งว่า "จะต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน"
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เดดไลน์ครั้งนี้เป็นช่วงเดียวกับที่มีพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ.2556 ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนั้น แน่นอน เพราะหากปิดสมัยประชุมแล้ว บทบาทของรัฐสภาจะลดลงทันที โดยจะเหลืออยู่เพียงแค่การทำหน้าที่ของรัฐบาล การปั่นเรื่องกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา ก็จะลดลง ดังนั้น ม็อบนกหวีดจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งม้วนเสื่อให้เร็วที่สุด
แต่อีกเสียงลือเล่าอ้างจากคนในพรรคประชาธิปัตย์เองบอกว่า ที่ต้องรีบเผด็จศึกให้เร็วที่สุดในครั้งนี้ ก็เพราะท่อส่งกำลังจะตัน!!!!!...
สังคม การเมือง สังคม "ภาพหลอน" ฝังแน่น ติดตรึง
ที่มา:มติชนรายวัน 16 พ.ย.2556
ยอมรับเถิดว่า สังคมประเทศไทยกำลังตกอยู่ในหลุมอากาศแห่ง "ภาพหลอน" ทางการเมืองอันน่าเป็นห่วงยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็น "ม็อบ" บน "ถนนราชดำเนิน"
ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อเนื่องมายังแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ต่อเนื่องมายังแยกสะพานมัฆวานรังสรรค์
ล้วนติดอยู่ใน "ภาพหลอน" เดียวกัน
นั่นก็คือ ภาพหลอนว่าอยู่ในยุคก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นก็คือ ภาพหลอนว่าประเทศยังบริหารโดยพรรคไทยรักไทย
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงขณะนี้เป็นเดือนพฤศจิกายน 2556 นายกรัฐมนตรีในขณะนี้คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แม้จะนามสกุลชินวัตร แต่เป็น
"ยิ่งลักษณ์" มิใช่ "ทักษิณ"
ภาพหลอนที่มี "ปฏิมา" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วนเวียนอยู่นั่นเองทำให้ไม่สามารถยุติปัญหาและความขัดแย้งอันหมักหมมมาเป็นเวลา 7 ปี
ที่สำคัญ คือ ปฏิเสธ "ความจริง"
ลองย้อนดูตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เราต่างไม่ยอมรับในความเป็นจริงแห่งหลักการของไตรลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
อนิจจัง ไม่เที่ยง
เราต่างเห็นว่าสังคมประเทศไทยมีลักษณะ "สถิต" ดำรงอยู่อย่าง "เสถียร" จึงรัฐประหารอันเกิดขึ้นนั้นมีก็เหมือนไม่มี
จึงปฏิเสธกระบวนการยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550
จึงเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 เมื่อพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะเราจึงมองว่าคือพรรคไทยรักไทย
เห็น นายสมัคร สุนทรเวช เป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เห็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งที่แม้กระทั่งเดโมคริตุสก็ยืนยันตั้งแต่เมื่อหลายพันปีมาแล้วว่า แม่น้ำสายเดียวกันเมื่อไหลเรื่อยก็หาได้เป็นสายน้ำเดิมอีกต่อไป
หากแต่เป็นสายน้ำระลอก "ใหม่"
สายน้ำที่ไหลเรื่อยมาแต่เดือนกันยายน 2549 ส่งผลให้เกิดการแปรเปลี่ยนมากมายมหาศาลแต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับ ยังคงจมนิ่งอยู่กับสภาพเมื่อก่อนการรัฐประหาร
ยังคงเป่า "นกหวีด" ทำ "ศึก" อยู่
ความเป็นจริงที่ยากจะปฏิเสธได้ก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554
เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างถูกต้อง ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อผ่านเดือนสิงหาคม 2556 ก็เท่ากับเป็นการดำรงตำแหน่งครบ 2 ปีบริบูรณ์ และกำลังย่างบาทก้าวเข้าสู่ปีที่ 3
หากถึงเดือนสิงหาคม 2558 เมื่อใดก็ครบตามวาระ
แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะนำพาประเทศตีฝ่ามรสุมกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารมาได้อย่างองอาจสง่างาม แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งตกอยู่ใน "ภาพหลอน" เก่าที่ตนเคยเนรมิตเสกปั้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2551
ไม่ยอมรับในความสามารถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมรับความสามารถของทีมทนายความของไทยในกระทรวงการต่างประเทศ
ยังร้องเพลงบทเก่า ไทยเสียดินแดน ไทยเสียดินแดน
ยังคิดว่าอยู่ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ยังคิดว่าอยู่ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ดำรงอยู่ในเชิง "สถิต" หากยังมีหลายกลไกอำนาจรัฐที่ไม่ยอมกับกฎแห่งอนิจจัง กฎแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้น และดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย
จะทำให้ "ไทย" สถิตอยู่ในห้วง "กันยายน 2549"
องค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามอบอนุศาสน์ให้กว่า 2,500 ปีมาแล้วในเรื่อง สัจจะและความเป็นจริง
ความเป็นจริงแห่งชีวิต ความเป็นจริงแห่งการดำรงอยู่ ความเป็นจริงแห่งการดำเนินไป เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หากละเมิดกฎนี้เมื่อใดก็ตกอยู่ในภาวะ "หลอน"
"หลอน" กระทั่งต่อต้าน "การเปลี่ยนแปลง"
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เส้นทางคุก “อภิสิทธิ์” เดิมตามรอยทรราช “แบ๊กโบ” ไปศาล ICC แน่ในไม่ช้า!
โดย ทีมข่าว Sunai FanClub
กรณีศึกษาเกี่ยวกับศาล icc
จากการมาเยือนของประธานสภาประเทศโกตดิวัวร์
จากกรณีศึกษาและแนวทางที่จะนำนายอภิสิทธิ์ เวทชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปขึ้นศาลอาญาระหว่าประเทศ
(ICC) โดยมีแนวทางจากกรณีกาศึกษาจากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนโดยการใช้อาวุธจริงในสาธารณรัฐโกดิวัวร์ดังนี้
อดีตประธานาธิบดีโลร็องด์ แบ๊กโบ
นับเป็นอดีดผู้นำประเทศคนแรกที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกาสั่งการให้ทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเนื่องจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีจนความรุนแรงดังกล่าวเกือบกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ทั้งนี้กองกำลังสหประชาชาติได้เข้ามาระงับความรุนแรง และสามารถจับตัว นายโลร็องด์ แบ๊กโบ ได้ ณ ที่ซ่อนตัวในที่แห่งหนึ่งซึ่งช่วยยุติความรุนแรงดังกล่าวในสาธารณรัฐโกดิวัวร์
ที่ดำเนินกว่า 4 เดือน
หน่วยงานสหประชาชาติซึ่งปฏิบัติภายในประเทศโกตดิวัวร์
ได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากวิกฤตการเมืองราว 1,012 คน เป็หญิง 103คนและเด็ก 42
คน ถูกฆ่าในเหตุปะทะกันทางการเมือง
และอย่างน้อย 505 คน ถูกฆ่าในเมืองดูโกอู
แม้ว่าโกตดิวัวร์ ไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม
แต่ก็ได้มีการประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลไอซีซีเมื่อวันที่ 18 เมษายน
2546 และหลังจากนั้น
ประธานาธิบดีของไอวอรีโคสต์ก็ได้ประกาศยืนยันการยอมรับเขตอำนาจศาลอีกครั้งในปี 2553
และ 2554 โดยอาศัย “มาตรา 12 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ระบุถึงเงื่อนไขเบื้องต้นในการใช้เขตอำนาจศาลดังนี้
…
ข้อ 3 ในกรณีที่รัฐใด ๆ
ไม่ได้เป็นภาคีต่อธรรมนูญกรุงโรมตามข้อกำหนดในย่อหน้า 2 รัฐดังกล่าวก็อาจยอมรับการปฏิบัติตามเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศตามความผิดที่มีขึ้นได้
ทั้งนี้โดยการแจ้งความจำนงต่อนายทะเบียนของศาล...” แต่เป็นการประกาศยอมรับเฉพาะคดีนี้เท่านั้นดังนั้น ICC. จึงมีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว
ดังนั้น
ในวันที่ 3
ตุลาคม 2554 องค์คณะตุลาการพิจารณาเบื้องต้นที่
3 จึงได้อนุญาตให้อัยการของศาลไอซีซีทำการสืบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี
ในประเทศไอวอรีโคสต์ จากความขัดแย้งระหว่างนายแบ๊กโบ อดีตประธานาธิบดี
และนายอลาสซาเน ออตตารา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ที่เป็นเหตุให้ผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายปะทะกันหลายครั้ง
จนกองกำลังของสหประชาชาติซึ่งนำโดยฝรั่งเศสต้องเข้าแทรกแซง และมีการจับกุมตัวนายบักโบ้ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้
กรณีการนำตัวนายบักโบ้ไปดำเนินคดีที่ศาลไอซีซียังถูกเปรียบเทียบกับกรณีของนายซาอิฟ
อัล อิสลาม กัดดาฟี บุตรชายของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย
ที่ไอซีซีตัดสินใจให้เข้ารับการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้
ซึ่งในกรณีนี้นายหลุยส์
โมเรโน่ โอคัมโป้ หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวว่า การที่ศาลอาญาระหว่างประเทศยินยอมให้มีการพิจารณาคดีของนายซาอิฟ
และนายอับดุลลาห์ อัล-เซนุสซี่
อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของลิเบียภายในประเทศลิเบียนั้น
เป็นเพราะรัฐบาลใหม่ของลิเบียมีสิทธิที่จะดำเนินการในคดีนี้
ซึ่งตามหลักการของไอซีซีแล้ว จะให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศนั้นๆก่อน
ซึ่งหากว่ากระบวนการดังกล่าวราบรื่นดี ไอซีซีก็จะไม่เข้าไปแทรกแซง
ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า
การนำตัวอดีตผู้นำไอวอรีโคสต์ขึ้นศาลในครั้งนี้
เป็นการพิสูจน์ตัวเองของนายโอคัมโป้ว่า
ในที่สุดเขาก็นำตัวผู้นำประเทศเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไอซีซีได้
หลังจากที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่า ที่ผ่านมาเขามักมีอคติทางการเมือง
และมักนำตัวชาวแอฟริกันผิวดำขึ้นศาลเท่านั้น โดยการออกหมายจับพันเอกโมอัมมาร์
กัดดาฟีก็ถูกมองว่า
เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับชาติตะวันตกในการใช้กำลังทางการทหารเข้าแทรกแซง
วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เปิดคำพิพากษาศาลโลก กรณี "ปราสาทพระวิหาร" ระบุข้อพิพาทมีความสัมพันธ์ใน 3 แง่
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากพระราชวังสันติภาพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับไทยเวลา 16.00 น.)
ผู้พิพากษา นายปีเตอร์ ทอมก้า ประธานองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกขึ้นนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา เริ่มด้วยการแสดงความเสียใจต่อผู้นำไทย ในกรณีสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นต่อด้วยคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุป ดังต่อไปนี้
ศาลสรุปว่า ข้อพิพาทมีความสัมพันธ์ใน 3 แง่ 1.มีข้อพิพาทว่า คำพิพากษาปี 1962 นั้น ได้ตัดสินหรือไม่ได้ตัดสินว่ามีข้อผูกพันเส้นแบ่งเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ให้เป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศหรือไม่ 2.จะมีความสัมพันธ์ในกรณีพิพาท แง่ความหมายและขอบเขตของวลีที่ว่า บริเวณดินแดนกัมพูชาในบทปฏิบัติที่ 2 ของคำพิพากษาปี 1962 ศาลได้พูดว่าเป็นผลที่ตามมาจากข้อบทปฏิบัติที่ 1 ยืนยันว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และ 3.ข้อพิพาทเรื่องพันธะกรณีของไทย เรื่องการถอนกำลังทหาร เป็นไปตามข้อบทปฏิบัติการที่ 2 โดยคำนึงถึงความเห็นที่ต่างกัน
ศาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องตีความข้อบทปฏิบัติการที่ 2 และผลของกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ภายในขอบเขตนี้ กัมพูชาได้ร้องขอ ศาลจึงรับคำร้องของกัมพูชา ด้วยเหตุข้างต้น ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทของสองฝ่าย เรื่องในมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล ด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีขอบเขตอำนาจในการตีความ คำพิพากษาปี 1962 จึงรับคำร้องไว้พิจารณา" ผู้พิพากษา กล่าว
ไทยได้กล่าวอ้างถึงพฤติกรรมของคู่ความ เมื่อเดือนมิถุนายน 1962 และช่วงที่มีการอ่านคำพิพาษาเดือนธันวาคม 2008 ไทยได้กล่าวว่าพฤิตกรรมดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำพิพากษา แต่ไม่ได้มีส่วนผูกพันคู่ความการตีความซึ่งอาจกระทบต่อพฤติกรรมต่อๆไป อาจดูได้จากสนธิสัญญากรุงเวียนนา คำพิพากษามีผลผูกพันตามธรรมนูญศาล หรือการวินิจฉัยว่าศาลพิจารณาอะไร ไม่ได้อยู่ที่ความเข้าใจของคู่ความ และขอบเขตและความหมายนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของคู่ความในภายหลังในการตีความนั้น ศาลจะไม่เข้าไปพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ในประเด็นนั้น ศาลเห็นว่าคำพิพากษาเมื่อปี 1962 (พ.ศ.2505) นั้นมีลักษณะ 3 ประการที่เห็นได้ชัด
1.ศาลพิจารณาว่าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเกี่ยวกับที่ตั้งปราสาทและศาลไม่ได้มีหน้าที่ปักปันเขตแดน ศาลจึงกลับไปดูคำพิพากษา 1962 ได้ดูคำคัดค้านเบื้องต้นว่า กรณีนี้เป็นประเด็นเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าเรื่องการกำหนดเขตแดน เพราะฉะนั้น เรื่องข้อ 1 และ 2 ของกัมพูชานั้น ศาลจะรับพิจารณาไว้เท่าที่เป็นเหตุและไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ศาลต้องชี้ขาดในข้อบทปฏิบัติการ โดยไม่มีการกล่าวถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือสถานที่ของเขตแดน ในข้อบทปฏิบัติการ ไม่มีการแนบแผนที่คำพิพากษา และศาลไม่ได้กล่าวถึงความยุ่งยากในการใช้ แผนที่ภาคผนวก1 ประเด็นต่างๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างนั้น มีความสำคัญในเรื่องเขตแดน
ประการที่ 2 แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเหตุผลหลักในการพิพากษา เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของคดี และพิจารณาผลความเกี่ยวเนื่องกับสนธิสัญญา ศาลเห็นว่า ประเด็นหลักคือคู่ความได้รับรองแผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นแบ่งเขตแดนอันเป็นผลของคณะกรรมการปักปันเขตแดน บริเวณปราสาทพระวิหาร และมีผลผูกพันหรือไม่ ศาลได้ดูพฤติกรรมของคู่ความในการเข้าไปเยี่ยมชม โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ศาลเห็นว่า เหมือนเป็นการยอมรับโดยทางอ้อมของสยามในอธิปไตยของปราสาทพระวิหาร รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ของไทยในเวลาต่อมา ถือว่าเป็นการยืนยันของไทยในการยอมรับเส้นแบ่งเขตแดน ในภาคผนวก 1
โดยไทยในปี 1908 (พ.ศ.2451) และ1909 (พ.ศ.2452) ได้ยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นผลของคณะกรรมการปักปัน และยอมรับว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่นำไปสู่การวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในกัมพูชา การยอมรับของคู่ความสองฝ่าย ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา จึงเห็นได้ว่า การตีความสนธิสัญญาจะต้องชี้ขาดว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ในพื้นที่ขัดแย้ง
3.ศาลได้มีความชัดเจนว่า ศาลดูเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น เป็นบริเวณที่เล็กมาก ปี 1962 กัมพูชากล่าวว่า พื้นที่พิพาทเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก และในถ้อยแถลงอื่นๆ ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน ในปี 1962 คำพิพากษาได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่พิพาทกันเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก หลังการพิจารณาคดี ศาลได้อธิบายบริเวณนั้นด้วย ว่า ปราสาทพระวิหาร อยู่ในด้านตะวันออกของเทือกเขาดงรัก ทางทั่วไปถือว่าเป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศ คือทางใต้ของกัมพูชาทางใต้และทางเหนือของไทย
ส่วนแผนที่ภาคผนวก 1 ได้วางเขตแดน ศาลก็ได้บอกว่าจะพิจารณาเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้นตามคำพิพากษา 1962 ศาลจึงได้ดูข้อบทปฏิบัติการ วรรค 2 และ 3 เป็นผลสืบเนื่องจากข้อบทปฏิบัติการที่ 1 จึงเห็นว่า ข้อบทปฏิบัติการทั้งสามต้องอ่านเป็นข้อบทปฏิบัติการเดียวกัน ไม่สามารถดูคำใดคำหนึ่งเพื่อตีความได้
ศาลเห็นว่า ข้อบทปฏิบัติการข้อ 1 นั้นชัดเจน วรรคดังกล่าวศาลเห็นว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา แต่คงมีความจำเป็นที่จะต้องกลับมาที่ขอบเขต เมื่อพิจารณาข้อ 2 และ 3 ข้อพิพาททั้งสองขัดกันที่ข้อ 2
แต่ข้อ 2 พูดถึงเพียงว่าไทยจะต้องถอนเจ้าหน้าที่ ไม่ได้พูดถึงดินแดนของกัมพูชาและไม่ได้กล่าวว่า การถอนจะต้องถอนไป ณ ที่ใด ข้อบทปฏิบัติการได้พูดถึงเขตแดนแค่บริเวณปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง ศาลไม่ได้กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ใดของไทยต้องถอนกำลังออกไปที่ใดบ้าง บอกแต่ว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่นั้น
ข้อบทปฏิบัติการที่ 2 ระบุว่า ไทยต้องถอนทหาร และเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ในปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง ศาลจึงเห็นว่าจะต้องเริ่มโดยดูจากหลักฐานพยานปี 1962 เกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยประจำอยู่ พยานหลักฐานเดียวที่มีคือ ที่ไทยนำเสนอซึ่งได้มีการเยี่ยมชมเมื่อ 1961 ระหว่างการพิจารณาคดีในการซักค้านของฝ่ายกัมพูชา พยานผู้เชี่ยวชาญของไทยบอกว่า มีแค่ผู้เฝ้ายามอยู่ 1 คนและตำรวจ มีการตั้งแคมป์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท และไม่ไกลก็มีบ้านพักอยู่ มีสถานีตำรวจนั้น ทางทนายฝ่ายไทยอ้างว่า อยู่ทางใต้ของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่เหนือของเส้นสันปันน้ำ ระหว่างการพิจารณาคดีปี 1962 กัมพูชาได้นำเสนอข้อต่อสู้อีกข้อว่า จะต้องใช้เส้นสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน"
ผู้พิพากษาศาลโลก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเส้นสันปันน้ำบริเวณปราสาทพระวิหาร การอ้างถึงสันปันน้ำ โดยทนายไทยนั้นเป็นสำคัญ เพราะอ้างว่าการแบ่งเส้นต่างๆ มีความใกล้เคียงกับที่กัมพูชาเสนอ เพราะฉะนั้นการที่มีสถานีตำรวจไทยตั้งอยู่เหนือเส้นสันปันน้้ำ ที่เป็นไปตามมติ ครม. ของไทย ที่ไทยบอกว่าอยู่นอกบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เมื่อไทยถูกบอกว่าให้ถอนทหาร บริเวณปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง น่าจะมีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ต่างๆที่ประจำการ ตามคำเบิกความของไทยในคดีนั้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยประจำการบริเวณอื่นแต่อย่างใด บริเวณปราสาทพระวิหารควรจะยาวไปถึง สถานที่หรือที่ตั้งมั่นของตำรวจในขณะนั้น เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นตามมติ ครม. จึงไม่ถือว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสองประเทศไทยได้
ศาลได้เน้นย้ำบริเวณปราสาทว่า ปราสาทตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เห็นได้ชัดเจนมาก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น คือทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของหน้าผาฝั่งกัมพูชา และด้านเหนือกับตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ที่อยู่ในเทือกเขาดงรัก หุบเขาทั้งสองนี้ เป็นช่องทางที่กัมพูชาสามารถเข้าถึงปราสาทพระวิหารได้เพราะฉะนั้นตามความเข้าใจเบื้องต้นบริเวณปราสาทพระวิหาร ศาลเห็นว่า เขตแดนของกัมพูชาทางเหนือนั้น ไม่เกินเส้นแบ่งของแผนที่ภาคผนวก 1 ศาสตราจารย์ฟรีดริช แอคเคอร์มานน์ ไม่ได้ให้ระบุระยะทางที่ชัดเจน แต่ตามพยานหลักฐานมีความชัดเจนว่าด่านตำรวจอยู่ในระยะที่ไม่ไกลมากทางใต้และอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งบนแผ่นที่ภาคผนวก 1
"ดังนั้น ศาลพิจารณาพื้นที่ที่จำกัด ทั้งตะวันออกเฉียงเหนือและทางเหนือตามเหตุผล ถือว่าเป็นพื้นที่ของกัมพูชา ศาลเห็นว่าพื้นที่ตามข้อบทปฏิบัติการที่ 2 ควรขยายให้ครอบคลุมชะง่อนผา เพื่อนำมาใช้แทนที่ส่วนที่ได้มีการเลือกโดยมติ ครม.1962 ในข้อพิจารณาของกัมพูชาทางศาลไม่ได้สามารถทำคำจำกัดความ เกี่ยวกับคำว่า "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ว่าครอบคลุมนอกจากชะง่อนผาและภูมะเขือ ซึ่งศาลถือว่าไม่ได้เป็นการตีความที่ถูกต้องตามข้อ 1 ภูมะเขือในแผนที่นั้นเป็นพื้นที่ส่วนที่ต่างหากออกไป จากแผนที่ปี 1961 หรือแผนที่ซึ่งเป็นเอกสารแนบ
ข้อ 2 มีข้อพิจารณาในการพิจารณาปี 1961 ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ถือว่า ภูมะเขือ อยู่ภายในปราสาทพระวิหารในการพิจารณาข้อพิพาท ดังนั้น อดีตผู้ว่าการจังหวัดของกัมพูชา ถือว่าพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของอีกจังหวัด แต่ถือว่าภูมะเขือเป็นจังหวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา ขณะเดียวกันจังหวัดนี้ก็เล็กเกินกว่าที่ครอบคลุมพระวิหาร และภูมะเขือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่สำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณา
ข้อ 3 ไม่ได้มีหลักฐานในการนำเสนอต่อศาลว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ไทยหรือกำลังทหารอื่นๆ ของไทย อยู่บริเวณนั้น รวมถึงบริเวณพื้นที่ภูมะเขือซึ่งทำให้ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณนั้น"
ท้ายสุด การที่กัมพูชาต้องการให้ตีความแผนที่ภาคผนวก 1 เกี่ยวกับเส้นสันปันน้ำของไทยนั้น ศาลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่าสันปันน้ำอยู่ที่ใด จึงเป็นไปไม่ได้ว่าศาลได้พิจาณาเรื่องสันปันน้ำ บอกไม่ได้ว่า อาณาบริเวณใดเป็นของปราสาทพระวิหาร ในปี 1962 ศาลไม่ได้พิจารณาบริเวณที่กว้างขวางมาก และไม่ได้กำหนดบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เพื่อให้เข้าใจว่าจะต้องครอบคลุมจากชะง่อนผาของพระวิหาร แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าบริเวณภูมะเขืออยู่ในไทย เพราะศาลไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้
ด้วยเหตุผลของการพิจารณา 1962 ตามที่ได้มีการร้องขอในกระบวนการพิจาณาของศาล ได้พิจารณาบริเวณปราสาทพระวิหารด้านตะวันออก, ใต้ และตะวันตกฉียงใต้ ได้มีชะง่อนผา และปี 1962 สองฝ่ายได้ตกลงกันว่าพื้นที่นั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาและพื้นที่ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงหนือ ซึ่งมีแนวโน้มลาดชันน้อยกว่า และแยกปราสาทพระวิหารออกจากภูมะเขือ ก่อนที่จะลาดลงสู่พื้นที่ราบของกัมพูชา ดังนั้นศาลจึงพิจารณาว่า ภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่และคำพิพากษาปี 1962 ไม่ได้พิจารณาว่าภูมะเขืออยู่ในไทยหรือกัมพูชา
ดังนั้น ชะง่อนหน้าผา และภูมะเขือ จะเริ่มที่จะยกสูงขึ้นจากพื้นราบนั้น ก็เป็นเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 โดยเส้นนั้น จะสูงขึ้นไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือและตามคำพิพากษา 1962 ได้มีการกำหนดให้ไทย ถอนกำลังออกจากบริเวณนั้น โดยต้องถอนทั้งหมด ศาลเข้าใจเรื่องที่ไทยระบุถึงการถ่ายโอนแผนที่เพื่อกำหนดพื้นที่เจาะจงตามเรื่องของวรรคดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ ข้อพิจารณาอีกประการคือในปี 1962 ศาลไม่ได้กำหนดจะตีความคำพิพากษา การที่เราจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม พันธกรณีดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถหาทางออกแต่ฝ่ายเดียวได้
คำพิพากษาปี 1962 ต้องมีการพิจารณาอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เรื่องวรรค 2 ศาลพิจารณา เรื่องความสัมพันธ์ของวรรคนี้ กับข้อบทปฏิบัติการ ขณะที่ข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ไม่ได้มีการพิจราณา แต่สามารถทำให้เข้าใจได้ในข้อบทปฏิบัติอื่นๆ ในคำตัดสินของศาล เรื่องขอบเขตข้อพิพาท เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ดังนั้น ศาลจึงได้ตัดสินใจข้อปฏิบัติการที่ 1 ว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาและไทย จึงมีพันธะถอนกำลังทหารและอื่นๆ ออกจากพื้นที่ของเขมร ในแถบของพระวิหาร และข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ทำให้เกิดพันธะกรณีที่ครอบคุลมพื้นที่ขยาย เกินกว่าขอบเขตของปราสาทพระวิหารเอง ข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ถือว่า เป็นพื้นที่ของกัมพูชาและคำบรรยายนี้ศาลถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยปริยาย จากข้อบทปฏิบัติการที่ 3
สำหรับเรื่องอธิปไตยเหนือพื้นที่ขึ้นอยู่กับอันนี้ พื้นที่ที่ศาลเกี่ยวข้องด้วย ในคดีแรกเป็นพื้นที่มีขนาดเล็กและชัดเจน ทางเหนือก็เห็นได้ชัด สถานการณ์นี้ ศาลเห็นว่า "บริเวณอธิปไตยของกัมพูชา อยู่พื้นที่เล็กๆ เป็นผลจากสิ่งที่ได้พูดถึงในวรรคแรก และลักษณะข้อพิพาทปี 1962 และลักษณะวิธีการในการเสนอคำให้การสองฝ่าย เพราะฉะนั้น เรื่องอธิปไตยที่ศาลได้พิจารณาทั้งที่พูดถึงวรรคแรกและวรรคที่ 3 ศาลมีข้อพิจารณาสรุปว่า พื้นที่ในวรรค 1 และ 3 เป็นพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น ปราสาทพระวิหาร อยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา เป็นการอ้างถึงววรรค 2 และ 3 ที่พูดถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามที่ได้มีการร้องขอให้พิจารณาในครั้งนี้ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเส้นแบ่งแยกไทยและกัมพูชา
ศาลสรุปว่า ชะง่อนผาในแผนที่ภาคผนวก 1 อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา เป็นประเด็นข้อพิพาท 1962 เป็นประเด็นหัวใจของข้อขัดแย้งนี้ นอกจากนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาว่าพันธะกรณีที่เกิดขึ้นในข้อบทปฏิบัติการที่ 2 เป็นสิ่งที่ไทยต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ไทยได้รับว่าไทยมีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องเคารพบูรณาการ ของกัมพูชา หมายความว่า ครอบคลุมพื้นที่ของอธิปไตยกัมพูชา หลังการแก้ปัญหาอธิปไตยแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการตามพันธะกรณี และเคารพบูรณาการของสองประเทศ และมีหน้าที่แก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันด้วยิวิธีการอื่น
ด้วยหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นเรื่องชัดเจนที่คำฟ้องทั้งสองฝ่ายปี 1952 และ 1962 ปราสาทพระวิหารถือว่าเป็นวัตถุโบราณสำหรับทั้งสองฝ่าย ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ศาลเห็นว่าภายใต้การทำงานของทั้งสองฝ่าย ไทยและกัมพูชาต้องคุยกันเอง หารือกันเอง โดยมียูเนสโกควบคุม ในฐานะที่เป็นมรดกโลก แต่ละรัฐมีพันธะกรณีที่ต้องดูแลและปกป้องมรดกโลกชิ้นนี้ไว้ ภายใต้บริบทเหล่านี้ศาลต้องการเน้นว่า การเข้าถึงปราสาทพระวิหารต้องเข้าถึงจากทางกัมพูชาด้วยเช่นกัน
สรุป วรรค 1 กัมพูชามีอธิปไตยเหนือทั้งชะง่อนผาที่ระบุไว้ในปี 1962 ไทยจึงมีพันธะต้องถอนกำลังหทรหารทั้งหมดบริเวณนั้น"
"ด้วยเหตุนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ 2 ประการดังนี้ คือ 1.ด้วยอำนาจตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล ทำให้การขอตีความของกัมพูชานั้น สิ่งเหล่านี้ ศาลมีอำนาจรับคำร้อง 2.โดยมติเอกฉันท์ ศาลขอประกาศว่า ผลจากการพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษา ณ วันที่ 15 มิถุนายน 1962 ตามที่วินิจฉัยไว้ในความในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษาใหม่นี้วินิฉัยได้ว่า กัมพูชามีอธิปไตยทั้งหมดเหนือชะง่อนผาที่ตั้งปราสาทพระวิหาร อันยังผลให้ไทยมีพันธะต้องถอนกำลังออกจากเขตแดนตรงนั้นทั้งกำลังทหารและตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาการอื่นๆ หรือ ผู้ดูแลรักษา ออกไปพ้นจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น" ผู้พิพากษาศาลโลก กล่าว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)