Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สถานีต่อไป ปชป.ซักฟอก "ครม." ทั้งคณะ "สุเทพ" เร่งเผด็จศึกใน "พ.ย." ก่อนม็อบนกหวีด "ท่อตัน"

ประกาศเดดไลน์ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น. สำหรับม็อบนกหวีด ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแกนนำตัวยงอย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นหัวขบวน





โดยเส้นตายในครั้งนี้ หวังจะยกระดับการชุมนุม เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากทีมงานนกหวีดอย่างท่วมท้น ตั้งแต่ม็อบสามเสน จนมาถึงม็อบราชดำเนิน

โดยหัวใจหลักในการจุดม็อบติดคือการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม

ด้วยเหตุที่ว่า รัฐบาลคิดเองเออเอง ว่าม็อบนี้เป็นม็อบฟืนเปียก จึงให้สภาดันทุรัง อย่างที่ม็อบว่า "เป็นการลักหลับ" ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในช่วงตี 4 ครึ่ง ของวันที่ 1 พฤศจิกายน

ตั้งแต่นั้นมา ม็อบคนเมือง เริ่มเติมเต็มเวทีสามเสนขึ้นเรื่อยๆ จากฟืนเปียก กลายเป็นม็อบที่เปี่ยมไปด้วยไฟแค้น ชนิดลุกโชน จนต้องขยับขยาย เคลื่อนพล ยกระดับการชุมนุม ยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ยิ่งประชาชนหลั่งไหลมาเติมเต็มม็อบมากแค่ไหน ยิ่งทำให้แกนนำมั่นใจขึ้นแค่นั้น จนทำให้อัตราต่อรองม็อบสูงขึ้น

ขณะที่รัฐบาลถอยรูดแบบสุดซอย ยอมทุกอย่าง ถอนทุกร่างที่เนื้อหาว่าด้วย พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 6 ร่างออกจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อ "ดับไฟ"

แต่ก็ไม่เป็นผลสำหรับผู้ชุมนุม เพราะแกนนำกลับระบุว่า 6 ร่างที่ถูกถอนไปนั้นเป็นการสับขาหลอกของรัฐบาล เพราะร่างเจ้ากรรม ยังค้างอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภา ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรง

แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยัน และส่งสัญญาณให้สมาชิกวุฒิสภา คว่ำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อยุติความร้อนแรงของม็อบที่ถูกปลุกเร้าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ไม่เป็นผล แกนนำบนเวทียังปลุกปั่นอย่างต่อเนื่อง และผู้ชุมนุมยังคงหลั่งไหลเขาร่วมชุมนุมมิได้ขาด แถมนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นๆ



ปรากฏการณ์นี้ทำให้ "สุเทพ" มั่นใจว่า อัตราต่อรองของผู้ชุมนุมเหนือกว่ารัฐบาล จึงประกาศขีดเส้นตาย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก พิพากษากรณีข้อพิพาท ไทย-กัมพูชา บนที่ดินบนเขาพระวิหาร โดยหวังใจว่า ไทยจะแพ้อย่างย่อยยับ และจะหยิบยกกระแสคลั่งชาติ เสียดินแดน มาเป็นประเด็นในการยกระดับ

ในขณะที่อีกขาหนึ่ง ก็ปล่อยให้ 40 ส.ว. ออกโรง เล่นบทผู้หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่เข้าร่วมประชุมด่วน ตามที่ "นิคม ไวยรัชพานิช" ประธานวุฒิ นัดอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน จากเดิมที่เคยตกลงไว้ว่าจะประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อหาทางออก ในขณะที่ประเทศชาติอยู่ในสภาวตึงเครียด

แต่สุดท้าย 40 ส.ว. กลับเล่นเหมือนเด็ก ปิดประตูขังตัวเองไว้ในห้อง โดยไม่เข้าร่วมประชุม จนทำให้ที่ประชุมวุฒิ ล่มในที่สุด เพราะมีผู้ร่วมลงชื่อเพียง 69 คน จาก ส.ว. ทั้งหมด 149 คน

ความหวังที่ริบหรี่จึงตกไปอยู่กับการประชุมตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังว่าการคว่ำร่างรัฐบาลจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะถึงเดดไลน์ของ "สุเทพ" แต่สุดท้ายการถกเถียงก็ไม่ได้จบลงก่อนเวลา

ทว่า ความมั่นใจที่ทะยานขึ้นสูง ทำให้ "สุเทพ" และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 8 คน ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อร่วมต่อสู้แบบเต็มรูปแบบก่อนที่จะถึงเวลาที่ได้ขีดเส้นตายเอาไว้

แต่ผิดคาด เมื่อศาลโลกพิพากษาให้ไทยเสียดินแดนเพียงเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวปราสาทพระวิหาร ส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นข้อพิพาทนั้น ศาลให้ 2 ประเทศ ได้ตกลงกันเอง

ทำให้ลาวา ที่กำลังเดือดดาล เย็นลงอย่างกะทันหัน กระแสคลั่งชาติ สะบั้นลงโดยพลัน ผนวกกับวุฒิสภาคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้สำเร็จ ในเวลา 22.30 น. ของวันเดียวกัน



ในขณะที่ "สุเทพ" ประกาศให้กองหนุน เดินหน้าต่อต้านรัฐบาลต่อไป เพราะร่างที่ถูกคว่ำไปนั้นยังค้างอยู่ในสภา โดยให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ให้งดการจ่ายภาษี ให้ติดธงชาติหน้าบ้าน พร้อมทั้งเจอนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ไหนให้เป่านกหวีดใส่ทันที

ผลที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น ผู้ชุมนุมบางลงถนัดตา หลายมหาวิทยาลัย ที่คัดค้านการนิรโทษ ประกาศไม่หยุดเรียน ผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง ประกาศยุติการชุมนุม เพราะถือว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ถูกคว่ำไปแล้ว และทำให้คนกลุ่มนี้มองว่า แกนนำบนเวที "ได้คืบ จะเอาศอก"

ในขณะที่ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปรับท่าที โดยมีการตักเตือน การปราศรัยบนเวที ที่หลายต่อหลายคนมักจะปราศรัยหยาบคาย และป่าเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคขอให้ลดๆ ลงบ้าง

ส่วนท่าทีของ "อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ต้องเล่นหลายบท เพราะต้องเทียวขึ้นเวที ในนามแขกรับเชิญ มิใช้แกนนำม็อบ และยังต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

โดยในสัปดาห์หน้า พรรคประชาธิปัตย์จะใช้แผน 2 ในการยืนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าด้วยการมุ่งโจมตีการทุจริตในหลายโครงการ

ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ



อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า การประกาศไม่ลงรับสมัคร ส.ส. อีกต่อไป ของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เพื่อลดข้อครหาว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นจุดที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ "สุเทพ" ประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ลมปากนักการเมือง พร้อมที่จะกลืนน้ำลายได้ทุกเมื่อ...

หรือเป็นการส่งสัญญาณลุยเต็มที่ เพราะล่าสุด "สุเทพ" เอง ไปประกาศเเล้วว่า จะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความเร้าใจให้กับฝูงชนที่มาชุมนุม

ส่วนม็อบนกหวีดก็ยังจะยื้อการชุมนุมให้ยืดเยื้อต่อไป เพราะยังมีผู้ชุมนุมอีกไม่น้อยที่ยังอารมณ์ค้าง และการชุมนุมจะถูกเปลี่ยนจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชาชนเริ่มถอยหนี เป็นการต่อต้านการทุจริต และจะยกระดับสู่การโค่นล้มรัฐบาล โดยล่าสุด "สุเทพ" ประกาศเดดไลน์อีกครั้งว่า "จะต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน"

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เดดไลน์ครั้งนี้เป็นช่วงเดียวกับที่มีพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ.2556 ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนั้น แน่นอน เพราะหากปิดสมัยประชุมแล้ว บทบาทของรัฐสภาจะลดลงทันที โดยจะเหลืออยู่เพียงแค่การทำหน้าที่ของรัฐบาล การปั่นเรื่องกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา ก็จะลดลง ดังนั้น ม็อบนกหวีดจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งม้วนเสื่อให้เร็วที่สุด

แต่อีกเสียงลือเล่าอ้างจากคนในพรรคประชาธิปัตย์เองบอกว่า ที่ต้องรีบเผด็จศึกให้เร็วที่สุดในครั้งนี้ ก็เพราะท่อส่งกำลังจะตัน!!!!!...


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น