Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จดหมายจากเพื่อนถึงเพื่อน “แดงอย่างหลงทางทะเลาะกันเป็นเครื่องมือของศัตรู”


โดย คิดดี พูดดี ทำดี ปรารถนาพุทธภูมิ

นำเสนอโดย Sunai Fan Club

ขอเป็นกำลังใจ และสร้างกำลังใจร่วมกันและกัน
เห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามแล้ววิตกกังวล แต่เมื่อฝ่ายเดียวกันเห็นต่างเคลื่อนไหวและโจมตีด่าทอซึ่งกันกลับเจ็บปวดยิ่งกว่า กลับเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องเป็นไปได้ คือ พรบ.นิรโทษกรรม ระหว่างคนเสื้อแดงด้วยกันเอง หรือ คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งเวทีปราศรัยกล่าวโจมตีและด่าทอพวกเดียวกัน หรือการรวมกลุ่มจัดม็อบต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม และโจมตีพวกเดียวกัน ใครจะมองว่าเป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นดอกไม้หลากสีก็ตาม แต่ในยุทธวิธีทางทหารถือเป็นความอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ นำมาซึ่งความปราชัย
ในการรบ แม่ทัพมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แต่ถ้าทหารบางส่วนไม่เห็นด้วย ซึ่งก็มีบางส่วนที่เห็นด้วย แม่ทัพก็ต้องอธิบายชี้แจง เมื่ออธิบายแล้วเขาก็ยังยืนกรานไม่เห็นด้วยแถมยังปลุกระดมทหารอื่นให้คล้อยตาม ทำให้กองทัพแตกแยกไม่มีเอกภาพขาดระเบียบวินัย แม่ทัพที่มองเห็นภัยอาจแพ้ข้าศึก จึงจำเป็นต้องลงโทษทหารผู้นั้น
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การต่อสู้ในสนามรบ เป็นแค่ความเห็นต่างทางความคิด เพราะทุกฝ่ายต่างมีเจตนาดีและหวังดี เพียงแต่มุมมองไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ถ้าความเห็นคนส่วนใหญ่ไปทางไหนก็ควรยอมรับ และปรับความเห็นให้เข้ากันเพื่อไปสู่เป้าหมายหลักแม้จะต้องเสียสละบ้าง หรือแม้จะอยู่ในสนามรบจริงก็ตาม แม่ทัพก็ไม่ควรตัดสินประหารชีวิตทหาร ควรจะลงภาคทัณฑ์ เพราะจะทำให้เสียทหารที่มีฝือมือ
ผมเคยได้ยินว่า นปช. ดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ขา กับพรรคเพื่อไทย แต่ขณะนี้ขาทั้งสองข้างไม่สามัคคีกัน เดินไปคนละทางแม้ว่าจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถเดินไปไหนได้เพราะถ่วงเตะกันไปมา บางครั้งก็สะดุดขาตัวเองล้มลง นับประสาอะไรจะไปสู้กับข้าศึก แม้จะวิ่งหนีก็วิ่งไม่ได้
คนเสื้อแดงนั้น เดิมส่วนมากแล้วก็คือคนที่เลือกพรรคไทยรักไทย หรือเคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย อาจเป็นกลุ่มหัวคะแนน สส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ออกมาต่อต้านรัฐประหาร และภายหลังได้กลายเป็นคนเสื้อแดง จะว่าไปแล้วหัวคะแนน หรือ สส. ในพื้นที่ยังมีอิทธิพล แม้ว่าจะมีแกนนำเสื้อแดงในทุกระดับ ดูได้จากการระดมคนเมื่อครั้งที่สนามราชมังคลาฯ และจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกณฑ์คนครั้งใหญ่ๆนั้น สส. พรรคเพื่อไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
วัฒนธรรมการปราศรัยทางการเมือง กับวัฒนธรรมการประชุมหรือสัมมนาในห้องประชุมนั้นต่างกัน การปราศรัยนั้น มีทั้งให้ความรู้ ให้ข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้าง มีทั้งการพูดโน้มน้าวให้ผู้ฟังคล้อยตามและเกิดอารมณ์ร่วม แม้ว่าผู้ฟังจะมีความเห็นต่างแต่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะแสดงออก หรือถ้าเสนอความคิดเห็นต่าง ก็จะกลายเป็นคนละพวกไปทันที และก็จะถูกควบคุมตัว ซึ่งถือเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ยิ่งกว่านั้น แกนนำกลุ่มต่างๆ มักมีผู้ที่นิยมยอมรับนับถือหรือที่เรียกว่าแม่ยก ถ้าแกนนำพูดอะไรแม่ยกก็มักจะเชื่อและคล้อยตามเสมอ จึงไม่แปลกถ้าแกนนำในกลุ่มต่างๆมีความเห็นต่างกัน หรือระหว่างองค์กรมีความเห็นต่างกัน ก็จะทำให้บริวารหรือแม่ยกของแกนนำกลุ่มต่างๆ หรือองค์กรต่างๆมีความเห็นต่าง และนำมาซึ่งความขัดแย้ง ดังนั้น แกนนำจึงมีบทบาทสำคัญในการใช้เหตุผลอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจ และคล้อยตามเชื่อในสิ่งที่พูด
ผู้ชุมนุมหรือผู้ฟังนั้น ก็มีหลายระดับทางสติปัญญา มีทั้งประเภทเมื่อแกนนำพูดอะไรออกมาแล้วก็เห็นดีเห็นงามเชื่อไปทั้งหมด คือประเภทล้างสมองง่าย และเมื่อมีใครเห็นต่างก็จะต่อต้าน กับอีกประเภทหนึ่งฟังแล้วเชื่อ แต่ถ้าใครมีเหตุผลที่ดีกว่ามาหักล้าง เขาก็จะพิจารณาด้วยตัวเขาเองว่าเหตุผลใครดีกว่า
(เรื่องผู้ชุมนุม แม่ยกหรือบริวารนี้เป็นข้อสังเกต) บทความนี้ถ้าจะมีความชอบ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายรับไว้เถิด ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น