8 พฤศจิกายน 2556
โดย จักรภพ เพ็ญแข
ที่มาเฟซบุ๊ค จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair
ล้างปรีดี-ล้างทักษิณ
วันนี้เป็นวันคล้ายวันปิดฉากชีวิตทางการเมืองของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ริเริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ และเลยมาจนถึงในวันรุ่งขึ้นจึงจบสิ้นลงด้วยการถูกยึดอำนาจอย่างสมบูรณ์นั้น ถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญที่สุดของคณะราษฎร ถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะคงมีอำนาจต่อมาถึง ๑๐ ปีหลังจากนั้น แต่คติของจอมพล ป. ก็แตกต่างไปแล้วจากความตั้งใจแต่เดิมของคณะราษฎร ผมอยากเล่าเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งก็เพราะว่าสถานการณ์ขณะนี้แทบจะไม่แตกต่างอะไรจากเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งห่างจากพุทธศักราชนี้ถึง ๖๖ ปี บทละครเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นบทเดิม เพียงเปลี่ยนฉากหลัง ตัวแสดง ลูกเล่น และตัวผู้กำกับละคร ขนาดผู้อำนวยการสร้างก็ยังเป็นคนเดิมเลยครับ การรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ จึงเป็นประโยชน์มากหากนำมาเปรียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะที่โหมไฟกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือความกระหายใคร่จะให้มีการยึดอำนาจรัฐประหารกันอยู่เหมือนกัน
ลองจับคู่เป็นข้อๆ ไปก็ได้:
๑. สงครามการเมืองครั้งนั้นและครั้งนี้ เป็นสงครามตัวแทนหรือนอมินีเหมือนกัน ครั้งนั้นนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นตัวแทน นายปรีดีฯ ซึ่งกุมอำนาจอย่างแท้จริงในรัฐสภา การรัฐประหารนั้นก็เป็นความพยายามในการโค่นนายปรีดีฯ โดยผ่านการโค่นรัฐบาลหลวงธำรงฯ ส่วนฝ่ายตรงข้าม ก็เผยโฉมหน้า พลโทผิน ชุณหะวัณ (ภายหลังเป็นจอมพล) ว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ของคณะรัฐประหาร แต่เมื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเรียบร้อย ก็เอาอำนาจนั้นไปฝากไว้ที่ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายควง อภัยวงศ์ และก็จี้รัฐบาลนายควงฯ ลง ในเวลาเพียง ๖ เดือน ก่อนจะเอาอำนาจไปมอบต่อให้กับผู้มีอำนาจตัวจริงคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ครองอำนาจต่อมาอีกถึง ๑๐ ปี ปัจจุบันเราก็มีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สาระที่แท้จริงก็คือรัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยที่ ๕ ที่ไม่ได้อะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักจากช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ๒ เป้าหมายในการโค่นล้ม ก็คือตัวอดีตนายกทักษิณฯ ไม่ใช่คุณยิ่งลักษณ์ฯ หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทย ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็ใช้ทหารยึดอำนาจในนามของผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคมไทย และปล่อยให้นอมินีของตัวเองลอยนวลจากความผิดฐานทำลายรัฐธรรมนูญ แถมยังเปิดโอกาสให้หารายได้จนร่ำรวยไปชั่วลูกชั่วหลานเหมือนกัน โดยไม่มีเสื้อสีใดหาญกล้ามาตั้งคำถาม การรัฐประหารสองครั้ง (๒๔๙๐ และ ๒๕๔๙) จึงเป็นการยึดอำนาจเพื่อลากจูงประเทศกลับสู่สภาพการเมืองก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เหมือนกัน
๒. ระบอบคณะราษฎรและรัฐบาลหลวงธำรงฯ ถูกทำลายด้วยข้อกล่าวหาที่คล้ายกับยุคนี้ นั่นคือคดโกงคอร์รัปชั่นและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเรื่องสถาบันฯ ยุคนั้นรุนแรงขนาดถูกกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๘) เลยทีเดียว ในยุคนี้ก็ถูกกล่าวหาว่า คิดล้มเจ้า และคดโกงคอร์รัปชั่นเหมือนกัน ดูเหมือนว่าสังคมสยามและไทย จะถูกวางยามาตลอด เพื่อให้คิดว่าถ้าราษฎรด้วยกันขึ้นมาเป็นใหญ่ จะต้องหวาดระแวงไว้ก่อนว่า จะเป็นโจรปล้นชาติ เหมือนบางคนคิดดูถูกญาติหรือเพื่อนที่ยากจนกว่าว่าเขาต้องมาเอาเปรียบตน ในขณะที่มีสันดานทาสอย่างขูดไม่ออกคือ กลัวเจ้านายเหนือหัวจนไม่กล้าตั้งคำถามอะไรกับเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าในเรื่องปล้นชาติ และพฤติกรรมล้างผลาญผู้อื่นเพื่อแสวงอำนาจอันเบ็ดเสร็จของตนในทางการเมือง วิธีการก็คือนั่งประณมมือหลอกตัวเองไปวันๆ ระบอบการเมืองไหนก็มีคนโกงและข้อเสียทั้งนั้น ไม่มีเว้นฝ่ายไหนทั้งสิ้น คนที่มีใจเป็นธรรมจึงต้องถามทั้งสองทางให้ครบถ้วน ไม่ใช่ตั้งตัวเองเป็นศาสดาทางศีลธรรม มาตัดสินมนุษย์คนอื่น ในขณะที่ฝ่ายตัวเองนั่งเป็นเบื้อใบ้ไม่กล้าตั้งคำถามอะไรใดๆ เลย
๓. ในขณะที่ถูกโค่นล้มลงด้วยกำลังกองทัพนั้น ทั้งรัฐบาลหลวงธำรงฯ และรัฐบาลทักษิณฯ กำลังดำเนินนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งมีลักษณะบางอย่างคล้ายกันอยู่ ในยุคเก่าเรียกว่า สวัสดิการสังคม ในยุคทักษิณฯ เรียกว่า เศรษฐกิจสองระดับ (dual-track economy) ซึ่งมีเจตนาการเพิ่มพูนอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนระดับรากฐานทั้งสิ้น ในยุคนั้นนายปรีดีฯ ก็โดนข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในยุค ดร.ทักษิณฯ ก็ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนประชาชน (ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อนุมานว่า ประชาชนนั้นโง่และถูกหลอกได้ง่าย ตามความเชื่อแบบฝังหัวของชนชั้นนำไทย) จนถูกทำลายลงทั้งคู่
๔. ทั้ง นายปรีดี พนมยงค์ และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีทัศนะไว้วางใจชนชั้นปกครองไทยและยอมให้เขามีส่วนในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกันทั้งคู่ ต่อมาก็ถูกหักหลังเหมือนกันถูกทำลายชื่อเสียงและเครือข่ายทางอำนาจเหมือนกัน อาจสรุปได้ในขั้นนี้ว่า ทั้งสองท่านมุ่งเปลี่ยนแปลงรัฐไทยโดยมิได้นำเอาบริบททางสังคมวัฒนธรรมเข้ามาพิจารณาอย่างเพียงพอ บริบทนั้นเองที่กลายเป็นสารพิษเจือปนเข้ามาในกระบวนการทำงานของตนเองจนพังไปทั้งคู่ ความแตกต่างอย่างสำคัญมีเพียงว่านายปรีดีฯ มีเจตนาปฏิวัติ และมีทัศนะปฏิวัติ (ถึงจะด้อยคุณสมบัติอื่นๆ ก็ตาม) แต่ ดร.ทักษิณฯ มีทัศนะเพียงการบริหารรัฐ ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนรัฐไทยไปจากวันที่ตนเองเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานเลย
๕. แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๖ ดร.ทักษิณฯ มีมวลชนที่พร้อมต่อสู้ร่วมอุดมการณ์เป็นจำนวนคนมากกว่าฝ่ายตรงข้าม หากมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศโดยตรงในวันหนึ่งก็น่าจะเอาชนะได้ นี่คือสิ่งที่นายปรีดีฯ ไม่มี และแพ้อย่างไม่มีประตูสู้ก็เพราะเรื่องนี้ โยงมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นว่า การทำลายฐานมวลชนของ ดร.ทักษิณฯ จึงเป็นยุทธวิธีที่สำคัญของฝ่ายตรงข้าม นั่นคือทำให้ ดร.ทักษิณฯ กลับไปอยู่ในสภาพนายปรีดีฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นั่นคือโดดเดี่ยวไร้มวลชน วิธีล่าสุดคือ หลอกล่อให้เห็นดีเห็นงามกับการนิรโทษกรรมแบบเหมาโหล ยกเข่ง หรือสุดซอย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดของฝ่ายตรงข้าม ดร.ทักษิณฯ ต้อง กลายเป็นผู้รับภาระทางสังคมของทุกสีทุกฝ่ายไปไว้บนบ่า ในขณะที่ผู้หลอกลวงนั้นลอยนวลและทำทองไม่รู้ร้อนต่อไปแม้ในขณะนี้ แต่อย่าโทษเขาเลยครับ เสียเวลาเปล่า ควรโทษฝ่ายเราเองที่ไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยให้มั่นคงต่างหาก และเอาบทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนถาวรของการต่อสู้ในห้วงสุดท้ายซึ่งกำลังจะมาถึง
๖. จาก พ.ศ.๒๔๙๐ มาถึง พ.ศ.๒๕๕๖ คงได้คติกันชัดแล้วละมังว่า ถ้าฝ่ายประชาชนไม่ลุกขึ้นสู้ และยังคิดเอาชนะโดยวิธีพิเศษทั้งหลายซึ่งล้วนแต่เป็นทางอ้อมนั้น เราจะไม่มีวันชนะเลย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น