Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แผนรุก 2 พรรค หลังศึกตุลาการ "เพื่อไทย"เมินอำนาจ-ยื่นฟ้องกลับ "ปชป."ต่อยอด 5 คดีถอดถอน !!


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

อุณหภูมิทางการเมืองกลับมาร้อนขึ้นอีกระดับ หลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กระบวนการและเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขัดต่อมาตรา 68 และอีกหลายมาตราสำคัญ
แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.จะไม่ชี้ชัดถึง "บทลงโทษ" ทั้งการยุบพรรคหรือถอดถอนสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตามขั้นตอนการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

และย่อมเป็นบรรทัดฐานในการขีดเส้นทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ในฐานะเสียงข้างมาก-ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องนำมาซึ่งแนวทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ผ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยินยอมรับอำนาจ-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย

1.การที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน

2.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ย่อมไม่เกี่ยวข้อง

"ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291"

3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาได้

4.คำวินิจฉัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม และเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา ก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้ว

5.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ใน 9 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด

"ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3 หรือ 4 คน ดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม"

6.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตราต่าง ๆ นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

"ถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 เรื่องกำหนดหลักนิติธรรม และมาตรา 6 เรื่องกำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ในขณะที่ประกาศคำสั่งของ

คณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการ กระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด"

7.การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง และสภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย

8.เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้น 90 วัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย

9.หากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน หรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับ ก่อนปี 2540 วางหลักการไว้

"การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร"

ทั้งนี้ นอกจากคำแถลงการณ์ 9 ข้อ พรรคเพื่อไทยยังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมยื่นคำร้อง-ข้อมูลเพื่อยื่นถอดถอน และดำเนินคดีอาญาต่อ ส.ส.-ส.ว. และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป

โดยทีมกฎหมายพรรคเชื่อว่า กระบวนการพิจารณาหลังจากนี้จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น "บรรทัดฐาน" และมีผล "ผูกพัน" ทุกองค์กร

เป็นกระบวนการที่ยึดโยงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

ประกอบกับมาตรา 27 ระบุว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

อันสะท้อนยุทธวิธีการรบของ ปชป.ได้จากมุมคิดของหัวหน้าพรรค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่เปิดเผยภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยของศาล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา

"ผมว่าประเด็นเหล่านี้มันชัดว่าเป็น กระบวนการที่ไม่ชอบ แล้วถามว่าเมื่อกระบวนการมันไม่ชอบนี้ แล้วเราบอกว่าจะไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ ถ้างั้นต่อไปจะโกงกันยังไงก็ได้ ถูกมั้ย ลงคะแนนยังลงแทนกันได้ เอกสารเสนอก็ปลอมกันได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วล่ะครับ"

เขาบอกว่า บทลงโทษกรณีดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด บุคคลที่ดำเนินการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยครั้งนี้ ควรแสดงความรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง

"ผมก็พูดตรง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่อยากเรียกร้องอะไร เพราะไม่เคยมีการตอบสนอง ไม่เคยมีคำตอบอยู่แล้ว ตั้งแต่กฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว สุดท้ายก็เพียงแต่บอกว่าขอเก็บไว้ 180 วัน แล้วสัญญาว่าจะไม่ยุ่ง นี่เพียงพอแล้วหรือต่อความรับผิดชอบ"

"ส่วนกรณีที่มีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดกฎหมายตามที่ศาลระบุนี้ เราก็จะดำเนินการต่อไปครับ ในกระบวนการถอดถอน หรือกระบวนการกล่าวโทษทางอาญาครับ"

"ประเด็นจะมีประเด็นเดียวครับว่า ใครคือผู้เสียหาย หรือจะหวังพึ่งอัยการ คือกระบวนการของกรณีนี้ ด้วยความเคารพอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายนะครับ คือ ป.ป.ช.ท่านก็อาจจะมีกระบวนการของท่าน แต่ผมมองว่ามันไม่ช้า ตรงที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ผูกพันทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ชี้ไว้แล้ว แต่ผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้นเมื่อศาลบอกว่าคนนี้ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ป.ป.ช.ก็ต้องยึดถือตามที่ศาลชี้ว่าคนนี้ทำผิด"

จากถ้อยคำของ "อภิสิทธิ์" จึงถูกแปรสัญญาณตรงถึงคณะทำงานด้านกฎหมาย อันมี "วิรัตน์ กัลยาศิริ" หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวขบวนหลัก

แหล่งข่าวในทีมกฎหมาย ปชป.เปิดเผยว่า แม้เบื้องต้นยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่กำลังจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ ปชป.ได้เตรียมข้อมูล-เอกสาร รวมถึงร่างคำร้องไว้เรียบร้อย โดยสรุปเป็นไปได้อย่างน้อย 5 สำนวน เพื่อเดินหน้าต่อยอดกระบวนการดังกล่าว

สำนวนแรก ดำเนินคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปลอมแปลงเอกสาร-กดบัตรแทนกัน โดยทีมกฎหมาย ปชป.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยื่นฟ้องพาดพิงถึงบุคคลใดบ้าง

โดยอาศัยความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ที่ระบุว่า ผู้ใดปลอมแปลงเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท และมาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการพิจารณายึดโยงถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำนวนสอง การยื่นถอดถอน "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157

สำนวนสาม การยื่นถอดถอน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157

"ทั้งสองสำนวนข้างต้น เป็นประเด็นที่ทีมกฎหมายพรรคคาดว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลแทบจะชี้มูลความผิดของทั้งนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.อาจใช้เวลาพิจารณาไม่มากนัก"

สำนวนสี่ การยื่นถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะร่วมกันลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ของ ส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมาย

สำนวนห้า ภายหลังที่ ส.ส.+ส.ว.จำนวน 312 คน อ่านคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมประสบช่องในการยื่นฟ้อง ที่ถูกตีความว่าเป็นกบฏต่อไป

"ประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และเหนือศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ"

เป็นแผนรับ-ตำรารบของ 2 ขั้วการเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นนับจากนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น