ที่มา:มติชนรายวัน 27 กันยายน 2556
ดูท่าจะไม่ง่ายตามที่ฝ่ายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลวางปฏิทินการเดินหน้างานด้านนิติบัญญัติ
โดยเฉพาะ ประเด็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ
ส.ว.ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว และรอให้ผ่านพ้น
15 วัน ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ก็จะต้องดำเนินการลงมติในวาระ 3
ต้องยอมรับว่ากระบวนการเดินหน้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ
ส.ว.นั้น ถูกฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.สายสรรหา
งัดสารพัดช่องทางเพื่อสกัดกั้นไม่ให้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้อย่างง่ายดาย
ตามที่คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยและแกนนำรัฐบาลได้วางปฏิทินเอาไว้
ยิ่งล่าสุดฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์งัดคลิปเด็ด อย่าง
?การกดบัตรแทนกัน? โดยมีการอ้างว่าเป็นกลุ่ม ส.ส.ของฝั่งรัฐบาล ในช่วงที่มีการลงมติ
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ในวาระ 2 จึงเข้าทางของฝ่ายค้าน
นำไปยื่นหลักฐานเพิ่มน้ำหนักการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์
ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
ว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 310 คน
กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
ไปก่อนหน้านั้นแล้ว
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
คลิปกดบัตรแทนกัน
น่าจะไปช่วยเพิ่มน้ำหนักให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้ายากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
อีกทั้งมีการดักคอด้วยว่าหากรัฐบาลยังดึงดัน เดินหน้าลงมติในวาระ 3
ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่่มาของ ส.ว.
อาจจะเสี่ยงเป็นผู้กระทำความผิดและถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยยังประเมินตรงกันและพร้อมเดินหน้า
ลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่่มาของ ส.ว. ในวาระ 3
ตามกำหนดการเดิมในวันที่ 28 กันยายน
โดยยืนยันว่าเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาในฐานะที่มีหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยระบบรัฐสภา
จะทำให้รัฐสภาเกิดความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
ที่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ระบุว่า
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และร่าง
พ.ร.บ.จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป
หากยึดตามกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว
จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความยินยอมขึ้นทูลเกล้าฯ
เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
ฝ่ายต่อต้านจึงมีการประเมินกันว่า
หากรัฐสภายังยืนยันที่จะลงมติในวาระ 3 อย่างที่ตั้งใจไว้ กระบวนการต่อไปคือ
ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150
แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ
ส.ว.เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ก็ตาม
แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการให้นายกฯระงับกระบวนการการประกาศให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปก่อนในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
กระบวนการนับจากนี้หลังจากลงมติในวาระ 3
จึงเปรียบเสมือนเผือกร้อนที่จะกลับไปอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี
ที่จะต้องเป็นผู้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 150 จะให้อำนาจนายกฯในการดำเนินการ
แต่ฝ่ายคัดค้านก็ยังคงออกมาดักคอด้วยว่า
หากยังดึงดันนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่
คงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ดุลพินิจของตัวเอง
กระบวนการเดินหน้าร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.นับจากนี้
จึงน่าจับตายิ่งในการช่วงชิงจังหวะรุก-ถอย ทางการเมืองของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้่ขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น