รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
พ.ศ. ... ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2
ของการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนนี้
ร่างพระราชบัญญัติ (ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
พ.ศ.
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า
"พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
พ.ศ. ...."
มาตรา 2
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
3 ในพระราชบัญญัตินี้
"ยุทธศาสตร์" หมายความว่า
ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ
"แผนงาน"
หมายความว่า
แผนงานตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
"หน่วยงานของรัฐ"
หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และหน่วยงานอื่นของรัฐ
"หน่วยงานเจ้าของโครงการ" หมายความว่า
หน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุมัติหรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการตามแผนงาน
มาตรา
4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด
1
การกู้เงินและการบริหารจัดการเงินกู้
มาตรา 5
ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งนี้
ตามยุทธศาสตร์และแผนงาน
และภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท
และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
มาตรา 6
เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 5
ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
กระทรวงการคลังอาจนำเงินที่ได้จากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อให้นำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศก็ได้
แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น
มาตรา
7 วงเงินกู้ การจัดการเงินกู้
และวิธีการเกี่ยวกับการกู้เงินในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
มาตรา
8 ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินและการออกและจัดการตราสารหนี้
อาจจ่ายจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเงินกู้รายนั้นก็ได้
มาตรา
9 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามมาตรา
5 โดยดำเนินการกู้เงินรายใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม แปลงหนี้
ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระขยายหรือย่นระยะเวลาการชำระหนี้ ต่ออายุ
ซื้อคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ของรัฐบาลหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้
มาตรา
10 การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามมาตรา 5
ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อเป็นการประหยัด ลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน
หรือกระจายการชำระหนี้
โดยกระทรวงการคลังจะกู้เป็นสกุลเงินแตกต่างจากหนี้เดิมก็ได้
เงินกู้ตามวรรคหนึ่ง
มิให้นับรวมในวงเงินตามมาตรา 5
และต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้ที่ยังค้างชำระ
ในกรณีที่หนี้เงินกู้ซึ่งจะทำการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนเงินมาก
และกระทรวงการคลังเห็นว่าไม่สมควรกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวในคราวเดียวกัน
กระทรวงการคลังอาจทยอยกู้เงินเป็นการล่วงหน้าได้ไม่เกินสิบสองเดือนก่อนวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระ
มาตรา 11
ให้กองทุนบริการเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
ทำหน้าที่บริหารเงินที่ได้รับจากการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
เงินที่ได้รับจากการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรา
10 วรรคสาม
ให้นำส่งเข้ากองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศโดยให้นำเข้าบัญชีปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
และให้กระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายในการชำระหนี้เงินกู้ ดอกเบี้ย
และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว
มาตรา
12
ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน
การเบิกจ่ายเงินกู้การชำระหนี้
และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้
การเบิกจ่ายเงินกู้ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินในคราวใดแล้ว
แต่ยังมิได้มีการขอเบิกจ่ายเงินกู้จำนวนดังกล่าว
และกระทรวงการคลังเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเงินกู้หรือเป็นการประหยัดหรือลดภาระในการชำระหนี้
อาจให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้นั้นไปเก็บรักษาหรือฝากไว้ในบัญชีตามที่กระทรวงการคลังกำหนดก็ได้
มาตรา
13
นอกจากกรณีที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับกับการบริหารเงินกู้ตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม
หมวด
2 การเสนอและการบริหารจัดการโครงการ
มาตรา 14
ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนงานท้ายพระราชบัญญัตินี้
เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการและการจัดสรรเงินกู้เพื่อการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้
หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อนเริ่มโครงการให้ครบถ้วนด้วย
ก่อนที่จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง
ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัด
เสนอโครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ
และกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับความพร้อมของโครงการกรอบวงเงินดำเนินการ
และแผนการดำเนินงาน
มาตรา 15
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการดำเนินโครงการและจัดสรรเงินกู้เพื่อการดำเนินโครงการแล้ว
ให้บริหารจัดการโครงการและจัดสรรเงินกู้ตามวงเงินที่อนุมัติต่อไป ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 16
เมื่อแผนงานใดได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
ถ้าแผนงานนั้นมีเงินกู้เหลือจ่ายให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา 17
ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานการเบิกจ่ายเงินกู้ของโครงการและผลการดำเนินโครงการต่อกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดโครงการ
ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการติดตามและประเมินผลโครงการและแผนงาน
และรายงานผลการติดตามและประเมินผลโครงการและแผนงานต่อกระทรวงการคลัง ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา 18
ภายในหนึ่งร้อยปีสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว
ผลการดำเนินงานและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น