Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

เกม "แตกหัก" ยื่นข้อเสนอ "ป่วน" สู่"วิกฤต"ของ"วิกฤต"?

หน้า 3 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2556

 
 
 
การเมืองทั้งในและนอกสภาดำเนินไปแบบน่าหวาดเสียว

หลัง จากพรรคประชาธิปัตย์เปิดหน้าเปิดตัวส่งสัญญาณเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา เพื่อโค่นระบอบทักษิณแล้ว ดูเหมือนทุกอย่างจะก้าวไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

เกม ในสภานับแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์โบกมือบ๊ายบายม็อบที่มาส่งเข้าสู่รัฐสภา วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ เรื่อยมาถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 นั้น ดูเหมือนจะยืดเยื้อ วุ่นวาย และเริ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมรัฐสภาแบบไม่ทำตามข้อบังคับ ไม่ฟังประธานการประชุม เสมือนกับการท้าทายให้ประธานในที่ประชุมใช้อำนาจ

ทั้งอำนาจที่ใช้ผ่านค้อน เคาะเพื่อให้ที่ประชุมสู่ความสงบ

ทั้งอำนาจที่ใช้วิธีลุกขึ้น เพื่อให้สมาชิกในห้องประชุมหยุดพูดและนั่งลง

ทั้งอำนาจที่เชิญให้สมาชิกออกนอกห้องประชุม และสั่งให้ "ตำรวจสภา" มาเชิญตัวสมาชิกออกไปนอกห้องประชุม

ทั้งอำนาจการปิดประชุมเพื่อยุติความวุ่นวาย

ผล แห่งการใช้อำนาจของประธานสภา ทำให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน นำเอาไปโจมตีขยายผล คล้ายกับว่า ประธานในที่ประชุมใช้อำนาจคุกคามการทำหน้าที่ของสมาชิก

คล้ายกับว่า ประธานในที่ประชุมปิดโอกาสมิให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น

ปฏิกิริยาภายในห้องประชุมสภาต่อท่าทีของประธาน จึงมีทั้งโห่ ตะโกนเถียง ท้าทาย กระทั่งล่าสุดถึงขั้นยกเก้าอี้ขึ้นทุ่ม

ทั้ง หมดก็เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่ตัวเองไม่เห็นด้วย แต่เสียงคัดค้านไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านไปด้วยความยากลำบาก

และสุดท้าย เมื่อร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว สมาชิกรัฐสภาผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย จะเข้าชื่อกันยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีอำนาจ เพื่อยังยั้งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

เป็นการใช้สิทธิเต็มเหยียด เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า ...ไม่เห็นด้วย

ขณะ ที่ภายนอกสภา โฟกัสไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกรณีราคายางพาราก็มีลักษณะน่าหวาดเสียว เพราะท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมในระยะหลังก็เป็นข้อเสนออันล่อแหลมที่จะนำไปสู่ การแตกหัก

แตกหักเพราะรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมคิดกันคนละอย่าง โดยรัฐบาลเน้นหนักช่วยเหลือการ "ลดราคาต้นทุน" แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้ช่วยเหลือการ "ประกันราคารับซื้อ"

การ เจรจาครั้งแรก เมื่อรัฐบาลยืนยันที่จะยึดแนว "ลดราคาต้นทุน" และยอม "ประกันราคารับซื้อ" ให้ในระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัม ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยอมรับ แต่ก็บังเกิดกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยื่นข้อเสนอที่ "เป็นไปได้ยาก" คือยืนหยัดที่ราคา 100-120 บาทต่อกิโลกรัม

ความ รุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อม็อบผู้ชุมนุมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์บุกยึด ถนนเพชรเกษม ปะทะกับตำรวจ และล้อมเจ้าหน้าที่ กระทั่งต้องใช้แก๊สน้ำตาและกำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อคืนวันที่ 5 ต่อช่วงเช้าวันที่ 6 กันยายน

เหตุการณ์การปะทะทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัคร นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกควบคุมตัวอีกด้วย

ถือว่าได้ขณะนี้สถานการณ์ประเทศร้อนระอุทั้งในรัฐสภา และนอกรัฐสภา

ความ วุ่นวายเช่นนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณใดบ่งบอกว่าจะมีการ "ปรองดอง" กันได้ แม้รัฐบาลจะประกาศจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง แต่จนถึงบัดนี้ยังมืดมน เพราะคู่กรณีอย่างพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ขอร่วม

อาการเช่นนี้คล้ายกับจะนำไปสู่การ "แตกหัก" แต่ไม่รู้ว่าจะแตกหักเมื่อใด?

การ "แตกหัก" นอกสภา เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุม

การ "แตกหัก" ในสภา เกิดจากสมาชิกรัฐสภา

มีความเชื่อว่า หากสถานการณ์นอกสภาวุ่นวายปั่นป่วน จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดปฏิวัติรัฐประหาร

มีความเชื่ออีกว่า หากสมาชิกรัฐสภาส่งเรื่องใดก็ตามไปให้องค์กรอิสระพิจารณาดำเนินการรัฐบาล ผลสุดท้ายรัฐบาลจะเพลี่ยงพล้ำ

ฝ่ายที่มีความเชื่อเช่นนี้ จึงขับเคลื่อนสถานการณ์ไปสู่ความ "แตกหัก"

แต่อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการที่อาจทำให้ความเชื่อดังกล่าวผิดพลาด

ประการ แรก คือ ฝ่ายทหารเข้าใจในสถานการณ์โลกปัจจุบันว่า ไม่ยอมรับการปฏิวัติรัฐประหาร แม้การใช้กำลังยึดอำนาจจะทำได้ แต่จะทำให้ประเทศยืนอยู่ในเวทีโลกได้คงลำบาก

ประการที่สอง คือ องค์กรอิสระก็มีการบ้านต้องรักษาความเป็นอิสระขององค์กรให้สังคมได้เห็น การใช้ดุลพินิจที่ทำให้เกิดข้อสงสัยจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในอนาคต

ประการ ที่สาม คือ ทั้งหมดที่เคลื่อนไหว ยังเป็นความเคลื่อนไหวแต่ฝ่ายเดียว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ยังไม่เคลื่อนไหว

หากสถานการณ์เลยเถิดไปถึงขั้นเกิดการชุมนุมต้านการชุมนุม

ประเทศไทยจะเข้าสู่จุดวิกฤต...หากถึงเวลานั้นทหารอาจออกมา "แอ๊กชั่น" ประเทศก็จะเข้าสู่จุดวิกฤตอีก

ดังนั้น เกม "แตกหัก" ที่กำลังดำรงอยู่ อาจนำไปสู่ "วิกฤต" ได้ทุกเมื่อ

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้จึงอยู่ในสภาวะที่น่าหวาดเสียวยิ่ง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น