Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Collapse! เงื่อนไขความปราชัยอำมาตยาธิปไตย

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 369 วันที่ 21-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 หน้า 11 คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ จันทรคีรี


ปัญหาการเมืองในประเทศไทยมาถึงวันนี้คงเป็นปัญหาในเชิงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไข

เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมนี้เองที่ส่งผลกระทบในทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ของแต่ละฝ่าย แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงก็มีข้อเท็จจริงกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงเกิดยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้สะท้อนความจริงด้านหนึ่งได้ว่าพรรคเพื่อไทยกับขบวนการเสื้อแดงแท้จริงแล้วมีความขัดแย้งในเชิงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การตั้งคำถามว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงในการต่อสู้เพื่อสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยขึ้นมา จึงเป็นคำถามที่สำคัญมาก และคงตอบไม่ได้ง่ายนัก

เมื่ออดีตหลายสิบปีก่อนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ได้กำหนดสร้างสงครามประชาชนขึ้นมาเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ เป็นยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง แต่ยุทธศาสตร์ของ พ.ค.ท. ผิดพลาด กล่าวคือ เป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ทำให้พ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเข้าใจสภาพแวดล้อมและความจริงว่าสังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา พยายามถอดรูปแบบของสังคมจีนมาสวมใส่ในประเทศไทย ซึ่งในความจริงแล้วสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกันเลย เมื่อเข้าใจข้อเท็จจริงผิดพลาด ยุทธศาสตร์ก็ผิดพลาดไปด้วย ผลสุดท้ายก็คือความพ่ายแพ้นั่นเอง

ดังนั้น การตั้งคำถามเชิงยุทธศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการต่อสู้ทางการเมือง เพราะยุทธศาสตร์ที่ผิดก็คือความคิดที่ผิดนั่นเอง

เมื่อคิดผิดแล้วโอกาสชนะก็เป็นไปได้ยาก ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 นักประวัติศาสตร์ชั้นนำวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วกองทัพไทยในสมัยอยุธยาขณะนั้นไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขาโดยสิ้นเชิง รวมทั้งพระเจ้าเอกทัศน์ก็ไม่ได้ทรงอ่อนแอและไร้ฝีมือในการสู้รบอย่างที่เราเรียนรู้มา หากเป็นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ในเบื้องต้น กล่าวคือ มีความเชื่อว่าจะใช้กำแพงพระนครเป็นปราการต้านศึกเอาไว้ รอให้เกิดน้ำหลากขึ้นมา พม่าก็คงพ่ายแพ้ถอยกลับไป แต่เมื่อพม่าอ่านยุทธศาสตร์ขาดและไม่ได้ถอยทัพกลับเมื่อน้ำหลาก จึงทำให้กองทัพพ่ายแพ้และสูญเสียกรุงศรีอยุธยาไปในที่สุด!

ในสงครามเวียดนาม โฮจิมินห์ผู้นำเวียดนามขณะนั้นใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้โดยชูประเด็นจักรพรรดินิยมขึ้นมา ตรงนี้กลายเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขและความเป็นรูปธรรมที่ประชาชนเวียดนามสัมผัสได้ เห็นความชั่วร้ายของฝรั่งเศสและอเมริกาในสงคราม ประชาชนจึงเข้าร่วมในการกู้เอกราช นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้

เมื่อมองดูประเทศไทย นักรัฐศาสตร์จำนวนมากมองคล้ายกันว่าประเทศไทยไม่มีเงื่อนไขอะไรที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ หากจะมีก็เป็นเพียงเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือคำภาษาอังกฤษที่ว่า “Collapse” อันหมายถึง การทำร้ายและกัดกร่อนตัวเองโดยตัวเองทั้งสิ้น

เมื่อมองอย่างนี้แล้วอาจแปลได้ว่าแท้จริงการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐไม่มีใครทำลายใครลงได้ อำนาจเก่าในสังคมไทยยังเข้มแข็งอยู่มาก จึงมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นนั่นคือการทำลายตัวเอง อาจเปรียบอีกอย่างก็คือเป็นสภาพของหลุมดำทางอำนาจ ซึ่งหลุมดำเมื่อถึงจุดหนึ่งจะพ่ายแพ้ต่อตัวเองเท่านั้น กล่าวคือ แรงดึงดูดสูญกลางของดาวฤกษ์ขนาดมหึมานั่นเองที่ดึงดูดมวลทั้งหมดของมันเองเข้าสู่ศูนย์กลาง จากดาวฤกษ์ที่โตกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 4 เท่า อาจจะหดเหลือเท่าเม็ดถั่วเขียวเท่านั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของหลุมดำลงท้ายแล้วก็คือการแตกระเบิดของหลุมดำนั่นเอง

นี่เป็นกระบวนการทางฟิสิกส์ที่ชี้ให้เห็นการกัดกร่อนและกินตัวเองจนแตกทลายในที่สุด เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Collapse ที่มีอยู่ในจักรวาลอันกว้างไกล ทำนองเดียวกับทางรัฐศาสตร์ว่าอำนาจเก่าในสังคมไทยก็ไม่แตกต่างไปจากหลุมดำ เมื่อถึงที่สุดแล้วอำนาจเหล่านี้จะทำลายตัวเองจนปี้ป่นลงไป เงื่อนไขและความจริงและบรรยากาศเช่นนี้เป็นข้อที่น่าพิจารณาในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตย พอทำให้เราพยากรณ์อนาคตข้างหน้าได้ว่าถึงที่สุดแล้วเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร?

ในเกม ตุลาการภิวัฒน์รอบใหม่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตก็สามารถสรุปได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ Collapse ที่เห็นได้ชัดเจน คือเป็นการเหิมเกริมในการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการปอกเปลือยฝ่ายอำมาตยาธิปไตยอีกครั้ง ทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมลงอีกระดับหนึ่ง แม้จะมองในอีกมิติหนึ่งได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำลายอำนาจนิติบัญญัติในระดับนี้ได้ผลพอสมควร กล่าวคือ สามารถสั่งอำนาจนิติบัญญัติได้ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตัวเองออกไปจนสามารถกำกับและชี้แนะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่อีกด้านก็มีผลติดตามมาอีกมากมายที่ทำให้สาธารณชนมองเห็นอันตรายของการยึดอำนาจโดยสถาบันตุลาการ

นี่เป็นรูปธรรมตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า Collapse กลายเป็นตัวกำหนดสร้างเป็นยุทธศาสตร์ให้กับฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นมา กล่าวคือ จากที่ไม่เคยคิดมาก่อนก็ทำให้คิดออกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป แม้กระทั่งการแก้ไขในหมวดที่ว่าด้วยองค์กรอิสระ ตรงนี้จึงชี้ให้เห็นว่าเพราะการใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองที่ทำให้คณะนิติราษฎร์และพันธมิตรที่เห็นด้วยเริ่มขบคิดว่าอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้มีศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

ตัวอย่างนี้เราจะบอกว่าใครทำลายใครได้หรือ นอกจากเป็นการทำลายตัวเองเท่านั้น

ดังนั้น ธรรมชาติของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยจึงมีสภาพ Collapse ที่ลงท้ายแล้วก็คือสภาพความพ่ายแพ้ที่แตกทำลายตัวเอง การวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงการต่อสู้ที่แหลมคมจึงน่าจะต้องอาศัยเงื่อนไขการ Collapse มาพิจารณาด้วย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเดินทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แท้จริงแล้วไม่มีใครทำลายสถาบันหลักเหล่านี้ลงได้ มีแต่เพียงกลุ่มก้อนที่อ้างอิงวาทกรรมชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาผูกขาดความรักต่อสิ่งเหล่านี้เอาไว้ วาทกรรมเหล่านี้เองที่มีลักษณะของการทำลายตัวเอง

เราวิเคราะห์สถานการณ์ต่อไปในอนาคตเช่นนี้ก็พอจะมองออกว่าผลสรุปลงท้ายแล้วประเทศไทยไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นใดระหว่างสงครามและสันติภาพ ปัญหาอยู่ที่ว่าฝ่ายอำมาตย์ได้ Collapse ไปถึงไหนแล้ว อาจเป็นไปได้ที่การ Collapse มาถึงจุดใกล้สุดท้ายแล้ว นี่น่าจะชี้ได้ว่าโอกาสที่หลุมดำจะระเบิดมีได้ไม่ยาก

นี่คือความจริงที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยต้องตระหนักเอาไว้ และต้องพลิกตัวเองเข้ามาสู่ระบบการเมืองที่เป็นมาตรฐานสากลของโลก อันเป็นการเมืองที่ถูกยอมรับโดยคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้และในโลกนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วคำตอบก็คือการจบสิ้นของระบบอำมาตย์อย่างปี้ป่นในสักวันหนึ่งข้างหน้าถ้ายังดื้อรั้นและเหิมเกริมต่ออำนาจอย่างไม่หยุดยั้ง!??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น