Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์"3คำตอบ"แก้รธน. ทางหนีทีไล่"คดีล้มล้างปชต."

ที่มา:มติชนรายวัน 7 กรกฎาคม 2555


กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามากที่สุด สำหรับกรณีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดไต่สวนพยาน ในคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยในวันที่ 5 กรกฎาคม เป็นการไต่สวน "พยานฝ่ายผู้ร้อง" จำนวน 7 ปาก

และวันที่ 6 กรกฎาคม เป็นการไต่สวน "พยานฝ่ายผู้ถูกร้อง" จำนวน 8 ปาก

ซึ่งบรรยากาศทั้ง 2 วันนั้นดุเดือดเข้มข้น ทั้ง 2 ฝ่ายต่างชี้แจงแสดงเหตุผลของฝ่ายตัวเองอย่างหนักแน่น

เมื่อกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้่น ก็เหลือเพียงว่า สุดท้าย "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะวินิจฉัยออกมาในทิศทางใด ?

"ณรงค์เดช สรุโฆษิต" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายการปกครองและกฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า "คำตอบ" สุดท้ายของคดีนี้ น่าจะออกมาได้ใน 3 แนวทาง คือ

1.วินิจฉัยให้ "ยกคำร้อง" ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เช่น ก.คะแนนเสียงออกมาเท่ากันข้างต้น ข.การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ถือว่าขัดมาตรา 68 เลย หรือแม้แต่ ค.ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการกระทำการเพื่อการล้มล้างการปกครองหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญจริง อาทิ พฤติการณ์ตามคำร้องเป็นเพียงการคาดคะเน

2.วินิจฉัยว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ขัดมาตรา 68" เพราะถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญจริง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เช่น มาตรา 291 ให้แก้ไขได้เป็นรายมาตรา จะแก้ไขทั้งฉบับไม่ได้ จะมอบอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก่องค์กรอื่นไปทำแทนรัฐสภาไม่ได้ จะแก้ไขบทมาตรา 291 ที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญนั้นๆ เองไม่ได้ ฯลฯ

ในกรณีเช่นนี้ ศาลต้องสั่งให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว แต่ไม่น่าจะมีผลให้เกิดสั่งให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ ก.พฤติการณ์ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดต้องยุบพรรค หรือ ข.การลงมติของ ส.ส. ไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง

และ 3.วินิจฉัยตามข้อ 2 และเพิ่มการสั่งยุบพรรคการเมืองเข้าไปด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้ เมื่อเทียบเคียงกับแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในคดีตามมาตรา 237 แล้ว ผลก็คือ ศาลอาจจะสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย

"ผมมองว่าผลข้อ 3.มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะกระบวนพิจารณาในศาล ต้องมีการนำสืบข้อเท็จจริงต่อไปอีกว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคเกี่ยวข้องอย่างไรกับการลงมติของ ส.ส. แต่ละคน คราวนี้ มีหลายพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ต้องดูพฤติการณ์ของ ส.ส. และพรรคการเมืองทีละพรรค เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 บัญญัติให้ ส.ส. ไม่อยู่ภายใต้ความผูกมัดหรืออาณัติใดๆ ดังนั้น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงมติของ ส.ส. เป็นไปอย่างอิสระ และข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาต้องหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้ด้วย"

"ณรงค์เดช" มองว่า หากผลของคดีเป็นไปได้สูงว่าจะออกตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ซึ่งมีความเป็นไปได้พอๆ กัน เพราะศาลสามารถวินิจฉัยบนฐานข้อกฎหมายแต่โดยลำพังได้เลย เช่น ตีความตรงๆ เลยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ขัดมาตรา 68 เพราะไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงยกคำร้อง หรือในทางกลับกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ขัดมาตรา 291 จึงถือว่าขัดมาตรา 68 ตามไปด้วย จึงสั่งให้ยกเลิกการกระทำ

หากผลออกมาว่า "ยกคำร้อง" ก็จะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างง่ายขึ้น คือ "รัฐสภา" ก็สามารถเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ต่อได้ทันที

แต่ถ้าผลออกมาตามข้อ 2 ปัญหาที่จะตามมาคือการสั่งยกเลิกการกระทำนั้น แต่จะยกเลิกมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เพราะการกระทำนั้นยังไม่เสร็จ ยังมีวาระที่ 3 อยู่ การยกเลิกการแก้ไขทั้งหมด หรือยกเลิกเฉพาะวาระที่ 2 แล้วย้อนกลับไปวาระที่ 1 ใหม่

ซึ่งจะต้องมีการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใหม่

หรือยกเลิกวาระที่ 1 ไปด้วย ก็จะทำให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอไว้แล้วจะเสียหายไปด้วยหรือไม่ และอาจจะต้องถึงขั้นต้องยื่นญัตติกันใหม่เลยทีเดียว

"ณรงค์เดช" เห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ย่อมมีผลผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา 216 ดังนั้น ถ้าผลการวินิจฉัยเป็นไปตามข้อ 2 คือ ขัดมาตรา 68 และสั่งให้ยกเลิกการกระทำ หาก "รัฐสภา" ฝ่าฝืนลงมติใน "วาระที่ 3" จะเป็นผลให้ "ประธานสภา" ที่บรรจุระเบียบวาระ รวมไปถึง ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมโหวต ถูกกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และอาจจะถูกดำเนินคดีอาญาฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมาย ป.ป.ช.อีก

ซึ่งจะทำให้เรื่องยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "ณรงค์เดช" ยังมองว่า ปัญหาจากกรณีนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะแต่ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" กำลังจะมีคำวินิจฉัย แต่การตีความขยายอำนาจรับคดี ตามมาตรา 68 จะเป็นปัญหาแน่นอนในอนาคต ไม่เฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐทุกองค์กรด้วย

ซึ่งน่าติดตามอย่างยิ่ง !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น