ที่มา :
นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 368 วันที่ 14 – 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 หน้า 4 -5 คอลัมน์ เวทีความคิด โดย ปิยบุตร
แสงกนกกุล
ส่วนหนึ่งจากความเรียงของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ภิวัฒน์ พิฆาต และพิบัติ? นับแต่ 25 เมษายน 2549 (อ่านฉบับเต็มใน www.enlightened-jurists.com)
นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” แบบไทยๆเข้มข้นมากขึ้น จนเกิดปัญหาว่าองค์กรตุลาการกับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลายเป็นคู่ขัดแย้ง
เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างองค์กรที่มีฐานความชอบธรรมทางการเมืองอย่างรัฐสภาและรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กับองค์กรตุลาการที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเท่ากับรัฐสภาและรัฐบาล
แน่นอนที่สุด เราไม่อาจ “ลบ” อํานาจการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการออกไปได้ เพราะทําให้ปราศจากองค์กรเป็นกลางและอิสระที่ทําหน้าที่ตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ
เช่นกันหากแก้ไขให้องค์กรตุลาการมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมก็คงไม่เหมาะสม
เพราะจะทําให้องค์กรตุลาการสูญสิ้นความอิสระไป เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการต้องคํานึงถึงคะแนนนิยมตลอดเวลา
จึงต้องหาวิธีประสานให้องค์กรตุลาการมีความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้น ถูกตรวจสอบจากภายนอกได้โดยที่ยังคงความอิสระเอาไว้
ในหลายประเทศแก้ไขโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิจารณ์คำพิพากษาได้เต็มที่
เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมอบอำนาจในส่วนตุลาการให้ศาลใช้แทน เมื่อเป็นเจ้าของอํานาจก็ย่อมมีสิทธิที่จะวิจารณ์ผู้ใช้อํานาจแทนตนเองได้
นอกจากนี้ยังกําหนดให้การพิจารณาคดีต้องเปิดเผยเป็นหลัก
พิจารณาโดยลับเป็นข้อยกเว้น และเปิดโอกาสให้เข้าถึงคําพิพากษาโดยง่าย
ในประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์กําหนดให้บุคคลภายนอกทําหน้าที่เป็นคณะลูกขุนในการพิจารณาคดี
โดยให้มีอํานาจพิจารณาข้อเท็จจริงและให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมาย
บางประเทศใช้วิธีปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารงานบุคคลขององค์กรตุลาการเสียใหม่
ด้วยการเพิ่มสัดส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาเข้าไป เช่น ฝ่ายการเมืองในฐานะผู้แทนประชาชนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
ในขณะที่บางประเทศอาจไปไกลถึงขนาดให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุด
เช่น สหรัฐอเมริกา ให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด หรือฝรั่งเศสให้ประธานาธิบดี
ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา แต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญฝ่ายละ 3 คน นอกจากนี้เพื่อการถ่วงดุลกันระหว่างองค์กรทางการเมืองกับองค์กรตุลาการ ยังอาจสร้างกระบวนการถอดถอนผู้พิพากษาออกจากตําแหน่งด้วยก็ได้
โดยให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน
ในชีวิตทางการเมืองเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าองค์กรตุลาการมีบทบาททางการเมือง
แต่บทบาททางการเมืองเช่นว่านั้นต้องกระทําผ่านคําพิพากษาและภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎหมายเท่านั้น
ถึงแม้องค์กรตุลาการอาจเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยผ่านคําพิพากษาของตน
แต่องค์กรตุลาการต้องคํานึงถึงหลักการแบ่งแยกอํานาจและการรักษาดุลยภาพระหว่างอํานาจไว้เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบางเรื่องเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลหรือเรื่องทางการเมืองโดยแท้
องค์กรตุลาการจําต้องสงวนท่าทีและควบคุมการใช้อํานาจของตนเองลง
หากองค์กรทางการเมืองอื่นเห็นว่าองค์กรตุลาการได้ใช้อํานาจตัดสินคดีอันเป็นการรุกล้ำเข้ามาในแดนอํานาจของตนเองมากจนเกินไป
ก็เป็นไปได้ว่าองค์กรทางการเมืองนั้นอาจใช้อํานาจเพื่อตอบโต้การใช้อํานาจขององค์กรตุลาการ
อันเป็นเรื่องปณกติของรัฐที่ยึดหลักการแบ่งแยกอํานาจ เช่น ใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือให้รัฐสภาตรากฎหมายใหม่เพื่อลบหลักการที่ปรากฏในคําพิพากษา
ใช้วิธีนําเรื่องไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ใช้วิธีประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนถึงการไม่เห็นด้วยกับคําพิพากษา
ใช้วิธีนิ่งเฉยไม่บังคับการให้เป็นไปตามคําพิพากษา ตลอดจนใช้วิธีแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ๆเข้าไปเพิ่มเติม
เป็นต้น
การใช้อํานาจตอบโต้องค์กรตุลาการปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ
เช่น ฝรั่งเศสสมัยประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) และสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin
D. Roosevelt)
กรณีของฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีเดอ โกลล์ และรัฐบาลได้นําร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งเสนอให้ประชาชนลงประชามติ
เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรีย ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วยให้ใช้กฎหมายดังกล่าว
และมีผลบังคับใช้เป็นรัฐบัญญัติเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1962
ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ สมัยเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส |
มาตรา 2 ของรัฐบัญญัตินี้ให้อํานาจแก่ประธานาธิบดีในการออกมาตรการทั้งทางนิติบัญญัติและทางปกครอง
เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรีย ประธานาธิบดีเดอ โกลล์ จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 2
ออกรัฐกำหนด ลงวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1962
จัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรีย เพื่อให้เป็นศาลที่มีเขตอํานาจในทุกข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในดินแดนแอลจีเรีย
ต่อมาศาลทหารนี้ได้พิพากษาให้นายกานาล
(Canal) โดนโทษประหารชีวิต นายกานาลได้ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนรัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่ารัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะไม่มีสถานการณ์พิเศษที่จําเป็นเพียงพอถึงขนาดต้องจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
และบทบัญญัติที่กําหนดให้ศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเป็นศาลชั้นต้นและศาลสุดท้ายโดยไม่อาจอุทธรณ์คําพิพากษาต่อศาลอื่นได้
เป็นการขัดหลักกฎหมายอาญาทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนายกานาลที่โดนโทษประหารชีวิตกลับไม่สามารถอุทธรณ์คําพิพากษาดังกล่าวได้
จึงพิพากษาให้เพิกถอนรัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรีย
รัฐบาลไม่พอใจคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นอย่างมาก
เพราะเห็นว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงการบริหาร และคําพิพากษาเพิกถอนการจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียเป็นการขัดขวางการดําเนินนโยบายแก้ไขวิกฤตการณ์แอลจีเรีย
ปฏิกิริยาของรัฐบาลที่มีต่อศาลปกครองสูงสุดนับว่ารุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
นายกรัฐมนตรีแถลงว่า “รัฐบาลเห็นถึงความผิดปรกติของคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
คําพิพากษานี้เป็นความพยายามเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่อยู่ในแดนของฝ่ายบริหาร และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งรับอาณัติมาจากประชาชน
และกระทบต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ของรัฐบาลและชาติ”
4 สี่วันถัดมา
คณะรัฐมนตรีแถลงว่า “การแทรกแซงของศาลปกครองสูงสุด ปรารถนาให้การปฏิบัติการตามรัฐกําหนดต้องสะดุดหยุดลง”
รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารถึงกลับกล่าวว่า “รัฐบาลเห็นว่าคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีอยู่จริง แต่ไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายแต่ประการใด”
รัฐบาลตัดสินใจแข็งข้อและไม่สนองตอบคําพิพากษา
แทนที่รัฐบาลจะยุบศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียและเยียวยาให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนมีการจัดตั้งศาลทหาร
รัฐบาลกลับใช้อํานาจตอบโต้คําพิพากษาด้วยการเสนอร่างรัฐบัญญัติจัดตั้งศาลความมั่นคงแห่งรัฐต่อรัฐสภาอย่างรีบด่วน
ร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์
2 ประการ หนึ่ง-เพื่อรับรองรัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรีย
และสอง-ปิดช่องไม่ให้ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบการจัดตั้งศาลทหารในแอลจีเรียอีก เพราะเมื่อออกกฎหมายในรูปรัฐบัญญัติแล้ว
ศาลปกครองก็ไม่อาจเข้ามาตรวจสอบได้ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติดังกล่าว
และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1963 เมื่อมีรัฐบัญญัติรับรองรัฐกําหนด ก็เป็นอันว่ารัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียหลุดพ้นจากการตรวจสอบของศาลปกครองทันที
อีกทั้งรัฐบัญญัติยังมีบทบัญญัติในมาตรา 50 ซึ่งยืนยันให้รัฐกําหนดจัดตั้งศาลทหารในดินแดนแอลจีเรียมีผลสมบูรณ์ย้อนหลังนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ
อีกนัยหนึ่งคือให้รัฐกําหนดมีผลสมบูรณ์นับแต่เริ่มต้นนั่นเอง
อีกกรณีหนึ่ง เดอ โกลล์ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
ในครั้งนั้นเดอ โกลล์ ประสบความยุ่งยากในการหาคะแนนเสียงจากทั้ง 2 สภาเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประเมินคะแนนนิยมของตนแล้วเห็นว่าประชาชนยังนิยมตนเองสูงมาก
เดอ โกลล์ จึงหนีไปใช้ช่องทางตราเป็นร่างรัฐบัญญัติ แล้วให้ประชาชนออกเสียงประชามติในร่างรัฐบัญญัติแทน
โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวเป็น “การจัดองค์กรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ”
ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 11 อนุญาตให้ออกเสียงประชามติได้
กรณีนี้ได้รับการวิจารณ์กันมาก
ข้อแรก เดอ โกลล์
ไม่ให้ความเคารพต่อรัฐสภาซึ่งต้องเป็น “ด่านแรก” ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าต่อไปหากประธานาธิบดีต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วประเมินว่าเสียงในสภาไม่เพียงพอหรือไม่ต้องการเสียเวลา
ก็หันไปใช้มาตรา 11 แทน
ข้อสอง
หากประธานาธิบดีเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ก็จะนําทุกเรื่องไปออกเสียงประชามติเพื่อหาความชอบธรรม
และอาจเสี่ยงต่อการเผด็จอํานาจแบบที่นโปเลียน โบนาปาร์ต และหลุยส์ นโปเลียน ผู้เป็นหลานเคยทํามาแล้ว
ผลปรากฏว่าประชาชนให้ความเห็นชอบตามที่เดอ
โกลล์ เสนอ ก่อนประกาศใช้ ส.ส. บางส่วนจึงได้เข้าชื่อร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคําวินิจฉัยลงวันที่ 6 พฤศจิกายน
1962 พิจารณาแล้ว “เพื่อรักษาดุลยภาพของอํานาจ
รัฐบัญญัติที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้นั้น หมายถึงรัฐบัญญัติแบบที่รัฐสภาลงมติเท่านั้น
ไม่รวมถึงรัฐบัญญัติแบบที่ประชาชนลงประชามติ เพราะถือเป็นการใช้อํานาจอธิปไตยของชาติโดยประชาชนทางตรง
ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องให้ความเคารพ” จะเห็นได้ว่า
กรณีนี้ทั้งๆที่เดอ โกลล์ บิดผันรัฐธรรมนูญ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้า “ชน” กับเดอ โกลล์ เพราะเรื่องที่เดอ โกลล์
ต้องการแก้ไขนั้นผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว
กรณีของสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีรูสเวลต์มีนโยบาย New Deal เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
สร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม โดยเพิ่มบทบาทของรัฐในการแทรกแซงเศรษฐกิจ รัฐสภาได้ตรากฎหมายเป็นจํานวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของนโยบาย
New Deal อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้ “ล้ม-ขัดขวาง” โครงการต่างๆตามนโยบาย New Deal
ด้วยการวินิจฉัยว่ากฎหมายเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น
กฎหมายกู้วิกฤตเหมืองแร่ กฎหมายกําหนดค่าแรงขั้นต่ำของสตรี เป็นต้น
เมื่อนโยบาย New Deal ต้องสะดุดบ่อยครั้ง ประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงทนไม่ได้ ต้องประกาศขู่ว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปศาลสูงตามนโยบาย Court Packing เช่น ให้ประธานาธิบดีมีอํานาจแต่งตั้งผู้พิพากษาเพิ่มมากขึ้น ศาลสูงสุดมีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับผู้พิพากษาศาลสูงที่ต่อต้านลัทธิแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐพ้นจากตําแหน่งไปหลายคน ทําให้ประธานาธิบดีรูสเวลต์มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ๆเข้าไปแทน เมื่อรัฐสภาตรากฎหมายออกมาใหม่ (ซึ่งมีเนื้อความทํานองเดียวกันกับกฎหมายที่ศาลสูงเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ) ศาลสูงสุดก็วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านั้น ในคดี Pollock
v. Farmers’ Loan & Trust Co. ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยว่า
รัฐสภาไม่มีอํานาจตรากฎหมายเก็บภาษีทางตรงประเภทภาษีเงินได้ ภายหลังคําพิพากษานี้รัฐสภาจึงร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ฉบับที่ 16 ปี ค.ศ. 1963 เพื่อ “ลบ” หลักการจากคําพิพากษาดังกล่าว ด้วยการกําหนดในรัฐธรรมนูญชัดเจนเลยว่ารัฐสภามีอํานาจตรากฎหมายเก็บภาษีประเภทนี้ได้
หรือในกรณีของไทย
หลังจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างไม่พอใจเพราะเห็นว่าองค์กรตุลาการก้าวล้ำเข้ามาในแดนของฝ่ายนิติบัญญัติ
จึงได้ตั้งคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการชุดนี้เห็นว่าอํานาจในการตีความรัฐธรรมนูญเป็นอํานาจเด็ดขาดของสภาผู้แทนราษฎรในท้ายที่สุด
เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างศาลกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ
พ.ศ. 2489 จึงกําหนดให้มีองค์กรพิเศษทําหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ด้วยการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก
เพื่อทําหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
จะเห็นได้ว่าการใช้อํานาจตอบโต้กันระหว่างฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการเป็นเรื่องปรกติ
ไม่ได้หมายความว่าเมื่อองค์กรตุลาการมีความเป็นอิสระแล้วจะหลุดลอยจากหลักการแบ่งแยกอํานาจ
ความอิสระขององค์กรตุลาการเป็นความอิสระภายใต้การตอบโต้ขององค์กรทางการเมืองอื่น อย่างไรก็ตาม
การใช้อํานาจขององค์กรทางการเมืองเพื่อตอบโต้องค์กรตุลาการจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
ย่อมขึ้นกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น ดังกรณีของประธานาธิบดีเดอ โกลล์ และประธานาธิบดีรูสเวลต์ที่กล้าชนกับศาลเพราะประเมินว่าตนยังมีคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างสูง
ประชาธิปไตยคืออะไร?
อาจเป็นคําถามที่ตอบยาก
แต่อย่างน้อยประชาธิปไตยก็มีสาระสําคัญพื้นฐานอยู่ ก็คือ การปกครองโดยเสียงข้างมาก
และเสียงข้างมากต้องเคารพและไม่ไปข่มเหงรังแกเสียงข้างน้อย ในขณะเดียวกันเสียงข้างน้อยต้องอดทนต่อกฎเกณฑ์ที่มาจากมติของเสียงข้างมาก
และอดทนรณรงค์ทางการเมืองเพื่อรอวันกลับไปเป็นเสียงข้างมาก
แน่ละ
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามประชาธิปไตยยังต้องมีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี การมีส่วนร่วมของประชาชน การชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม
การเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการปกครองแบบประชาธิปไตย เราจะมีเครื่องมือใดที่ใช้วัดความนิยมทางการเมืองได้ดีเท่านี้
หรือต้องให้ผู้มีบารมี-คุณธรรมเท่านั้นหรือที่มีสิทธิออกมาบอกว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นใคร
รัฐบาลต้องเป็นใคร?
ตลอด 60 สิบปีของประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ใช้ปี 2490 หลังเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่
8 ไป 1 ปีเป็นเกณฑ์ เพราะเป็นปีที่รัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยยกเลิกรัฐธรรมนูญ
2489 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีรัฐประหาร-วงจรอุบาทว์ของการปกครองไทย
และเป็นปีที่อุดมการณ์คณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 เริ่มถูกกําจัดจนหายไปจากการเมืองไทย)
มีความพยายามลดคุณค่าของการเลือกตั้ง ให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องสกปรก
มีแต่การซื้อเสียง ประชาชนผู้ลงคะแนนเป็นคนโง่ นักการเมืองเป็นปิศาจ
การเมืองแบบผู้แทนเป็นเรื่องเหลวไหล มีแต่เอาชนะคะคานและมุ่งหาผลประโยชน์
ความพยายามเช่นนี้มีเพื่ออะไร?
เพราะว่าหากการเลือกตั้งและการเมืองในระบบรัฐสภาถูกลดคุณค่าจนต่ำเตี้ยติดดินแล้ว
ย่อมทําให้อํานาจของผู้อวดอ้างว่าตนมีบารมี มีคุณธรรม มีการศึกษา และผู้ที่อ้างว่าตนไม่อยากไปแปดเปื้อนกับการเมืองสกปรก
สูงเด่นขึ้นมาแทน เมื่อประชาชนเหม็นเบื่อกับการเมืองในระบบรัฐสภา ก็จะไปเรียกหาผู้อวดอ้างว่าตนมีบารมี
มีคุณธรรมเข้ามาแทนที่นั่นเอง
ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอเรื่อง
“ตุลาการภิวัฒน์” และปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นส่วนหนึ่งของการลดทอนคุณค่าประชาธิปไตย
ด้วยการตําหนิการเมืองในระบบผู้แทน และหันไปเชิดชูสถาบันจารีตนิยมอย่างองค์กรตุลาการ
ในความเห็นของผู้เขียน
ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” อันเป็นผลต่อเนื่องจากพระราชดํารัส
25 เมษายน 2549 ต่อเนื่องจากข้อเสนอของธีรยุทธ
บุญมี และต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมือง ตรงกันข้ามยังทําให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทาย-สั่นคลอนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
หลายครั้ง “ตุลาการภิวัฒน์” อาจบังคับให้คนต้องเคารพ
อาจสะกดให้คนเห็นต่างต้องสยบยอม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขายอมรับนับถือ
“ตุลาการภิวัฒน์” ในทุกกรณี
ตรงกันข้ามอาจเป็นเพราะพวกเขาหวั่นเกรงในอํานาจ (ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ)
มากกว่า ต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญๆในประวัติศาสตร์การเมืองของหลายประเทศล้วนแล้วแต่เกิดจากการที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม
ต่อคําถามว่า ณ เวลานี้
ขบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” จบหรือยัง?
กับคําถามนี้ผู้เขียนคงตอบไม่ได้
นอกเสียจากแนะนําให้พิจารณาไปที่รัฐบาลปัจจุบัน พินิจดูว่านายกรัฐมนตรีคือใคร
มาจากพรรคใด เข้ามาเป็นรัฐบาลได้เพราะอะไร มีใครสนับสนุนอยู่
แล้วท่านอาจได้คําตอบชัดเจนว่านับจากนี้ “ตุลาการภิวัฒน์”
จะยุติบทบาทหรือบรรเทาเบาบางลงหรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น