“ถ้าต้องกลับไปเข้าคุกอีก จะเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชา ธิปไตยไปเรือนจำ และจะอดอาหารในเรือนจำ”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) ยืนยันหากศาลอาญาถอนประกันตัวตามที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งยังเดินทางไปศาลรัฐธรรม นูญ โดยยื่นหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงการกระทำของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยมิชอบและกระ ทบต่อสิทธิเสรีภาพของตนอย่างมาก
นายจตุพรยืนยันว่า ไม่ได้กดดันศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่กดดันตนตลอดเวลา การยื่นถอนประกันตัวชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นหนังสือเถื่อน เพราะหน้าที่การขอยื่นถอนประกันตัวชั่วคราวต้องเป็นของอัยการที่เป็นโจทก์ในคดี ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนจงใจที่จะขยายอาณาเขต เช่น กรณีกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการที่ศาลรัฐธรรมนูญงดการชี้แจงเรื่องการถอนประกันตัวก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่าจะเป็นการล่วงอำนาจของศาลอาญานั้น นายจตุพรกลับเห็นว่าการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นการล่วงอำนาจศาลอาญา
“จตุพร” ตั้งคำถามศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนหนังสือที่นายจตุพรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ถาม 3 ประเด็นคือ 1.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใดในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวของตนต่อศาลอาญา เพราะสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่พยานในคดีที่ตนขอปล่อยตัวชั่วคราว และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นคู่ความในคดีที่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งโดยทั่วไปต้องยื่นโดยพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในคดีตามกฎหมายอาญา
2.อยากทราบว่ามีข้อความใดที่เป็นการข่มขู่คุก คามสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการปราศรัยหน้ารัฐสภาตามที่ปรา กฏในหนังสือพิมพ์และการให้สัมภาษณ์ไม่ได้มีข้อความใดที่เป็นการข่มขู่หรือยุยงปลุกปั่นให้บุคคลที่ชุมนุมทางการเมืองไปคุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีข้อความส่วนใดเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของตุลาการและครอบครัวแต่อย่างใด
3.กรณีที่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้แจ้งความดำเนินคดีกับตน และต่อมาเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อกองปราบปราม ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และคณะตุลาการที่มีมติดังกล่าวได้นั่งพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยในความยุติธรรมและความเป็นกลางในการพิจารณาคดีและวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าปราศจากอคติหรือไม่
ศาลอาญายันไม่มีการตั้งธง
อย่างไรก็ตาม นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้ความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นขอถอนประกันตัวนายจตุพรว่า ศาลอาญาได้รับ คำร้องไว้และให้ออกหมายเรียกนายจตุพรมาสอบถามข้อเท็จจริงในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดยยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือตั้งธงว่าจะถอนประกันนายจตุพร เพราะการถอนประกันอาจเกิดปัญหาตามมา อย่างกรณีที่เคยถอนประกันแล้วนายจตุพรติดคุกและออกมาเลือกตั้งไม่ได้จนโดนตัดสิทธิ แต่ศาลจะพิจารณาข้อแม้ในการประกันตัวและผลกระทบต่อสังคมว่าเกิด ความเสียหายหรือไม่ แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้
สังคมอยู่ในขั้นพิการ
ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐ มนตรี ให้ความเห็นว่า รู้สึกงงและไม่เข้าใจว่าศาลรัฐ ธรรมนูญเกี่ยวข้องอะไรด้วย เพราะการจะยื่นถอนประกันตัวต้องมีพฤติกรรมผิดเงื่อนไขตามที่ศาลอาญา บันทึกไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ หากนายจตุพรไปข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นความผิดในคดีใหม่
“วันนี้ยุ่งไปหมดแล้ว ไม่รู้อะไรบ้าง ผมวิจารณ์ก็ได้แค่พูด แต่พอตุลาการภิวัฒน์มีคำสั่งเราก็ต้องปฏิ บัติตาม เป็นรองกันอยู่ตรงนี้ เป็นรองชนิดอะไรก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมไทยก็หนักใจ ตอนรับคำร้องร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญก็สาหัสแล้ว แต่ครั้งนี้ยื่นถอนประกันตัวอีก ในความรู้สึกของนักกฎหมายถือว่าถึงขั้นพิการเลย”
ความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิมสอดคล้องกับนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ส.ร ปี 2540 ที่ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมวาระ 3 ว่าทำให้หลักการคานอำนาจถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจถือว่าเป็นบาปของ ส.ส.ร. ปี 2540 ที่ให้กำเนิดอำนาจที่ 4 มาใช้อำนาจเหนือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทั้งที่เจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อเป็นเปาบุ้นจิ้นปราบนักการเมืองที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ ทำให้การเมืองใสสะอาด แต่ปัจจุบันกลับเหมือนการสร้างระบบขุนนางขึ้นมา และยังไม่ได้ผ่านความเห็นดีเห็นงามจากประชาชน เพราะกระบวนการสรรหาล้วนมาจากอำมาตย์
องค์กรอิสระภายใต้เผด็จการ?
ที่สำคัญปัญหาขององค์กรอิสระที่มีผลกระทบต่อการเมืองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ชัดเจนและส่งผลรุนแรงเหมือนในปัจจุบัน เพราะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระตั้งแต่กระบวน การสรรหาที่ “ล็อกสเปก” โดยใช้อิทธิพลเหนือวุฒิสภานั้น วันนี้กลับมีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระว่าเลวร้ายและอัปยศยิ่งกว่าในอดีตเสียอีก
เพราะการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) สั่งให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่บรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกลับยังให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทั้งที่ตามหลักการในรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 สิ้นสุดลง องค์กรเหล่านี้ต้องถือว่าสิ้นสุดลงเช่นกัน
“ป.ป.ช.-กกต.” ผิดกฎหมาย?
ที่สำคัญนอกจากองค์กรอิสระทั้งหมดจะดำรงอยู่แล้ว ประกาศ คปค. ยังต่ออายุองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ให้ทำงานต่อ 6 ปี หรือ 9 ปี ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการเหมือนการหมกเม็ดมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญปี 2550
โดยเฉพาะประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. 9 คน ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ 9 ปี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 แต่ ป.ป.ช. ชุดนี้ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด จึงถูกตั้งคำถามว่าถือเป็นการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการก้าวล่วงพระราชอำนาจหรือไม่ ต่อมากลับมีการทำหนัง สือขอโปรดเกล้าฯย้อนหลังหลังจากเข้าทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2549 โดยเลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและกรรม การ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกล้า
นรงค์ จันทิก หนึ่งใน ป.ป.ช. ชุดนี้ ยืนยันว่าการแต่งตั้งของ คปค. ไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายกลับยื่นหนังสือทูลเกล้าฯภายหลัง ซึ่งเท่ากับการแต่งตั้งผิดกฎหมายและไม่มีความชอบธรรมใช่หรือไม่?
กรณีดังกล่าวของ ป.ป.ช. จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ปลดออกจากตำแหน่งจากภาคประชาชนและเครือข่ายการเมืองต่างๆ อย่างนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 ในฐานะประธานสภาประชาชน เคลื่อนไหวให้ปลด ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่ามีที่มาจากเผด็จการ และยังขัดรัฐธรรมนูญและส่อละเมิดพระราชอำนาจอีกด้วย ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ก็แสดงความเห็นว่าการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ไม่น่าจะถูกต้อง
แม้แต่ กกต. ก็ถูกกดดันจากนักวิชาการถึงที่มาและการทำงานเพื่อให้พิจารณาลาออก แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ตอบโต้ว่า กกต. ทั้ง 5 คน มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ตามกระบวนการสรรหาโดยวุฒิสภาตามขั้นตอน แต่โชคร้ายเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงทำให้กระบวนการทุกอย่างล้มเลิก แต่เมื่อ คปค. ตั้ง กกต. ทั้ง 5 คน ให้ทำหน้าที่ต่อก็ถือว่าถูกต้อง แต่หากไม่ชอบ ส.ส. และ ส.ว. ที่ กกต. ให้การรับรองก็ต้องถือว่าไม่ชอบด้วย
พิษองค์กรอิสระ!
ความกลัวหรือวิตกว่าองค์กรอิสระคือการสืบ ทอดอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกเปรียบเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” เพราะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเห็นได้จากการวินิจฉัยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการรับจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมง เช้า” การวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทั้งการตัดสิทธิทาง การเมืองนักการเมือง 109 คน ซึ่งมีผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังรับตำแหน่งต่อจากนายสมัครได้ไม่นาน
ขณะที่ปัจจุบันเพียงไม่กี่เดือน นอกจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 การวินิจฉัยให้นายจตุพรพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ฐานไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงทำให้ขาดคุณสมบัติ และการยื่นศาลอาญาให้ถอนประกันตัวนายจตุพรแล้ว
ป.ป.ช. ยังมีความเห็นให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลเพื่อ ดำเนินคดีกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในคดีที่ดินอัล ไพน์ครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีความเห็นถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีจริยธรรมของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสย เกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งล่าสุดกรณีนายณัฐวุฒิผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่าอาจขัดกฎหมายและขัดจริยธรรม เพราะศาลเคยมีคำสั่งว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
แต่นายณัฐวุฒิโต้ตอบว่า การดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่มีสิทธิชี้ขาดว่าใครควรอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรม นูญกำหนดว่าผู้ที่มีคดีทางแพ่งและอาญาที่ศาลยังไม่ตัดสินต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีนักการเมืองมาก มายที่ถูกกล่าวหาเช่นนี้ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีคดีติดตัวเช่นกัน
“อภิชาต” ออกเสียง “ดับเบิล” เด้ง “การุณ”!
แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาในขณะนี้คือคำวินิจฉัยของ กกต. ที่ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแจกใบแดงนายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ข้อหาใส่ร้ายป้ายสีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้นายการุณต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเพื่อรอคำพิพากษาว่ามีความผิดหรือไม่ หากศาลมีความเห็นยืนตาม กกต. ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดกลับเป็นการลงมติของ กกต. ซึ่งที่ประชุม กกต. มีเพียง 4 คน ขาดนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนและวินิจฉัย แต่ปรากฏว่าการลงมติมีเสียงเท่ากันคือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ที่เห็นควรสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เห็นควรให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าการปราศรัยโจมตีกันเป็นเรื่อง ปรกติทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ อีกทั้งนายแทนคุณได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำสำนวนส่งไปยังอัยการ แต่ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักอะไร
แต่นายอภิชาตได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กกต. อีกครั้ง และใช้อำนาจตามมาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ระบุว่าหากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพื่อชี้ขาด ซึ่งนายอภิชาตได้ออกเสียงเป็นมติ กกต. เสียงข้างมากสั่งเพิกถอนสิทธินายการุณในที่สุด
การลงมติ “ดับเบิล” ของนายอภิชาตจึงยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและสองมาตรฐาน ของ กกต. เพราะก่อนหน้านี้นายอภิชาตถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบอย่างปาฏิหาริย์ กรณีใช้เงินบริจาค 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประ สงค์ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เนื่องจากประธาน กกต. ไม่ได้ทำความเห็นในฐานะนายทะเบียน พรรคการเมือง และยื่นคำร้องไม่ทันกำหนด 15 วันนับตั้งแต่ความปรากฏต่อนายทะเบียน ส่วนกรณีข้อเท็จจริงนั้น เมื่อยื่นคำร้องไม่ถูกต้องก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในกรณีอื่นอีก ขณะที่นายอภิชาตยอมรับว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ปฏิรูปหรือยุบทิ้งองค์กรอิสระ?
จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง รวมถึงเครือข่ายประชาธิปไตยและนักวิชาการเสนอให้มีการยุบองค์กรอิสระหรือปฏิรูปครั้งใหญ่ไปพร้อมๆกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีปฏิกิริยาจากองค์กรอิสระและกลุ่มอำมาตย์ที่ได้ประโยชน์จากองค์กรอิสระออกมาโจมตีและขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ จนถูกมองว่าเป็นการทำ “รัฐประหาร” โดย กระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์”
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้เป็นการทำลายล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส.ส. และ ส.ว. 300 กว่าคนก็จะถูกยื่นถอดถอน และถ้า ป.ป.ช. ชี้ว่ามีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เตรียมตัวถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ได้แล้ว
“ผมคิดว่าถ้ามีอำนาจได้จะขอแก้ไขเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนรู้สึกว่าขณะนี้เลยขอบเขตที่ควร จะเป็นแล้ว และบอกว่าศาลเหล่านี้ไม่ใช่ศาลยุติธรรมเป็นศาลพิเศษ เมื่อเป็นศาลพิเศษ อำนาจหน้าที่ตามหลักแล้วกฎหมายให้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีอำนาจ อย่าตีความขยาย แล้วจะมีปัญหา ตอนที่ MOU สมัยรัฐบาลสมัครก็ไปตีความว่าสัญญานี้อาจทำให้เสียดินแดน การตีความขยายก็เหมือนกับการไปแก้รัฐธรรมนูญเสียเอง นี่ยังไม่นับกรณีคุณสมัครที่ถูกร้องว่าเป็นลูกจ้างจากการออกรายการทำกับข้าว”
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงมีเสียงเรียกร้องมากมายให้ปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรอิสระต่างๆในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหรือยุบรวมเพื่อให้เป็นองค์กรอิสระทางปกครองที่ช่วยเหลืองานของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจที่ 4 ที่กำลัง “เผาประเทศ” ให้ลุกเป็นไฟ ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทัก ษิณที่ถูกประณามว่าแทรกแซงองค์กรอิสระ
ถ้าไม่ยุบองค์กรอิสระก็ต้องปฏิรูปที่มาและอำนาจขององค์กรอิสระใหม่ทั้งหมดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการให้เป็นอำนาจการบริหารในทางปกครองเท่านั้น ไม่ใช่มาจากรากเหง้าเผด็จการ และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จชี้เป็นชี้ตายอยู่เหนือ 3 อำนาจ หลักตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ “รัฐธรรมนูญ 2550” ต้นไม้พิษจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่กำหนดวิธีสรรหาผู้ที่มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆผิดแผกแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 โดยทำทุกอย่างให้ “ฝ่ายอำมาตย์” กลายเป็น “เสียงข้างมากในแทบทุกองค์กรอิสระ” อันเป็นที่มาของ “อำ นาจเหนือระบบรัฐสภา” ในคราบ “องค์กรจัดตั้ง” เพื่อภารกิจล้มล้างรัฐบาลที่ฝ่ายอำมาตย์ไม่ปลื้ม
การขยายขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระ ผลไม้พิษจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนี้จึงไม่ต่างกับ “รัฐประหาร” ที่พร้อมจะกวาดล้างและปราบปรามประชาชนและกลุ่มอำนาจที่ต่อต้านให้สิ้นซาก
คนเสื้อแดงและประชาชนที่รักประชาธิปไตยจึงไม่ควรปอดแหก แต่ต้องหาญกล้าอย่างมีสติและสุขุมรอบคอบ ไม่ตกหลุมพรางให้กลุ่มอำมาตย์ที่ยั่วยุให้เกิดการลุกฮือและอ้างความชอบธรรมในการปราบ ปรามครั้งใหญ่
เพราะครั้งนี้จะรุนแรงและโหดเหี้ยมยิ่งกว่า 6 ตุลาคม 2519 ยิ่งนัก!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น