Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นกบฏเอง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 367 วันที่ 7 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 หน้า 16 - 17 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง


การยื่นถอนประกันนายจตุพร พรหมพันธุ์ ของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการทำงานรับใช้อำมาตย์ที่ต้องการสกัดคนเสื้อแดงไม่ให้ทำงานการเมืองได้อย่างเต็มที่ และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองก็เท่ากับว่าศาลทำผิดมาตรา 68 เสียเอง ซึ่งก็เท่ากับเป็นกบฏเหมือนกัน การที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการล้มรัฐบาลและคนเสื้อแดงให้ได้นั้นคุณต้องทำให้ดีกว่าที่คนเหล่านั้นทำไว้ แต่จะเป็นอย่างไรนั้น นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. มีคำตอบดังนี้

**********************

มองศาล รธน. ไปยื่นถอนประกันตัวนายจตุพรอย่างไร

การที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นถอนประกันตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดปรกติ ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าเป็นการปราศรัยคุกคามศาล ซึ่งความจริงเรื่องนี้หากเป็นเรื่องจริงศาลควรไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายจตุพร แต่การถอนประกันนายจตุพรคดีก่อการร้ายเป็นคนละเรื่องกัน เป็นความพยายามของศาลที่ต้องการปิดปากแกนนำ นปช. และคนอื่นๆไม่ให้วิจารณ์ศาล ไม่ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน ถ้ากรณีที่ศาลอาญาไปรับลูกศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ก็จะเป็นปมปัญหาทางกฎหมายอีกเรื่องหนึ่ง กลายเป็นว่าศาลอาญาต้องตอบสังคมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เพราะโดยน้ำหนักคดีเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องการเมืองอีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ผมเสนอให้นายจตุพรลงเลือกตั้งซ่อมแทนนายการุณ โหสกุล และถ้าหากศาลอาญาถอนประกันนายจตุพรก็เข้าทำนองว่าเป็นการขัดขวางไม่ให้นายจตุพรมีโอกาสได้ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือเปล่า ก่อนหน้านี้ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธินายจตุพร ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องประเด็นการเมือง เป็นเกมการเมืองที่ทำงานรับลูกกัน ทั้งศาลอาญา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากตอนนั้นศาลอาญาอนุญาตให้นายจตุพรไปใช้สิทธิใช้เสียง นายจตุพรก็จะไม่ถูกเพิกถอนสิทธิ และจะไม่ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรคการเมือง

ถ้าคราวนี้ถอนประกันจะทำให้ถูกมองในทิศทางนั้นได้ ซึ่งศาลอาญาต้องแบกรับและตอบสังคมว่าเป็นความพยายามของฝ่ายอำมาตย์ที่ทำงานร่วมกันในการจัดการนายจตุพรหรือไม่ และหากถอนประกันจริงนายจตุพรก็ต้องเข้าคุก ถ้าเข้าคุกจริงๆก็ต้องยื่นประกันตัวใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก เพราะไม่รู้ว่าศาลจะเอาอย่างไร และที่แน่ๆคือจะเกิดปัญหาต่อสังคม ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก ซึ่งลึกๆผมเชื่อว่าศาลอาญาจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าทำจะตกเป็นจำเลยของสังคมแทน

กรณีนายจตุพรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกับว่ามีการวางหมากเอาไว้แล้ว

น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน คือถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ล้มล้างการปกครองจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และเป็นความขัดแย้งที่หนักกว่าเดิมในสังคม เพราะโดยเนื้อหาข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว และถ้าศาลดันทุรังไปวินิจฉัยที่สวนข้อเท็จจริง สวนความรู้สึก ก็จะเกิดความขัดแย้ง คนก็จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยตรงนั้น ถ้าศาลวินิจฉัยออกมาในทิศทางนั้นก็ต้องตามมาด้วยดาบสอง แสดงว่าสภาทำผิด ทำให้คนที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญทำผิดด้วย คือต้องถอดถอนหมดทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะเป็นกรรมาธิการและอภิปรายตั้งแต่วาระ 1 และ 2

ดังนั้น ถ้าศาลตัดสินในทิศทางนั้นก็จะโกลาหลมาก ผมพูดตรงๆว่าประเมินไม่ออกว่าความขัดแย้งและความอลหม่านจะนำไปสู่เหตุการณ์อะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆคือมวลชนจะมีการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย และคงกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญออกมารับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง ส่วนจะนำไปสู่การดำเนินคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกบฏหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็มองว่าศาลกระทำการขัดต่อมาตรา 68 เสียเอง

ขณะนี้เสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ

การรุกกลับของประชาชนที่จะดำเนินการกับองค์กรอิสระ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย หมายถึงเราต้องไปถอดถอนดำเนินคดี แต่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบมาเพื่อบล็อกไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยดำเนินการตรงนั้นได้ จะเห็นได้ว่าการยื่นถอดถอนองค์กรอิสระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยทั่วไปต้องใช้เสียงของ ส.ว. 3 ใน 5 คือ 90 คน จาก 150 คน แต่ ส.ว.แต่งตั้ง 74 คน และใน 74 คนมีการจับกลุ่มเหนียวแน่นว่าฝักใฝ่เผด็จการเกือบ 50 คน ที่เหลือกระจัดกระจาย ดังนั้น โอกาสในการถอดถอนบุคคลที่จงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้องคงยาก เพราะเขากุมสภาพเสียง ส.ว. ฝ่ายต้าน

คือถ้าเป็น ส.ว. ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยผมเชื่อว่าทำหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมาจากการแต่งตั้งเขาก็ไม่สนใจ เขาจะคิดว่าเขามาจากใคร พวกใคร เป็นเครื่องมือในกลุ่มเดียวกัน เขาก็ไม่ถอดถอน เราในฐานะประชาชนจะไปยื่นถอดถอนคนเหล่านั้นก็ไม่ได้ เพราะจะถูกบล็อก หากจะไปดำเนินคดีก็มีปัญหาว่าต้องผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช).ซึ่งก็คือคนของเขาอีก ก็ถูกบล็อกไว้อีก เป็นความเจ็บปวดในสภาพที่เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้

เราเห็นอยู่แล้วว่าองค์กรอิสระหลายองค์กรมีปัญหาจริงๆ การทำงานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีปัญหา จงใจใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง แต่ถูกบล็อกโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่คือเหตุผลที่พวกผมจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เพราะมีปัญหาในเชิงที่ว่าคนเหล่านั้นทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่จัดการไม่ได้ พอจัดการทางกฎหมายไม่ได้คนก็จะเลือกวิธีอื่นที่ไม่ใช่ทางกฎหมาย นั่นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วง ผมไม่อยากเห็นประเทศไทยไปในทิศทางนั้น เพราะจะกลายเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาให้กับสังคม

ดังนั้น ทางที่ดีเราต้องผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ และทำให้ประเทศนี้ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องในการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรอิสระทั้งหลาย ใครทำหน้าที่ไม่ถูกต้องควรถูกดำเนินการ ไม่ว่าฝ่ายใด ผมอยากเห็นอย่างนั้น

แต่หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ล้มล้างการปกครองก็เข้าสู่กระบวนการคือรอโปรดเกล้าฯลงมา เมื่อประกาศใช้ก็นับหนึ่ง กระบวนการสรรหา ส.ส.ร. เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่า ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายคงเห็นปัญหาบ้านเมืองอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าจะรับฟังปัญหาของทุกฝ่าย และดูว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรที่ทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย และทำให้ฝ่ายบริหารแข็งแรง

การแก้ไข รธน. จะกลายเป็นวิกฤตการเมือง

เรื่องรัฐธรรมนูญจริงๆแล้วพันธมิตรฯไม่ได้ติดใจอะไรมาก คนที่มีปัญหาคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีองค์กรอิสระที่จะล้มพรรคเพื่อไทย จึงต้องการให้องค์กรเหล่านั้นคงอยู่ เครือข่ายอำมาตย์ยังอยู่ครบเพื่อเป็นแขนขาของเขา ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงอยากคัดค้านเต็มที่ ต้องการยื้อให้ถึงที่สุด แต่ถ้าเกิดว่าเราโหวตวาระ 3 ได้ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ ใครก็หยุดกระบวนการไม่ได้แล้ว

คิดว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์จะโดนวิกฤตตุลาการหรือไม่

สมัยนี้ต้องก้าวข้ามความกลัว ต้องแก้เกมเป็นเปลาะๆ และต้องให้สังคมตัดสินว่าใครกันแน่ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการเลือกตั้ง คนก็เห็นว่าตั้งใจทำงานเต็มที่ ไม่มีจุดบกพร่อง แต่ก็มีความพยายามที่จะล้มท่านทั้งที่ทำงานไม่ถึงปี โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ ซึ่งตรงนี้ถ้าล้มพรรคเพื่อไทยอีก ยุบพรรควันนี้ไม่มีปัญหา ถ้าถอดถอน ส.ส. ยุบสภาก็ไม่มีปัญหา เพราะเลือกตั้งใหม่คนก็จะเห็น แต่ถ้าล้มรัฐบาลด้วยวิธีการสกปรก เลือกตั้งใหม่คนก็เทใจให้หมด ดังนั้น ตรงนี้ผมเชื่อว่าถ้าเขาใช้วิธีการสกปรกเอาชนะรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เอาชนะนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้หรอก

ถ้าเขาอยากล้มพรรคเพื่อไทยคงต้องไปหาช่องทางในทางสร้างสรรค์ นำเสนออะไรดีๆให้สังคมคล้อยตามว่าจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น คุณต้องไปคิดนโยบายอะไรให้โดนใจ นำเสนอแนวทางพัฒนาประเทศให้คนมีความสุข คุณต้องเอาชนะใจคนด้วยความดีที่เหนือกว่า ถ้าคุณสร้างความเกลียดชังคุณจะชนะในระยะสั้น ไม่ใช่ระยะยาว ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล ท่านอยู่ในใจคนเพราะทำให้รู้สึกว่ามีชีวิตดีขึ้น ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนทำแล้วประชาชนรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น วันนี้ถ้าจะชนะ พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่ายจะต้องทำสิ่งที่ดีกว่า ตอนยึดอำนาจก็เห็นอยู่แล้วว่า คมช. เครือข่ายอำมาตย์ใช้ทุกวิธีในการทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ถามว่าทำไมเอาชนะไม่ได้ ก็เพราะคุณไม่ได้เสนอสิ่งที่ดีกว่าที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำเอาไว้

ศาล รธน. เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตปัญหาประเทศ

อยากเรียนว่าทุกองค์กรมีส่วนช่วยประเทศนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีประโยชน์ ป.ป.ช. มีประโยชน์ก็เยอะ เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่บุคลากรและภารกิจระยะสั้นที่ได้รับมอบหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง นี่ต่างหากที่เป็นปัญหา ผมเชื่อว่าองค์กรไม่มีปัญหาหากทำงานอย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาคือบุคลากรที่เป็นปัญหา บิดเบือนอำนาจหน้าที่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วตรวจสอบไม่ได้ ถอดถอนไม่ได้ นี่คือพฤติกรรมที่ชัดเจน ตรงนี้คือปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ผมอยากเอาหลักการอย่างนี้คือมีได้ แต่ต้องถูกตรวจสอบได้ ถอดถอนได้ แล้วคนที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่นี้ต้องมาด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง ผ่านการสรรหาจนเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แต่งตั้งโดยประธาน คมช. แล้วใช้อำนาจหน้าที่ล้มล้างคนที่มาจากประชาธิปไตย

คิดว่าเสื้อแดงควรก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่

เสื้อแดงตอนแรกมาจากกลุ่มคนรักทักษิณและคนรักประชาธิปไตย แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคนก็เห็นว่าปัญหาที่อำมาตย์สร้างไว้หนักหนาสาหัส ซึ่งไม่ได้ทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเดียว แต่ยังทำลายประเทศด้วย ดังนั้น เขามองที่หลักการว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ประเทศมีปัญหาจากการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา หรือให้รอดพ้นจากการถูกกลั่นแกล้ง กลายเป็นว่าต้องสู้เพื่อประเทศชาติ ไม่ให้ประเทศนี้ถูกทำลาย ต้องทำเพื่อระบอบประชาธิปไตย คนจำนวนมากอยากเห็น พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน แต่วันนี้จุดยืนเขาไปไกลแล้ว จากเมื่อก่อนทำเพื่อคุณทักษิณ แต่วันนี้ทำเพื่อประเทศ ดังนั้น เสื้อแดงส่วนใหญ่ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว โดยก้าวไปสู่การปกป้องระบอบประชาธิปไตย

ในฐานะแกนนำ นปช. จะนำคุณทักษิณกลับบ้านอย่างไร

ขณะนี้เราเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องแรก เรื่องที่ 2 คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรื่องที่ 3 การหาคนผิดที่สั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเรียกร้องอยู่ โดยเชื่อว่า 2 เรื่องแรกเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณถูกดำเนินการโดยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราปรับหลักการประเทศให้ถูกต้องก็น่าจะให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ นั่นหมายถึงสามารถกลับประเทศได้

วันนี้การขับเคลื่อนการออก พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติความจริงเป็นเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องให้ความเป็นธรรมต่อทุกๆคน พ.ต.ท.ทักษิณหรือใครต่อใครที่ถูกดำเนินคดีจาก คตส. เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงอยากให้เริ่มต้นใหม่โดยกระบวนการที่ปรกติ ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่ขับเคลื่อนโดยคนที่ชิงชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น การขับเคลื่อน พ.ร.บ.ปรองดองก็เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณและทุกคนที่ถูก คตส. ดำเนินคดี มานับหนึ่งใหม่โดยกระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ

ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเป็นห่วงว่าคนสั่งฆ่าประชาชนจะพ้นผิด

พ.ร.บ.ปรองดองมีหลายฉบับ ขอบเขตของการนิรโทษกรรมที่จะนำไปสู่การปรองดองแต่ละฉบับไม่เหมือนกัน ขอบเขตที่พวกผมเสนอไม่ได้นิรโทษกรรมต่อผู้ออกคำสั่งสลายการชุมนุม ไม่ได้รวมแกนนำเสื้อแดงและแกนนำพันธมิตรฯที่โดนข้อหาก่อการร้าย ส่วนแกนนำย่อยๆ รวมทั้งมวลชนทั้งหลายเราขอให้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด เพราะเป็นผู้ร่วมการต่อสู้ ไม่ว่าสีใดก็ตาม แต่ถ้านิรโทษกรรมทั้งหมดก็จะเป็นปมปัญหากับญาติผู้เสียชีวิตทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ซึ่งจะอธิบายกับพวกเขาลำบาก แต่ถ้ามีการนิรโทษกรรมทั้งหมดจริงๆก็ยังสามารถเอาผิดต่อคนสั่งสลายการชุมนุมด้วยการดำเนินคดีในต่างประเทศ โดยศาลอาญาระหว่างประเทศที่ขณะนี้ นปช. ขับเคลื่อนอยู่
ทั้งนี้ หากศาลอาญาระหว่างประเทศรับคำฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะถูกจับกุมส่งตัวไปให้ศาลโลกดำเนินคดี ซึ่งจะมีการต่อสู้ทางคดีเหมือนกับศาลทั่วไป หากไต่สวนที่นั่น 2 คนนี้คงรอดยาก เพราะศาลที่นั่นทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีใครแทรกแซงได้ ขณะที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าฝ่ายอำมาตย์แทรกแซงหลายองค์กรได้ แต่กระบวนการที่นำไปสู่การรับคำฟ้องจริงๆยังไม่ง่าย เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศระมัดระวัง โดยใช้หลักการสำคัญ 2 ประเด็นคือ การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องเป็นการเข่นฆ่ามนุษยชาติหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมในประเทศกลไกยังทำงานได้อยู่หรือไม่ สำหรับญาติผู้เสียชีวิตที่ไปยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ สาเหตุหนึ่งคือไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งผมเองก็ไม่เชื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น