Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วีรพัฒน์ ผ่านทางตัน วาระ 3 ใช้กม.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความแยบยลทางการเมืองด้วย

สัมภาษณ์พิเศษ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ข่าวสด 24 ก.ค. 2555

...ยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง

แต่จะต้องให้กฎหมาย นำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา...


คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับ ศุกร์ 13′ ยังสร้างความมึนงงให้กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะปัญหาการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะเดินหน้าก็เสี่ยง จะถอยหลังก็ไม่ได้ ขณะที่ภายในพรรคเองก็มีทั้งเสียงเชียร์ให้โหวตต่อ และเปลี่ยนมาแก้รายมาตราแทน

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ศึกษาต่อที่ ม.ฮาร์วาร์ด ได้รับรางวัลฟูลไบรต์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม

อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เสนอทางออกจาก กับดักไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

แนวทางที่รัฐบาลรอฟังกฤษฎีกาก่อน

แม้กฎหมายจะกำหนดชัดเจนว่าคำวินิจฉัยมีผลตั้งแต่วันที่อ่าน แต่ควรรอเอกสารให้ชัดเจนก่อน การยึดเพียงโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงหรืออ่านจากเอกสารข่าวคงไม่ได้

แต่ศาลเองก็ควรจัดทำและเผยแพร่คำวินิจฉัยทันที คำวินิจฉัยต้องทำเสร็จแล้วจึงนำมาอ่าน ไม่ใช่อ่านฉบับย่อแล้วค่อยไปแก้ไขปรับปรุงและลงมติ

ที่ตลกมากคือคำวินิจฉัยส่วนตน กฎหมายเขียนชัดว่าต้องทำให้เสร็จเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงต่อที่ประชุมตอนเช้าก่อนอ่านคำวินิจฉัย จึงเป็นไม่ได้ว่าขอเวลาอีก 60 วันไปทำคำวินิจฉัยส่วนตน

รัฐบาลจึงไม่ผิดเพราะต้องรอคำวินิจฉัยศาลที่มาช้า

ประเด็นที่ศาลเปิดช่องให้ร้องหากมีการกระทำขัดม.68 อีก

วุ่นวายมากเพราะศาลตีความมาตรา 68 ไว้กว้างมาก แม้ครั้งนี้บอกว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ แต่อนาคตจะมาร้องในประเด็นนี้อยู่ดี เรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางการเมือง

ศาลตีความนอกกฎหมายไปแล้ว เป็นการตีความแบบที่พ้นปริมณฑลของกฎหมายตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัยรับคำร้องนี้ไว้ ปัญหานี้แก้โดยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความแยบยลทางการเมืองด้วย

คำวินิจฉัยครั้งนี้สังคมมองว่ากำกวม

ความกำกวมย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่จะลดน้อยลง จากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดทางกฎหมาย ทุกคนต้องฟัง มาเป็นองค์กรกึ่งที่ปรึกษา

คือพอบอกไปแล้วคนจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ กลายเป็นที่ปรึกษาของรัฐสภาไป ทั้งที่ให้ประธานรัฐสภามานั่งชี้แจงต่อศาลแล้ว หากอนาคตศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็จะมีการตีความอีกว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ

พรรคเพื่อไทยแตกเป็น 2 แนวทาง คือโหวตต่อวาระ 3 และแก้รายมาตรา

การเดินหน้าโหวตต่อวาระ 3 ไม่ผิดกฎหมายเพราะมาตรา 291 บอกว่าให้ทำ 3 วาระ และศาลรัฐธรรมนูญก็บอกแค่ควรทำประชามติ

แต่เป็นการทำถูกกฎหมายที่ไม่ค่อยฉลาด ใช้กฎหมายแบบแข็งทื่อ สร้างความวุ่นวายตามมา คือจะมีคนบอกว่าขัดอำนาจศาลหรือไม่ จะมีคนตีความว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ครม. ก็วุ่นวายอีก

ส่วนการแก้รายมาตราก็มีปัญหา ครั้งนี้เป็นการแก้ทั้งฉบับ แก้โครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ให้ประเทศออกจากอำนาจคมช. ซึ่งต้องแก้หลายจุด เกิดปัญหาหลายจุด

คนแก้คือรัฐสภาจะเน้นแก้แต่ประโยชน์ตัวเอง เช่น ปรับเขตเลือกตั้ง อำนาจส.ส. และส.ว. ฯลฯ แต่เรื่องที่เป็นของประชาชน สิทธิชุมชน เสรีภาพของสื่อ หรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกแก้

อีกทั้งต้องใช้เวลามาก รัฐสภามีเรื่องอื่นต้องทำมากมาย ทำไมไม่ให้คนที่ประชาชนเลือกมาทำหน้าที่นี้

ทางออกของปัญหานี้

ผมมองว่าเราจะทำอย่างไรที่จะยึดหลักกฎหมายอยู่เหนือการเมือง แต่จะต้องให้กฎหมายนำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่น่าปรารถนา

เรื่องประชามติถามประชาชนก่อน ฟังดูดี แต่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ อาจทำผิดกฎหมายได้ ดังนั้น ประเด็นประชามติที่ศาลแนะนำว่าควรทำ ต้องใช้อำนาจของสภาที่มีอยู่แล้ว คือการให้ส.ส. ส.ว. ลงพื้นที่

ส่วนส.ว.สรรหาไปฟังความเห็นจากสาขาวิชาชีพที่ตัวเองได้รับการสรรหา เพื่อถามว่าเห็นชอบให้เดินหน้าต่อในวาระ 3 เปิดให้มีส.ส.ร.ได้หรือไม่

ได้ความอย่างไรก็มาอภิปรายกัน ถ้าสภาฟังแล้วว่าประชาชนไม่เห็นด้วยจริงๆ อาจเปลี่ยนใจไม่เดินหน้าต่อ คือเดินหน้าต่อในวาระ 3 แต่ทำให้มตินั้นตกไป

แต่ถ้าประชาชนบอกว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะพ้นๆ คมช.ไปเสียทีก็ลงมติในวาระ 3 ไปเลย จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย คือ 1.รัฐสภาทำตามกฎหมายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำ 3 วาระ

2.ความกดดันทางการเมืองลดลง ฟังศาลแต่ทำในรูปแบบที่ไม่ขัดกฎหมาย และ 3.ประชาชนได้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ของส.ส. ส.ว. ได้บอกว่าอยากให้แก้เรื่องไหน

แต่อาจเกิดข้อโต้แย้งว่าส.ส.เป็นพวกเสียงข้างมากในสภา เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องให้แก้อยู่ดี ก็ต้องบอกว่าระบบตัวแทนในสภาต้องไว้วางใจและให้เกียรติเพราะมาจากประชาชน

หากทำอะไรที่ประชาชนไม่ต้องการจะถูกลงโทษจากประชาชน คือไม่เลือกเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่

ถ้าตรงนั้นยังไม่ชัดเจนก็ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เช่น รัฐสภาประกาศว่าหลังลงมติวาระ 3 แล้ว วันที่ประชาชนไปเลือกตั้งส.ส.ร. หากไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

ถ้าคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนมาเป็นเป็นอันดับหนึ่ง รัฐสภาก็จะให้คำมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบเพื่อยกเลิกการมีส.ส.ร.

แต่หากการลงคะแนนไม่เป็นอันดับหนึ่ง ต้องให้เกียรติประชาชนคนอื่นที่ต้องการแก้ด้วย แม้ว่าการไม่ลงคะแนนจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จะมีผลทางการเมืองหากรัฐสภาประกาศให้คำมั่นออกมา

หรือหากการไม่ลงคะแนนยังไม่ชัดเจนอีก ก็ให้คนที่ไม่ต้องการแก้มาลงสมัครส.ส.ร. ประกาศจุดยืนเลยว่าต้องการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าคนเหล่านี้ได้รับเลือกไปแล้วมีเสียงเสียงข้างมาก ก็สามารถประกาศลาออกจากส.ส.ร.ร่วมกัน และหากส.ส.ร.มีจำนวนไม่ครบกึ่งหนึ่ง จะส่งผลให้ส.ส.ร.ชุดนั้นสิ้นไปตามมาตรา 291 ที่ได้รับการแก้ไข

ฉะนั้นยังมีขั้นตอนที่ประชาชนออกความเห็นได้โดยไม่ต้องลงประชามติ ซึ่งมีปัญหาไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะอำนาจการทำประชามติเป็นของครม. จะให้ครม.ไปทำแทนสภาได้อย่างไร

หรือการตรากฎหมายใหม่แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่า การตรากฎหมายที่เล็กกว่ามาแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร มันทำไม่ได้ในหลักทฤษฎี และยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจเข้ามาด้วย

คือจะต้องใช้เงินทำประชามติครั้งละ 2,500 ล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งคุณภาพของประชามติถามว่า การทำประชามติวันนี้ให้ประชาชนเลือกอะไร วันนี้ไม่มีตัวเลือกให้ประชาชน

จากเหตุผลทั้งหมดจึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องทำประชามติ

พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาดีๆ อย่าให้เหมือนตอนชะลอการลงมติวาระ 3 สรุปแล้ววาระ 3 ต้องเดินต่อ แต่ต้องเดินแบบมีหลักการ

รัฐบาลเสียงข้างมากแต่ขยับอะไรไม่ได้

เป็นปกติของการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ต้องการกลับไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 กับผู้ที่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สร้างมากับมือ

คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมนี้อย่างไร ถ้าทำแบบทลายด่าน เลือดกระเด็นเลือดสาด จะไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เกิดความวุ่นวาย แต่หากยอมอย่างเดียว คนเสื้อแดงก็ไม่ยอม

วิธีที่จะประนีประนอมคือ เมื่อมีกับดักต้องเดินอย่างระมัดระวัง อะไรที่ยอมได้ก็ยอม

การผลักดันพ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรม

พ.ร.บ.ปรองดองมีปัญหามากในเรื่องข้อกฎหมาย คือการคืนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน

หากไปตรากฎหมายที่ล้มล้างคำตัดสินของศาล จะทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและผิดรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าพ.ร.บ. ปรองดองออกมา มีการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะตีตกไป

ส่วนการนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่มีข้อห่วงใยว่าหากนิรโทษกรรมโทษร้ายแรงทั้งหมดจะขัดกฎหมายยุติธรรม และมีการถกเถียงกัน

ข้อเสนอของผมคือให้ออกเป็นกลางๆ เริ่มจากเปิดเผยความจริงใครฆ่าใคร หากคนทำสำนึกผิด ให้กราบขอโทษญาติผู้เสียชีวิต ผู้เสียหาย

กฎหมายที่ออกมาเพื่อการปรองดองก็อาจจะให้เป็นโทษรอลงอาญาเอาไว้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น