Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญแฝง (Hidden Constitution)

โดย คณิน บุญสุวรรณ
ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2555


นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา จนจะเข้า 80 ปี เข้านี่แล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้บังคับถึง 18 ฉบับ ทุกฉบับได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written constitution) ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักร ที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี แต่เพราะความที่ของอังกฤษเขาไม่ได้รวบรวมรัฐธรรมนูญไว้เป็นเล่มเดียวกัน คนก็เลยเข้าใจว่าของเขาเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) แท้ที่จริงก็เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น เพียงแต่ลายลักษณ์อักษรเหล่านั้นอยู่กระจัดกระจาย ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นเอกสารเล่มเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีบ้างซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

สำหรับในประเทศไทยนั้น ถึงแม้จะได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่บ่อยครั้งทีเดียวจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน กลับมีค่าบังคับต่ำกว่าอำนาจหรือสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนอยู่นอกรัฐธรรมนูญ

เป็นต้นว่า การรัฐประหาร กฎหมายพิเศษ และคำพิพากษาศาลฎีกา รวมทั้งความเชื่อบางอย่างที่เป็นจารีตประเพณี แต่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่มีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งลงไป

ตัวอย่างที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในระบบการเมืองของไทย คือ ถึงแม้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจะระบุไว้ชัดว่า การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้การปฏิวัติรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งวางเป็นบรรทัดฐานมาตลอด จนอาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไปแล้ว ชี้ขาดว่า ถ้าทำรัฐประหารสำเร็จยืดอำนาจได้ ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอดว่าถึงแม้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจะบัญญัติว่าการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 บัญญัติรองรับไว้ ว่า เป็นความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตก็ตาม แต่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ได้ชี้ขาดแล้วว่า การทำรัฐประหารสำเร็จถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ถึงแม้จะมีผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะบางท่าน มีความเห็นแย้ง และปฏิเสธสถานะของการรัฐประหาร กล่าวคือ ไม่ยอมรับว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม และไม่ยอมรับค่าบังคับของประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่มาจากการรัฐประหาร แต่ก็เป็นเพียงคำวินิจฉัยของฝ่ายข้างน้อย ซึ่งไม่มีผลอะไรกับการรับรองสถานะของการรัฐประหาร ซึ่งก็หมายความว่าคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี หรือรัฐธรรมนูญแฝงนั้น มีค่าบังคับมากกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

นอกจากนั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร บัญญัติสิทธิของอาญาของบุคคลไว้ 5 ข้อคือ

1.ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไม่มีความผิด

ก่อนมีพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

2.บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

3.ผู้ต้องหารือจำเลยในคดีอาญา มีสิทธิในการได้รับการประกันตัวชั่วคราว รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

4.ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้อย่างเพียงพอ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

และ 5.ในกระบวนการพิจารณาคดี อย่างน้อยต้องมีหลักประกันการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย

แต่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ก็ต้องชิดซ้ายไปตามระเบียบ เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเพียงกฎหมายลูก แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีได้ เพราะเชื่อและยอมรับกันมาอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผย การที่จำเลยต้องถูกนำตัวไปให้การ ณ สถานที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลที่โจทก์หรือพยานโจทก์มีภูมิลำเนา

และที่สำคัญที่สุด คือไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลซ้ำๆ กันทุกครั้งว่า ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว เพราะเป็นคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง เกรงผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี นอกจากนั้น ยังเป็นคดีที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทยที่จงรักภักดี

ในขณะที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรระบุไว้ชัดว่า กองทัพมีหน้าที่พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้น เชื่อกันว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำกองทัพนำกองทัพเข้าข่มขู่คุกคามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล หรือก่อการรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

พูดง่ายๆ คือ คนที่สมควรต้องตกเป็นจำเลยในข้อหากบฏ กลับพลิกตัวมาเป็นหัวหน้าโจทก์ในขณะที่ผู้เสียหายจากการถูกปฏิวัติกลับต้องตกเป็นจำเลย และนี่คือ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติและยอมรับกันมาช้านาน ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย

และที่แปลกประหลาดที่สุด คือ เป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีศักดิ์หรือค่าบังคับเหนือกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรทั้งปวง

สุดท้าย ในขณะที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรระบุไว้ชัดว่า ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่แฝงอยู่ในรูปของกฎหมายพิเศษบางอย่าง เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในอดีต พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน กลับไม่เป็นอย่างนั้น

หรืออย่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ก็ระบุไว้ชัดเจนเหมือนกันว่า คนที่มีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ

คิดดูง่ายๆ คนระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลขึ้นไป อย่างนี้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่จะมีความหมายอะไร?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น