Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

112 ศาลดองพินิจ : อากงติดตะรางตาย รายต่อไปคือ..?

เรื่องจากปก REDPOWER ฉบับ 26 เดือน มิถุนายน 55
กองบรรณาธิการ


“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”

           คำกล่าวที่แทรกมากับกลิ่นควันธูปด้วยเสียงสั่นเครือของหญิงชราที่รู้จักในนาม “ป้าอุ๊” ภรรยาอากง ทำให้ทุคนที่ได้ยินน้ำตาซึม ด้วยความสงสารเจือกับความเจ็บแค้นของระบบอยุติธรรมที่ไม่เอื้ออาทรต่อคนยากจน และดูเหมือนว่า จำเลยในคดีมาตรา 112 อย่าง สุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์  สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกหลายคน กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับอากง เพียงแต่อากงเดินทางล่วงหน้าไปก่อน



ย้อนหลังอากงถูกจับ

ย้อนไปวันที่ 3 ส.ค. 53 พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู  (สามีแม่เลี้ยงติ๊ค ส.ส.ประชาธิปัตย์) ในตำแหน่ง ผบช.ก. นำกำลังจับกุม “อากง” อายุ 60 ปีในขณะนั้น พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิช อีก 1 เครื่องอยู่ในตู้เสื้อผ้า ที่บ้านพัก จ.สมุทรปราการ ตามหมายจับศาลอาญารัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค. 53 ก่อนการจับกุมทางตำรวจรับแจ้งว่ามีบุคคลลึกลับส่งข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ไปยังเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีฯร่วมกันสืบสวนหาตัวคนร้าย แต่ปรากฏว่าหลักฐานที่ได้รับคือหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน หมายเลขอีมี่ที่ปรากฏขึ้นจากการส่งข้อความจึงถือเป็นหลักฐานและกล่าวหาว่านายอำพลหรืออากงเป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว จึงจับกุมมาสอบสวน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นของการสอบสวน “อากง” ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่าโทรศัพท์ทั้งหมดเป็นของตัวเองและเลิกใช้ไปนานแล้ว ส่วนอีกเครื่อง “อากง” กล่าวว่าขณะเกิดเหตุได้นำโทรศัพท์มือถือไปซ่อมที่ร้านในห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียล สาขาสำโรง แต่จำชื่อร้านไม่ได้ นอกจากนั้น ตัว “อากง” เองก็ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือไม่เป็น และไม่ทราบว่าหมายเลขที่ส่งข้อความไปเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)
          ในเบื้องต้นศาลอนุญาตให้ประกันตัว “อากง” เพียงครั้งเดียวแต่หลังจากที่เข้าไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 มกราคม 54 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจนถึงวันที่อากงเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาผ่านมาทีมทนายและญาติมีการยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง โดยให้เหตุผลเหมือนกันทุกครั้งว่าเป็นคดีร้ายแรงและมีโทษหนัก ศาลจึงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้จะมีการอ้างเหตุการณ์เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวก็ไม่ได้รับความเมตตา
         กระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 54 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษอากงเป็นเวลา 5 ปี ในแต่ละกระทงความผิด จำนวน 4 กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 นางรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยาของ  นายอำพล ได้ยื่นหลักทรัพย์ 2,200,000 บาท ด้วยความช่วยเหลือของญาติมิตรเพื่อขอประกันตัว   นายอำพล โดยอ้างเรื่องความเจ็บป่วยประกอบการพิจารณา ทำให้ศาลส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา กระทั่ง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอากงตามที่ร้องขอ โดยศาลให้เหตุผลดังเดิมว่า “เหตุผลยังเหมือนเดิม โฆษกศาลยังแถลงอีกว่า การอ้างเรื่องความเจ็บป่วยเพื่อขอประกันตัว ก็ไม่ปรากฏว่า ความเจ็บป่วยนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทางราชทัณฑ์ก็มีโรงพยาบาลที่จะให้การรักษาจำเลยได้ทันทีอยู่แล้ว ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์และยกคำร้องทั้งหมดขณะที่ทนายความก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ เพียงเพื่อขอให้ “อากง” ได้รับการประกันตัวออกมารักษาตัวข้างนอก



ทำไมทั้งโลกจึงสนใจคดีอากง

          คดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี ผู้ที่ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีหลายคน หนึ่งในนั้นมีชายชราชื่ออำพล ตั้งนพกุลหรือ อากงซึ่งเป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำไม่รู้เรื่องการเมือง ภาษาไทยก็เขียนไม่ค่อยจะถูก พิมพ์ดีดก็ไม่เป็น ดังนั้น หลังการถูกจับอากงจึงได้รับความสนใจจากผู้รักความยุติธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อใครที่เข้าไปเยี่ยมอากงจะพบกับชายชราที่เดินช้า ๆ พร้อมกับหยาดน้ำตาอาบหน้าทุกครั้งที่พบผู้มาเยี่ยม มักทำให้ผู้รักความยุติธรรมและความถูกต้องรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้ง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้นานาชาติเห็นใจและพยายามรณรงค์เพื่อปล่อยตัว “อากง”

          อากงได้ตกเป็นเหยื่ออย่างแท้จริงในเกมการเมืองเป็นเหยื่ออย่างสมบูรณ์แบบ ในแง่ที่ว่า นี่คือชายชราเชื้อไทย-จีน ผู้ซึ่งไม่เคยรู้จักกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อากงพูดภาษาไทยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อากงไม่ชำนาญทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความทางมือถือ อากงไม่รู้เรื่องการเมือง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ป้องกันอากงจากการถูกกล่าวหาและจับกุม สิ่งที่เลวร้ายที่สุดทำให้องค์กรต่างประเทศจับตามองและเห็นปัญหาแบบ “ตาสว่าง” ก่อนคนไทยเสียด้วย คือการตัดสินโทษการส่งเอสเอ็มเอส 4 ครั้ง เป็นความผิด 4 กระทงมีโทษเท่ากับ 20 ปี ซึ่งมีโทษมากกว่าการฆ่าคนตายและค้ายาเสพติด ด้วยเหตุนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศและสื่อต่างประเทศต่างให้ความสนใจกับคดีนี้ เกิดการตั้งคำถามมากมายกับผู้ต้องหาที่โดนคดีนี้ ว่านี่คือประเทศไทยหรือ ? และยิ่งในระยะเวลาใกล้เคียงกันกับคดี อากงมีจำเลยหลายคดีทั้งที่มีลักษณะความผิดเหมือนกันบ้าง , มีโทษสูงเช่นเดียวกับคดีอากงบ้าง , และนักโทษก็มีโรคประจำตัวเช่นเดียวกับ อากงแต่แตกต่างกันเพียงมีฐานะทางสังคมที่ต่างกันและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่างกันจึงได้รับการประกันตัว , ดุลพินิจของศาลไทยจึงถูกจับจ้องจากประชาชนและองค์กรระกว่างประเทศมากขึ้น


2 มาตรฐานในระบบยุติธรรมไทย?


          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความตายของอากงที่เร็วกว่ากำหนดอันควร เป็นผลมาจากการที่ไม่ได้รับการประกันตัวจากดุลพินิจของศาลและจากข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากคำให้การต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 16 พฤษภาคม 2555 ของ        น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล  ที่ร่วมในการผ่าศพอากงกับสำนักงานนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าอากงเป็นเพียงมะเร็งตับขั้นต้นแต่มิใช่ขั้นสุดท้าย หากได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกวิธีก็ยังจะไม่เสียชีวิต และจากคำให้การของ พ.ต.อ.นพ.ภวัต ประทีปวิศรุต สำนักงานนิติเวช ก็ยืนยันว่าโรงพยาบาลในคุกก็ไม่มีมาตรฐานดีพอที่จะรักษาความเจ็บป่วยของอากงได้เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลภายนอกคุก , จึงเป็นข้อสรุปได้ว่าการตายของอากงเป็นผลโดยตรงจากการไม่ได้รับการประกันตัว

          จากการประชุมกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรในการหาทางป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นอากงอีก เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ได้มีการหยิบยกคดีต่างๆที่ได้รับการประกันตัวมาเปรียบเทียบโดย นายศราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักศาลยุติธรรมได้กล่าวว่า โดยเฉลี่ย 93 เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญาจะได้รับการประกันตัว จะมีเพียงประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ศาลไม่ให้ประกันตัว จึงเกิดการเปรียบเทียบคดีความต่อการใช้ดุลพินิจของศาล เช่นกรณีของแกนนำ นปช.อย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ , นายยศวริศ  ชูกล่อม หรือเจ๋งดอกจิก  และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯเสื้อเหลือง ที่เจอข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 เหมือนกันและมีความร้ายแรงกว่า เพราะมีการกล่าวต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากและถ่ายทอดโทรทัศน์สดๆสู่สาธารณะ ทำไมจึงได้รับการประกันตัวและอย่างกรณีของนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ในข้อหาอาชญากรทางเศรษฐกิจ ได้อ้างความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเหมือน อากงศาลก็ให้ประกันตัวออกมารักษาตัวนอกคุก แล้วทำไมกรณี อากง จึงไม่ได้รับอนุญาตบ้าง? คำถามเหล่านี้ไม่มีใครตอบได้มากกว่าคำว่า ดุลยพินิจของศาลแต่ในที่ประชุมกรรมาธิการในวันนั้นทุกคนเข้าใจด้วยตัวเองทั้งหมดว่าเพราะ อากงเป็นคนจนไม่มีฐานะทางสังคม ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และไม่มีฐานะทางการเมือง 

          ในระยะเวลา 5 ปีเศษที่ผ่านมาบทบาทของศาลไทยในภาพลักษณ์ของตุลาการภิวัฒน์หรือตุลาการปฏิวัติ ที่ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในระดับสูงได้แสดงตัวอย่างเปิดเผยในการร่วมมือกับคณะทหารที่ขับรถถังออกมายึดอำนาจและทำหน้าที่รับใช้การยึดอำนาจด้วยการพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเป็นชนักปักหลังไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณมีความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านการรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์ยังทำหน้าที่ล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งยุบพรรคไทยรักไทย , ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคสายอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเครื่องมือของอำมาตย์ใหญ่ในการยึดอำนาจ ด้วยเหตุนี้ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา คำว่า 2 มาตรฐานของระบบยุติธรรมไทยจึงกลายเป็นกระแสที่กัดกร่อนหัวใจคนไทยและชาวโลกผู้รักความเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อคดี อากงซึ่งเป็นคนยากจนโถมทับเข้ามาจึงเกิดกรณีลุกฮือและก่อกบฏทางความคิดต่อระบบศาลไทย



สามัญชนพลีกายช่วยสามัญชน

เมื่อเกิดกระแสความเชื่อว่ามีภาวะ 2 มาตรฐาน ในระบบยุติธรรมไทยในความคิดของประชาชนเหล่านักรบไซด์เบอร์สามัญชน ก็หาวิธีการเคลื่อนไหวเพื่อการช่วยเหลืออากง การเคลื่อนไหวเริ่มด้วยแคมเปญ “ฝ่ามืออากงของ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์  และหลังจากนั้นก็เกิดการระบาดจากฝ่ามือเป็นร่างกายของสงวนของผู้รักความเป็นธรรมทั้งหญิงและชายที่ใช้หน้าอกและก้นเป็นแผ่นป้ายรณรงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมเสียสละของที่เขารักเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่สามัญชนคนธรรมดาอย่าง อากงที่พวกเขาไม่ได้รู้จักเป็นส่วนตัว โดยการเคลื่อนไหวนั้นแม้อากงจะไม่ได้รับการปล่อยตัวโดยทันที แต่หวังว่าการเคลื่อนไหวด้วยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือนี้อย่างน้อยก็กระตุกพวก Royalist สุดโต่งที่ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือให้ละอายบ้าง และสิ่งสำคัญพวก Royalist นั่นเองที่จะทำให้สถาบันเสื่อมถอยจริง ๆ แคมเปญนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มข้นไปยังพวก Royalist ด้วยการแชร์ภาพกันมากมายโดยหวังว่าถ้าพวกเขาไม่ปิดหูปิดตาตัวเองจนมืดบอดก็จะได้รับรู้ว่า กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้ยิ่งถูกใช้มากเท่าไหร่ กลับจะยิ่งทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

เมื่อความยุติธรรมไทยมาถึงปลายทาง กระบวนการตุลาการไทยไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชนและมองไม่เห็นว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามและยิ่งทำกับคนจนโดยใช้อากงเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างกระแสการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้  แคมเปญการใช้ร่างกายจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ โดยผู้คิดทำโครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า ถือว่าเป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เป็นการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของอากง จากฝ่ามืออากงสู่ร่างกายเพื่ออากงหลายรูปหลายแบบที่ถูกโพสต์บนเฟสบุ๊ค เป็นการประท้วงด้วยความสงบ สันติ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศที่ สามัญชนยอมเปลือยร่างกาย เปลือยนม เพื่อให้ชายชราได้รับการปล่อยตัว และนี่คือการ พลีกายเพื่อช่วยสามัญชน



112 ขังอากง - สมยศ - สุรชัย : หลุดได้เมื่อตายแล้ว

อากง ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความผ่านมือถือไปยังเลขาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้วแต่ในความรู้สึกของลูกหลานและประชาชนการกักขัง อากง ทุกคนที่รักและห่วงใยความเป็นธรรมเกิดความเข้าใจร่วมกันว่า อากง ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ อากงไม่ได้ถูกขังด้วยซี่กรงเหล็ก ไม่ได้ถูกขังด้วยห้องสี่เหลี่ยม ไม่ได้ถูกขังด้วย “คุก” แต่อากงถูกขังด้วย กฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ปกป้องบุคคลที่อากงรัก แต่อากงต้องกลายเป็นเหยื่อที่ถูกสังเวยด้วยมาตรานี้ไปอีกคน   สื่อต่างชาติมองกฎหมายมาตรา 112 นี้เป็นข้อบังคับที่ล้าหลัง เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองเพื่อใช้สร้างสถานการณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่แอบแฝงจึงส่งผลให้ความเป็นธรรมในสังคมไทยเกิดการชำรุดสึกกร่อน อีกทั้งเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง เป็นกฎหมายที่ทำลายประชาธิปไตย  อาการปวดท้องของอากงจนสิ้นชีวิตจึงเป็นการประจานระบบที่ชำรุดมายาวนานแต่ได้ประทุขึ้นให้มวลชนได้เห็นเพราะหากจะย้อนประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตก็จะพบว่าไม่ได้มีเพียงอากงที่ต้องตายในคุกเท่านั้นแต่ในปี  2521 นักโทษการเมืองอย่าง ประเสริฐ เอี่ยวฉาย อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดีก็ต้องจบชีวิตลงในคุก ด้วยอาการปวดท้องเช่นเดียวกับอากง

สุรชัย แซ่ด่าน เป็นเหยื่อรายต่อไปที่ทุกคนจับตามองว่ากำลังเดินอยู่บนเส้นทางของ อากง ด้วยการถูกจู่โจมจับกุมด้วยข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่เคยได้รับการประกันตัวเลยเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลและขณะนี้อายุกว่า 70 ปีแล้ว  และจากการกดดันนั้นเป็นผลให้นายสุรชัย จำต้องสารภาพเพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดว่าจะได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันก่อนตาย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเหยื่อของกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกคนหนึ่งที่แม้จะยังไม่มีอนาคตเหมือน อากง  ด้วยเพราะอายุน้อยกว่า แต่มีอดีตเหมือน อากง ที่เป็นสามัญชนคนที่ไร้ฐานะทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากบทความในหนังสือพิมพ์ Voice of TAKSIN  ที่ถูกปิดไปแล้วทั้งๆที่เขามิใช่เป็นคนเขียนบทความนั้นและไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเสมือนหนึ่งเป็นอาชญากรที่ร้ายกว่าอาชญากรทั้งหลายที่เคยมีมาในโลกนี้  แม้แต่หน่วยราชการคือกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ขอยื่นประกันตัวให้เองศาลก็ไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลว่ากลัวจะหลบหนี ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ตกลงเขาถูกจับด้วยข้อหาอะไรกันแน่ ระหว่าง ข้อหาการเป็นบรรณาธิการหนังสือที่ถูกปิดไปแล้ว หรือ จากการที่เขาประกาศจะรณรงค์เพื่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  เพราะ เขาถูกจับหลังแถลงข่าว  “ล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อขอยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ”  เพียง 5 วัน   

จากตัวอย่างการจับกุมคุมขังทั้งสามคน และยังมีนักโทษมาตรา 112 คนอื่น ๆ ที่ไม่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอีกจำนวนมากที่ถูกจับแล้วไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็น ดาร์ตอปิโด หรือสุชาติ นาคบางไทร และอีกหลายคนที่อยู่ในชะตาชีวิตเดียวกับ อากงคือชีวิตที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวตามกฎบัตรสหประชาชาติและตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯที่ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันแล้วจนทุกคนมีความเห็นร่วมกันว่าพวกเขาจะออกพ้นคุกได้เมื่อตายแล้วเท่านั้น ทุกคนจึงต้องจำยอมสารภาพเพื่อขออภัยโทษซึ่งเป็นทางออกเดียวที่รัฐไทยเผด็จการเปิดทางให้ โดยอาศัยมือตุลาการภิวัฒน์



ระบบยุติธรรมไทยชำรุดสุดๆ

          การลุกฮือขึ้นต่อต้านคำพิพากษากรณี อากง อย่างสงบด้วยการเข้าร่วมการไว้อาลัยการจากไปของอากงทั้งทาง Social Network หรือทางสื่อออนไลน์ต่างๆและการไปร่วมในงานศพที่หน้าศาลอาญา และที่วัดด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ อย่างล้นหลามทั้งๆที่ไม่ใช่ญาติและไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวนี้ยิ่งตอกย้ำความผุกร่อนของระบบยุติธรรมในหัวใจของประชาชนมากขึ้น เมื่อเกิดข่าวการจับกุมตัว นายการุณ ใสงาม แกนนำพันธมิตรฯในข้อหายึดสนามบินเป็นไปอย่างทุลักทุเล เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 12 พฤษภาคม ต่อเนื่องถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งๆที่เป็นการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญาร้ายแรงและนายการุณยังต่อต้านการจับกุมด้วยการนั่งในรถติดเครื่องเปิดแอร์นานกว่า 20 ชั่วโมง จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก แต่ทันทีที่ตำรวจนำตัวนายการุณออกจากรถมาสอบสวนได้ อัยการก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางที่ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวกลุ่มบุคคลที่แสดงตัวเป็นผู้จงรักภักดีสวมเสื้อเหลืองยึดสนามบินและยึดทำเนียบรัฐบาลในปี 2551 เพื่อล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย และก็เป็นไปตามแนวทางที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯที่ถูกขนานนามว่าเป็น เหลืองตัวพ่อ ที่ถูกข้อหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะนำข้อความที่นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดาร์ตอปิโด ไปเปิดเผยต่อในที่สาธารณะแต่ก็ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ต้น ดังนั้น ดุลพินิจของศาลที่ไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษร้ายแรงและเกรงว่าจะหลบหนีนั้นจึงถูกตั้งคำถามในหัวใจประชาชนอย่างเงียบๆและที่สุดก็ระเบิดขึ้นในกรณีการเสียชีวิตของ อากง



สุวิทย์ทนายสมยศ “10 ธงก็ไม่รอด”

          คดีที่ถูกจับตามองมากที่สุดว่าศาลจะตัดสินคดีอย่างไร?ในเร็วๆนี้ คือคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เพราะคดีมาตรา 112 อื่นๆเกือบทุกคนยอมยกธงขาวจำใจต้องสารภาพหมดแล้ว   นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายความในคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข แถลงต่อผู้สื่อข่าวและแฟนคลับที่ไปฟังการเบิกความคดีของสมยศที่ศาลอาญารัชดาว่า ถ้าดูจากเนื้อความของการเบิกความพยานปากสำคัญซึ่งเป็นปลัดสำนักนายกฯ คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางสุ น่าจะทำให้คดีคุณสมยศชนะคดีได้โดยท่านศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางสุ ให้การชัดเจนว่า บทความในหนังสือนิตยสาร Voice Of Taksin นั้นไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นการหมิ่นสถาบันฯ แต่จากการที่นายสุวิทย์ ทองนวล เคยว่าความให้นายสมยศในคดีดูหมิ่น ปปช. 3 คดี ดูทิศทางคำวินิจฉัยของศาลที่เคยมีมาเกี่ยวกับตัวจำเลยชื่อสมยศแล้ว เขาไม่มั่นใจว่าคำเบิกความของอาจารย์ธงทองจะช่วยให้สมยศรอดได้ ยิ่งดูจากคำวินิจฉัยของผู้บริหารศาลที่ไม่ให้ประกันตัวคุณสมยศ ซึ่งได้ยื่นประกันถึง 10 ครั้ง และครั้งสุดท้ายกรมคุ้มครองสิทธิฯซึ่งเป็นหน่วยราชการในกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นขอประกันให้เอง ศาลก็ยังไม่ให้ คุณสุวิทย์ จึงเอ่ยคำว่า “10ธงทองสมยศก็คงไม่รอด”



 แผ่นดินไหวทางการเมืองเริ่มไหวถี่ขึ้น

          สิ่งที่เราได้เห็นนับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 คือสัญญาณของ “แผ่นดินไหวทางการเมืองไทย” ที่เริ่มตั้งเค้า ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ  จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่มีการทำร้ายประชาชนหน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ บ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มหาอำมาตย์ใหญ่ ,  เหตุการณ์สงกรานต์เลือดเมื่อปี 2552 จนถึงการฆ่าประชาชนอย่างโหดร้ายกลางเมืองใหญ่เมื่อ 2553 คือ กรณีผ่านฟ้าถึงราชประสงค์ ซึ่งเปรียบเสมือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และ ดูเหมือนแรงสั่นสะเทือนจะมากขึ้นเรื่อย ในกรณีของอากง เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเกิดผลกระทบมากที่สุดอย่างน่าเป็นห่วง กล่าวคือ หลังจาก “อากง” เสียชีวิตที่โรงพยาบาลกลาง ของเรือนจำคลองเปรม ได้เกิดการต่อต้านคำพิพากษาอย่างเปิดเผยโดยสงบแต่รุนแรงด้วยการตั้งศพ อากงที่หน้าศาลอาญาและประกอบพิธีกรรมพร้อมสาปแช่งในคืนวันที่รับศพออกมาจากนิติเวชและในวันรุ่งขึ้นก็มีขบวนแห่ศพอากงมาที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งเป็นเสมือนคำร้องถามหาความยุติธรรมจากสถาบันการเมืองหลักทั้งสาม คือ อำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ แต่ก็มีแต่ความเงียบและที่รุนแรงที่สุดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย คือ การนำรูปภาพและชื่อที่อยู่ของผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีอากงไปโพสต์ลงในสื่อออนไลน์อย่างแพร่สะพัด และด่าประณาม ดังนั้นสถานการณ์จึงน่าเป็นห่วงว่าหากเกิดกรณีนักโทษ มาตรา 112 ต้องตายในคุกอีก แผ่นดินไหวที่ผ่านมาจะพัฒนาเป็นสึนามิทางการเมืองหรือไม่?

          ด้วยเหตุนี้ ความเจ็บป่วยและโอกาสที่จะมีการเสียชีวิตของนักโทษทางการเมืองทุกคนไม่ว่าจะเป็นนายสุรชัย นายสมยศ และนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ล้วนแต่เป็นความเปราะบางของสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งหาทางแก้ไขแต่มิใช่จะหาทางทำให้สะใจเพื่อใครบางคน





เหยื่อรายสุดท้ายคือระบอบ

          การลาจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควรของ อากงทำให้คนในสังคมการเมืองไทยจับตา มองว่ารายต่อไปจะเป็นใคร แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดไม่ใช่นายสุรชัย แซ่ด่าน ที่กำลังเจ็บป่วยด้วยอายุและต่อมลูกหมากโต หรือนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  แต่เป็นระบอบปกครองประชาธิปไตยจอมปลอมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะโดยระบอบเองได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก แม้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  จะพยายามอย่างยิ่งที่จะประคับประคองทำการซ่อมแซมระบอบที่ชำรุดนี้ด้วยการเสนอ การเยียวยาต่อผู้บาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์วิกฤติตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา พร้อมเสนอแนวทางปรองดองด้วยการหาทางออกให้แก่สังคมที่คับข้องใจทุกฝ่าย รวมทั้งการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกากลางสูงสุดที่ถูกคณะรัฐประหารปู้ยี่ปู้ยำมาจนสังคมไทยเกิดภาวะกลียุคในในรอบ 5 ปีเศษที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าอนาคตจะมืดมนด้วยพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์และกลุ่มสลิ่มที่กลายพันธุ์มาจากพวกเสื้อเหลือง ก็พยายามขัดขวางการแก้ปัญหาของรัฐบาลเพื่อการปรองดองในทุกวิถีทางและสร้างกระแสให้เกิดภาวะความปั่นป่วนด้วยการโจมตีเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มสถาบัน ทำให้ประชาชนต้องตามดูกันต่อว่าจะเกิดแรงสั่นเทือนหรือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามคำทำนายของบทบรรณาธิการนี้จริงเมื่อไร?..............โปรดติดตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น