Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โหวต-ไม่โหวต

ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2555
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพชร

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เมื่อใด

บอกขอเวลาอีกสามวันค่อยตัดสินใจ

ขณะนี้ มี 2 ทางเลือกหลักๆ ที่จะเดินไป

ทางเลือกแรก คือ เดินหน้าโหวตวาระ 3 เลย

โดยมี คำวินิจฉัยของอังการสูงสุด , คำวินิจฉัยของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา , ความเห็นของนักวิชาการ นักฎหมาย ทั้งในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งพรรคเพื่อไทยและอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ผูกพันรัฐสภา ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญอาจดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นกองหนุน

ขณะเดียวกันมวลชนเสื้อแดง , ส.ส.เพื่อไทยกว่า 100 ช่วยกดดันทางการเมือง โดยเข้าชื่อถอดถอนตุลาการ อีกทาง

ซึ่งดูองค์ประกอบแล้วสามารถลงมติวาระที่ 3 ได้ หากจะทำ

แต่ก็เริ่มมีคำถามว่า "แล้วหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร"

คำถามดังกล่าว จึงทำให้ เริ่มมีการพูดถึง ทางเลือกที่สอง ขึ้นมา

นั่นคือ ยืดเวลาการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน

ใช้เวลา ที่ทอดยาวออกไป "ย้อนศร" ให้"ตุลาการรัฐธรรมนูญ" อยู่ภายใต้แรงกดดัน"มหาศาล" เสียเลย

เพราะคำวินิจฉัยที่จะออกมานั้นย่อมมีผลสะเทือนต่อ สถานะของศาลรัฐธรรมนูญอย่างสูง

ยิ่งหากมีข้อโต้แย้ง ข้อสงสัย

"วิกฤตศรัทธา"ก็จะยิ่งโหมกระหน่ำเข้าใส่

คาดการณ์ไม่ถูกว่า "เลวร้าย"ขนาดไหน

อีกเหตุผลหนึ่งของฝ่ายที่ต้องการให้ยืดเวลาออกไป ก็คือ เห็นว่า รัฐบาลและ พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเสี่ยง

ทั้งนี้ นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว. ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ เปิดประเด็นเสี่ยง "รอ" ไว้แล้ว

กล่าวคือหาก มีการเดินหน้า ลงมติวาระ 3 และร่างแก้ไขฯผ่านความเห็นชอบ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 150 ระบุว่า ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ภายใน ยี่สิบวัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พยายามลอยตัวออกจากปัญหานี้ก็ไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบได้อีกต่อไป เพราะต้องเป็นผู้ทูลเกล้าฯ

และการทูลเกล้าดังกล่าวคาดว่า จะอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพอดี

ซึ่งตรงนี้เอง อาจมีฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น ว่าเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังนำขึ้นทูลเกล้าอีก ก็อาจถูกมองว่ากำลังผลักภาระให้องค์พระประมุข ซึ่งจะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

และยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ร่างแก้ไขฯเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็จะยิ่งวุ่นวายไปใหญ่

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่อยากให้ประธานรัฐสภา ยืดเวลาการลงมติ วาระที่ 3 ออกไป

เพราะนอกจากลดความเสี่ยงกับการเข้าไปพัวพันประเด็นละเอียดอ่อนแล้ว

ยังทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้อง แบกภาระอันหนักหน่วงไว้บนบ่าเอง

และต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ ผู้กระทำหน้าที่ชี้ขาดประเด็นรัฐธรรมนูญ ทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

มิเช่นนั้นมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันบังคับมิได้"

จะกลายเป็นหอกที่พุ่งเข้าเสียบ "ยอดอก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น