Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"มาร์ค"เทหมดหน้าตัก "ประชาธิปัตย์"สู้ตาย สัญญาณควัน"รัฐประหาร"

จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 มิถุนายน 2555


ถึงวันนี้ต้องถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทุ่มหมดหน้าตักจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็น "เกมในสภา" หรือ "เกมนอกสภา"

การขึ้นไปบนที่นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ดึงแขน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาของ นายอภิชาติ แพ่งสภา ส.ส.เพชรบุรี ถือเป็นภาพที่น่าตกใจแล้ว

การลากเก้าอี้ประธานสภาของ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ยิ่งน่าตกใจยิ่งกว่า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนเชื่อว่าเป็น "อุบัติเหตุ" ที่เกิดจากอารมณ์ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

แต่เมื่อเข้าวันที่ 2 ทันทีที่ นายสมศักดิ์ พยายามตัดบทเข้าสู่การลงมติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างเดินเข้ามาด้านหน้าและตะโกนประท้วงนายสมศักดิ์

ก่อนที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก จะขว้างระเบียบการประชุมสภาใส่นายสมศักดิ์

และตามด้วยแฟ้มการประชุม

คนในแวดวงการเมืองเริ่มตั้งคำถามขึ้นมาทันที เพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้สโลแกนในการหาเสียงว่า "เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" ไม่น่าจะเล่นเกมนี้

วันแรกที่ลงมืออาจมาจาก "อารมณ์" แต่เมื่อซ้ำอีกครั้งในวันที่สอง ด้วยท่าทีที่ "เถื่อน" และ "ดิบ" โดยไม่มี "ผู้ใหญ่" ในพรรคตำหนิหรือปรามลูกพรรค

คนจำนวนไม่น้อยจึงตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจ

ตั้งใจทำให้อุณหภูมิสภาเดือด

เพราะเมื่อประสานกับ "ม็อบพันธมิตร" ที่อยู่นอกสภา อุณหภูมิการเมืองก็ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที

และเมื่อการประชุมเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง สิ้นสุดลง หลังจาก "ม็อบพันธมิตร" ล้อมสภา จน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเข้าประชุมได้

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ประกาศทันที ว่าพร้อมจะสู้ทั้งในสภา และนอกสภา

การเปิดเวทีปราศรัยในวันที่ 2 มิถุนายน ที่ลานคนเมือง หน้ากรุงเทพมหานคร ประชันกับเวที "ความจริงวันนี้" ของ "คนเสื้อแดง" ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี

ด้านหนึ่ง คือ การประกาศว่า "ประชาธิปัตย์" เปิดเวทีนอกสภา สู้กับ "คนเสื้อแดง" ของพรรคเพื่อไทยแล้ว

ยิ่งแจกผ้าโพกหัว "สายล่อฟ้า" กับมวลชนที่มาชุมนุม ยิ่งแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ เอาจริง

แต่อีกด้านหนึ่ง ถูกมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นเกมนอกสภา แบบ "แทงกั๊ก" คือ ไม่เล่นแรงเหมือน "คนเสื้อแดง" และ "ม็อบพันธมิตร"

แต่เป็นการสร้างกระแสมวลชนขึ้นมา ก่อนส่งมอบให้ "พันธมิตร" และกลุ่มเสื้อหลากสี

เพราะหลังจากการชุมนุมในวันนั้น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความขอบคุณกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสื้อหลากสี

เป็นการเปิดทางสานไมตรีหลังจากเคยเปิดศึกกันแบบสาดเสียเทเสียเมื่อครั้ง "ประชาธิปัตย์" เป็นรัฐบาล

แต่วันนี้ เมื่อมี "ศัตรูร่วม" คือ "ทักษิณ ชินวัตร"

ทุกฝ่ายจึงเดินยุทธศาสตร์ "รักษาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง"

กลืนน้ำลายที่เคยด่าประจานกัน มาจับมือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

เป็นภาพที่ไม่ต่างจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง นิรโทษกรรมให้กับ "ทักษิณ"



ด้วยประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่นานจนคนลืม ทำให้คนหวนระลึกถึงประวัติศาสตร์การเมือง 2 ช่วงเวลา

ครั้งหนึ่ง คือ ช่วงท้ายรัฐบาล "ทักษิณ"

เมื่อ "ม็อบพันธมิตร" ก่อตัวขึ้น และขยายมวลชนได้อย่างรวดเร็ว จนในที่สุด "ทักษิณ" ตัดสินใจยุบสภา

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้การเมืองเดินมาสู่ "จุดอับ"

ก่อนที่ "ตุลาการภิวัฒน์" จะเริ่มทำงาน

และตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

ครั้งที่สอง ในช่วงรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช" ต่อเนื่องถึง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์"

เมื่อ "ม็อบพันธมิตร" ก่อตัวอีกครั้ง และกระบวนการตุลาการภิวัฒน์จัดการ "สมัคร" พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหาทำกับข้าวออกทีวี

และตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมชายหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมือง ทหารก็เดินเกมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

เกมนี้มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการฟอร์มคณะรัฐมนตรี

การประสานระหว่าง "ม็อบ-พรรคการเมือง-ตุลาการภิวัฒน์" และ "กองทัพ" กลายเป็นเครือข่ายล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนถึง 2 ครั้ง

ดังนั้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ขยับตัวเล่นเกมแรงในสภา และออกมาต่อยอดนอกสภา ทั้งชุมนุมที่ลานคนเมือง ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "บลูสกาย"

และติดป้ายโจมตีพรรคเพื่อไทยทั่วกรุง

ในขณะที่ "ม็อบพันธมิตร" กลับมาอีกครั้ง ตามด้วยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ผ่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พยายามหยุดยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

แม้วันนี้ยังไม่มีเงาของ "กองทัพ" ออกมา

แต่สัญญาณควันเช่นนี้เอง จึงทำให้ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำเสื้อแดงออกมาเล่นเกม "โยนก้อนหินถามทาง"

นายก่อแก้ว ปูดข่าวว่ามีการประสานงานมวลชนของกลุ่มพันธมิตร พรรคประชาธิปัตย์ และต่อสายไปยังนายทหารระดับสูงของกองทัพบก แต่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

นอกจากนั้น ยังมีการล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่ม ส.ว. ให้ร่วมสนับสนุนการตั้งรัฐบาลเทพประทาน ภาค 2 โดยมีคนของพรรคประชาธิปัตย์ อักษรย่อ "ส." เป็นผู้เดินเกม

จริงหรือไม่จริง ไม่รู้

แต่ "จินตนาการ" ดังกล่าว ก็ส่งต่อความรับรู้ไปสู่มวลชนแล้ว

ถ้าเกิดขึ้นจริงเมื่อไร ก็แสดงว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้า



แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม ก็คือ ทุกฝ่ายต่างมี "บทเรียน" จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกนนำตัวจริงของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ จึงไม่มีใครดำรงตำแหน่ง "กรรมการบริหารพรรค"

เพราะรู้ว่าเกมยุบพรรคอาจเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการตุลาการภิวัฒน์

ที่สำคัญ กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเติบใหญ่กว่าเดิมมาก ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้แต่การชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันก่อน ถึงจะมากกว่าตอนประท้วงเรื่องเขาพระวิหาร แต่ก็ไม่ได้แน่นหนาเหมือนในอดีต

ยิ่งเมื่อเทียบเคียงกับ "คนเสื้อแดง" แล้ว ห่างกันมาก

ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าคำว่า "สองมาตรฐาน" จุดติดขึ้นมาแล้ว ปรากฏการณ์นี้ย่อมแสดงว่าความขลังของ "ตุลาการภิวัฒน์" ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา

นี่คือ ความเป็นจริงของวันนี้

การเดินเกมของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ แม้จะมี "ตัวช่วย" มากมาย แต่ในมุมหนึ่ง คือการเดิมพันหมดหน้าตักของพรรคการเมืองที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค เคยบอกว่ามีจุดขายสำคัญ คือ การต่อต้านเผด็จการทหาร

และมีสโลแกน ว่า "เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา"

เดิมพันครั้งนี้สูงจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น