11 มิถุนายน 2555
จดหมายเปิดผนึก
ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย
และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้แจ้งประธานรัฐสภาให้ชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ต่อมาประธานรัฐสภาได้แจ้งให้ที่ประชุมรัฐสภาทราบถึงคำสั่งดังกล่าว ทำให้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมรัฐสภาอย่างกว้างขวางแต่ยังไม่เป็นที่ยุติ และประธานรัฐสภาได้นัดประชุมรัฐสภาเพื่อหารือเรื่องนี้ต่อไปในวันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2555 นี้
รัฐสภาจะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไปต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและการลงมติในวาระที่ 3 เป็นกรณีที่มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งยังอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิกฤตของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ผมขอเสนอความเห็นดังนี้
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้โดยตรง และศาลรัฐธรรมนูญในอดีตก็ได้วินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญในเรื่องเดียวกันไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจหรือสิทธิที่จะร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องร้องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงกำลังกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง
2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้เลขาธิการรัฐสภาแจ้งให้ประธานรัฐสภาชะลอการพิจารณาลงมติในวาระ 3 ออกไป ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา รัฐสภาจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็ออกมายอมรับแล้วว่าไม่ได้สั่งประธานรัฐสภา และไม่มีอำนาจจะสั่งได้
3. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ตรวจสอบหรือวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าในขั้นตอนที่ยังร่างไม่เสร็จหรือร่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา 68 ก็มิได้มีไว้ตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
4. ขณะนี้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ได้ผ่านพ้นมาเกินกว่า 15 วัน รัฐธรรมนูญมาตรา 291 กำหนดให้รัฐสภาต้องจัดให้มีการลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป แม้ไม่กำหนดว่าจะต้องลงมติในวันใด โดยประเพณีปฏิบัติของรัฐสภาก็มักกระทำกันในโอกาสแรก
ขณะนี้รัฐสภามีทางเลือกปฏิบัติ 2 ทาง คือ
1.ยืนยันว่าคำสั่งศาลไม่ผูกพันรัฐสภาและกำหนดวันที่เหมาะสมเพื่อลงมติวาระที่ 3 ต่อไป หรือ
2.ยังไม่ลงมติวาระที่ 3 รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องเสียก่อน
หากมีการลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป และได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ก็เท่ากับว่ารัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยตรวจสอบ หรือระงับยับยั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก
แต่ถ้ารัฐสภาไม่มีการลงมติในวาระที่ 3 ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีผู้ร้องต่อไป ก็เท่ากับรัฐสภาจงใจไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยินยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ กระทั่งมีอำนาจเหนือกว่ารัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นบรรทัดฐานที่ผิดอย่างร้ายแรงต่อไป ผลที่ตามมาอาจจะได้แก่การยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และยิ่งกว่านั้นจะมีผลเท่ากับปิดโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญต่อไปในอนาคตด้วย
ปัญหาพื้นฐานและต้นเหตุที่สำคัญที่สุดของวิกฤตประเทศคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความอยุติธรรม หนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยได้ร่วมกับประชาชนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการตลอดมาก็เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็เพื่อให้พรรคมาแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ และเพื่อให้มาร่วมกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
ถึงแม้ว่าประชาชนได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลแล้วนั้น ตราบใดที่รัฐธรรมนูญนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ยังจะทำให้วิกฤตของประเทศร้ายแรงยิ่งขึ้นต่อไปด้วย
ประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะประชาชนที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยความเสียสละจำนวนมากมายมหาศาล รวมทั้งผู้ที่เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อไปเป็นจำนวนมากนั้น มิได้ต้องการเพียงให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดมา
มาถึงโอกาสนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจะร่วมกับสมาชิกรัฐสภาผู้ยึดถือหลักการประชาธิปไตยทั้งหลายยืนยันหลักการและความถูกต้อง ปฏิเสธคำสั่งที่ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ยืนยันว่าอำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และดำเนินการต่อไปเพื่อให้มีการลงมติในวาระที่ 3 เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน และให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยตามที่ประชาชนทั้งประเทศได้ฝากความหวังไว้
จาตุรนต์ ฉายแสง
11 มิถุนายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น