จากมติชนออนไลน์
เห็นอาการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนับแต่ได้ออกคำสั่งให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมาแล้ว
บังเกิดนัยประหวัดถึง "รามเกียรติ์"
เป็นรามเกียรติ์อันเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ซึ่ง ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ศาสตราจารย์พิเศษแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเอาตอนหนึ่งมาเล่าอย่างย่นย่อ
ผ่านหนังสือ สำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี
เมื่อพระรามเดินทัพวานรจากเมืองขีดขินของสุครีพติดตามหานางสีดาที่ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกาลักพาไป
กองทัพพระรามเดินทางมาถึงตอนใต้ของแผ่นดินใหญ่ริมฝั่งมหาสมุทร แต่ยังหาทางไปไม่ได้เพราะลงกาเป็นเกาะที่อยู่ไกลมาก พระรามจึงสั่งให้ทหารเอกทั้ง 3 คือ องคต ชมพูพาน และหนุมาน ไปสืบหาที่ตั้งของเกาะลงกา
ทั้ง 3 พญาวานรได้พบพญานกสัมพาทีที่ภูเขาเหมติรัน พญานกสัมพาทีพา 3 วานรบินเร่ร่อนไปในมหาสมุทรและไปจับที่เขาคันธสิงขรแล้วแนะหนทางว่า
ครั้นถึงเขาคันธสิงขร ก็ราร่อนชี้บอกราชฐาน โน่นแน่ลงกากรุงมาร เป็นประธานในกลางสมุทรไท ดังหนึ่งจอกน้อยลอยอยู่ แลหาดูใคร่เห็นไม่ ท่ามกลางนิเวศเวียงชัย มีเขาหนึ่งใหญ่มหึมา
เป็นหลักลงกาทวีปอสุรินทร์ ชื่อนิลกาลาภูผา ท่านจงสำคัญให้มั่นตา นั่นคือลงกาธานี
คำชี้แนะของพญานกสัมพาทีมีความสำคัญ เพราะได้เน้นอย่างหนักแน่นว่า "เป็นหลักลงกาทวีปอสุรินทร์ ชื่อนิลกาลาภูผา ท่านจงสำคัญให้มั่นตา
นั่นคือ "ลงกา" ธานี
เมื่อกำหนดทิศทางเมืองลงกาแน่นอนแล้ว พญานกสัมพาทีก็พา 3 วานรกลับมาส่งที่ภูเขาเหิมติรัน
จากนี้หนุมานก็ทิ้งองคตกับชมพูพานไว้ที่นั่น
ตัวเองเหาะไปลงกาแต่ลำพัง ปรากฏว่า ไปผิดทางจนไปพบพระนารทฤๅษีซึ่งตั้งสำนักอยู่ที่เขาโสฬส
ลอยลิ่วปลิวมาตามลมกรด ตกถึงโสฬสเขาใหญ่
เกินเมืองลงกาลงไป หมายใจว่านิลคีรี
พระนารทฤๅษีชี้ทางให้เหาะย้อนกลับไปและให้สังเกตภูเขานิลกาลาคีรีซึ่งสูงเยี่ยมเหมือนภูเขาจักรวาลตั้งอยู่เป็นหลักกรุงลงกา
หนุมานก็เดินทางไปสู่เกาะลงกาสมความปรารถนาและได้พบนางสีดาในที่สุด
แม้ในเบื้องต้น หนุมานจะเหาะเกินกรุงลงกา แต่เมื่อพระนารทฤๅษีชี้ทางให้ก็สามารถย้อนกลับไปได้และได้พบนางสีดาตามเป้าหมายอันกำหนดไว้เดิม
ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ศาสตราจารย์พิเศษแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเอาไว้ว่า
เหาะเกินลงกา หมายความว่า ทำเกินคำสั่งหรือเกินต้องการ
พร้อมกับยกตัวอย่างเช่น คนไหนได้คำสั่งให้ทำอะไรแต่ทำเกินที่ต้องการ ผู้เป็นนายหรือผู้ออกคำสั่งมักจะตำหนิลอยๆ ว่า
"ใช้ให้ทำอะไรก็เหาะเกินลงกาทุกที"
ประเด็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะทำตามคำสั่งของใคร หากแต่ทำไปตาม "คำร้อง"
ถามว่า "ลงกา" ในเรื่องนี้อยู่ที่ไหน
คำตอบ 1 เมื่อคำร้องเน้นไปยังกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ
คำตอบ 1 เมื่อร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ
ข้อสงสัยอันตามมาก็คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำ "เกิน" กว่าที่รัฐธรรมนูญมอบหมายหน้าที่ให้ แทนที่จะยึดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกลับไปอาศัยประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง แทนที่จะยึดหลักนิติศาสตร์กลับยึดแนวทางรัฐศาสตร์
จึงสะท้อนอาการเหาะเกินลงกาเช่นเดียวกับหนุมาน
การเหาะเกินลงกาของหนุมานเมื่อรู้ตัวและได้รับการชี้ทางจากพระนารทฤๅษีก็สามารถน้อยกลับได้
คำถามก็คือ เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งเกินอำนาจของตนเองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้และได้รับคำทักท้วงจากรอบทิศหลายทางว่าที่ทำไปไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย
ปมเงื่อนอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเชื่อเหมือนหนุมานเชื่อพระนารทฤๅษีหรือไม่
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1339134684&grpid=01&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น