Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาพยนตร์‘นายกฯเทพประทาน’ตอน‘เทพกระตุก’เทหน้าตักหมดตัว

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 364 วันที่ 16 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หน้า 11 คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ จันทรคีรี


สถานการณ์บานปลายมาจนถึงป่านนี้ ผู้ที่สนใจการเมืองจริงจังก็คงจะวิเคราะห์และมองกันออกว่าขณะนี้ใครคือนายโรงตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวทั้งหมด ทั้งเกมนอกสภาและในสภา เกมบนดินและใต้ดิน

จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวบางสายให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า มีนายทหารเรือยศพลเรือเอกอักษรย่อ พ.พานเป็นคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจนอกระบบและสูงล้นด้วยบารมี ได้กระโจนลงมาเล่นบทเป็นกัปตันด้วยตนเอง ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ให้เล่นเกมป่วนสภา เดินยุทธศาสตร์เพื่อทำลายสถาบันนิติบัญญัติให้ประชาชนหมดความเชื่อถือ

แม้แต่เรื่อง 5 ส.ส. ป่วนสภาก็คงยังไม่จบง่ายๆ อาจกลายเป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมทั้งมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับ ส.ส. เหล่านี้ หรืออาจมีมาตรการจากคณะกรรมการจรรยาบรรณและจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรออกมาลงโทษในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การประณามอย่างเป็นทางการจนถึงขั้นถอดถอน แต่ผลข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ต้องถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำงานได้ผลแล้ว

ผลประการแรกคือ ขัดขวางการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อยก็ทำให้ พ.ร.บ.ปรองดองต้องถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือเร็วที่สุดก็เป็นเดือนสิงหาคมที่จะเปิดการประชุมสมัยสามัญของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งการยืดเกมออกไปเป็นยุทธวิธีที่พรรคประชาธิปัตย์ถนัดและวางไว้ เพราะกว่าจะถึงเวลานั้นก็อาจเกิดการแทรกซ้อนและเกมต่างๆเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะ อำนาจนอกระบบหรือ อำนาจแฝงที่วางยุทธศาสตร์จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปลี่ยนแปลงจากจุดแข็งในแง่การบริหารจัดการกลายไปเป็นจุดอ่อนและปัญหาทางการเมือง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลยังชั้นเชิงอ่อนเกินไปที่จะตั้งรับปัญหาทางการเมืองได้

ดังนั้น การสร้างความกดดันและความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆทำให้รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหา แต่ชั้นเชิงด้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งรัฐบาลต้องหมกมุ่นแก้ปัญหาทางการเมือง เวลาที่จะแสดงฝีมือให้เห็นเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นจุดเด่นของรัฐบาลยิ่งลดน้อยลง

เมื่อมองเกมอย่างนี้แล้ว เห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำไมสร้างวิกฤตให้กับกระบวนการนิติบัญญัติ อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาลต้องมาแก้ไขปัญหาที่วางยาเอาไว้ 3 ขนานด้วยกันคือ ปัญหา พ.ร.บ.ปรองดอง ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และชนวนใหม่ ปมขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดจึงเป็นความสำเร็จของอำนาจแฝงที่จะลากจูงรัฐบาลให้ลงมาหมกมุ่นและจมปลักอยู่กับปัญหาทางการเมือง ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลจะเสียเปรียบในการแก้ไขปัญหาหมากกลที่วางเอาไว้เป็นกับดัก

ความจริงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเดิมที่ผู้อำนวยการสร้างได้ทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นเรื่อง นายกฯเทพประทานเข้าใจว่าสคริปต์พิมพ์เขียวนี้ได้ถูกเขียนขึ้นมาอีกครั้งตามแบบบทเดิม คืออาศัยเกมในสภาโดยใช้พรรคประชาธิปัตย์ป่วนสภา ต่อมาก็ผสานกับเกมนอกสภา โดยใช้มวลชนและลิ่วล้อเสื้อสีต่างๆมากดดันปิดสภาไปจนถึงสร้างปมความขัดแย้ง จากนั้นก็ใช้เป็นเงื่อนไขให้ไปหา ผู้ร้ายในภาพ วีรบุรุษขี่ม้าขาวมากู้สถานการณ์ด้วยการทำรัฐประหาร และตัวแสดงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ลืมใช้คือ คณะตุลาการภิวัฒน์ออกมาเล่นบทเสริม

แต่บทบาทของตุลาการภิวัฒน์ก็ถือเป็นตัวแสดงที่สำคัญ ซึ่งมีคำถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมถอยหลัง ขณะที่การถอดถอนก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. 3 ใน 5 ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ ส.ว. จะลงมติถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีเบ้าหลอมมาจากภาพยนตร์เรื่องเดียวกันเมื่อ 19 กันยายน 2549

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงทำได้มากที่สุดแค่ระดมรายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อกดดันให้เห็นในแง่ของมวลชนเท่านั้น ซึ่งน่าวิเคราะห์ว่ากระแสการกดดันนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไป?

ถ้าเอาคำพูดของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาอ้างที่ว่า เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าการที่ตัวเองโยนเอกสารใส่ประธานรัฐสภานั้น เพราะต้องการกระตุกแรงๆให้ประชาชนได้เห็นความไม่ชอบมาพากลของรัฐสภา วาทกรรมกระตุกแรงๆนี้คงเอามาใช้อธิบายถึงพฤติกรรมของศาลรัฐธรรมนูญที่แจกแจงว่า ในการไต่สวนที่จะถึงนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ตรวจสอบความคิดอ่านของแนวทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญว่าผู้ร่างมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับโครงสร้างของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำอะไรเลย แล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาแบบเป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้

ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้วาทกรรมชุดเดียวกับหมอวรงค์คือ วาทกรรมกระตุกแรงๆ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกระตุกแรงเกินไปจนตัวเองกลายเป็นผู้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้วยังกลายเป็นตัวการที่สร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยบานปลายออกไปอีก เป็นพฤติกรรมที่ขัดขวางการปรองดองในแนวทางเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่แตกต่างกันเลย

ในคราวนี้บทภาพยนตร์จึงไม่แตกต่างจาก 19 กันยายน 2549 เมื่อมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า บุคคลสำคัญชื่อย่อว่า ส.เสือจากพรรคประชาธิปัตย์กำลังเดินสายล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประสานเกมกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทยอีกรอบ โดยความเชื่อว่าถ้ายุบพรรคเพื่อไทยสำเร็จด้วยฝีมือของอำมาตย์ในศาลรัฐธรรมนูญก็จะเปิดโอกาสให้ ส.ส. สามารถย้ายพรรคได้ และจุดนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา กลายเป็นรัฐบาลเทพประทานอีกรอบ ซึ่งเชื่อว่าบุคคลที่ชื่อว่า ส.เสือและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คงแอบหวังเอาไว้ลึกๆที่ตัวเองอาจมีโอกาสได้เล่นบท นายกฯเทพประทานอีกครั้งก็ได้

การแสดงบทนี้จึงต้องใช้ตอนใหม่เป็น นายกฯเทพประทานด้วยฝีมือเทพกระตุกดังนั้น การกระตุกจึงเกิดขึ้นไปทั่ว กระตุกโดยศาลรัฐธรรมนูญ กระตุกป่วนสภาโดยพรรคประชาธิปัตย์ กระตุกเกมข้างถนนด้วยมวลชนเสื้อหลากสีและเสื้อเหลือง แต่ต้องดูว่าจะมีอำมาตย์ขุนศึกออกมาร่วมกระตุกด้วยหรือไม่?

หากมีการกระตุกตรงนี้ กระบวนการคนเสื้อแดงก็ถือว่าจะได้โอกาส ปิดจ๊อบวัดดวงกันไปเลย!
เมื่อฝ่ายอำมาตย์หลังชนฝาแล้วเตรียมเทหมดหน้าตัก คนพวกนี้ก็พร้อมจะปั่นสถานการณ์ให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างรู้เท่าทัน รวมทั้งการสร้างสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆเพื่อประโยชน์ในการกระตุกของพวกเขา แม้กระทั่งคำเตือนของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้ระวังมือที่ 3 จะสอดแทรกเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล แม้กระทั่งเรื่องความปลอดภัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่พร้อมจะกระตุกให้เห็นอำนาจอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ว่าเห็นชีวิตของผู้อื่นมีสภาพเหมือนผักปลาอยู่แล้ว จึงต้องติดตามดูการกระตุกของอำนาจโบราณให้ดีว่า พวกเขาจะเล่นบทกระตุกอะไรต่อไป?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น