Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บาทก้าว การเมือง เผชิญ ภาวะ "คิลลิ่ง โซน" ทั้งฝ่ายรุก ฝ่ายต้าน

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2555

เหมือนกับนับแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง จะเป็นฝ่ายรุก

รุกด้วยจำนวน ส.ส. 265 คน

รุกด้วยการเป็นพันธมิตรกับ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน จัดตั้งรัฐบาลผสม 300 เสียง

รุกด้วยการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291

รุกด้วยการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติสภาผู้แทนราษฎรกระทั่งผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และลงเอยด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ

เหมือนกับเป็นการรุกอย่างต่อเนื่อง

แต่แล้วญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา291ก็ปะทะเข้ากับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการลงมติในวาระ 3

ขณะเดียวกัน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ติดบ่วงสนามกอล์ฟอัลไพน์ ขณะที่อัยการสั่งฟ้องคดีปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย

เท่ากับเป็นการต้านกลับ

อย่าได้แปลกใจหากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะประกาศ"แขวน"ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

แขวนอย่างไม่มีกำหนด

อย่าได้แปลกใจหากมติพรรคร่วมรัฐบาลมติพรรคเพื่อไทย จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือยังไม่ลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระ 3

ยอมรับต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ครม.ก็เห็นชอบในการตราพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของมติพรรคร่วมรัฐบาล ตามข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร

นี่ย่อมเป็นการถอย

เหมือนกับเป็นการถอย หากแต่ภายในกระบวนการถอยก็สะท้อนการถอยในทางยุทธศาสตร์ดำรงอยู่ เพียงแต่ในบางขั้นตอนมิได้มีการกำหนดกระบวนการอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ริ้วรอยอันปรากฏผ่านญัตติจะรับหรือไม่รับต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างค่อนข้างทุลักทุเล

มีเสียงต่ำกว่าจำนวนกึ่งหนึ่งเพียงไม่กี่คะแนน

ริ้วรอยนั้นสัมผัสได้จากการขาดประชุมของ17ส.ส.พรรคเพื่อไทย 8 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ส.ส.พรรคชาติพัฒนา

นี่ย่อมเป็นปัญหาภายในรัฐบาล

หากมองจากปัญหาที่รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องเผชิญหากมีการลงมติผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3

ก็มากด้วยความละเอียดอ่อน

เป็นความละเอียดอ่อนที่นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนนัดแรกในต้นเดือนกรกฎาคม

ที่หน่วยงานข่าวด้านความมั่นคง12หน่วยงานสรุปร่วมเป็นข้อเสนอว่าเท่ากับผลักดันให้นายกรัฐมนตรีเข้าไปอยู่ในคิลลิ่งโซน แดนประหาร

ถูกต้อง

เพราะนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทั้งในฐานะผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

จำเป็นต้องถอย

ขณะเดียวกัน การถอยของรัฐบาล การถอยของพรรคเพื่อไทย ก็ทำให้ภาระและความรับผิดชอบวางอยู่บนบ่าของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอยู่กับ 5 คณะซึ่งเป็นผู้ร้องผ่านมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ

มิอาจปัดปฏิเสธได้

การเมืองนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งชะลอไม่ให้ลงมติวาระ3ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่งผลให้สถานการณ์ขับเคลื่อนเข้าจุดปะทะในลักษณะล่อแหลม ร้อนแรง เข้าใกล้จุดแตกหักมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

นี่ย่อมต่างกับเมื่อเดือนธันวาคม 2551 อย่างสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น