ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2555
แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ใช้อำนาจประธานรัฐสภา เดินหน้า "ผ่าหมาก" คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้ชะลอกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เป็นเสียงเรียกร้อง จากนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช., นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, รวมถึงคนบ้านเลขที่ 111 อย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง ฯลฯ ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ปกป้องการแทรกแซง
ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย กรรมการประสานงานสภาผู้แทนฯ หรือวิปรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค เสนอให้ชะลอการลงมติไปก่อน
สุดท้าย รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ใช้วิธีเสนอพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.
เท่ากับ "แขวน" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291" และ "ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ" ไว้ในระเบียบวาระ
รอเปิดสมัยประชุมหน้า ในวันที่ 1 ส.ค. ค่อยกลับมาเริ่มต้นกันใหม่
การปิดสมัยประชุม อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
แต่การที่ได้มีเวลามากขึ้น ในการพินิจพิจารณาปัญหา และความคิดเห็นต่างๆ ให้รอบด้านต่างหาก คือประโยชน์สำคัญ ที่ได้จากการปิดสมัยประชุม
ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยจะได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดอง และนำข้อมูลข่าวสาร แก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
แต่ฝ่ายที่ต่อต้านกฎหมายปรองดอง ก็จะได้มีโอกาสทบทวนการเคลื่อนไหวของตนเองอีกด้วยว่าที่ผ่านมา เหมาะสมถูกต้องเพียงใด
การบุกขึ้นไปบนบัลลังก์ กระชากตัวประธานที่ประชุม ขว้างปาหนังสือ กองเอกสาร แฟ้ม เข้าใส่ผู้ทำหน้าที่ประธาน การลากเก้าอี้ประธานไปทิ้ง
เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์จริงหรือ
การตะโกนโห่ฮาด่าทอ การประท้วง ใช้เวลาของสภาอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อเตะถ่วงมิให้กฎหมายที่ตนเองไม่เห็นด้วย ไม่อาจผ่านกระบวนการไปได้ อ้างหลักการที่อิงแอบอำนาจนิยม ฯลฯ
เป็นการต่อสู้ในกรอบอันอารยะของประชาธิปไตยหรือ
และการที่ประชาธิปไตยตกต่ำสุดในรอบ 80 ปี เป็นผลจากการกระทำของใคร
ฝ่ายเสียงข้างมากเอง ก็ต้องบริหารเสียงข้างมากของตนเอง อย่างมี "ศิลปะ" ให้มากขึ้น
ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้ใช้เวลาดำเนินกระบวนการต่างๆ ในการวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างประชาธิปไตย และเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยมิชอบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จริงหรือ
ถ้าจริง ไฉน ส.ส.และ ส.ว. จึงได้ร่วมลงมติรับหลักการกันอย่างท่วมท้นถึง 399 เสียง
การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นมือออกไปรับเรื่องเองโดยตรง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุด เป็นเรื่องที่กระทำได้จริงหรือไม่
จะได้เป็นเวลาของการใคร่ครวญด้วยว่า การอ้างบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการถ่วงดุลรัฐสภาด้วยการสั่งชะลอการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายรับรองบทบาทนี้หรือไม่
ส่วนเครือข่ายตุลาการภิวัฒน์ ก็จะได้ทบทวนผลดีผลเสียของการใช้ตุลาการภิวัฒน์เข้าไปจัดระบบการเมือง
ว่าสรุปแล้วขาดทุน-กำไร หรือเสมอตัวหรืออย่างไร
เวลา 1 เดือน ถือว่าไม่มากไม่น้อย ขึ้นกับว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายสำหรับบทบาทการกระทำของตนเองอย่างไร
หาก "กฎหมายสูงสุด" สำหรับทุกฝ่าย คือ "ประโยชน์สุขของประชาชน"
ดังภาษิตกฎหมายที่ว่า "ประโยชน์สุขของประชาชน คือกฎหมายสูงสุด"
มีแต่อาศัยหลักคิดนี้เท่านั้น จึงจะถอดชนวนระเบิดที่กำลังร้อนที่นี้ได้
แล้วคิดว่าจะรอดจากการโดนยุบพรรคหรือคะ ตอนนี้ เริ่มฟ้องคนโน้นคนนี้ ทีละคนแล้ว หาเรื่องเข้ามาให้เพื่อไทยต้องวิ่งวุ่นแล้ว
ตอบลบ