โดยทนายความสุวิทย์ ทองนวล
จาก RED POWER เล่มที่ 16 ปักแรก 15 กรกฎาคม 2554
10 องค์กรสิทธิมนุษยชนนำโดย The Asian Human Rights Commission ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย ที่หน่วงเหนี่ยวกักขังทำร้ายร่างกายและจิตใจนักโทษการเมืองจำนวนมาก และให้รีบปลดปล่อยและยุติความโหดร้ายทารุณทุกรูปแบบโดยแถลงข่าวเมื่อ 26 มิถุนายน 2554 พอดีเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ผมในฐานะทนายความของ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Red Power ที่ถูกกักขังระหว่างก่อนส่งฟ้องศาลซึ่งโดยสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่ไทยลงนามรับรองสิทธิของผู้ต้องหาที่ศาลยังมิได้ตัดสินคดีว่ามีความผิด ควรจะได้รับการประกันตัวแต่นายสมยศได้เคยยื่นประกันตัวถึง 3 ครั้งแล้ว โดยยื่นในชั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษครั้งหนึ่ง และยื่นในชั้นศาล 2 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทั้งหมดโดยเฉพาะครั้งล่าสุดยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลเมื่อ 27 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นความบังเอิญที่ยื่นใกล้ๆกับองค์กรสิทธิมนุษยชนแถลงข่าว ซึ่งคุณสมยศก็อยู่ในกลุ่มผู้ต้องหาที่พวกองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจต่อแนวทางของศาลไทยและความประสงค์ของแฟนคลับคุณสมยศที่โทรมาถามผมอยู่เสมอ เพราะอยากทราบความคืบหน้า ผมในฐานะทนายความจึงขอนำคำสั่งศาลและคำร้องที่ยื่นล่าสุดนี้มาให้ประชาชนได้ศึกษากัน
แต่เพื่อเข้าใจง่ายๆและเหมาะกับเนื้อที่กระดาษของหนังสือพิมพ์ผมจะนำประเด็นในคำร้องที่เสนอต่อศาลมาเสนอโดยตัดบางส่วนของคำร้องเล็กๆน้อยๆออกบ้าง แต่ที่ผมเสียใจที่สุดคือผมเรียบเรียงคำร้องอยู่หลายวันเพื่อขอความเมตตาจากศาลโดยชี้ถึงคำสั่งที่ไม่ให้ประกันครั้งก่อนว่าคลาดเคลื่อนอย่างไร และเพื่อผดุงเกียรติยศของศาลไทย ซึ่งมีความยาวถึง 11 หน้ากระดาษแต่ท่านรองอธิบดีศาลมีคำสั่งสั้นๆไม่กี่บรรทัดปฏิเสธห้วนๆว่า “เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” และเดี๋ยวนี้เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นคดีการเมืองศาลที่เข้าเวรพิจารณาจะไม่มีสิทธิ์พิจารณาเพราะทุกคดีการเมืองวันนี้ศาลผู้ใหญ่ระดับอธิบดีและรองอธิบดี เป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมเท่านั้น จึงขอสรุปคำร้องประเด็นสำคัญมาให้ทราบดังนี้
ข้อ 1. คดีนี้อยู่ในระหว่างพนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนต่อศาล ผู้ต้องหาขอกราบเรียนว่า ด้วยข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนที่พนักงานสอบสวนผู้คัดค้านได้กราบเรียนข้อความเท็จต่อศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการหลบหนีซึ่งเป็นการกล่าวเท็จของพนักงานสอบสวนจึงมีผลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “คดีมีอัตราโทษสูง ตามข้อหาเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนโดยรวม ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะกำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หากให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง...” แต่เพื่อให้ดุลยพินิจของศาลอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเพื่อผดุงกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับความเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศในเมตตาธรรมแห่งกระบวนการศาลไทย ผู้ต้องหาจึงขอประทานอนุญาตยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ต้องหาเชื่อมั่นว่าจะได้รับเมตตาธรรมจากศาลตามหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นสมาชิกไว้แก่องค์การสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยผู้ต้องหาขอกราบเรียนเหตุผลในการยื่นคำร้องดังนี้
ข้อ 2 ผู้ต้องหามิได้กำลังจะหลบหนีตามคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดคำกล่าวของพนักงานสอบสวนที่กล่าวต่อศาลเป็นเท็จ
ผู้ต้องหาขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่า แม้ผู้ต้องหาจะถูกจับขณะจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก็จริง แต่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างยิ่งจนนำมาสู่การนำความเท็จมากล่าวต่อศาล กล่าวคือ ผู้ต้องหามีอาชีพเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แต่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ เนื่องจากเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆจึงประกอบอาชีพเสริมโดยพาคณะท่องเที่ยวไปเที่ยวประเทศกัมพูชาและประเทศแถบอินโดจีนมาเป็นเวลานานประมาณปีเศษแล้วโดยทำงานร่วมกับนายยงยุทธ อุกฤษ เจ้าของบริษัท เอที ชลบุรีทัวส์ จำกัด ปรากฏหลักฐานการโฆษณาที่แนบมาท้ายคำร้องนี้ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 1) และจากการพาคณะไปท่องเที่ยวผู้ต้องหาก็นำเรื่องราวจากการเดินทางมาเขียนตีพิมพ์ในนิตยสาร เพื่อเชิญชวนผู้อ่านไปเที่ยวอันเป็นการส่งเสริมการตลาดอีกด้วย ปรากฏหลักฐานบทความสารคดีการท่องเที่ยวที่ลงในนิตยสาร Red Power หลายฉบับที่แนบมานี้ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 2) การเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นวันที่ผู้ต้องหาถูกจับ เป็นรายการที่ผู้ต้องหาและผู้ร่วมงานกำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างเปิดเผยแล้วที่จะเดินทางพาคณะไปเที่ยวประเทศกัมพูชาระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2554 ปรากฏหลักฐานตามสำเนาภาพถ่ายรายการโฆษณาที่ลงในนิตยสาร Red Power ท้ายคำร้อง (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 3) ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาเคยพาคณะไปเที่ยวประเทศกัมพูชามาแล้วถึง 3 ครั้ง คือระหว่างวันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2553 และระหว่างวันที่ 4 – 6 ธันวาคม 2553 และระหว่างวันที่ 20 – 22 กุมภาพันธ์ 2554 และก็กลับเข้าประเทศเป็นปกติในทางเดียวกัน ปรากฏหลักฐานตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือเดินทางระหว่างประเทศที่ตรวจลงตราการผ่านเข้าออกประเทศ ท้ายคำร้อง (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 4) ดังนั้นการที่ผู้ต้องหาจะเดินทางไปประเทศกัมพูชาในวันที่ 30 เมษายน 2554 จึงมิใช่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจะหลบหนีตามเหตุผลที่พนักงานสอบสวนร้องคัดค้าน
ข้อ 3 ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติการหนีคดีเลย
ข้อ 3 ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติการหนีคดีเลย
ผู้ต้องหาคดีนี้เคยถูกควบคุมตัวมาแล้วหลายครั้งและล้วนแต่เป็นคดีการเมือง เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยมานานกว่า 10 ปี เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเมื่อครั้งรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อกลางปี 2553 ผู้ต้องหาในฐานะบรรณาธิการของนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ในขณะนั้นได้ร่วมกับนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลอย่างเปิดเผยจึงถูกจับกุมตัวในข้อหาว่ากระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ต้องหาก็ไม่ได้คิดจะหลบหนี และถูกทหารนำตัวไปขังไว้ที่ค่ายอดิสร จังหวัดสระบุรี ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาก็ถูก พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร หนึ่งในคณะผู้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 1078/2552 เรื่องที่ผู้ต้องหาออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการยึดอำนาจของ พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร และนอกจากนี้ยังถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตในเหตุการณ์ที่ผู้ต้องหาร่วมชุมนุมคัดค้านที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจทำลายระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้แต่งตั้งโดยผู้ต้องหาเป็นจำเลยใน 3 คดีได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 593/2553 แดงที่ 3390/2553, คดีหมายเลขดำที่ 594/2553 แดงที่ 208/2554, คดีหมายเลขดำที่ 595/2553 แดงที่ 658/2554 ของศาลแขวงดุสิต ซึ่งในระหว่างการพิจารณาคดีทั้งหมด ผู้ต้องหาก็ได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แม้การพิจารณายาวนานเป็นปีแต่ผู้ต้องหาก็ไม่เคยคิดหลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาก็มีฐานะยากจนไม่มีทุนรอนพอที่จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศหรือหลบหนีโดยไม่ต้องทำมาหากินได้
ข้อ 4 คดีนี้เป็นคดีการเมืองที่ผู้ต้องหามิได้เป็นผู้กระทำเพียงแต่ผู้ต้องหาเป็นผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น
ข้อ 4 คดีนี้เป็นคดีการเมืองที่ผู้ต้องหามิได้เป็นผู้กระทำเพียงแต่ผู้ต้องหาเป็นผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น
ผู้ต้องหาประกอบอาชีพเป็นสื่อมวลชน ดูแลการตีพิมพ์บทความในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งในทางวิชาชีพของผู้ต้องหาประกอบกับผู้ต้องหามีชีวิตที่ต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมมาโดยตลอด ดังนั้นนิตยสารจึงมีแนวทางที่วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา ทำให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บริหารประเทศตลอด 2 ปี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีส่วนร่วมในการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯโดยไม่ชอบ โดยการยึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบิน และบริหารบ้านเมืองด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ไม่พอใจผู้ต้องหาในฐานะบรรณาธิการของนิตยสารที่ลงบทความวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมา จึงหาทางที่จะกลั่นแกล้งผู้ต้องหาไม่ให้สามารถดำเนินกิจการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไปได้ จึงพยายามกระทำทุกวิถีทางที่จะให้สื่อของผู้ต้องหาปิดกิจการลง อาทิเช่น ส่งเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่โรงพิมพ์ที่รับพิมพ์นิตยสารของผู้ต้องหา ข่มขู่ร้านค้าที่วางจำหน่ายนิตยสารของผู้ต้องหา จับผิดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการจัดพิมพ์เอกสาร จนกระทั่งตั้งข้อหาร้ายแรงอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้าและนำมาสู่การกลั่นแกล้งผู้ต้องหาโดยยัดเยียดข้อหาให้ผู้ต้องหาเป็นคดีนี้ ดังนั้นพฤติการณ์ในการดำเนินคดีนี้จึงเป็นคดีทางการเมืองที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสืบสวนคดีพิเศษ กระทำการรับใช้ทางการเมืองอย่างไม่ชอบโดยใช้กฎหมายเพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล และที่เลวร้ายที่สุดคือการนำกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือ
คดีนี้จึงเป็นคดีทางการเมืองซึ่งเป็นคดีที่ต่อสู้กันทางความคิดที่แต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ลักษณะของการกระทำไม่เหมือนคดีอาญาทั่วๆไป ผู้ต้องหาเพียงแต่นำบทความของบุคคลภายนอกที่ใช้นามปากกาว่า“จิตร พลจันทร์” ส่งมาให้ที่สำนักพิมพ์ของผู้ต้องหาทางการสื่อสารอิเลคโทรนิค ซึ่งผู้ต้องหาได้อ่านแล้วในฐานะบรรณาธิการเห็นว่าไม่มีข้อความตอนใดที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การนำบทความดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสาร Voice of Taksin จึงเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่จะกระทำได้และยิ่งตัวผู้ต้องหาในฐานะสื่อมวลชนก็ยิ่งสามารถกระทำได้และพึงกระทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาตรา 45 บัญญัติคุ้มครองไว้ เพื่อผดุงไว้ซึ่งคุณธรรมและเมตตาธรรมของระบบศาลไทยเพื่อให้มหาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเชื่อถือซึ่งหากเป็นไปตามครรลองที่กล่าวนี้ การนำบทความของ จิตร พลจันทร์ ไปตีพิมพ์ย่อมเห็นได้ด้วยดวงตาธรรมของศาลเองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ที่ก้าวหน้าและเป็นไปตามวิถีแห่งสังคมสมัยใหม่ที่ถือปรัชญาชีวิตแห่งปัจเจกชนนิยม โดยไม่มีเจตนาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาแม้แต่น้อย พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำคดีนี้เพื่อต้องการสนองนโยบายรัฐบาลชุดนี้ กล่าวคือ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เคยแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงว่า มีขบวนการล้มเจ้าและอ้างผังล้มเจ้าซึ่งมีบุคคลต่างๆในผังล้มเจ้าของ ศอฉ. หนึ่งในนั้นคือนิตยสาร Voice of Taksin และตัวของผู้ต้องหากับ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ต่อมาผศ.ดร.สุธาชัย ฯ ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ 2 และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ 3 ผู้แถลงข่าวเป็นจำเลยต่อศาลอาญาฐานหมิ่นประมาท ต่อมาคู่กรณีโดยเฉพาะ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด จำเลยที่ 3 ได้แถลงยอมรับว่าบุคคลผู้มีชื่อในผังล้มเจ้ามิได้กระทำผิดจริงเป็นการวิเคราะห์ ส่วนใครจะเชื่อก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นโดยแถลงต่อหน้าศาลว่า “ผังล้มเจ้าเป็นแค่การโยงบุคคลต่างๆ ว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร เช่น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะญาติพี่น้อง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะผู้ทำธุรกิจร่วมกัน อย่างนี้เป็นต้น มิได้แถลงว่า บุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น...........” รายละเอียดปรากฏตามคำแถลงที่แนบมานี้ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 5) ดังนั้นตามคำแถลงดังกล่าวของโฆษกกองทัพบก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ยืนยันแล้วว่า ข้อกล่าวหาที่ว่านิตยสาร Voice of Taksin และ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้ม ประเสริฐ อยู่ในขบวนการล้มเจ้านั้นไม่เป็นความจริง
ข้อ 5 คดีนี้ศาลยังไม่ตัดสินว่าผู้ต้องหามีความผิดตามข้อกล่าวหาดังนั้นจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหา เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญผู้ต้องหามีสิทธิที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้ยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวนซึ่งยังไม่ปรากฏชัดว่าจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้หรือไม่ การที่ผู้ต้องหาเป็นสื่อมวลชนต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำทั้งๆที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ากระทำความผิด จึงเป็นการปฏิบัติที่มิชอบต่อผู้ต้องหาอันเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 อย่างชัดเจน
จากการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เป็นสื่อมวลชนอย่างขาดเหตุขาดผลเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมิได้เป็นไปตามหลักแห่งสากล หากแต่เป็นไปตามอารมณ์ของผู้มีอำนาจรัฐย่อมไม่เป็นผลดีต่ออำนาจตุลาการที่เป็นอำนาจอิสระเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย ดังจะเห็นได้จากองค์กรต่างประเทศได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เช่นจดหมายขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซีย , จดหมายของสหภาพแรงงานแห่งชาติเนปาล, จดหมายของสหภาพแรงงานอาหารและการบริการแห่งชาติกัมพูชา ,จดหมายของสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคสังคมนิยมแห่งมาเลเซีย , จดหมายของศูนย์ข้อมูลแรงงานเอเชีย ฮ่องกง , จดหมายของเลขาธิการใหญ่ศูนย์ข้อมูลแรงงานเอเชีย ฮ่องกง และจดหมายของเครือข่ายการเคลื่อนไหวชุมชน ประเทศมาเลเซีย ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายจดหมายพร้อมคำแปล (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 6)
ด้วยเหตุดังประทานกราบเรียนมาข้างต้นการใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างดำเนินคดีจึงเป็นเรื่องของข้อยกเว้นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและควรใช้อำนาจอย่างจำกัด การปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในคดีอาญา เป็นการผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย หรือเสรีภาพในการเคลื่อนไหว และให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 4 ได้บัญญัติคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ที่ทุกองค์ทุกภาคส่วนต้องถือเป็นหลักแห่งบ้านเมืองที่บันทึกในสุพรรณบัฏมิใช่บันทึกบนกระดาษชำระ ดังนั้นหากเป็นไปตามครรลองแห่งระบบรัฐประชาธิปไตยที่ถูกต้องผู้ต้องหาจึงควรได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจนกระทั่งศาลจะตัดสินว่ามีความผิดจริง สำหรับคดีนี้ผู้ต้องหาต้องถูกจองจำโดยอำนาจรัฐที่มิชอบโดยผู้ต้องหายังมิได้มีโอกาสพิสูจน์ใดๆเลย การจองจำผู้ต้องหาเช่นนี้จึงเป็นการประจานระบอบรัฐของไทยว่าเนื้อแท้เป็นเผด็จการและแน่นอนศาลก็เป็นหนึ่งในอำนาจรัฐย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย การนำเสนอขอปล่อยชั่วคราวตามคำร้องนี้โดยเนื้อหาผู้ต้องหาต้องการผดุงระบบศาลไทยมิให้มัวหมองไปตามระบอบอำนาจรัฐเผด็จการ ด้วยความเคารพหากศาลยังเห็นว่าผู้ต้องหาอาจจะก่อเหตุใดๆที่ร้ายแรงตามความเชื่อของศาลนั้น ศาลย่อมที่จะกำหนดเงื่อนไขหรือออกข้อกำหนดที่จะให้ผู้ต้องหาปฏิบัติได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นทางออกที่ชอบตามกลไกแห่งอำนาจอธิปไตยอิสระและตามกลไกแห่งรัฐธรรมนูญ
ในการปล่อยชั่วคราวตามคำร้องนี้ไม่เป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล เนื่องจากผู้ต้องหามิได้มีอำนาจราชศักดิ์ใดๆที่จะกระทำการใดๆได้ ผู้ต้องหาเป็นเพียงสื่อมวลชนตัวเล็กๆ ที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ เสียภาษีให้รัฐเพื่อเลี้ยงชีพเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามหากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวกลับยิ่งก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชนถึงการใช้อำนาจอย่าง 2 มาตรฐาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาวการณ์ที่จะสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อความสมานฉันท์และปรองดองกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของประเทศชาติเวลานี้ ต้องการความสมานฉันท์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงักมายาวนาน ได้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีโดยเร็ว การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรคแต่ประการใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาเป็นหัวหน้าครอบครัวมีภาระต้องส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งมีบุตร – ธิดา ที่อยู่วัยกำลังศึกษาถึง ๒ คน มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ปรากฏหลักฐานตามสำเนาทะเบียนบ้าน ท้ายคำร้อง (เอกสารแนบท้ายหมายเลข 7) ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
สุดท้ายนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมว่าเหตุผลที่ผมเรียบเรียงมาทั้ง 5 ข้อนี้หากศาลจะให้ความกรุณาโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ก็น่าจะเป็นความปลาบปลื้มใจของผู้ต้องหาและทนายความดีกว่าที่ศาลจะเขียนคำสั่งเพียงสั้นๆเสมือนท่านมิได้อ่านความคิดเห็นของประชาชนผู้เสียภาษีให้ท่านเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น