วิกฤติไทยหยุดได้ชั่วคราวแต่หนีไม่พ้นสัจธรรม
จากบทชี้นำของ RED POWER ฉบับที่ 16
ผลการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นชัยชนะของพรรคเพื่อไทย แต่จะมากน้อยแค่ไหนไม่ทราบได้ แต่วิกฤติไทยก็หนีไม่พ้นสัจธรรมที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เชิงโครงสร้างทางการเมืองไม่ช้าก็เร็ว เพราะความขัดแย้งหลักวันนี้ไม่ใช่หัวเรื่อง “พรรคไหนจะเป็นนายกฯ”
การต่อสู้ทางการเมืองบนเส้นทางถนนเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนเนื้อแท้ของความขัดแย้ง และสุมไฟความขัดแย้งให้รุนแรงและเด่นชัดยากที่จะดับได้ด้วยน้ำมือของพรรคอำมาตย์และลูกสมุนอำมาตย์ในนามกลุ่มสยามสามัคคี โดยนำสถาบันสำคัญมาเป็นประเด็นหลักหักล้างทำลายเพื่อให้พรรคอำมาตย์ชนะเลือกตั้ง ทั้งๆที่ ก.ก.ต. มีมติแล้วไม่ให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการหาเสียงทางการเมือง
แผ่นผ้าขนาดใหญ่ในนามกลุ่มสยามสามัคคีที่ขึงกางบนทางด่วนว่า “อย่าเลือกพรรคเผาเมือง.... และเคืองแค้นสถาบัน”พร้อมทั้งซีดีเป็นล้านแผ่นถูกนำไปกระจายจ่ายแจกจนตำรวจจับได้หลายครั้ง หลักฐานยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ แต่ ก.ก.ต.ก็กลับเพิกเฉย ทำอะไรไม่ได้
ในขณะเดียวกันพลพรรคชาวไพร่ก็ตอบโต้ด้วยป้ายผ้าขนาดใหญ่ว่า “ไม่เลือกพรรคที่ร่วมรัฐประหารและสังหารประชาชน” พร้อมแจ้งชื่อไพร่ผู้ประกาศและเบอร์โทรศัพท์
จาตุรนต์ ฉายแสง แถลงเตือนภาวะแห่งอันตรายที่ฝ่ายอำมาตย์เป็นผู้สร้างวิกฤติให้แก่สถาบันอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ขอฟันธงว่าอำมาตย์รู้เท่าถึงการณ์ เพราะไม่อาจปกปิดความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างมีเงื่อนงำได้อีกต่อไป................รอแต่วันระเบิด
พลังมวลชนแห่งอำมาตย์ตั้งกองกำลังถล่มทำลายระบอบรัฐสภาอย่างไม่เขินอาย และท้าทายกฎหมายเลือกตั้ง ณ สะพานมัฆวาน ด้วยรูปสิงห์สาลาสัตว์ และคำเชิญชวน Vote No ซึ่งพร้อมเสมอที่จะบุกจู่โจมทุกรัฐบาลเพื่อสร้างระบอบอำนาจใหม่ (ตามคำโฆษณา) แต่เนื้อแท้คืออำนาจเก่าที่ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยอย่างซ่อนเร้น
การทิ้งระเบิดเวลาด้วยการประกาศลาออกจากองค์กรมรดกโลก ทั้งๆที่เป็นรัฐบาลรักษาการได้ถูกโต้แย้งจากรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณว่า นับแต่นี้ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ระเบิดก็จะทำหน้าที่เพราะการลาออกจากองค์กรมรดกโลกไม่ชอบทั้งเหตุผลทางกฎหมาย และเหตุผลการดำรงอยู่ในประชาคมโลก
เนื้อแท้ของปัญหาเขาพระวิหารก็เป็นเนื้อแท้ความขัดแย้งเชิงอารมณ์ที่เป็นแก่นแท้ของระบอบอำนาจไทยที่อำมาตย์ถือครอง
ความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้จึงละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ปี 2489 หลังการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 แล้วตามมาด้วยการใส่ร้ายป้ายสี โดยทุกกระบวนการความขัดแย้งรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันสูงสุด เพื่อทำลายนายปรีดี พยมยงค์ แกนนำอำนาจคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่าพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ยังดำรงชีพอยู่วันนี้มีบทบาทเป็นตัวแสดงสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์
ข้อความโจมตีทางการเมืองก็เป็นเรื่องเดียวกันกับวันนี้ เพียงแต่วันนั้นยังไม่รู้จัก “ระบอบประธานาธิบดี”แต่โจมตีกันในนาม “ระบอบมหาชนรัฐ”
ผลงานของพรรคประชาธิปัตย์เด่นชัดในอดีตจนนำมาสู่การยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 และนำมาสู่สงครามกลางเมืองหลายละลอกและการลอบสังหารยาวนานเกือบ 10 ปี
อย่าวางใจภาพลวงตาที่ต่างกาลและเวลา
หลังเลือกตั้งจะเกิดภาวะชั่วคราวแห่งความสงบ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ครองชัยชนะ แต่รับประกันว่าไม่น่าจะเกิน 6 เดือนสัญญาณอันตรายก็จะเริ่มส่งสัญญาณเตือน
อย่านอนหลับไปกับบทเพลงกล่อมของอำมาตย์ !!!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น