ขอแสดงความยินดีกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
แม้ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เธอจะเป็นนายกฯที่ดีไหม พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลที่ดีไหม
แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขามาอย่างถูกต้อง
ไม่ต้องร่ายมนต์ในสภา ไม่ต้องใช้ห้องลับในค่ายทหาร แค่ยอมให้ประชาชนเข้าคูหา ก็ชนะใสๆ 265 เสียง
ด้วยเสียงที่มากกว่าครึ่ง ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมั่นคงกว่าเดิม
วันต่อมาตลาดหุ้นก็ตอบรับทันที เด้งขึ้นถึง 48.80 จุด
…
อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนั้น
สุดท้ายคงต้องขึ้นอยู่กับว่าคนบางกลุ่มจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่
แม้แต่ทุกวันนี้ในสังคมออนไลน์ ยังปรากฎให้เห็นทัศนะที่ดูถูกคนไทยด้วยกัน
บ้างว่าคนอีสานยังโง่ ไร้การศึกษา หลงมัวเมาในประชานิยมและขายเสียงตนเองก่อนไปเลือกตั้ง
บ้างว่านี่คือการเสียกรุงครั้งที่ 3
บ้างก็ว่าคนไทยความจำสั้น ลืมเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง
บ้างถึงขนาดที่ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย
แนะให้กลับไปเป็นแบบพ่อปกครองลูกกันเลยทีเดียว
แต่วิกฤติการเมืองไทยในหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ผลกระทบจากวิกฤติการเมืองได้เข้าหาผู้คนจำนวนมาก บีบให้ประชาชนต้องรับรู้เรื่องราวทางการเมือง และเลือกข้าง เลือกว่า จะให้อนาคตประเทศไทยเป็นไปแบบไหน แบบ "อภิสิทธิ์" แบบ "ยิ่งลักษณ์" หรือจะโหวตโนแบบ "พันธมิตรฯ" คนไทยจึงได้เห็นภาพคนออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างถล่มทลาย ถึงกับร้องไห้เพราะไม่ได้เลือกตั้งก็มีให้เห็น แม้แต่ประเด็นเผาบ้านเผาเมืองที่ประชาธิปัตย์ใช้หาเสียงในโค้งสุดท้าย
คนส่วนใหญ่ก็คงตัดสินใจเชื่อแล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร และ "อดีตนายกฯ" ก็แพ้อย่างราบคาบ
แพ้ยิ่งกว่าการเลือกตั้งปี '50 เสียอีก
อภิสิทธิ์ จึงเป็นอีกหนึ่ง "อดีตนายกฯ" ที่ไม่เคยสัมผัสรสชาติของการชนะเลือกตั้ง
และถึงแม้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไขก๊อกลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว แต่หากมองกลับไปในอดีต เส้นทางการมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอดีตนายกฯผู้นี้
ต้องยอมรับว่า "ไม่ธรรมดา"
23 ธันวาคม 2550 แพ้เลือกตั้งนายสมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน 233 ต่อ 165 เสียง
25 พฤษภาคม ปีต่อมา พันธมิตรฯเริ่มชุมนุมยืดเยื้อที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
26 สิงหาคม พันธมิตรฯบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และทำเนียบรัฐบาล
31 สิงหาคม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
"..ยุบสภาจะเป็นการรับผิดชอบ ทำเถอะเพื่อบ้านเมืองสงบสร้างบรรทัดฐานที่ดีเถอะครับ.." อภิสิทธิ์ กล่าวในสภาผู้แทนราษฎร
9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวชสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี จากคดีรายการ "ชิมไปบ่นไป" ต่อมานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
7 ตุลาคม เกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับพันธมิตรฯจากความพยายามปิดล้อมรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 358 คน นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ "น้องโบว์" เสียชีวิต
9 ตุลาคม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
"ผมไม่นึกไม่ฝันว่าเรามีรัฐที่ได้ทำร้าย ประชาชนถึงขั้นเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสแล้ว เรายังมีรัฐที่พยายามยัดเยียดความผิดกลับไปให้ประชาชนอีก เป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้ครับ"
"ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชน ถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี"
25 พฤศจิกายน พันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนุญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน มัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนขั้วย้ายข้างจัดตั้งรัฐบาล
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาปฏิเสธเรื่องการเข้าไปพัวพันการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ปฏิเสธว่ามีการพูดคุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในค่ายทหารช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาลจริง
15 ธันวาคม ที่ประชุมรัฐสภาจึงมีมติเลือกนาย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย
6 วันต่อมา นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ "(การปิดสนามบิน) สนุกมาก อาหารดี ดนตรีไพเราะ"
……….
นี่คือเส้นทางการเป็นนายกฯที่ไม่เหมือนใคร และหวังว่าจะไม่มีใครเหมือนอีก !
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น