Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

1 ตำบล 1 ครูฝรั่ง อาชีวะต้องก้าวสู่หลักสูตรอินเตอร์

1 ตำบล 1 ครูฝรั่ง
อาชีวะต้องก้าวสู่หลักสูตรอินเตอร์
ส.ส.สุนัย จุลพงศธร



          ก่อนและหลังการเลือกตั้งนโยบายหาเสียงของทุกพรรคการเมือง ถูกกลบด้วยนโยบายลดแลกแจกแถม ที่เรียกว่า นโยบายประชานิยม จนทำให้นโยบายการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของทุกพรรคการเมืองถูกบดบังไปหมด
          เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. นายแอนดริว มอริส  ตัวแทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือที่รู้จักในนามยูนิเซฟและคณะได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทย โดยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการศึกษาของเด็กไทย ผมจึงขอถือโอกาสนี้บอกเล่ามายังประชาชนในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อให้พี่น้องประชาชนทราบถึงความห่วงใยและแนวคิดของพรรคบางด้านเกี่ยวกับการศึกษา
          แต่ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าที่กระผมนำเสนอนี้มิใช่เพื่อเสนอตัวแข่งขันที่จะเป็นรัฐมนตรีศึกษากับเขา ในเทศกาลจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ซึ่งถือเป็นปกติหลังเลือกตั้งที่ประชาชนค่อนข้างจะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อข่าวแย่งกันเป็นรัฐมนตรี  แต่กระผมขอเสนอในฐานะที่เคยนั่งบริหารอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการทั้งตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรี รวมทั้งนั่งอยู่ในกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ดังนี้
          หากจะดูแผนการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 จนมาถึงวันนี้ถือว่ามีจุดอ่อนอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญ และแม้รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้ผ่านแผนการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ในโอกาสครบ 1 ทศวรรษนับแต่ปี 2542 จุดอ่อนประเด็นสำคัญนี้ก็ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และจะนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคมในลักษณะชนชั้นที่เป็นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ปัญหาสำคัญที่จะขอกล่าวในที่นี้มี2 ประเด็นที่รัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ จะต้องให้ความสนใจ โดยไม่ว่ากระทรวงศึกษาจะเป็นโควต้าของพรรคชาติไทยพัฒนาก็ตามคือ
          1.ปัญหาระบบการบริหารการศึกษาที่ไม่ยอมกระจายอำนาจถ่ายโอนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          2.ปัญหาความล้มเหลวของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ที่เราใช้จ่ายงบประมาณไปอย่างมากในแต่ละปีแต่ไม่บังเกิดผล ด้วยกรอบวิธีคิดของความเชื่อโบราณว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่ของเรา และที่เราพูดและใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจของเราเพราะประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง
          วาทะกรรมข้างต้นนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูส่วนข้างมากและนักเรียนส่วนข้างมาก และเกิดผลกระทบต่อการเรียนวิชาชีพในระดับ ปวช. และ ปวส. อย่างน่าเสียดายโอกาสยิ่ง ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วในวันนี้ยุคนี้ภาษาอังกฤษมิใช่ภาษาต่างประเทศ หากแต่เป็นภาษากลางภาษาหนึ่งของมนุษยชาติที่ใครๆก็ต้องเรียนรู้และใครๆก็ต้องใช้
          ปัญหาประเด็นที่ 1 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ที่กระทรวงศึกษาขัดขวางการถ่ายโอนอำนาจตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกและรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีกำหนดไว้ก็ยิ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนมาก ซึ่งหากมีการถ่ายโอนก็จะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้ง่ายขึ้น
          ปัญหาประเด็นที่ 2 เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมที่ยาวนาน เชื่อหรือไม่ว่านโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลในโรงเรียนของรัฐยังไม่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กในระดับ ป.1 ป.4 และเมื่อขึ้นประถม 5 จึงจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษที่เป็นไวยากรณ์อังกฤษเป็นหลักและเรียนไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นผลให้เด็กไทยส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นทางโอกาสที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นจริง ปัญหาเหล่านี้พ่อแม่ผู้มีฐานะรู้ดีและแก้ด้วยวิธีส่งลูกเข้าโรงเรียนหลักสูตรอินเตอร์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษเกือบทุกวิชา ด้วยค่าเล่าเรียนที่แพงสูงลิ่ว
          กระแสความต้องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของประชาชน กลายเป็นกระแสที่เป็นจริงแต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่สนใจ
          วันนี้ครูโรงเรียนรัฐบาลก็รับรู้ปัญหานี้หลายโรงเรียนของรัฐได้เปิดหลักสูตรพิเศษเช่นเดียวกับโรงเรียนอินเตอร์ และก็เก็บค่าเล่าเรียนเป็นพิเศษที่ลูกคนจนเรียนไม่ได้
          แน่นอนที่สุดอีก 10 ปี ต่อไปในอนาคต เด็กที่รู้ 2 ภาษา ทั้งเขียนได้,พูดได้,ใช้ได้ ย่อมได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเด็กที่รู้ภาษาไทยภาษาเดียว ดังนั้นลูกคนรวยจึงยิ่งรวยขึ้นในขณะเดียวกันลูกคนจนยิ่งจนลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอนาคตอีก 10 ปี ช่องว่างทางสังคมจะยิ่งกว้างขึ้นความยากจนจะกลายเป็นวิกฤติความขับข้องใจ หรือ วิกฤติแห่งการก้าวไม่ทันทางวัฒนธรรม ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงและยากที่จะแก้ไข ซึ่งส่วนหนึ่งมีปรากฏการณ์อยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยในขณะนี้
          ที่น่าสังเกตที่สุดก็คือ การตื่นตัวเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นไปเองโดยรัฐไม่ได้ให้ความสนใจเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของโรงเรียนสายสามัญ แต่ไม่เกิดขึ้นในโรงเรียนอาชีวะหรือวิทยาลัยอาชีวะ เลย ดังจะเห็นได้จากหาโรงเรียนอาชีวะอินเตอร์ยากมากทั้งภาคเอกชนโดยเฉพาะภาครัฐ
          เด็กอาชีวะส่วนใหญ่เป็นลูกคนยากคนจนที่มาเรียน ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยคนจนเป็นฝ่ายข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสายสามัญ ดังนั้นความเป็นจริงที่คนรวยส่วนน้อยจะยิ่งรวยขึ้น และคนจนส่วนใหญ่จะยิ่งจนลง โดยสืบต่อความยากจนถึงชั้นลูกชั้นหลาน จากความล้มเหลวของระบบการศึกษานี้
          จากบทความนี้ยังคงไม่สามารถจะนำเสนอการแก้ไขทั้งระบบได้ คงต้องหารือจากนักการศึกษาหลายฝ่าย แต่เฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนเรื่องการศึกษาในประเด็นนี้ ผมขอนำเสนอนโยบายเร่งด่วนก้าวกระโดด 2 โครงการใหญ่คือ
          1.โครงการ 1 ตำบล 1 ครูฝรั่ง ซึ่งจะใช้ครูฝรั่งอาสาสมัครจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ประมาณ 7,000 คน เท่านั้น ด้วยต้นทุนต่ำสุดด้วยการประสานงานกับหน่วยงานทางสากลที่ผมได้เคยทาบทามไว้แล้วในครั้งเมื่อทำงานด้านนโยบายในกระทรวงศึกษา
          2.ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ของอาชีวะศึกษาทั้งหมดทันทีเป็น 2 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เพื่อเร่งรัดยกระดับประสิทธิภาพของแรงงานไทยเพื่อก้าวสู่แรงงานทางสากลที่จะได้รับผลตอบแทนสูง ทั้งแรงงานในประเทศและที่จะส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยตรง
          ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงแต่ใช้การบริหารเชิงนโยบายเท่านั้น และจะต้องเร่งให้เรื่องการศึกษางอกขึ้นให้พ้นจากการปกคลุมด้วยนโยบายประชานิยม ปาก ท้อง โดยเร่งด่วน
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น