Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แจกใบแดง กกต.

แจกใบแดง กกต.

บทความของใบตองแห้ง จาก Voice Bloger

12 กรกฎาคม 54



คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศรับรอง ส.ส.ล็อตแรกวันนี้ ส่วนที่เหลือยังต้องรอพิจารณาใบเหลืองใบแดง กว่าจะเปิดประชุมสภาได้ ก็ต้องมี ส.ส.ครบ 475 คน นี่คือการเลือกตั้งที่ประหลาดพิกลกว่าสากลโลก อุตส่าห์ลุ้นกันแทบตายในวันที่ 3 ก.ค.แต่ต้องรอจนเหงือกแห้ง กว่าจะได้รัฐบาลใหม่

กกต.จะแจกใบเหลืองใบแดงใครก็ตาม ในสายตาชาวบ้าน เขาสรุปกันเรียบร้อยแล้วครับ ว่าคนแรกที่ควรถูกแจกใบแดง ก็คือ กกต.นั่นเอง ฐานจัดการเลือกตั้งไม่เอาไหน สร้างความสับสน คลุมเครือ มีบัตรเสียแบบบัญชีรายชื่อถึง 1.7 ล้านใบ แบบแบ่งเขต 2 ล้านใบ

มิหนำซ้ำผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อกับแบบแบ่งเขตยังไม่เท่ากัน ตอนแรกบอกว่ามากกว่ากันถึง 83,222 คน จน อ.โคทม อารียา ต้องอุทานว่า มันเป็นไปได้ยังไง กกต.กลับมาแถลงใหม่ อ้างว่าตัวเลขคลาดเคลื่อน ต่างกันแค่ 167 ใบ

โชคเข้าข้าง กกต.นะครับ ที่ผลการเลือกตั้งออกมาทิ้งกันขาด พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.265 คน เกินครึ่งเบ็ดเสร็จ นี่ถ้าผลออกมาสองขั้วคู่คี่สูสีกัน คงมีม็อบบุกเผาสำนักงาน กกต. เพราะบัตรเสีย 2 ล้านใบอาจมีผลให้แต่ละขั้วได้ ส.ส.ต่างกันนับสิบ

อย่างน้อย พรรคเพื่อไทยก็ต้องร้องให้เปิดหีบบัตรพิสูจน์ว่า บัตรเสียนั้นเป็นบัตรกาเบอร์ 1 ผิดช่อง เพราะ กกต.พิมพ์โลโก้พรรคตัวนิดเดียวหรือเปล่า ซึ่งถ้าเปิดหีบหนึ่งเจอ 2-3 ใบ ก็เป็นเรื่องเป็นราวแน่นอน แต่นี่ พรรคเพื่อไทยชนะไปแล้วจึงไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด

กระทงที่ 1: ทำให้คนเสียสิทธิ

การเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขต จัดขึ้นในวันเดียวกัน ในเวลา 08.00-15.00 น.จากเดิมที่เคยจัด 2 วัน ให้เวลา 08.00-15.00 น.ทำให้คนไปใช้สิทธิไม่ทันจำนวนมาก รวมทั้งผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ก็มีไม่น้อย ที่ไม่ทราบว่าเมื่อตัวเองลงทะเบียนไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปี 2550 ถ้าไม่แจ้งความจำนงขอถอนชื่อ ก็จะยังมีชื่ออยู่ในบัญชีเลือกตั้งนอกเขต ถ้าไม่ไปใช้สิทธิในวันที่ 26 มิถุนายน ก็ไม่มีสิทธิไปเลือกตั้งในเขตวันที่ 3 กรกฎาคม เสียสิทธิไปเลย

โถ กระทั่งมหาจำลอง แกนนำ Vote No ยังไม่รู้ว่าตัวเองเสียสิทธิ กลายเป็นโหวตแป๊ก กกต.ชี้แจงประชาสัมพันธ์กันอย่างไรไม่ทราบ

ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล่วงหน้า 2 วัน แบบเดิม ที่ใครนึกครึ้มอยากเลือกตั้งก่อนเพื่อนก็ไปได้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์หัวคะแนนขนคนไปลงเลือกตั้งล่วงหน้ากันโครมๆ คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหลายๆ ครั้งออกมามีพิรุธ ไม่ได้สัดส่วนกับเลือกตั้งจริง

การแก้ไขกฎหมายให้ไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้เฉพาะผู้มีเหตุอันควร จึงชอบแล้ว และไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 2 วัน (ห้ามขายเหล้า 2 วัน ทั้งที่เลือกตั้งจริงห้ามขายเหล้าวันเดียว) เพียงแต่ไม่ทราบว่าทำไม กกต.ต้องร่นเวลาจาก 17.00 น.ขึ้นมาเป็น 15.00 น. สาเหตุที่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 ก.ค.กฎหมายให้เวลาถึง 15.00 น.ก็เพื่อให้มีเวลานับคะแนนเสร็จแล้วขนส่งหีบบัตรไปถึงเขตก่อนมืด แต่เลือกตั้งล่วงหน้าไม่มีความจำเป็นเช่นนั้น

ญาติผมไปลงเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เขาบอกว่าเมื่อปี 50 จัดดีกว่านี้ ป้ายบอกเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จะบอกชัดเจนว่าอำเภอไหนบ้าง แต่ครั้งนี้ไม่มี สมมติเช่น สระบุรีเขต 1-2-3-4 ต้องไล่ถามเอาเองว่า อ.มวกเหล็กอยู่เขตไหน

นี่อาจเป็นปัญหาเฉพาะเขตที่ญาติผมไปลง แต่ก็แสดงว่ามีความไม่พร้อมหลายด้าน เช่น จัดสถานที่คับแคบ ไม่มีที่จอดรถเพียงพอ ทำให้รถติด ทั้งที่จริง กกต.มีอำนาจจัดสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าได้หลายจุดในแต่ละเขตหรือแต่ละจังหวัด ถ้าเห็นว่าจำเป็น

เรื่องที่ผู้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ตั้งแต่ปี 50 แล้วไม่ไปในวันที่ 26 มิ.ย.ทำให้เสียสิทธินั้น กกต.อ้างว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 97 ก็จริงครับ แต่ กกต.ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบตั้งแต่ต้น (มัวแต่ไปติดป้ายรณรงค์ให้เลือกคนดี) มีการออกข่าวทางวิทยุทีวีบ้างเหมือนกัน ในช่วงก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7-8 วัน แต่ก็ยังมีคนตกข่าวเพียบ

แล้วจำได้ไหมว่า สุดสัปดาห์ก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า กกต.4 คนยังไปดูงานเมืองนอกอยู่เลย ท่านสมชัย จึงประเสริฐ เป็นคนเดียวที่ไม่ยอมไป บอกว่าห่วงการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกรงว่าจะไม่พร้อม สุดท้ายก็ไม่พร้อมจริงๆ

กระทงที่ 2: บ้าจี้สตริคนิน

แทนที่จะดูแลการเลือกตั้งให้พร้อม อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้ประชาชน และทำให้การหาเสียงแข่งขันกันเป็นไปอย่างมีรสชาติ พรรคการเมืองต่างๆ กระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ กกต.กลับตีกรอบการหาเสียงแบบสตริคนิน อาทิเช่น ห้ามใส่ร้ายป้ายสี มีความผิดถึงขั้นแจกใบแดงและยุบพรรค หรือจำกัดเวลาตั้งแต่ 18.00 น.ของวันที่ 2 ก.ค.ห้ามประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สั่งปิดการแสดงความเห็นทางเว็บไซต์ เฟซบุค และสื่ออิเลคทรอนิกต่างๆ

กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 58 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด นับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

กฎหมายห้ามโฆษณาหาเสียงนะครับ ไม่ได้ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น ถ้าเราตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างสอดคล้องกับความจริง ต้องเข้าใจว่ามาตรานี้เขียนตกทอดกันมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่การโฆษณาหาเสียงยังมีแต่รถแห่ผ่างๆ กฎหมายต้องการให้ยุติการหาเสียงแบบอึกทึกครึกโครม เพื่อเตรียมการเลือกตั้งอย่างสงบ แต่กฎหมายไม่สามารถห้ามคนคุยกันตามสภากาแฟ หรือทางโทรศัพท์

ปัจจุบันสภากาแฟมันกลายเป็นเฟซบุค ทวิตเตอร์ ผู้คนเขาก็ถกเถียงกันอย่างเป็นธรรมชาติว่าพรุ่งนี้จะเลือกใครดี นี่คือการกระตุ้นความสนใจทางการเมืองของประชาชน สร้างความตื่นตัวให้ไปใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่รบกวนสร้างความวุ่นวายต่อการเลือกตั้ง ถ้าตีความอย่างมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ก็ต้องเห็นว่านี่ไม่ใช่การโฆษณาหาเสียง

อย่างว่านะแหละ การเลือกตั้งในทัศนะคนชั้นกลาง นักวิชาการ นักกฎหมาย กลายเป็นกระบวนการสกปรก เวลาร่างกฎหมาย เวลาบังคับใช้ตีความ ก็มักจะเข้มงวดจุกจิก จนแทบกระดิกไม่ได้ จ้องจับผิด แทนที่จะเน้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ยกตัวอย่างกฎหมายห้ามขายเหล้า กลัวชาวบ้านถูกมอมเหล้าเข้าคูหา โถ ถ้าเมาขนาดนั้นมันกาเบอร์ไหนไม่ถูกหรอก กฎหมายนี้ตลกมากเวลาเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น เลือกผู้ว่า กทม. ร้านเหล้าเมืองนนท์ ปากน้ำ รังสิต ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ยกตัวอย่างกฎหมายห้ามจัดมหรสพ ยังกะคนไปดูหนังกลางแปลงแล้วต้องเลือกผู้สมัครที่เอาหนังมาฉาย มองชาวบ้านโง่ซะขนาดนั้น ทั้งที่ความจริง ผู้สมัครพูดมาก ไม่ฉายหนังซักที ชาวบ้านเขาก็ด่าเอา ช่วงหนึ่ง กกต.เคยตีความถึงขั้นห้ามแห่กลองยาววันสมัคร

กฎหมายห้ามใส่ร้ายป้ายสี มีความผิดถึงแจกใบแดงก็เหมือนกัน กกต.ตีความสตริคนิน จะให้นั่งพับเพียบหาเสียงหรือไร การโจมตีด่าทอกันพอหอมปากหอมคอ ถือเป็นรสชาติของการหาเสียงแบบไทยๆ ปชป.ด่าเพื่อไทยเผาบ้านเผาเมือง เพื่อไทยด่า ปชป.ฆาตกร ก็ปล่อยให้เขาด่ากันไป เว้นเสียแต่ก่อนเลือกตั้ง 2-3 วัน มาแจกใบปลิวโจมตีว่าคู่แข่งค้ายาบ้า ทั้งที่ความจริง เขาขายโชคอัพคายาบา นั่นแหละ เรียกว่าใส่ร้ายป้ายสี

กระทงที่ 3:ไม่โปร่งใส

ไม่โปร่งใสไม่ใช่จะชี้หน้าว่า กกต.โกง แต่ กกต.ไม่ทำอะไรให้มันชัดเจนแจ่มแจ้ง

เริ่มตั้งแต่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง กฎหมายอนุญาตให้ กกต.พิมพ์บัตรสำรองไว้ไม่เกิน 10% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กกต.ต้องประกาศให้ทราบตั้งแต่ต้น ว่าพิมพ์บัตรเกินเท่าไหร่ เรียกตัวแทนพรรคการเมือง สื่อ ไปดูบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ออกมาทั้งหมด หลังเลือกตั้งแล้ว นับจำนวนผู้ใช้สิทธิแล้ว เรียกคืนบัตรที่เหลือ แจกแจงรายละเอียดว่าจังหวัดต่างๆ เขตเลือกตั้งต่างๆ รับบัตรไปเท่าไหร่ ส่งคืนเท่าไหร่ เรียกสื่อและตัวแทนพรรคการเมืองมาดู แล้วเผาทำลายทิ้งเหมือนเผาทำลายยาเสพย์ติดที่บางปะอิน

พอ กกต.ไม่ทำให้กระบวนการชัดเจน ก็ถูกกังขา กระทั่ง นปช.ออกมาโวยว่า กกต.พิมพ์บัตรเกินถึง 7 ล้านใบ เกิน 10% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47 ล้านคน

นอกจากนี้ กกต.ยังถือวิสาสะ พิมพ์บัตรเลือกตั้งใส่โลโก้พรรคตามใจฉัน จนมีปัญหากับพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ออกแบบบัตรเลือกตั้งแล้ว เรียกตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคมาดูก่อนก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน

กกต.นับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.แต่จนบัดนี้ เปิดดูเว็บไซต์ กกต.จังหวัดต่างๆ ไม่ยักรายงานผลคะแนน ซึ่งควรจะรายงานลงไปถึงแต่ละหน่วยเสียด้วยซ้ำ สำนักงาน กกต.จังหวัดทำไมโครซอฟท์เอ็กเซลไม่เป็นหรือครับ ของพรรค์นี้ใช้เวลาไม่เกิน 7 วันน่าจะเสร็จ กกต.ทุกจังหวัดควรรายงานผลทุกหน่วย พร้อมกับแยกคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต เลือกตั้งข้ามประเทศ แจกแจงให้ประชาชนตรวจสอบได้

เลขาธิการ กกต.แถลงว่า บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีบัตรเสียถึง 1,726,015 ใบ หรือร้อยละ 4.9 บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีบัตรเสียถึง 2,039,694 ใบ หรือร้อยละ 5.79 แถลงเสร็จก็จบ จบแล้วจบเลย ยังงั้นหรือครับ กกต.ไม่คิดจะสืบสวนสอบสวนบ้างหรือว่าทำไมมีบัตรเสียมากขนาดนั้น ในเมื่อเป็นความรับผิดชอบของ กกต.ที่ต้องทำให้บัตรเสียน้อยที่สุด

อย่างน้อย กกต.ก็ควรสุ่มตัวอย่างเปิดหีบบัตรพิสูจน์ ว่าบัตรเสียมาจากสาเหตุอะไรบ้าง สรุป ประเมินผล วิเคราะห์ เอาไว้เป็นบทเรียนต่อไป ไม่ใช่ทำเฉยไม่แสดงความรับผิดชอบ (หรือกลัวว่าเปิดหีบมาจะเจอคนกาเบอร์ 1 ผิดช่องเพียบ อย่างที่พรรคเพื่อไทยโวยวายเอาไว้)

เลขาธิการ กกต.แถลงครั้งแรก บอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมี 46,921,682คน แบบแบ่งเขต มี 46,921,777คน มีด้วยหรือครับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสองแบบต่างกัน 95 คน แล้วพอถึงจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ 35,203,107คน แบบแบ่งเขต 35,119,885คน ต่างกัน 83,222 คน

ครั้งหลังมาบอกว่าเจ้าหน้าที่ติ๊กผิด จริงๆ ห่างกันแค่ 167 คน ถือว่าน้อยมาก เลือกตั้ง 50 ห่างกันเป็นพัน

ท่านประพันธ์ นัยโกวิท ยังชี้แจงพิลึกๆ ว่าที่ผู้ใช้สิทธิต่างกันก็เพราะมีผู้ที่ต้องการลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว โดยไม่ลงคะแนนแบบแบ่งเขต มีด้วยหรือครับ เราๆ ท่านๆ เดินเข้าคูหาได้บัตรมา 2 ใบ ขอลงใบเดียว แล้วอีกใบเอาไปไว้ไหน เจ้าหน้าที่รับคืนด้วยหรือ ใครไม่อยากลง (และไม่อยากเป็นพันธมิตร) เขาก็ทำบัตรเสียหรือหย่อนบัตรเปล่าลงหีบ

ข่าวอีกกระแสจาก กกต.ยังพอน่าเชื่อหน่อย คือมีแหล่งข่าวว่า ที่จำนวนไม่เท่ากันเพราะบัตรเลือกตั้งนอกเขตกับบัตรเลือกตั้งต่างประเทศที่ส่งทางไปรษณีย์สูญหาย หรือมาล่าช้า

ติ๊กผิด ให้ข่าวผิดกันแบบนี้ บอกแล้วว่าถ้าไม่ใช่พรรคเพื่อไทยชนะขาด มีหวังโดนม็อบบุกสำนักงาน กกต.

กระทงที่ 4: เงื้อง่าราคาแพง

ก่อนวันเลือกตั้ง มีอย่างน้อย 2 เขตที่มีการร้องเรียนให้ลงโทษแจกใบแดงผู้สมัคร ซึ่งต้องใช้มติ 4 ใน 5 ของ กกต.ผลปรากฏว่า กกต.ให้ไปสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งที่หลักฐานชัดเจน คนแจกเงินในคลิปวีดิโอเป็นคนใกล้ชิดผู้สมัคร ซึ่งหลักฐานแบบนี้ กกต.แจกใบแดงมาหลายรายแล้ว

2 เขตที่ว่าได้แก่ผู้สมัครพรรคมาตุภูมิ ที่ศรีสะเกษ กับผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย เขต 5 บุรีรัมย์ เขตแรกไม่เท่าไหร่ เพราะสอบตก แต่เขตบุรีรัมย์นี่สิครับ มาอันดับหนึ่ง

ที่พูดนี่ไม่ใช่ผมยุให้แจกใบแดง ผมไม่สนับสนุนอยู่แล้ว ผมเห็นว่าควรยกเลิกอำนาจให้ใบแดงของ กกต.ด้วยซ้ำ เพียงแต่ผมจะบอกว่า ถ้า กกต.ไม่ให้ใบแดงตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งแล้วมาให้ใบแดงภายหลัง แล้วต้องเลือกตั้งใหม่ มันก็กลายเป็นการ เงื้อง่าราคาแพง

โอเค กฎหมายให้คนโดนใบแดงออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ แต่คิดถึงชาวบ้านด้วยสิครับ ต้องมาเลือกตั้งใหม่ เซ็งอิ๊บอ๋ายเลย ดูสถิติการเลือกตั้งใหม่เพราะใบเหลืองใบแดงทุกครั้งที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ใช้สิทธิลดฮวบ คนเขาเบื่อ ไม่อยากเลือกใหม่ บางทีก็เลือกแล้วเลือกอีก แทนที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย กลับทำลายความกระตือรือล้นของประชาชน

ไอ้คนที่โดนใบแดงเขาก็มีสิทธิโวยด้วยนะครับ เพราะถ้าโดนใบแดงตัดสิทธิเสียตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง เขาก็ไม่ต้องถูกปรับให้ออกค่าใช้จ่ายเลือกตั้งใหม่ เพียงแต่พรรคต้นสังกัดอาจจะพอใจ เพราะถ้าโดนตัดสิทธิตั้งแต่แรก เขตนี้พรรคเพื่อไทยก็ชนะ กลายเป็น 266 เสียง แต่ถ้าโดนตัดสิทธิภายหลัง ตามมาตรา 116 กับ 111 พอจัดเลือกตั้งใหม่ พรรคภูมิใจไทยก็ยังส่งคนใหม่ลงสมัครได้

กระทงใหญ่: จตุพร

ก่อนถึงกรณีจตุพร พรหมพันธ์ ยังมีกระทงแฝดคู่กันคือกรณีของพิชิต ชื่นบาน ทนายความถุงขนม ผู้ถูกจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ กกต.กลับรับรองให้เป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย

รัฐธรรมนูญมาตรา 102 บัญญัติว่า

บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

....................

(5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ชัดเจนเสียยิ่งกว่าอะไรอีกครับ พิชิตต้องคำสั่งศาลให้จำคุก และพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี จะอ้างว่าไม่ใช่คำพิพากษา เป็นแค่คำสั่งศาล ก็ฟังไม่ขึ้น และไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ฉะนั้น พิชิตขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ทราบว่า กกต.ตกข่าวหรือไร ถึงไม่คัดชื่อออกตั้งแต่แรก

แต่ปัญหาก็คือ เมื่อ กกต.รับรองเขาไปแล้ว เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว พิชิตเป็น ส.ส.แล้ว ตามมาตรา 105 “สถานภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งกกต.ไม่มีอำนาจชี้ขาดว่าเขาขาดคุณสมบัติ กกต.มีอำนาจเพียงแจกใบเหลืองใบแดงในกรณีที่เชื่อว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง ฉะนั้น กกต.จะต้องประกาศรับรองให้เป็น ส.ส.ไปก่อน แล้วส่งเรื่องให้ประธานสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งพูดอย่างไม่เข้าใครออกใคร กรณีนี้ พิชิตเสร็จแหง

กรณีของจตุพร ซับซ้อนกว่านั้น จตุพรถูกคุมขังอยู่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งต้องดูรัฐธรรมนูญ 2 มาตราคือ

มาตรา 100 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

มาตรา 102 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.........................

(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)

(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

ดูให้ดีนะครับว่า 2 มาตรานี้ต่างกันตรงไหน มาตรา 100 (3) ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จตุพรจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิในครั้งหน้า เพราะถือว่ามีเหตุจำเป็น ไม่เสียสิทธิ)

แต่มาตรา 102 (3) จตุพรกลับมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะ (3) ตัดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 100 (3) ออกไป แม้มี (4) “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลนั่นก็หมายความว่าต้องมีคำพิพากษาแล้วและถูกคุมขังอยู่ ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ก็ไม่ได้

เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร คือป้องกันมิให้มีการกลั่นแกล้งกันระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้น แม้ผู้สมัครถูกจับกุมไม่ได้ประกันตัว ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาของศาล ก็ยังไม่ขาดคุณสมบัติ ต้องรอกระทั่งศาลตัดสิน แม้เป็นศาลชั้นต้นก็ตาม

แต่ประเด็นที่บุญยอด สุขถิ่นไทย (ซึ่งหลายๆ คนคงไม่สุขไปกับแกด้วย) เอามาร้อง เป็นอีกประเด็นหนึ่ง คืออ้างข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ว่าจตุพรขาดคุณสมบัติ เพราะพ้นจากสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย ตามข้อบังคับที่ว่าถ้า ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องพ้นจากสมาชิกภาพทันที

อันที่จริง ข้อบังคับนี้ไม่ได้มีเฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่มีทุกพรรค เพราะเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ดันกำหนดว่า

มาตรา 19 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง.....

มาตรา 8 ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้

ทั้ง 2 มาตรานี้ถ้าตีความเป๊ะๆ ก็แปลว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ถ้าถูกจับกุมคุมขัง แล้วไม่ได้ประกัน คุณต้องพ้นจากสมาชิกภาพทันที ได้ประกันตัวออกมา แล้วค่อยสมัครเป็นสมาชิกพรรคกันใหม่

ถ้าตีความแบบนี้ จตุพรก็ขาดจากสมาชิกภาพตั้งแต่วันที่ถูกคุมขัง ซึ่งเป็นวันก่อนสมัครรับเลือกตั้ง เงื่อนเวลาตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าจตุพรสมัครรับเลือกตั้งก่อน แล้วจึงถูกคุมขัง มาตรา 102 จะคุ้มครองให้คงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เรื่องนี้ต้องไปสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเช่นเดียวกับกรณีของพิชิต กกต.ประกาศรับรองจตุพรไปแล้ว กกต.ไม่มีอำนาจชี้ว่าขาดคุณสมบัติ กกต.จึงต้องประกาศรับรองให้เป็น ส.ส.ไปก่อน แล้วค่อยส่งเรื่องให้ประธานสภายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เพียงแต่กรณีนี้ ยังมีประเด็นให้โต้แย้งกันได้ เพราะถ้าเราย้อนไปดูมาตรา 19 และมาตรา 8 ของกฎหมายพรรคการเมือง ประกอบมาตรา 100 ไม่รู้สึกว่ามันพิลึกพิกลหรือครับ ที่คนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแค่ถูกจับเข้าห้องขังคืนเดียว หรือชั่วโมงเดียว ก็ขาดคุณสมบัติ ถ้าตีความกันแบบนี้ ส.ส.คนไหนถูกจับนอกสมัยประชุม ไม่ได้ประกันตัว เราก็ต้องเลือกตั้งซ่อมกันระนาว

ถ้าเราดูมาตรา 100 อีกครั้ง บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 3 ประเภท คือเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช, อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง, วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เหล่านี้เป็นลักษณะต้องห้ามถาวร ซึ่งสมควรอยู่หรอกที่จะห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญเพียงห้ามใช้สิทธิในวันนั้นเป็นการชั่วคราว เพื่อความสะดวกในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ถ้าจะเอาสาเหตุนี้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มันก็จะกลายเป็นเอากฎหมายพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายลูก ไปลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่

เอ้า ก็มาตรา 102 ยังไม่ห้ามผู้ต้องคุมขังสมัคร ส.ส.แต่ทำไมกฎหมายพรรคการเมืองห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มันไม่ตลกหรือครับ

คดีนี้ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญสนุกแน่ เพราะจตุพรจะร้องค้านได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล้วนเป็นคู่ขัดแย้งเคยมีเรื่องพิพาทกันมา ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และคลิปลับ ไม่มีคุณสมบัติที่จะมาพิพากษาจตุพร

พูดมาตั้งนาน บางคนอาจถามว่าเอ๊ะ เรื่องจตุพรนี่เป็นกระทงใหญ่ของ กกต.ตรงไหน

ก็ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจตุพรขาดคุณสมบัติ ตามที่เจ๊สดบอก ฝ่ายกฎหมายของ กกต.ก็วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ

เราต้องย้อนกลับไปดูว่า ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ถูกคุมขังรายหนึ่งสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ไม่ยักมีใครร้องว่าขาดคุณสมบัติ กกต.ก็ปล่อยให้เลือกตั้งไปจนจบ

ขาคือก่อแก้ว พิกุลทอง ไง แต่บังเอิญก่อแก้วแพ้ บุญยอด สุขถิ่นไทย เลยไม่ทันไปขุดคุ้ยข้อบังคับพรรคเพื่อไทยมาร้อง กกต.

.................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น