กรณี‘จตุพร พรหมพันธุ์’
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 12 ฉบับที่ 3108 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 29 กรกฏาคม 2011
โดย อัคนี คคนัมพร
เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และกำหนดบทลงโทษไว้ด้วยว่าผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิหลายๆประการ เช่น ตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งระดับต่างๆ เป็นต้น
คนไทยผู้รักในความเป็นประชาธิปไตยก็พากันไปลงคะแนนเสียงมากกว่าครั้งก่อนๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบังคับไว้
บางครั้งคนบางคนไม่ชอบพรรคการเมืองใดเลยสักพรรคเดียว บางครั้งคนบางคนไม่ชอบผู้สมัครรับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว คนเหล่านั้นไม่ต้องการลงคะแนนให้ใคร รัฐธรรมนูญก็ยังบัญญัติเปิดโอกาสให้เขา “กาบัตร” ในช่องไม่เลือกบุคคลใด ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการใช้สิทธิอย่างหนึ่ง
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว คือการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม มีคนกลุ่มหนึ่งรณรงค์ให้กาโหวตโน ซึ่งก็หมายถึงการไปใช้สิทธิ แต่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด และไม่เลือกบุคคลใด ผลปรากฏว่ามีประชาชนไปใช้สิทธิกาโหวตโนน้อยกว่าพวกที่กาโหวตโนในปี 2550 ซึ่งไม่มีการณรรงค์
นับเป็นเรื่องแปลกเรื่องหนึ่ง
สำหรับการบังคับให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยบัญญัติให้เป็นหน้าที่นั้น กฎหมายก็ไม่ได้ขึงตึงเปรี๊ยะเสียทีเดียว ยังมีการยกเว้นให้กับบุคคลที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถไปลงคะแนนได้ เพียงแต่ขอให้เจ้าตัวแจ้งเหตุแห่งความจำเป็นนั้นต่อ กกต. ภายในกำหนดเวลา
การบัญญัติกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะคนเราอาจมีเหตุบังเอิญ หรือเหตุอันเกิดขึ้นกะทันหันจนไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เสมอ
กรณีแจ้งเหตุขัดข้องต่อ กกต. ภายในเวลาที่กำหนดนี้ บุคคลนั้นๆก็ไม่ต้องรับโทษว่าด้วยการตัดสิทธิต่างๆ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนสำคัญของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมนั้นเป็นกรณีที่น่าศึกษา
ข่าวปรากฏชัดว่านายจตุพรถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาลในคดีความคดีหนึ่ง ซึ่งนายจตุพรเป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือเป็นจำเลย โดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา
นับตั้งแต่ถูกควบคุมตัว นายจตุพรได้ยื่นขอประกันตัว หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีตามสิทธิที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตลอดเวลา
แต่นายจตุพรไม่ได้รับสิทธินั้น
จนกระทั่งถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และวันลงคะแนนเลือกตั้ง นายจตุพรก็พยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวไปสมัคร-หาเสียง และไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
แต่ศาลก็ไม่อนุญาตเช่นเคย
ปัญหาเกิดขึ้นในวันนี้คือ นายจตุพรได้รับเลือกตั้ง แต่ กกต. ยังไม่ออกใบรับรองการเป็น ส.ส. เพราะ กกต. อ้างว่านายจตุพรไม่ได้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งสงสัยว่าน่าจะเสียสิทธิในการเป็น ส.ส.
กกต. เพียงแต่สงสัย จึงไม่กล้าตัดสิน
ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมายให้ชัดเจนเสียก่อน
ปัญหาดังกล่าวนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่ได้มีความสลับซับซ้อนจนคนอย่าง 5 เสือ กกต. จะตีความไม่ออกเลย
รัฐธรรมนูญบัญญัติหลักใหญ่ไว้แล้วว่า ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะพิจารณาถึงที่สุดว่ากระทำผิด ก่อนหน้าศาลจะพิพากษาเช่นนั้นจะปฏิบัติต่อเขาอย่างผู้กระทำผิดมิได้
นายจตุพรถูกคุมขังอยู่ระหว่างคดี และได้พยายามทุกวิถีทาง (ยกเว้นแหกคุก) ที่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต นายจตุพรจึงมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้
เมื่อนายจตุพรแจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวแก่ กกต. แล้ว นายจตุพรก็ไม่ควรต้องรับโทษตัดสิทธิทางการเมืองใดๆอีก
จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสียเวลาทำไม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น