26 กรกฏาคม เอวิต้า เธอผู้ไม่แพ้
โดย. ทีมงานข่าว Dr.sunai Fan Club
โดย. ทีมงานข่าว Dr.sunai Fan Club
มาเรีย เอวา ดูอาร์เต้ เกิดที่ชานกรุงบัวโนส ไอเรส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1919
ในครอบครัวที่ยากจน และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อบิดาเสียชีวิตขณะที่เอวามีอายุได้
เพียง 7 ขวบ ทิ้งภรรยาและลูก ๆ อีก 5 คน ให้เผชิญโลกตามลำพัง การดิ้นรนในสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างมากทางชนชั้น ความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ ทำให้เอวามีแนวคิดทางสังคมมาตั้งแต่เล็ก ๆ ในชั้นแรกเธอคิดเหมือนกับคนจนทั่วไปว่าเป็นเรื่องปกติที่คนจนจะเป็นได้แค่ต้นหญ้า และคนรวยจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ตลอดไป แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น เธอเริ่มพินิจว่า การที่คนจำนวนมากยากจนนั้นเป็นเพราะคนรวยแสวงหาความร่ำรวยจนเกินไปโดยไม่รู้จักความพอเพียง
เอวาสนใจในการแสดงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ในปี 1934 เธอเดินทางเข้ามาศึกษาวิชาการแสดงและการกล่าวสุนทรพจน์ที่บัวโนส ไอเรส และเริ่มชีวิตนักแสดงละครเวที แต่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก หลังจากนั้นจึงหันไปเป็นนางแบบปกนิตยสาร นางแบบโฆษณา ควบคู่ไปกับการแสดงภาพยนต์ และจัดรายการวิทยุ ซึ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ชีวิตของศิลปินในเวลานั้นเป็นไปด้วยความขมขื่นและยากลำบาก
วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1943 เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในอาร์เจนตินา เมื่อคณะทหารทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง ต่อมาในเดือนตุลาคมปีนั้น คณะปฏิวัติ ได้แต่งตั้งพันโทฆวน โดมิงโก้ เปรอน มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมแรงงาน เพื่อดูแลรับผิดชอบปัญหาแรงงาน ก่อนที่กรมนั้นจะได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานเลขาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ในเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนต่อมา
กลางเดือนมกราคม ค.ศ.1944 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจังหวัดซันฆวน
เหล่าศิลปินได้รวมตัวกันจัดงานหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประธานาธิบดีเปรโด รามิเรซ และ
พันโทเปรอน ได้มาร่วมงานด้วย เอวามีโอกาสพบกับเปรอนเป็นครั้งแรก และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่นั้น ทั้งคู่มีทัศนะทางสังคมและการเมืองที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี
เอวาช่วยเหลือพันโทเปรอนด้านงานแรงงานและสวัสดิการสังคมอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นอุปสรรคต่องานแสดงภาพยนต์ของเธอเอง อย่างไรก็ตาม เอวาได้ก่อตั้งสมาพันธ์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ และดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของสมาพันธ์ฯ
นโยยายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมของพันโทเปรอนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงานและคนยากจน ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนประธานาธิบดีต้องแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งเลขาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม ท่มกลางความไม่พอใจแก่นายทหารบางกลุ่ม
วันที่ 13 ตุลาคม 1945 พันโทเปรอนถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำบนเกาะกลางแม่น้ำปลาต้า เอวิต้าขอเข้าไปอยู่ในเรือนจำกับเปรอนด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ เธอและเพื่อน ๆ
จึงเดินทางไปตามโรงงานและสหพันธ์แรงงานต่าง ๆ เพื่อปลุกระดมคนงานให้ปกป้องและ
ปลดปล่อยเปรอน
รุ่งอรุณของวันที่ 17 ตุลาคม คนงานทั่วกรุงบัวโนส ไอเรส พากันหยุดงานและชุมนุมกัน
เป็นจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากความรุนแรงใด ๆ ชนิดที่กระจกร้านค้าสักบานเดียวก็ไม่มีแตก กลุ่มผู้ประท้วงได้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นที่จตุรัสมาโยสร้างแรงกดดันจนรัฐบาลต้องยินยอมปล่อยตัวเปรอนเป็นอิสระ
พันโทฆวน เปรอน เข้าพิธีสมรสกับเอวาในวันที่ 22 ตุลาคม 1945 ที่บ้านเกิดของเธอในเขตฆูนิน ชานกรุงบัวโนส ไอเรส จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เปรอนกลายเป็นตัวเก็งในการสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปโดยปริยาย ซึ่งผลการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1946 ก็เป็นไปตามคาด และเอวา เปรอน ได้กลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของ
อาร์เจนตินา เมื่ออายุเพียง 26 ปี โดยเป็นขวัญใจของประชาชน ทั้งในด้านความงาม ความเยาว์วัย และความเฉลียวฉลาด เธอได้ตั้งสำนักงานของเธอขึ้นในกระทรวงแรงงานและความมั่นคงสังคม เพื่อทำงานเรื่องแรงงานและสังคมอย่างหามรุ่งหามค่ำ เอวาอุทิศตัวเพื่อการปฏิรูปสังคมอย่างสันติตามแนวคิดของเธอ รวมทั้งในเรื่องการศึกษาของเยาวชน สวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล และสิทธิสตรี โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
ผลของการทำงานหนักเกินกำลังทำให้เอวาล้มป่วยลง แต่ประชาชนและสหพันธ์แรงงานก็เรียกร้องให้เธอเป็นรองประธานาธิบดีในการสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของเปรอน ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากฝ่ายทหารและข้าราชการ จนถึงขั้นมีความพยายามก่อการรัฐประหาร แต่ได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก เอวาซึ่งป่วยหนักได้เดินทางมาพบประชาชนซึ่งชุมนุมกันอยู่ที่จตุรัสมาโย และเรียกร้องให้พวกเขาสนับสนุนเปรอนในการต่อสู้ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย เอวาปรากฏตัวต่อประชาชนอีกครั้งในวันที่ 17 ตุลาคม 1951 ในสภาพที่อ่อนเปลี้ยไม่สามารถทรงตัวได้ โดยมีสามีคอยพยุงอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เธอก็ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยเป็นที่เปิดเผยในภายหลังว่าเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย
การเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1951 เป็นครั้งแรกที่สตรีอาร์เจนตินามีสิทธิในการลงคะแนน ตามที่เอวาได้เรียกร้องต่อสู้ และมีสตรีได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ขณะที่เอวาใช้สิทธิลงคะแนนบนเตียงคนป่วยในโรงพยาบาล
วันที 24 มกราคม 1952 รัฐสภามีมติในวาระพิเศษให้ขนานนามเอวา เปรอนว่า เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของประชาชาติ
เอวา เปรอน อยู่เคียงข้างสามีในวันที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่
ชาวอาร์เจนตินาก็พากันตระหนักถึงสุขภาพอันปราะบางของเธอ ประชาชนและอารามต่าง ๆ
ทั่วประเทศพากันสวดขอพรให้กับเอวา ความหม่นหมองและเศร้าซึมเหมือนเมฆทึบที่ปกคลุมดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล และในเช้ามืดวันที่ 26 กรกฏาคม 1952 อาการของเธอก็เข้าขั้นโคม่า
ในตอนสายวันเดียวกัน มีประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ผู้นำทางจิตวิญญาณของ
ประชาชาติ ได้จากไปชั่วนิรันดร์” ศพของอีวา เปรอน ถูกรักษาอย่างดีโดยนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียง และถูกนำไปไว้ที่สหพันธ์แรงงานโดยได้รับการอารักขาอย่างเข้มแข็ง แต่เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีเปรอนถูกปฏิวัติโดยคณะทหาร ศพของเธอก็ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สุสานในเมือง
มิลาน ประเทศอิตาลีเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี จนเกิดการปฎิวัติครั้งใหม่ และคณะปฏิวัติชุดนี้
จึงมอบศพของเธอคืนให้เปรอนซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศสเปน
เอวา ดูอาร์เต้ เด เปรอน เดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1974 และพำนักอยู่ที่สุสาน La Corleta อย่างสงบ แต่ถึงแม้ว่าเธอจะจากโลกนี้ไปกว่า 50 ปีแล้ว แต่โลกก็ยังไม่ลืมเธอ ทุกวันนี้ยังมีคนจากทุกมุมโลกเดินทางมาเยี่ยมเยือนเธออยู่เสมอ และประตูเหล็กบานใหญ่ซึ่งปิดตายก็จะมีดอกกุหลาบแดงเสียบไว้ไม่เคยขาด
สำหรับชาวอาร์เจนตินาเองแล้ว นี่อาจจะเป็นดังถ้อยคำในสุนทรพจน์ที่เธอกล่าว
กับประชาชนเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1951 ว่า... ‘I will be with my people, dead or alive’
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น