Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรากฏการณ์หน้ากากขาว-คนหน้าเดิม ถ้า 4 ทุนใหญ่ ไม่หนุนก็จบ? ฤๅจะก้าวข้ามไปสู่การเมืองสลายสีเสื้อ

ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 7-13 มิถุนายน 2556



พุธที่ 29 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นประธานจัดสวดนพเคราะห์ ป้องกันบ้านเมืองวุ่นวาย ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม ถัดมา 5 วัน อาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน เกิดปรากฏการณ์ หน้ากากขาว-หน้ากากแดง ตัวเป็นๆ โผล่ขึ้นมาจากโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือ โลกเสมือน

"หน้ากากขาว" ชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยใส่หน้ากากขาว "กาย ฟอว์กส์" อันเป็นตัวเอกจากภาพยนตร์ วี ฟอร์ เวนเดตต้า พร้อมกับถือป้ายที่มีข้อความต่อต้านรัฐบาลและระบอบทักษิณ ที่ว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้ออกจากประเทศไทย"

วันเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของสยามสแควร์ หน้ากากแดงชุมนุมบริเวณด้านล่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยใช้ชื่อ กลุ่มอุลตร้าแดง แดงสยิว กลุ่มนี้นำโดย นายปกรณ์ พรชีวางกูร สวมใส่หน้ากากสีแดงเป็นสัญลักษณ์

นายปกรณ์เรียกร้องให้กลุ่มหน้ากากขาวเปลี่ยนสัญลักษณ์หน้ากากในการเคลื่อนไหวเพราะสัญลักษณ์หน้ากากขาวดังกล่าว เป็นสัญลักษณ์ของการล้มสถาบันกษัตริย์ในยุโรป โดยกลุ่มหน้ากากแเดงกังวลและเห็นว่าเป็นเรื่องมิบังควร จึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน

อย่างไรก็ตาม ป้ายหนึ่งที่โผล่กลางม็อบหน้ากากแดง เขียนว่า "เรารักอภิสิทธิ์"

กลุ่มหน้ากากแดงได้ร่วมกันร้องเพลงชาติ เวลา 18.00 น. ก่อนแยกย้ายสลายการชุมนุม จากนั้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากแดงก็เงียบหายไป

แต่ที่ยังไม่เลิกง่ายๆ คือ หน้ากากขาวที่เคลื่อนขบวนไปพร้อมๆ กับกลุ่มไทยสปริง และกลุ่ม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำแนวร่วมคนไทยรักชาติรักแผ่นดิน กลุ่มม็อบที่คัดค้านอำนาจศาลโลกในข้อพิพาทคดีเขาพระวิหาร



"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" แกนนำ นปช. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แยกแยะหน้ากากขาว-หน้ากากแดง ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"หน้ากากแดงเป็นมวลชนที่เห็นต่างจากหน้ากากขาว ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่ไม่ว่าฝ่ายใดขอให้มีสติ รับผิดชอบต่อการเคลื่อนไหว ที่มีจุดยืนประชาธิปไตยสังคมยอมรับได้ แต่หากรับใช้เผด็จการก็เป็นอีกอย่าง วันนี้มีการยั่วยุให้หน้ากากแดงชนกับหน้ากากขาว โดยมีคนกลุ่มหนึ่งนั่งรอหน้ากากเสืออยู่ ซึ่งจะมีบางอำนาจใส่หน้ากากเสือออกมาล้มรัฐบาล ผมไม่ได้ประมาทใคร แต่ทุกอย่างต้องจับตาอย่างรอบคอบ"

แต่ที่ดุเดือดไปกว่านั้น คือ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ผู้กำกับดูแลฝ่ายความมั่นคง และ "รักษาการนายกฯ" ที่ออกมาแฉว่า หาก "นักธุรกิจ 3 คน"

ประกอบด้วย "นายธนาคาร-พ่อค้าหมูเห็ดเป็ดไก่-คนขายของมึนเมา" ไม่ให้เงินสนับสนุนผู้ชุมนุม เรื่องก็จบ แต่ถ้า 3 นักธุรกิจ ไม่เลิกจ่ายเงินสนับสนุน...จะประจาน

ถัดมาสารวัตรเฉลิมเปิดอีกหนึ่งนักธุรกิจที่หนุนม็อบ นั่นคือ อดีตนักธุรกิจสื่อสารที่ได้เมียสวยมีข่าวไปทั้งประเทศ ยังพยายามไปสนับสนุน เพราะมีลูกน้องตกค้างอยู่ในแวดวงที่คิดล้มรัฐบาล

ล่าสุด สารวัตรเฉลิมต่อจิ๊กซอว์การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ว่า เป็นขบวนการเดิมที่เคยเคลื่อนไหวในปี 2548-2549 จากการพูดคุยกับชุดสืบสวนสันติบาลชัดเจนว่าข้อมูลตรงกัน เห็นเส้นทางหมด

ส่วนอักษรย่อ "ส." เป็นคนตัวดำๆ เตี้ยๆ ทำข่าวอยู่สถานีหนึ่ง เป็นตัวประสานมือสั่น ทุกวันเวลา 11.00 น. ไปสมรู้ร่วมคิดแถวสุขุมวิทกับพวกที่เอาไม้เมตรไปวัดที่สุวรรณภูมิ ไม่ได้ขัดแย้งผลประโยชน์แต่เป็นพวกริษยามารวมตัวกันป่วนเมือง

คนในรัฐบาลเชื่อตรงกันว่า "หน้ากากขาวและเครือข่ายเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกันหมด และครึ่งปีหลังม็อบการเมืองมาเยอะแน่"



ถ้ามองหน้ากากขาว ผ่านสายตา "ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์" ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กลับมองว่า กลุ่มหน้ากากขาวมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการปรากฏตัวที่ผิดยุคสมัย การขยายตัวในอนาคตจึงน่าจะจำกัดตัวอยู่ภายในคนแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น

แต่มุมมองไกลๆ ออกมาจาก "ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า ภาพที่ลึกกว่านั้นก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายเหลืองมีจำนวนประชากรน้อยกว่า เลือกตั้งกี่ทีก็แพ้ การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยตัวแทนจึงไม่มีวันประสบชัยชนะเหนือฝ่ายแดงได้ แต่จำนวนประชากรของผู้สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยตัวแทนเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพราะการที่รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบให้พรรคการเมืองต้องมีขนาดใหญ่และมีความเข้มแข็ง ภาวการณ์เช่นนี้จึงเอื้อให้พรรคการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้จริง และจึงสามารถดำเนินนโยบายที่ถูกใจผู้ลงคะแนนเสียงได้ นี่นับได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่เสียงของผู้หย่อนบัตรมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย

นี่อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสังคมไทยกำลังก้าวข้ามไปสู่การเมืองสลายสีเสื้อ หรือมีสีเสื้อที่เจือจางลง หากแต่ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเมืองสีเสื้อจะพัฒนาไปอย่างไรต่อไป และพัฒนาการเชิงคุณภาพ เชิงอุดมการณ์ของในแต่ละสีเสื้อจะดำเนินต่อไปอย่างไร ภายในแต่ละกลุ่มสีเสื้อเองจะต่อรองกันอย่างไร

นี่อาจเป็นอนาคตที่น่าจับตามองมากกว่าปรากฏการณ์หน้ากากขาว หน้ากากเหลือง และหน้ากากเสือ!!!
    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น