Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

24 มิถุนา มหาศรีสวัสดิ์ : สุนัย จุลพงศธร

การเมืองที่ถูกต้องไม่ได้บอกว่าดีหรือเลว แต่เป็นการเมืองที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของมัน”
โดย ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร



นอกจากการตามติดมุมมองจากลูกหลานคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ยังนำเสนอความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...ถึงวันนี้ ทัศนะของพวกเขาเป็นอย่างไร

การพูดคุยกับลูกหลาน คณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คงเป็นเพียงมุมหนึ่ง ในขณะที่ ประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ผ่านยังคงสะดุดแล้วสะดุดอีก และไม่แคล้วที่สุดท้ายแล้ว นักการเมืองจะต้องเป็นที่สุดแห่งเสียงก่นด่าราวกับเดรัจฉาน ท่ามกลางมายาคติทางการเมืองของนักการเมือง เราจึงขอสวนทางด้วยการเลือกคุยกับนักการเมือง เพื่อนำปากคำจากมุมที่มีภาพลักษณ์สีหม่นมาสะท้อนความเป็นจริงอีกด้านอาจอาจหมองกว่า โดยครั้งนี้ เราเริ่มที่ สุนัย จุลพงศธรส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ที่มีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ทั้งยังเข้าไปมีส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีพลังอย่างยิ่งในปัจจุบัน

ภาพของ สุนัย ที่คนทั่วไปได้สัมผัสผัสคือ  ส.ส. ที่มักอภิปรายในสภาอย่างดุเดือด แต่อีกภาพหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการมองเห็นมากนักนั่นคือการยืนอยู่บนจุดยืนของอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างเด่นชัด และเราเห็นได้ชัดจากคำตอบหลายคำถามของเราครั้งนี้

เราเริ่มต้นด้วยการถามถึงเรื่องทั่วๆไปอย่างมุมมองของเพื่อนสมาชิกในสภาของเขากับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นอย่างไร แต่คำตอบที่ได้กลับเป็นภาพสะท้อนของปัญหาหลักทางโครงสร้างของประเทศที่ชวนให้ต้องขบคิดอะไรกันใหม่ไม่น้อย

ผมคิดว่า ส.ส.- ส.ว. ในสภามีจำนวนไม่ใช่น้อยไม่รู้ ที่ไม่รู้ไม่ใช่เพราะความไม่รู้ของเขา แต่เป็นเพราะระบบโครงสร้างและระบบการศึกษาพยายามปกปิดเรื่องวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ที่เคยมาช่วยงานซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีถือเป็นภาพสะท้อนได้ดีที่เขาไม่รู้จักคนชื่อ ปรีดี พนมยงค์หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดังนั้น ใครที่ไม่รู้จักเรื่อง24 มิถุนายน 2475 จึงไม่ใช่ความผิดของเขาแต่เป็นความผิดของสังคมนี้ เป็นความของผิดของคนบางคนที่มีความคิดคับแคบ

ทั้งนี้ สุนัย เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความตั้งใจที่ต้องการ ปกปิดอันสืบเนื่องมากจากเรื่องประโยชน์ในอำนาจ ทั้งที่เรื่อง 24 มิถุนายน 2475 เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสิทธิบิดเบือนได้ และคนที่มานั่งอยู่ในสภาในวันนี้ก็ถือว่าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

แต่จะว่าใครก็ไม่ได้ แม้กระทั่งอาจารย์ที่จบมาจากต่างประเทศ หรือบางคนที่เป็นอาจารย์ของสถาบันพระปกเกล้าเองที่พยามจะปิดเบือนเรื่องของ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นเรื่องของการชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งความจริงไม่จำเป็นที่ต้องมีการศึกษาสูงเพียงแต่เอาความจริงมาร้อยเรียงต่อกันก็จะรู้ความจริงว่า การกระทำของคณะราษฎรนั้นไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม แต่เป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคมโลกที่เคลื่อนตัวมาแล้วร้อยกว่าปีในเวลานั้น และได้เคลื่อนตัวเข้ามาสู่สังคมไทย การเคลื่อนตัวครั้งนั้นมีทั้งการเคลื่อนตัวทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางความคิด จึงได้เกิดคนอย่างเทียนวรรณขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ”

สุนัย อธิบาย เพิ่มเติมเพื่อให้ภาพยาวๆก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ว่า เคยมีกรณีหมอเหล็งที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ล้มราชวงศ์ชิงในประเทศจีน เมื่อ ค.ศ. 1911 เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่ทำให้เกิดคนอย่างหมอเหล็งที่พยายามเลียนแบบหมอ ซุนยัดเซ็นดังนั้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห้ามแต่เป็นเรื่องที่มีความเป็นมาสืบเนื่องเป็นลำดับ

แต่จะอธิบายอย่างไรในเมื่อ รัชกาลที่7 เองก็กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ สุนัย ตอบในกรณีนี้ว่า หากเป็นรัฐธรรมนูญ ของรัชกาลที่ 7 ก็คงไม่มี ส.ส.นั่งอยู่ในสภา

ในเวลานั้นที่ปรึกษาส่วนพระองค์คือ ฟานซิส บีแซร์ เป็นฝรั่งที่ให้คำแนะนำ มีบันทึกหลักการโดยเป็นรัฐธรรมนูญที่มี 10 กว่ามาตรา ส.ส.มาจากไหน มาจากในหลวงทรงแต่งตั้ง รัฐมนตรีมาจากไหน มาจากในหลวงแต่งตั้ง ซึ่งจะถอดถอนใครอย่างไรก็ได้หมด มันไม่ใช่โครงสร้างรัฐธรรมนูญอย่างนี้เลย ก็แปลกใจกับคนที่เป็นอาจารย์ทางการเมืองโดยเฉพาะอาจารย์สถาบันพระปกเกล้า หรือคนที่จบจากต่างประเทศ ทำไมกล้าทรยศกล้าบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ขนาดนั้น แต่เสียงเขาดังกว่า เสียงของนายสุนัยไม่ดัง หรือเสียงของคนที่พูดสัจจะแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ดัง เพราะถ้าเสียงดังมากติดตระราง

สุนัย ยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือกรณีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุขแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ว่า ก็คือคนหนึ่งที่พยายามตามหาวันชาติ 24 มิถุนายน ใช้เวลาตามหา 2 ปี ก็ถูกจับกุม แม้ข้อกล่าวหาไม่ใช่เรื่องวันชาติแต่เป็นกรณี 112 แต่ก็นำไปสู่ผลกระทบทางความรู้สึกของผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวให้เกิดวันชาติ 24 มิถุนา และผลของสังคมที่ปกปิดประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง สุดท้ายแล้วก็คือ ความกลัวนั่นเอง

ไม่มีใครรู้หรอกว่าถ้าเราไม่เคารพความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์นั้น ประเทศชาติจะพัฒนายาก เพราะว่าความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะพัฒนาทางการเมืองกันอย่างไร แต่เมื่อเราไม่เข้าใจบิดเบือนกันหมดหรือที่เรียกในสำนวนใหม่ว่า ตอแหลแลนด์เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันก็สับสน เกิดการตีกัน ไม่ยอมรับประชาธิปไตยกัน อ้างประชาธิปไตยกันไปคนละอย่าง การอ้างคนละอย่างก็เกิดจากการปกปิดประวัติศาสตร์ 2475 มันเลยเกิดการทะเลาะกันเนื่องจากการไม่ยอมเปิดประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง เมื่อเราเรียงหินขึ้นมาแล้วทุกคนบอกว่าหินนั้นไม่มี ดังนั้นจึงต้องมาหาเส้นใหม่ ก็เลยเกิดเส้นทางของการปกครองระบบใหม่ขึ้นมาซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าระบบไหน

ในช่วงสมัยหนึ่ง ผู้มีอำนาจได้เสนอให้รื้อตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย เพราะอย่างนี้จึงต่อความไม่ถูก เมื่อต่อความไม่ถูกจึงได้มีการสร้างระบบการปกครองใหม่ขึ้นมา จึงได้เกิดการเมืองใหม่ขึ้นมา  อย่าง 70:30 ตามความคิดของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มันเกิดการเมืองใหม่ในแนวแปลกๆขึ้น เช่น ขณะนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีคนส่วนหนึ่งบอกว่าการแต่งตั้งดี แต่ถ้าการแต่งตั้งดีจริง ทำไมไม่แต่งตั้งทั้งสองสภาเลย เหตุที่มีการแต่งตั้งแค่สภาเดียวเพราะโลกบอกว่ามันไปแบบนั้นไม่ได้แล้วจึงได้แต่งตั้ง ส.ว. ครึ่งสภา เมื่อมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่สากลเขาเป็นกันก็บอกว่าสากลไม่ดี แต่วันนี้ไม่มีใครกล้าคัดค้านในกรรมาธิการวิสามัญ

ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมดมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 ปรากฏว่า แม้กระทั่ง ส.ว.แต่งตั้งเองยังไม่มีใครกล้าคัดค้านว่า ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วให้ ส.ว. แต่งตั้งคงมีอยู่เพียง แต่มีคนบิดเบือนให้มีการเลือกตั้งแบบนั้นเลือกตั้งแบบนี้ เช่นให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งจะได้หาคะแนนสักกลุ่มหนึ่ง 5,000-10,000 คน ก็จะได้กลับมาเป็นส.ว.แล้ว บางคนพยามยามบอกว่าต้องเลือกตั้งโดยจัดกลุ่มอาชีพใหม่เพื่อไม่ให้เป็นลูกหลานของส.ส. นี่คือตัวอย่างความสับสนเพราะเราไม่ยอมรับประวัติศาสตร์พัฒนาการของมันถึงตรงนี้ สุนัย ยังคงย้ำอีกครั้ง การบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็คือปัญหาของวิกฤติประชาธิปไตยในวันนี้

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ตรงนี้มันเป็นผลแห่งกรรม ถ้าเราเป็นชาวพุทธต้องยอมรับผลแห่งกรรม ผลแห่งกรรมจากวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ที่มีการยึดอำนาจโดยพรรคการเมืองหนึ่งที่จับมือกับคณะทหารล้มกระบวนการพัฒนาของประชาธิปไตยทั้งหมด ล้มรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของในหลวงราชการที่ 8 ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์แล้วใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายคู่แข่งทางการเมือง

ผลแห่งกรรมของการกระทำนั้น ส่วนหนึ่งคือการฟื้นอำนาจของระบบราชการ โดยนัยหนึ่งก็คือทำระบบอำมาตย์ให้เข้มแข็งขึ้น แล้วใส่ร้ายให้ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบที่เลวร้ายไปทั้งขบวน ดังนั้นผลแห่งกรรมจึงได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในวันนี้และไม่สามารถที่จะสร้างเอกภาพทางความคิดของประชาชนเพื่อให้ยอมรับระบบประชาธิปไตยที่พัฒนาการมากว่า 200 ปี พิสูจน์ความถูกต้องมาแล้วแม้กระทั่งรัสเซียที่พยายามจะพลิกออกไปในระบบสังคมนิยมอีกแบบหนึ่งโดยการไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเลยแต่เป็นไปไม่ได้ หรือจีนที่พยายามผ่านไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านประชาธิปไตยเลยก็เป็นไปไม่ได้

สุนัย ได้เน้นว่า คำว่า กระบวนการแบบประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม การพยายามไม่ผ่านก็ไปไม่ได้ แต่สังคมไทยเป็นผลแห่งกรรมที่ไม่ยอมให้กระบวนการดังกล่าวผ่าน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์แบบจีนหรือรัสเซีย แต่เพราะไม่ยอมรับพัฒนาการของโลกหรือที่เรียกว่า เสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งหัวใจที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือปัจเจกชน เพราะในเรื่องดังกล่าวเราจะพูดกันได้หรือเราทะเลาะกันได้โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งกฎหมาย

วันนี้ยังมีหน้ากากขาวพร้อมที่จะล้มระบอบประชาธิปไตย คนที่สนับสนุนการล้มประชาธิปไตยก็คือคนชุดเดิมไม่ใช่ชาวบ้าน เป็นบุคคลสำคัญมีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆโดยไม่ผิดกฎหมาย รูปแบบหน้ากากขาวหากไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบอกว่าจะล้มประธานาธิบดี จะล้มระบบ เขาถูกจับทันที แต่อำนาจของเราไม่ได้อยู่กับประชาชน เล่นอย่างนี้ เราจึงได้รับผลแห่งกรรมที่คนมีอำนาจกลุ่มหนึ่งกระทำการตั้งแต่ปี 2489  ปี2490 เป็นต้นมาถึงวันนี้  ปิดทุกอย่าง ปิดวันชาติ ปิดวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปิดบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่ไม่มีสัญลักษณ์ของคณะราษฎรอยู่ในสภาเลย กระทั่งบางคนที่เป็นลูกของคณะราษฎร เวลาหาเสียงเลือกตั้งยังไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นลูกของคณะราษฎรส.ส.สุนัยพูดถึงกรรมของการกระทำในอดีต

เราถามต่อไปว่าแล้วจะมีวิธี แก้กรรมอย่างไร

สุนัย บอกว่า การแก้กรรมไม่ใช่การแก้เชือก แต่ต้องรับอานิสงค์ผลแห่งกรรมไปสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งบุญใหม่เพิ่มเข้ามา แต่ศาสนาพุทธล้างบาปไม่ได้ บุญส่วนบุญบาปส่วนบาป บาปที่ได้สร้างมา เราจึงได้รับผลกรรม ซึ่งเขาก็ยืนยันที่จะสวนกลับในสิ่งที่เชื่อว่า การทำงานอย่างหนักและยืนยันในเรื่องนี้ตลอดเวลาก็คือการต้องการสร้างเนื้อนาบุญใหม่ทางการเมืองให้แก่สังคม

เนื่องจากผมกำลังกินเงินเดือนในตำแหน่ง ส.ส. ก็ใช้เวลาทั้งหมดให้กับการสร้างการเมืองที่ถูกต้อง ซึ่งการเมืองที่ถูกต้องไม่ได้บอกว่าดีหรือเลวแต่เป็นการเมืองที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของมัน ผมคนเดียวไปแก้กรรมทั้งระบบไม่ได้แต่ถือได้ว่าเราได้เติมเนื้อนาบุญลงไปในระบบเรื่อยๆให้คนตาสว่างให้คนเข้าใจปัญหามากขึ้น

สิ่งนี้คงสะท้อนการทำงานและทัศนคติของ ส.ส. คนหนึ่งในรัฐสภาของเราณ ขณะนี้ เมื่อเวลาเดินมาถึงคำถามสุดท้ายเราย้อนไปที่ กรรมแรกเมื่อการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ก็คือการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มปัญญาชนกับกลุ่มทหาร ในขณะที่พรรคเพื่อไทยที่เขาสังกัดก็มีบทเรียนจากการรัฐประหารโดยทหาร หากมองย้อนกลับไป จำเป็นจริงหรือที่ทหารจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง

ผลแห่งกรรมแห่งการกระทำนี้มันส่งผลเขาตอบ แต่วิวัฒนาการของสังคมได้ทำให้ประชาชนตาสว่างขึ้น กระบวนการต่างๆแห่งการใช้หนี้กรรมกำลังจะจบแล้ว

เมื่อใกล้จะจบ แล้วทหารจะจบด้วยหรือ สุนัย บอกว่า การรัฐประหารโดยทหารได้หมดสิ้นไปแล้วอย่างชัดเจนที่สุดคือ การรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถือเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของทหารขุนศึก เป็นปลายน้ำของทหาร แต่ว่ากำลังทหารยังถูกใช้อยู่

การรัฐประหาร19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เป็นการรัฐประหารของทหาร เพียงแต่ใช้กลไกทหารในการดำเนินการ สังเกตชัดเจนที่สุดคือ ผู้นำทหารไม่ได้กระทำการรัฐประหารเพื่อตัวเอง แต่ใช้กลไกลของระบบราชการหรืออีกนัยหนึ่งก็คือระบบราชการ จึงได้เห็นผู้พิพากษาออกมานั่งกันเป็นแผง นี่คือยุคใหม่ของการรัฐประหาร หรืออาจจะมีอีกครั้งแล้วจบ การรัฐประหารได้หมดสิ้นไป เพราะความล้มเหลวของการรัฐประหารเป็นบทเรียนที่ทำให้ประชาชนมีความชัดว่าการรัฐประหารนั้นไม่ใช่คำตอบของทางออกจากปัญหา ไม่มีการรัฐประหารครั้งใดที่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรื่อง

สิ่งที่แตกต่างจากการจัดตั้งของประชาชน สุนัย บอกว่า ทหารเป็นกลุ่มเดียวที่มีระบบการจัดตั้งเดียวที่มีเงินเดือน ไม่ว่าการจัดตั้งของกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เมื่อเป็นอย่างนี้การจัดตั้งของทหารจึงเข้มแข็งใช้ได้ในทันทีทันใด แต่เหมือนกับไฟไหม้ฟางที่จบระยะสั้นสั้นๆ

 
ที่สำคัญที่สุดของการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยทหารหรือขุนนางอำมาตย์ต้องจบเพราะโลกไม่ได้มีเชื้อฟืนเหล่านี้ให้แล้ว ในศตวรรษที่ 21 ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย เข้าสู่ความเป็นปัจเจก ใครปฏิเสธประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่มา 200 ปี เท่ากับปฏิเสธศาสนาใหม่ของมนุษย์นั้นเอง
 
การใช้หนี้กรรมในยุคที่ปัจเจกชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆมากขึ้นพร้อมๆกับการ ปกปิดยังคงดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วคงเป็นสิ่งที่ เราในฐานะประชาชนคงจะต้องกำหนดกันด้วยตัวเองเสียทีว่า เราอยากเห็น ความจริงหรือไม่ และ ปลายทางของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไรกันแน่
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น