Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน The Zombie Opposition


โดย เกษียร เตชะพีระ

ที่มา:กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน 21 กันยายน 2555
 
"สุเทพยื่น ป.ป.ช.ฟันธาริต-ประเวศน์ผิด ม.157 ไม่ฟ้องผังล้มเจ้า-ตู่"

ไทยรัฐออนไลน์, 23 พ.ค.2555
http://m.thairath.co.th/content/pol/262809

"คำต่อคำ : เปิดใจแกนนำพันธมิตรฯ ลั่นพร้อมรบ "สนธิ"ย้ำชุมนุมต้องแตกหัก จี้ทหารร่วมมือ ปชช.ปฏิวัติ"

Manager Online, 20 ม.ค.2555 http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000009019



ในภาวะ The Weary Moderation หรือกระแสสังคมการเมืองเข็ดล้าจนปรับตัวหันมาเดิน สายกลางราวปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งผมเสนอนิยามรวบยอดไว้ว่า:

"ไม่เอาผังล้มเจ้า ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาสงครามครั้งสุดท้าย" (อีกแล้ว) นั้น

ท่าทีของแกนนำสำคัญของฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภาข้างต้นบ่งชี้ชัดว่าพวกเขาทั้งตกกระแสและสวนทวนกระแสหลักของสังคมการเมืองไทยอย่างไร

เหล่านี้เมื่อประกอบกับพฤติกรรมและแนวทางที่แสดงออกของฝ่ายค้านทางการเมืองในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำให้พวกเขาสุดโต่ง คับแคบ โดดเดี่ยว ตีบตัน หดเล็ก อ่อนเปลี้ย ค้านเบี่ยงเบน แผกเพี้ยนผิดฝาผิดตัวหลุดโลกหยุมหยิมไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นอันธพาลวาทกรรมดื้อรั้นหัวชนฝา ไม่ฟังเหตุผลข้อเท็จจริง, นักเลงเกกมะเหรกเกเรอาละวาดวุ่นวายไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกาในที่ประชุมสภาอันทรงเกียรติ, หรือตัวตลกเปิ่นเท่อซุ่มซ่ามฝังหัวงมงายให้ผู้คนส่ายหน้าด้วยความเอือมระอาและยิ้มเยาะไยไพ

หลายเรื่องเด่นๆ ที่เล่นตั้งแต่คำกล่าวหานายกรัฐมนตรีหญิงในเรื่องส่วนตัวเสียๆ หายๆ, การคัดค้านไม่ให้ชดเชยแก่ผู้ชุมนุมที่ถูกรัฐล่วงละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน, การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหาว่าการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการล้มล้างการปกครอง, การก่อภาวะไร้ระเบียบหรืออนาธิปไตยขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของประธานที่ประชุมและ ล้มการประชุมสภา, การชุมนุมข่มขู่สภาว่าจะก่อ "สงครามครั้งสุดท้าย" (อีกแล้ว) ขัดขวางร่างกฎหมายปรองดอง, การปลุกประเด็นการเมืองการทหารเลื่อนลอยเพื่อคัดค้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในการตรวจสอบวิจัยปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, การกอดศพ

"ผังล้มเจ้า" ที่ปลุกไม่ฟื้นและดีเอสไอกับอัยการสูงสุดตัดสินใจฌาปนกิจแล้ว, การมัวเสียเวลาสาละวน ปกป้องระวังแผลเหวอะหวะกลางหลังจากปัญหาการรับราชการทหาร คำสั่งแทรกแซงราชการประจำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเหตุปราบปรามฆ่าหมู่กลางเมืองในอดีต, การโน้มตัวลงเจริญรอยตามพันธมิตรนอกสภาในประเด็น "ล้มเจ้า" และกลายสภาพเป็นกองโฆษณาชวนเชื่อทางทีวีดาวเทียมอีกหนึ่งสถานี, การปั้นแต่งนิยายขายข่าวเรื่องภัยอเมริกายึดครองไทยตามทฤษฎีสมคบคิดไม่รู้จบ ไม่ว่ากรณีมหาวิทยาลัยคอร์แนล นาซาสตาร์วอร์ หรือไม่มีเครื่องบินชนตึกตอน 9/11, กระทั่งเมาหมัดซัดแม้แต่สมาชิกอาวุโสพรรคเดียวกันเองในเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งอย่างราคาอาหารในสภาโดยมิพักไต่สวนสอบถามให้ดีเสียก่อน ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้การคัดค้านที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ในระบอบเสรีประชาธิปไตยต่อพรรคฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากที่เคยมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงส่อไปในทางแสวงประโยชน์ส่วนตนและฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบในอดีต กลับไม่ได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงความด้อยสมรรถภาพในการค้าน โลๆ เลๆ เลอะเทอะเหลวไหล ไม่เอาไหน ไม่เป็นโล้เป็นพาย เหมือนมือสมัครเล่นมากกว่ามืออาชีพ จนแม้แต่ผู้อาวุโสฝ่ายค้านข้างเดียวกันยังถึงแก่ออกปากว่า:

"ผมให้เกรดนายกฯยิ่งลักษณ์มากกว่าหัวหน้าพรรคของผม..... ผมคิดว่าอภิสิทธิ์ได้คะแนน ไม่เกิน 60 ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ไม่เกิน 75 คะแนน.....

"การที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่มีคอมเมนต์ออกมาสักคำหนึ่งเลย แสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์เปลี่ยนแล้วใช่หรือไม่..... พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองมีหรือไม่ที่ออกแถลงการต่อต้านเผด็จการ เปล่าเลย มันกระทบกระเทือนจิตใจผมเหลือเกินว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์รักและหวงแหนมานั้น กลายเป็นไม่มีใครสนใจเลย คือดีใจซะจนลืม.....

"ถ้ายังเป็นแบบนี้ต้องรออย่างน้อย 8 ปี อีก 2 เทอม เสียใจที่พูดอย่างนี้....."

"พิชัย รัตตกุล ให้คะแนนผ่านแว่นผู้อาวุโส ปู-มาร์คใครเหนือใคร"

มติชนสุดสัปดาห์, 14-20 กันยายน 2555, น.34



ฝ่ายค้านในและนอกสภาที่เคยคว่ำโค่นและสั่นคลอนระบอบทักษิณนานหลายปีพลันปรับตัวตามกระแส The Weary Moderation ไม่ทัน กลับกลายเป็น The Zombie Opposition (ค้านแบบผีดิบซอมบี้เดินตัวแข็งตายด้านทึ่มมะลื่อทื่อ จะรอบีบคอกินเนื้อซดเลือดทักษิณกับยิ่งลักษณ์ท่าเดียว) ไปได้อย่างไร?

เริ่มจากขบวนการฝ่ายค้านนอกสภา.....

"และผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆ ผมเตรียมพร้อมทุกวินาทีที่จะออกมาสู้ แล้วสู้ครั้งนี้ พี่น้องไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด ผมเป็นคนแรกที่บอกว่า ทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการที่จะให้ไอ้พวกแมลงสาบมาตีกินพวกเราอีก ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว มีพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหารยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ เท่านี้ล่ะครับพี่น้องครับ ขอบพระคุณพี่น้องมากครับ"

สนธิ ลิ้มทองกุล โฟนอินงานตรุษจีนปีใหม่พันธมิตร

Manager Online, 20 ม.ค.2555



ปัญหาพื้นฐานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็คือตกลงจะเป็นพลังต่อต้านที่ปฏิเสธไม่เอาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งทั้งระบบ (a force of resistance to the whole political system of electoral democracy) หรือจะเป็นพลังฝ่ายค้านนอกสภาในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

(an extra-parliamentary opposition in electoral democracy) กันแน่?

ปัญหานี้ถูกจุดขึ้นจากการที่แกนนำพันธมิตรบางคนเรียกร้องและสนับสนุนให้ทหารก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณและเครือข่ายที่ชนะการเลือกตั้งหลายครั้งหลายหน, ต่อมาก็เสนออย่างเปิดเผยให้ใช้ระบบรัฐสภาแบบแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษแก่สถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก, การแสดงท่าทีจะเดินเข้าสู่ระบบการเมืองจากการเลือกตั้งโดยสร้างพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาถูกสะบั้นตัดขาดและแตกหักแยกทางในช่วงสุดท้ายพร้อมกับเสียงกล่าวหาซึ่งกันและกันของแกนนำสองฝ่ายดังขรม, และก็ดังตัวอย่างคำแถลงที่ยกมาข้างต้นซึ่งมีให้ได้ยินได้ฟังเป็นพักๆ จากแกนนำพันธมิตรมันสะท้อนว่าพวกเขามีปัญหาจริงๆ ในการปรับตัวจากการเมืองแบบสู้รบ (militant politics) ไปสู่การเมืองแบบปกติธรรมดา (normal politics) ในระบอบประชาธิปไตย

ในการต่อต้านระบอบทักษิณ พันธมิตรได้เลือกปรับแต่งสารการเมืองที่สื่อ, เรียกหา พลังสนับสนุน, และระบุเอกลักษณ์สังกัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ (gear its message and appeal to as well as identify with) ฐานมวลชนอนุรักษนิยม-ชาตินิยมในหมู่คนชั้นกลางชาวเมืองซึ่งระแวง นักการเมืองจากการเลือกตั้งกับเสียงข้างมาก และเพิ่งตื่นตัวเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองใหม่ๆ อย่างขาดประสบการณ์

ในฐานะผลผลิตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ระบอบรัฐราชการรวมศูนย์ อุปถัมภ์ และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยในรัชกาลปัจจุบัน มวลชนคนชั้นกลางเหล่านี้กลายเป็นพลังที่ยึดมั่นระเบียบบ้านเมืองอันเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ปลอดการเมือง ทว่าสงบเรียบร้อยดี งามเพราะมีคนดีคอยดูแลให้แต่เก่าก่อน พวกเขารู้สึกหวาดระแวงและถูกคุกคามให้เสื่อมถอย อิทธิพลจากกระแสการตื่นตัวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในเศรษฐกิจนอกระบบและหัวเมืองชนบทที่มีระบอบทักษิณเป็นหัวขบวนตัวแทนอย่างยิ่ง การเลือกยึดมั่นตั้งมั่นอยู่กับพลังที่ปฏิกิริยาล้าหลังทางการเมืองนี้ทำให้ยากที่พันธมิตรจะขยับปรับตัวยอมรับ การปฏิรูประเบียบอำนาจใดๆ ได้ต่อให้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมาถึงในที่สุดก็ตาม



เสน่ห์ของการเมืองแบบสุดโต่ง (political fanaticism) ก็คือแม้มันจะแปลกแยกจากกระแสสังคมส่วนใหญ่ (the weary moderation) ตั้งอยู่บนฐานกลุ่มก้อนผู้ยึดมั่นศรัทธาฝังใจที่แคบเล็ก แต่ก็อำนวยความอบอุ่นใจสบายใจมั่นอกมั่นใจในความถูกต้องบริสุทธิ์ไม่ประนีประนอมปรองดองกับคนชั่วสิ่งผิดของตัวแก่ทั้งแกนนำและผู้ตาม มีคุณสมบัติแข็งทื่อมั่นคงที่วางใจได้คาดเดาได้ไม่ผันแปร ล้วนคนหน้าเดิมที่ผูกรักภักดีฝังใจเพราะได้พิสูจน์ตัวเองท่ามกลางกระแสการต่อสู้อันดุเดือด กอดคอร่วมเสี่ยงร่วมเสียสละร่วมแพ้ร่วมชนะมาแล้วในอดีต ต่างได้ลงทุนทั้งเงินทองวัตถุ ความคิดจิตใจ และความหมายในชีวิตให้แก่กันและแก่กองกลางจนรู้สึกอิ่มบุญกลางสมรภูมิการเมือง สายใยต่อกันแน่นแฟ้นเชื่อมโยงชนิดที่ว่าเรียกหาว่า "พี่น้องเอ๊ย" เมื่อไหร่ก็พร้อมมา เดิมพันได้เสียทั้งส่วนตัวและส่วนรวม, ต้นทุนทางความคิดและศักดิ์ศรีที่ลงไป, รวมทั้งแรงเฉื่อยเชิงสถาบันที่รั้งดึงทำให้ขบวนการทั้งเหนียวแน่นมั่นคง ไม่ล้มหายตายจากไปไหน แต่ก็แคบเล็กและมีแนวโน้มจะค่อยๆ เรียวลงจนกลายเป็น groupuscules (กลุ่มย่อยเล็กถือแนวทางการเมืองสุดโต่ง ปิดตัวเองจากกระแสหลักนอกกลุ่มหล่อเลี้ยงด้วยศรัทธาในความถูกต้องอย่างสิ้นสงสัยของตัวเบื้องหน้าความหลงผิดและโง่เขลา ไม่รู้ความจริงของคนส่วนใหญ่ในสังคม) ที่เฝ้ารอวิกฤตวันพิพากษาและชัยชนะใน "สงครามครั้งสุดท้าย" ที่จักต้องมาถึงซึ่งจะพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของตนในที่สุด

ที่แปลกก็คือพรรคฝ่ายค้านในสภาเสมือนถูกกักขังทางความคิดและจินตนาการ พลอยถูกโน้มดึงชักจูงให้เจริญรอยตามแนวทางสุดโต่งของฝ่ายค้านนอกสภาต้อยๆ ไปด้วย เล่นเรื่องเดียวกัน ด้วยกระบวนท่าคล้ายกัน โดดเดี่ยวจากเสียงข้างมากและกระแสหลักของสังคมการเมืองเหมือนกัน จนดูเหมือนว่าไม่สามารถปรับตัวและวิธีคิดวิธีทำงานการเมืองจากสถานะ [พรรคฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่คอยตั้งรับ] มุ่งสู่การเป็น ? [พรรคที่รุกเข้าหาคนส่วนใหญ่เพื่อเป็นเสียงข้างมากให้จงได้] ยังคงยึดมั่นเกาะติดกับฐานเสียงอนุรักษนิยม-ชาตินิยมที่จำกัดแคบเล็กและปฏิกิริยารวมทั้งฐานเสียงเฉพาะถิ่นภูมิภาคดั้งเดิม ปล่อยให้ฐานเสียงดังกล่าวกำกับบงการระเบียบวาระและปฏิบัติการทางการเมืองทั้งในและนอกสภาของตน จนคัดค้านปฏิเสธการปฏิรูปที่จำเป็นใดๆ ไม่ยอมปรับตัวเปลี่ยนแนวเพื่อโน้มเข้าหาช่วงชิงและย้ายฐานเสียงไปแย่งยึดพื้นที่ในใจเสียงข้างมากของสังคม

เหล่านี้เมื่อประกอบกับชนักติดหลังแกนนำพรรคอันเนื่องมาจากคดีความสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 ก็ทำให้การ "เปลี่ยนการนำ-แปรแนวทาง-ปรับขบวน" ที่จำเป็น เพื่อฟื้นฝ่ายค้านในสภาและมุ่งสู่การเป็นพรรคเสียงข้างมากของสังคมการเมืองไทยให้ได้ไม่เกิดขึ้น จนแล้วจนรอด กลับทำท่าพอใจที่จะเรียวลงเป็น groupuscules ในสภาไปเสียฉิบ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น