ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 377 วันที่ 15-21 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
คดีนายพัน คำกอง อายุ 43 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่
ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต
เนื่องจากเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ
และพยานทั้งหมดยืนยันตรงกันว่าทหารเป็นฝ่ายยิงผู้เสียชีวิต
เพราะพื้นที่บริเวณนั้นอยู่ในความดูแลของทหารเพียงฝ่ายเดียวนั้น
ถือเป็นคดีแรกที่ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตตามกฎหมายในวันจันทร์ที่ 17
กันยายนนี้ ไม่ว่าคำสั่งจะระบุเช่นใด
ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะพนักงานสอบสวนรับไม้ต่อ
เพื่อทำสำนวนการสอบสวนดำเนินคดีให้เสร็จสิ้น
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความคดีนายพัน ระบุเป้าหมายการไต่สวนครั้งนี้ว่า
ต้องการให้ศาลเชื่อว่าบริเวณที่นายพันถูกยิงเสียชีวิตไม่มีประชาชนหรือ “ชายชุดดำ”
ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้นกล่าวอ้าง
มีเพียงทหารตั้งกำลังสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
(นปช.) เข้าไปยังสี่แยกราชประสงค์ นายพันจึงถูกยิงจากทหาร
คดีนายพันที่ศาลจะมีคำสั่งคดีจึงมีความสำคัญอย่างมากกับการสั่งสลายการชุมนุม
นปช. เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 98 คน และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000
คน ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้หารือกับ
พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน
และได้ข้อสรุปว่าจะแยกสำนวนการสอบสวนคดีฆาตกรรมเป็นรายคดี
โดยแบ่งตามสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียชีวิตออกเป็นแต่ละสำนวน
โดยยึดหลักการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ
“ถ้าจุดเดียวกันมีผู้เสียชีวิตหลายคน
จึงเชื่อได้ว่าผู้ทำให้เสียชีวิตต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงเห็นควรรวมคดีเป็น 1
สำนวน เช่น กรณีการเสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนารามวรวิหาร
และดำเนินคดีฆาตกรรมกับผู้กระทำให้เสียชีวิต
โดยแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายกับผู้ก่อเหตุ แต่เรื่องดังกล่าวมีข้อกฎหมายอาญา มาตรา 70
เกี่ยวข้อง
ทหารที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้นเป็นการทำตามคำสั่งจึงอาจไม่ต้องรับผิดตามมาตรา
70”
แจ้งข้อหาผู้สั่งการสูงสุด
นายธาริตยังระบุว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “บุค คลสั่งการ” หรือ “ผู้ออกคำสั่ง”
ซึ่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ออกคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
(ศอฉ.) ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น พนักงานสอบสวนจะแยกเป็นอีก 1 คดี
โดยจะพิจารณาเรื่องของเจตนาในการกระทำให้เสียชีวิตตามกฎ หมายอาญา มาตรา 59
ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเจตานาเล็งเห็นผลหรือไม่
เพื่อจะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายโดยเจตนากับผู้สั่งการสูงสุดต่อไปคือ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.
ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามพยานหลักฐาน
นายธาริตชี้แจงว่า
ที่ผ่านมามีผู้ร้องมายังดีเอสไอว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม
ซึ่งมีทั้งได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสกว่า 2,000 ราย
พนักงานสอบสวนจะแยกสำนวนเป็นรายคดีเช่นกัน หากนับตามรายชื่อผู้บาดเจ็บประ มาณ 2,000
สำนวนคดี ถ้าคำสั่งศาลระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
พนักงานสอบสวนก็แจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่ากับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2,000 สำนวน
หากการตายเกิดต่างสถานที่และวันเวลา
แต่เท่าที่ทราบบางสถานที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันหลายคนก็ใช้หลักเดียวกันกับการดำเนินคดีฆาตกรรม
คือรวมสำนวนคดี
4 มาตราเอาผิดคดีฆาตกรรม
นายธาริตในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบ สวน
ยังอธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำ เนินคดีและแนวทางการทำงานของพนักงานสอบสวน
หลังศาลมีคำสั่งวันที่ 17 กันยายนว่า
จะอธิบายเป็นเพียงข้อเท็จจริงตามตัวบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดี
เพราะต้องการให้ประชาชนเข้าใจในข้อกฎหมายที่พนักงานสอบสวนต้องใช้พิจารณาในการดำเนินคดี
ไม่ใช่การชี้นำแนวทางการสอบสวนแต่อย่างใด
แต่คำสั่งไต่สวนคดีนายพันของศาลจะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน
ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายอาญา มาตรา 150 ที่ระบุว่า ศาลจะต้องระบุว่า
ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
โดยเฉพาะถ้ามีคนทำร้ายให้ตาย ศาลต้องระบุว่าใครเป็นผู้ทำร้ายให้ตายเท่าที่จะทราบได้
ถือเป็นรายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎหมาย
ซึ่งสำนวนของพนักงานสอบสวนและอัยการที่ส่งให้ศาลไต่สวนคือ
เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ตาย
ดังนั้น ถ้าหากศาลเห็นพ้องตามอัยการและมีคำสั่งดังกล่าว ตามกฎหมายอาญา มาตรา 150
ระบุให้ศาลทำคำสั่งส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อ
ประกอบด้วย อัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ เมื่อพนักงานสอบสวนตั้งเป็นสำนวนคดีฆาตกรรม
จะมีข้อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 มาตราคือ มาตรา 288
ความผิดฐานฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดว่า
ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20
ปี
ส่วนข้อเท็จจริงในพฤติการณ์จะมีมาตรา 84
มาเกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ที่ระบุว่า
ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้บังคับขู่เค็ญ หรือจ้างวาน
หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
มาตรา 59 เกี่ยวกับเจตนา ระบุว่า
บุคคลที่ต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อต้องกระทำโดยเจตนา
แต่กฎหมายระบุว่ากระทำโดยเจตนามี 2 อย่างคือ 1.รู้สำนึกโดยการกระทำ
และขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล และ 2.เล็งเห็นผลต่อการกระทำนั้น
และมาตรา 70 ระบุว่า ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
แม้คำสั่งนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎ หมาย
แต่ผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
มิต้องรับโทษ
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การสอบสวน “ผู้สั่งการสูงสุด”
ที่พนักงานสอบสวนต้องไล่ลำดับจากผู้สั่งการสูงสุดจนถึงพลทหาร ตามมาตรา 70
เจ้าพนักงานที่ออกคำสั่งระดับสูงสุดคือ นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ
ซึ่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งสองจากญาติผู้เสียชีวิตให้ดำเนินคดีในฐานะ
“ผู้สั่งการสูงสุด” ทั้งการสอบสวนก็ระบุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้คำสั่งการของ
ศอฉ. ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดคือ นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ.
ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การออกคำสั่ง ไม่มีคำสั่งโดยตรงให้ออกไป “ฆ่าประชาชน”
แต่มีคำสั่ง ศอฉ. ให้ใช้ “อาวุธ” เพื่อขอคืนพื้นที่และกระชับพื้นที่
แม้จะกำหนดให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
พนักงานสอบสวนต้องนำมาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสั่งที่มีเจตนาเล็งเห็นผลตามมาตรา
59 หรือไม่
แต่ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ยืนยันว่าไม่เคยมีคำสั่งให้ทำร้ายหรือฆ่าคน
ปริศนาชายชุดดำ?
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กลายเป็นการตอบโต้ทางการเมือง นอกจากกรณีที่ นพ.เหวง
โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.
เรียกร้องให้ดีเอสไอเรียกสอบพลซุ่มยิงเพิ่ม เพราะมีเอกสาร ศอฉ.
แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพลซุ่มยิงจำนวน 39 คน
และไม่เชื่อว่าจะใช้กระสุนยางแล้ว คือกรณี “ชายชุดดำ” หรือ “ไอ้โม่งชุดดำ”
ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงพร้อมหลักฐานว่ามีกองกำลังชุดดำที่สนับสนุน นปช.
จริง
โดยนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
(เสธ.แดง) อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เคยออกมายอมรับว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่จริง
และชายชุดดำที่โดนจับก็ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุที่บริเวณแยกคอกวัว
ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการชั้นศาลหมดแล้ว แต่
นพ.เหวงตอบกลับว่าให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมตรวจสอบ แต่ยืนยันว่า
เสธ.แดงกับกลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งยังเคยสั่งให้จับเสธ.แดงถึง 2
ครั้ง
โดยเฉพาะกรณีนายมานพ ชาญช่างทอง คนเก็บของเก่าขาย ซึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ตอบโต้ “ข่าวสด”
ที่ว่านายชวนนท์มั่ว ยืนยันว่านายมานพเป็น “ชายชุดดำ” โดยอ้างคำแถลง
ของนายธาริตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ว่ามีหลักฐานว่านายมานพเป็น “ชายชุดดำ”
ที่ยิงปืนใส่ทหารและประชาชนบนถนนดินสอ และวันที่ 21 มกราคม ดีเอสไอนำไปฝากขังต่อศาล
12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2554
เท่ากับว่าขณะนี้นายมานพยังเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอยู่
ชีวิตจริง “ซาเล้งชุดดำ”
ขณะที่ “ข่าวสด” ได้สัมภาษณ์และนำภาพนายมานพที่ปัจจุบันพักอยู่ที่ อ.บางบัวทอง
จ.นนท บุรี กับภรรยาและลูกรวม 4 คน ภายในบ้านโทรมๆที่ปลูกขึ้นเอง
ใช้ไม้เก่าจากแผ่นป้ายโฆษณาทำเป็นฝาบ้าน และสังกะสีเก่าๆที่เก็บได้มามุงหลังคา
นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็ดและปลูกผักไว้กินเอง จนชาวบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่สงสาร
มักนำอาหารและขนมมาให้เป็นประจำ
นายมานพกล่าวว่า ร่วมชุมนุมกับ นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553
เนื่องจากเห็นว่าประ ชาชนถูกกลุ่มอำมาตย์ปล้นประชาธิปไตยไป
จึงต้องการไปทวงคืนกลับมา
โดยตนทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาช่วยดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องเสื้อแดงที่มาชุมนุม
เข้าเวรยามช่วงเที่ยงคืนถึงเช้า และทุกวันจะมีหน้าที่ซื้อหนังสือพิมพ์ให้แกนนำ นปช.
เวลาที่เหลือจะเดินเก็บขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลมในพื้นที่ชุมนุมเพื่อนำไปขายหารายได้
จนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการโยนแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์
และช่วงเย็นเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้น
นายมานพเล่าว่า
ขณะนั้นทราบมาว่ามีกำลังทหารนำรถถังและรถหุ้มเกราะมาปิดล้อมพื้นที่ด้านโรงเรียนสตรีวิทยาและแยกคอกวัว
แกนนำประกาศบนเวทีขอกำลัง 5,000 คน ไปช่วยผู้ชุมนุมที่คอกวัว จึงเดินทางไปช่วย
และใช้เวลาเดินทางนานมาก เนื่องจากทหารปิดถนนหลายสาย กว่าจะไปถึงก็เที่ยงคืนกว่า
และเสียงปืนก็เงียบลง เห็นกลุ่มทหารกว่า 30 นาย
พร้อมอาวุธปืนตกอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา จึงประสานกับแกนนำ
นปช. ว่าจะเอาอย่างไรกับทหารกลุ่มนี้ หากปล่อยไว้คงจะเป็นอันตราย
จากนั้นเข้าไปพูดกับนายทหารผู้คุมกำลังเพื่อขอปลดอาวุธทั้งหมด
และจะพาออกไปอย่างปลอดภัย อาวุธที่ปลดไปเป็นปืนทราโว 4 กระบอก และเอ็ม 16
แต่ก่อนจะนำไปมอบให้แกนนำ นปช. ที่เวทีผ่านฟ้าฯ
ระหว่างทางมีช่างภาพหลายคนเข้ามาถ่ายรูปจนถูกกล่าวหาเป็น “ชายชุดดำ”
และจำเลยในคดีก่อการร้าย เพราะวันเกิดเหตุใส่เสื้อดำและสวมไอ้โม่งดำจริง
เนื่องจากเห็นคนอื่นใส่แล้วเท่ดี และตนเป็นคนหัวล้านจึงใส่บ้าง
ส่วนที่ใส่ถุงมือก็เพื่อไว้จับกระป๋องแก๊สน้ำตาที่ทหารโยนใส่ผู้ชุมนุม
และยืนยันว่าตนเองยิงปืนไม่เป็น
หลังถูกจับต้องอยู่ในคุกหลายเดือน จนกระทั่งมีผู้ใหญ่นำเงิน 600,000 บาท
มาช่วยประกันตัวออกมา ทุกวันนี้ยังเก็บขยะขาย มีรายได้เฉลี่ย 2-3 วันประมาณ 300
บาท
ความจริงไล่ล่าวาทกรรมตอแหล
กรณี “ชายชุดดำ” จึงมีจริง แต่จะเป็น “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่เป็น “ผู้ก่อการร้าย”
หรือ “ชายชุดลายพราง” ที่ใช้ปืนซุ่มยิงนกยิงใส่ผู้ชุมนุมนั้น
วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
ไม่ว่าจะจากการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
(คอป.) หรือดีเอสไอ ซึ่ง
พ.ต.อ.ประเวศน์ยอมรับว่าเป็นเงื่อนปมที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครถูก “ชายชุดดำ”
ยิงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีเพียงคลิปภาพที่ถนนราชดำเนินและบ่อนไก่เท่านั้น
จึงพยายามหาหลักฐานว่า “ชายชุดดำ” ที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่
และทำร้ายเจ้าหน้าที่เป็นใคร
ขณะที่มีคลิปทหารจำนวนมากวิ่งผ่านกล้อง และมี “ทหารใส่ชุดพลเรือน”
คนหนึ่งถือปืนวิ่งผ่านไป แต่ ศอฉ. กลับใช้วาทกรรมตอแหลบิดเบือน
ว่าเป็นภาพทหารชุดยิงคุ้มครองเพื่อนำคนเจ็บออกจากพื้นที่
ส่วนทหารที่ใส่ชุดพลเรือนถือปืนเอ็ม 16 เป็นเพียงแค่ “เด็กส่งอาหาร”
ให้กองกำลังในจุดต่างๆซึ่งอันตราย จึงมีความจำเป็นต้องใส่ชุดพลเรือน
ให้กลมกลืนกับบุคคลทั่วไปเพื่อความปลอดภัย
จึงไม่แปลกที่วันนี้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ยังใช้ปริศนา “ชายชุดดำ”
มาโจมตีคนเสื้อแดงว่าเป็นคนที่ยิงทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แม้การไต่สวน คดี 98
ศพ พยานจะยืนยันว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะนายพัน แต่ยังมีกรณี
6 ศพในวัดปทุมวนาราม กรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ส
ชาวญี่ปุ่น หรือกรณี นายฟาบิโอ โบเลงกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี
ปรากฏการณ์นอนตาย “ตาสว่าง”
ปริศนา “ชายชุดดำ” จึงเป็นตัวแปรสำคัญในคดี 98 ศพที่อาจพลิกไปทางไหนก็ได้
เพราะมีหลักฐานทั้งภาพถ่าย วิดีโอ และข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่ามี “ชายชุดดำ”
จริง แต่จะเป็นของฝ่ายใด หรือของทั้งสองฝ่าย หรือเป็นแค่ “คนสวมชุดดำ” ก็ตาม
ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็นำวาทกรรม “ชายชุดดำ” มาใช้เป็น “ความชอบธรรม”
ในการขอคืนพื้นที่และกระชับวงล้อม
แม้วันนี้ “ชายชุดดำ” ยังไร้ร่องรอย ปรากฏเพียง “ชายชุดดำซาเล้งเก็บขยะ”
ที่กลายเป็น “ชายชุดดำซาเล้งอำมหิต”?, “ชายชุดดำยิงหนังสติ๊ก”, “ชายชุดดำยิงบั้งไฟ”
และมีแนวโน้มจะเป็นเหมือน “ผังล้มเจ้า” ที่กลายเป็น “ผังกำมะ ลอ” ที่ดึง
“เบื้องสูง” มาใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่กลับไม่มีใครเอาผิด “ผู้สั่งการสูงสุด”
ได้
“ความคาดหวัง” จากครอบครัวผู้เสียชีวิต 98 ศพ รวมทั้งผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน
ที่เชื่อว่าในที่สุดเมื่อความจริงค่อยๆปรากฏจะสามารถเอาตัว “คนผิด” ที่ “สั่งฆ่า”
ประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์นั้น นับว่าเป็น “ความคาดหวัง”
ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือช่วงพฤษภาทมิฬนั้น
ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดสามารถสาวถึงผู้บงการ หรือหาคนที่กระทำความผิดได้เลย
ประเทศไทย ณ วันนี้จึงมิอาจคาดหวัง “คำพิพากษา”
ใดๆได้จากกระบวนการยุติธรรมไทยภายใต้อำนาจที่ไม่ปรกติ
อาจมีเพียง “คำพิพากษาจากสังคม” และ “ความจริง” เท่านั้นที่กำลังไล่ล่า
“ฆาตกรมือเปื้อนเลือด” ท่ามกลางโศกนาฏกรรมระหว่างประชา ชน “ผู้บริสุทธิ์ที่
นอนตายตาสว่าง” กับ “ฆาตกรตอ แหลที่นอนหลับ ตาไม่ลง” เท่านั้น!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น