Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

สงครามน้ำ 2555รัฐบาลกับกลุ่มต่อต้าน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 376 วันที่ 8-14 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 11 คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คาดหมายไม่ยากนักสำหรับการสัประยุทธ์ในวาทกรรมอุทกภัยระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายค้าน รวมไปถึงฝ่ายต่อต้านทุกแขนงไผ่ แม้แต่ฝ่ายที่เรียกว่า “อำนาจแฝง” หรือ “อำนาจเร้นลับ” ก็ตาม

การเริ่มต้นของสงครามเห็นได้จากกรณีที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาโต้แย้งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) หรืออดีตอธิบดีกรมชลประทานอย่างนายกิจจา ผลภาษี ที่เสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปลดนายปลอดประสพออกจากประธาน กบอ. โดยให้เหตุผลว่านายปลอดประสพไม่รู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะในอดีตเป็นแค่อธิบดีกรมประมงและกรมป่าไม้ จึงเกิดวิวาทะร้อนแรงเรื่องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

วิวาทะสงครามน้ำยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีการตอบโต้รัฐบาลที่มีแผนให้ทดสอบการระบายน้ำ โดยนายปลอดประสพเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำว่าเป็นอย่างไร เพื่อรองรับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ประเด็นแรกจะได้รู้ว่างบประมาณที่ให้ กทม. ไปบริหารได้กระทำเสร็จหรือไม่ และถ้ามีปัญหาอย่างไรจะได้แก้ไขให้ดีขึ้น

รายการทดสอบนี้มีการสร้างวิวาทะอีกรอบ ทั้งจากฝ่ายนายปราโมทย์และ กทม. โดยเฉพาะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยในการทดสอบการระบายน้ำ และอยากให้เลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคมมากกว่า โดยให้เห็นผลว่าเนื่องจากช่วงวันที่ 5 และ 7 กันยายนที่จะทดสอบการระบายน้ำนั้นเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง และอาจมีพายุเข้ามาด้วย จึงเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้

กรณีนี้แม้รัฐบาลจะอธิบายว่าการระบายน้ำไม่มีปัญหา เพราะระบายเพียง 30% เท่านั้น ถ้าเกิดปัญหาก็ระงับได้ทัน ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของ กทม. ย้ำว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ขอให้ฟังความเห็นของตัวเองเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องฟัง กบอ. แม้จะออกมาแถลงว่าไม่มีปัญหาขัดแย้งกันแต่อย่างใดก็ตาม

ความจริงไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดว่าปี 2555 นี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะเอาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมาเป็นอาวุธโจมตีรัฐบาล โดยคาดหวังจะต้อนให้รัฐบาลเข้ามุมอับ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องงบประมาณ 350,000 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วรัฐบาลมีประสบการณ์การบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยจากเมื่อปีที่แล้ว ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นจุดอ่อน จุดบกพร่อง และจุดแข็ง แล้วจึงประมวลเป็นวิธีบริหารจัดการในปี 2555 ได้เป็นอย่างดี โดยสรุปจากบทเรียนเก่า และแก้ไขข้อบกพร่องในเชิงประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการเปิดเผยเรื่องการจัดนิทรรศการน้ำให้ประชาชนรับทราบ เปิดเผยข้อเท็จจริงการป้องกันอุทกภัย การตั้งรับ ตลอดจนการฟื้นฟูและพัฒนาในระยะยาว ซึ่งปีที่แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก

แต่งานประชาสัมพันธ์เพียงเท่านี้คงไม่พอที่จะตั้งรับสงครามทางการเมืองกับวาทกรรมน้ำ เพราะบริบทการเล่นงานรัฐบาลคงมีทุกมิติ ทั้งในสภาและนอกสภา รวมทั้งสงครามข่าวสารทั่วไป

ตั้งแต่หลังวันที่ 7 กันยายนเป็นต้นไปจึงจะเห็นชัดเจนว่าสงครามน้ำปี 2555 จะมีความกราดเกรี้ยวไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ทั้งจะเป็นบทเรียนนอกตำราที่ไม่มีในหลักสูตรใดๆอีกด้วย เพราะการเมืองเรื่องน้ำศึกษาได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นเอง อีกทั้งยังเป็นการอวดภูมิรู้ที่แตกต่างกันอีกด้วย

ความยากของรัฐบาลจึงไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น หากต้องบริหารบุคลากรที่มีความรู้ทั้งหลายให้สามารถบูรณาการร่วมกันได้อย่างไร นอกจากการตีรันฟันแทงให้พินาศไปเพราะลุแก่อำนาจ

สงครามน้ำครั้งนี้จึงจะได้เห็นอำนาจแฝงอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง และจะเปิดเผยตัวตนให้เห็นมากมายว่าใครเป็นใครในสงครามน้ำปีที่ผ่านมาและปีนี้

พรรคประชาธิปัตย์ต้องจับเรื่องนี้เป็นเกมสัประยุทธ์อย่างซับซ้อนและทุกมิติ บางบริบทอาจเป็น “หลุมลึก” ที่อาจกลายเป็น “กับดัก” ให้รัฐบาลหลงทางได้ไม่ยาก

เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากกว่าปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการฆ่าแกนนำในการเรียกร้องค่าชดเชยเรื่องน้ำที่อยุธยาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเชื่อว่าแกนนำดังกล่าวมีความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างไม่ยุติธรรม

ความขัดแย้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนอาจกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนขึ้นมาได้ จึงเป็นไปได้ว่าหมากที่ซ้ำซ้อนจนแปรให้ “น้ำผึ้งหยดเดียว” กลายเป็นวิกฤตนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

จึงเป็นอีกหลุมการเมืองที่รัฐบาลต้องระมัดระวังให้มาก เรียกว่าประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะสงครามน้ำปี 2555 จะเกิดขึ้นอย่างซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าปีที่แล้วแน่นอน ทั้งอาจกลายเป็นไม้ตายไม้หนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการหวังโค่นล้มรัฐบาลได้ ตลอดจนการสนับสนุนของแนวร่วมสารพัดกลุ่มที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสุดจะหยั่งคาดการณ์ได้

สงครามน้ำจึงจะมีไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาลก็กำลังทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ทดสอบการระบายน้ำโดยปล่อยน้ำเข้า กทม.

สงครามครั้งนี้จึงอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สร้างภาพ สร้างสถานการณ์ขัดขวางการระบายน้ำผ่านคูคลองต่างๆ ซึ่งถ้าทำจริงประชาชนก็จะเดือดร้อน แต่จะเป็น “บูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาหารัฐบาลอย่างเต็มเป้า”

ลูกโป่งอาจจะแตกตอนนี้ก็ได้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น