ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 378 วันที่ 22-28 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
“จากพฤติการณ์ต่างๆดังกล่าว
เชื่อว่าวันเกิดเหตุกลุ่มที่ร่วมระดมยิงอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามใส่รถตู้คันเกิดเหตุนั้นเป็นเจ้าพนักงานทหาร
แม้ไม่มีประจักษ์พยานว่าผู้ตายถูกลูกกระสุนปืนของผู้ใด
แต่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2
ฝั่งถนนของที่เกิดเหตุ สภาพรถตู้ถูกยิงจากด้านหน้าซ้ายและขวาของตัวถังรถ
ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุในลักษณะเข้าไปยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าพนักงานทหาร
ตามที่วินิจฉัยข้างต้นคงมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงรถตู้
เพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ประกาศเตือนไม่ให้แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุม
เป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ตายวิ่งออกไปดูเหตุการณ์หน้าสำนักงานขายคอนโดฯ”
ศาลอาญาอ่านคำสั่งกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งในการไต่สวนกรณีการตายของนายพัน คำกอง
คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
บริเวณแอร์พอร์ตลิ้งค์ราช ปรารภ หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อไอดีโอ คอนโด
ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา ถือเป็นคดีแรกที่ศาลอ่านคำสั่งคดี 98 ศพ
โดยพยานหลักฐานทั้งหมดชี้ว่านายพันถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.)
อาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามของเจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้หมายเลขทะเบียน
ฮค 8561 กรุงเทพ มหานคร ที่มีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ
ซึ่งวิ่งเข้ามายังพื้นที่ควบคุม แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกนายพันถึงแก่ความตาย
ในขณะที่เจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
(ศอฉ.) ทั้งนี้ ให้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป
“อภิสิทธิ์-สุเทพ” ขึ้นเขียง
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายฝ่ายผู้เสียชีวิต ระบุว่า
การอ่านคำสั่งศาลถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยเหตุอะไร
ใครเป็นผู้ทำให้ตาย ยังไม่ใช่การพิพากษาคดีหรือหาคนกระทำผิด
หลังจากศาลอ่านคำสั่งแล้วจะส่งสำนวนให้อัยการดำเนินการตามขั้นตอนคดีอาญาทั่วไป
ซึ่งอัยการจะส่งให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อหาผู้กระทำผิดต่อไป
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี 98
ศพ กล่าวภายหลังศาลอ่านคำสั่งว่า ถือเป็นคดีแรกที่มีผลสรุปสาเหตุการเสียชีวิต
และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินของศาล
ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะเรียกสำนวนดังกล่าวว่าเป็นเรื่อง “คดีฆาตกรรม”
โดยจะนำสำนวนและคำสั่งมาเป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวนคดีที่เหลืออีก 35 คดี
นายธาริตระบุว่า
มีแนวโน้มสูงที่อาจจะต้องพิจารณาดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา
เป็นคดีฆาตกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 289 และมาตรา 59
กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้น
เพราะเป็นผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการ ทั้งนี้
กฎหมายให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาสามารถแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุร้าย
ซึ่งเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ที่ดุลยพินิจของดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ
แต่จะต้องส่งคดีกลับไปยังศาลเพื่อให้ดำเนินการต่อไป
ส่วนทหารที่ทำหน้าที่นั้น
นายธาริตระบุว่าจะได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70
ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถทำสำนวนได้ 2 แนวทางคือ
นำตัวทหารมาแจ้งข้อหาแต่ไม่ดำเนินคดี หรือไม่ดำเนินคดีแต่กันตัวไว้เป็นพยาน
อย่างไรก็ตาม
การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคลใดบ้างต้องรอผลการลงมติจากคณะพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม
91 ศพก่อน
“อภิสิทธิ์” ยันไม่เคยสั่งให้ฆ่าคน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต
อาจดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายกับตนและนายสุเทพว่า
จะดูว่าการใช้อำนาจของฝ่ายต่างๆเป็นไปตามกระบวนการแค่ไหน
ส่วนที่จะมีการโยงว่าเป็นคำสั่งของ ศอฉ. นั้น ศาลได้บอกแล้วว่าคำสั่งของ ศอฉ.
เป็นการสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการสั่งให้ไปฆ่าคน
หรือทำให้เกิดความสูญเสีย ฉะนั้นต้องดูสภาวะแวดล้อม พฤติการณ์ต่างๆ
ซึ่งเป็นหน้าที่ของอัยการและพนักงานสอบสวน ถ้าไม่สะท้อนความจริงคงไม่ได้
ส่วนกรณีที่นายธาริตจะนำคดีนายพันมาเป็นบรรทัดฐานของคดีฆาตกรรมกับอีก 35
คดีที่จะเข้าสู่การไต่สวนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แต่
ละคดีจะนำมาผูกโยงกันหมดไม่ได้ เพราะแต่ละเหตุ
การณ์ไม่ได้เกิดขึ้นในที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน
อย่างกรณีของนายพันศาลระบุว่าเสียชีวิตจากช่วงที่ มีการยิงรถตู้
ซึ่งจะนำไปใช้กับอีก 20-30 คดีไม่ได้
“ตอนนี้นายธาริตพูดในสิ่งที่ฝ่ายการเมืองฝ่ายนู้นเขาพูดมาก่อน
ซึ่งข้องใจว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ โดยผมจะดูหนทางในการดำเนินคดี
และทุกฝ่ายต้องอยู่ใต้กระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย
ผมจะดูว่าการดำเนินการต่อจากนี้ไปให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่
ซึ่งคาดว่ากลุ่มที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองน่าจะนำเรื่องนี้ไปขยายผล
และจะกลายเป็นปัญหาว่าเราไม่พยายามค้นหาความจริงที่นำไปสู่การปรองดอง
แต่พยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว
คอป. จุดเปลี่ยนคดี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทนายผู้เสียชีวิตและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ
การแห่งชาติ (นปช.) วิตกในขณะนี้คือ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความ
จริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ล่าสุดที่ระบุว่ามีหลักฐานว่ามี “ชายชุดดำ”
จริง และทำให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนเสียชีวิตจำนวน 9 คน ซึ่ง “ชายชุดดำ”
หลายคนมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง
อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และการ์ด นปช. รู้เห็นเป็นใจ
แต่ไม่มีหลักฐานโยงไปถึงแกนนำ นปช. แม้จะยืนยันว่า ศอฉ.
มีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สไนเปอร์และมีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมก็ตาม
แต่รายงานของ คอป.
ระบุว่าแม้การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
แต่ผู้จัดการชุมนุมต้องดำเนินการให้อยู่ในกรอบกฎหมาย
และประสานกับเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การชุมนุมจึงไม่ใช่สิทธิอันสมบูรณ์
รัฐสามารถจำกัดสิทธิได้ตามสมควรแก่เหตุและสถานการณ์หากพบว่าผู้ชุมนุมบางคนมีลักษณะใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
การปราศรัยบนเวทีมีการส่งเสริมความรุนแรง มีการใช้สิ่งเทียมอาวุธ
เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายได้
รายงานของ คอป.
จึงไม่ต่างกับที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพใช้ชี้แจงทั้งในสภาและนอกสภาว่ามี
“ชายชุดดำ” ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง
ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงรายงานของ คอป. เช่นกันว่าพนักงานสอบ
สวนต้องนำการตรวจสอบต่างๆของ คอป. ไปใช้ในสำนวนคดีด้วย จะละเลยไม่ได้
ถ้าละเลยก็เหมือนกับจงใจละเว้น
เช่นเดียวกับวาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม”
ที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพอ้างว่าไม่ใช่คำสั่งให้สลายการชุมนุม จึงไม่ใช่
“คำสั่งฆ่า” หรือ “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” ซึ่งอดีตนาย
ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้ความเห็นว่าจะใช้วาทกรรมอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นไปได้ทั้งผิดและไม่ผิด
แต่ถ้าจะให้มีหลักฐานชัดเจนเพื่อเอาผิดต้องให้ทหารที่ทำหน้าที่ “สไนเปอร์”
หรือชุดซุ่มยิงบนรางรถไฟฟ้าอย่างน้อย 5-6 คน กล้าออกมาเป็นพยานว่าใช้อาวุธและกระ
สุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ศพที่วัดปทุมวนารามและกรณี เสธ.แดง
รุมประณาม คอป.
กรณีชายชุดดำที่ คอป. ระบุว่าเกี่ยวข้องกับ
เสธ.แดงจึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่ง น.ส.ขัตติยา
สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลูกสาวของ เสธ.แดง กล่าวถึงรายงานของ คอป.
ว่าเป็นการแต่งนิทานให้ร้าย พล.ต.ขัตติยะ ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร โดยโยนบาปทั้งหมดให้ พล.ต.ขัตติยะ
เพื่อให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ
อีกทั้งในรายงานยังระบุว่าไม่พบเจ้าหน้าที่ยิงปืนแนวระ นาบ
ทั้งที่มีการเล็งกระสุนจริงไปแนวระนาบ เพราะ คอป.
คือคู่ทุกข์คู่ยากของรัฐบาลอภิสิทธิ์
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และแกนนำ
นปช. กล่าวถึงรายงานของ คอป. ว่าทำงานมา 2 ปี น่าจะมีข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้
เพราะความขัดแย้งของสังคมไทยเป็นความขัดแย้งทางโครงสร้าง และจำเป็นต้องจัดสมดุลใหม่
เพื่อให้สมดุลทาง การเมืองสามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่ คอป.
มีเพียงข้อมูลระดับพื้นผิวที่หาอ่านได้ตามสื่อและส่วนอื่นๆ โดยรายงานมุ่งเน้นสถาน
การณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และพยายามเจาะลึกความมีตัวตนของชายชุดดำ
แต่ก็ไม่ได้ลึกเกินกว่าที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เคยอธิบายมา
และในรายงานกลับไม่ปรากฏว่ามีสไนเปอร์กี่กระบอก เจ้าหน้าที่กี่คน และคำสั่งออกยังไง
ซึ่งหาไม่ยากเลย แค่เอาเอกสารราชการมาเรียง
โดยเฉพาะข้อสรุปของ คอป. ที่ว่าปัญหาความ ขัดแย้งทั้งปวงมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณนั้น
นายณัฐวุฒิยืนยันว่า
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหนึ่งในเหยื่อของความขัดแย้งและโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยเท่านั้น
รายงานของ คอป. ไม่ใช่กุญแจสำคัญที่จะนำ ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งได้
เพราะไม่ได้เข้าไปแตะต้องรากแก้วของปัญหาเลยแม้แต่น้อย
ส่วนเหตุการณ์เผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่ คอป.
สรุปว่าน่าจะมาจากคนเสื้อแดงนั้น นายณัฐวุฒิย้อนถามว่า
ได้ไปสัมภาษณ์นักผจญเพลิงของเซ็นทรัลเวิลด์หรือไม่
ซึ่งตนได้ไปคุยกับนักผจญเพลิงเหล่านั้น
ต่างพูดชัดว่าคนเผาห้างไม่ใช่ฝีมือคนเสื้อแดง
แต่มีกองกำลังติดอาวุธที่เป็นเจ้าหน้าที่ปักหลักอยู่บนห้าง
และเมื่อออกมาก็เกิดเหตุไฟไหม้
โกหกเรื่องเดิมๆ
ส่วน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า
ขอขนานนามรายงาน คอป. ว่า the same old lies หรือโกหกเรื่องเดิมๆ
เพราะแอบสอดไส้ผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
(คตส.) ที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหารเข้าไปในรายงานด้วย
ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชายชุดดำคือใคร เป็นเพียงเรื่องเล่า
สมมุติฐานขึ้นมาลอยๆ ไม่เป็นมืออาชีพ
อ่านแค่อารัมภบทก็เห็นว่าเป็นการเขียนรายงานชุ่ยๆ สอบตกโดยสิ้นเชิง จึงอยากให้ คอป.
ออกมาขอโทษประชาชนข้างโลงศพของ เสธ.แดง
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า
ขอแสดงความเสียใจกับนายคณิตที่มาเสียตัว เสียผู้เสียคนเมื่อแก่แล้ว
เสียดายสติปัญญาของนายคณิตมาก คิดว่านายคณิตคงเกลียดชัง พ.ต.ท.
ทักษิณมากจนไปปิดบังสติปัญญาของตัวเอง หากนายคณิตออกมาขอโทษก็พร้อมให้อภัย
และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องชายชุดดำ ยืนยันว่ารายงานของ คอป. ไม่น่าเชื่อถือ
มีเจตจำนงซ่อนเร้นสร้างความชอบธรรมให้ ศอฉ. และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงคดีนายพันที่ศาลสั่งว่าเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งของ
ศอฉ. ว่า ศอฉ. ต้องรับผิดชอบ เมื่ออัยการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพ ตำรวจก็ต้องนำสำ
นวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลสั่งส่งดีเอสไอ โดยได้สั่งนายธาริตว่าไม่ต้องมารายงาน
แต่ให้ทำไปตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะตายศพเดียวหรือกี่ศพก็เข้าหลักประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 84 ใช้ จ้างวานให้ผู้อื่นกระทำความผิด ถ้าความผิดสำเร็จ
ผู้ใช้รับโทษเหมือนตัวการ ตามมาตรา 83 ป.อาญา คือเท่ากับลงมือทำผิด มาตรา 59
กระทำโดยเจตนา ถึงไม่ประสงค์ต่อผล แต่เล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้น เช่น
การสั่งสลายชุมนุมในเวลากลางคืน ซึ่งหลักสากลไม่ทำกัน
จะเข้าความผิดองค์หลักหรือมาตรา 288
ส่วนจะสอบสวนนายอภิสิทธิ์หรือนายสุเทพเพิ่มเติมหรือไม่ก็แล้วแต่พนักงานสอบสวน
“แค่นี้ก็ตายแล้ว ไม่ต้องหลายคดีหรอก”
ตกนรกทั้งเป็น
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายและนักวิชาการอิสระ ตั้งข้อสังเกตว่า
นอกจากต้องติดตามว่าดีเอสไอและอัยการจะฟ้องคดีนี้อย่างไรแล้ว
ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ
หรือทหารที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย ที่สำคัญและน่าสนใจมากคือรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีจุดยืนอย่างไรหลังศาลมีคำสั่ง จะยังอ้างรายงานของ คอป.
อย่างที่ผ่านมาหรือไม่ หรือจะวางตัวออกห่างเพื่อเลี่ยงการขัดแย้งกับกองทัพ
เพราะคำสั่งศาลยังเกี่ยว ข้องกับประเด็น “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” หรือ “ศาลอาญาโลก”
เพราะกฎหมายระหว่างประเทศจะไม่ให้ “ศาลอาญาโลก”
พิจารณาคดีที่ยังมีการดำเนินการอยู่ตามปรกติโดยระบบกฎ หมายภายในประเทศ
ดังนั้น แม้ คอป. ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้กำลังทหารของ ศอฉ.
ไม่เหมาะกับการควบคุมฝูงชนด้วยประการทั้งปวง
รวมทั้งอนุญาตให้ใช้อาวุธสงครามในการควบคุมฝูงชน เช่น รถสายพานลำเลียง ปืนเล็กยาว
กระสุนจริง หรือเฮลิคอปเตอร์ก็ตาม
แต่การจะเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในคดีฆาตกรรมข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา”
อย่างที่นายธาริตแสดงความเห็นนั้นยังมีตัวแปรอีกหลายปัจจัย
โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจนอกระบบที่ยังถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือปัญหาของบ้านเมือง
เพราะประธาน คอป. เองยังตอกย้ำว่าบ้านเมืองจะสงบและเกิดสันติได้
พ.ต.ท.ทักษิณต้องยุติบทบาททางการเมือง และยังเตือนให้รัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำเรื่องการหักดิบกฎหมายให้กระจ่าง
เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมมีความเคลือบแคลง
หรือการร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามา ประธาน คอป.
ก็เห็นว่าเป็นการเสียเกียรติภูมิของประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้การเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะไม่ง่าย
แต่การที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะกลายเป็น “ผู้ต้องหา” คดีฆาตกรรมในข้อหา
“ฆ่าคนตายโดยเจตนา” นั้นก็เหมือน “ตกนรกทั้งเป็น” แล้ว!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น