ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 377 วันที่ 15-21 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 5 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นายทหารกลุ่มหนึ่งที่นำโดย พล.อ.สนธิ
บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมด้วย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ
พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 เป็นต้น ได้นำกองทัพเข้าก่อการยึดอำนาจทำการรัฐประหาร
เพื่อล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นการล้มเลิกประชาธิปไตยและล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งชาติไปด้วย
มาถึงขณะนี้เวลาผ่านมาแล้ว 6 ปี
คงจะต้องสรุปว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งที่ล้มเหลวที่สุด
เป็นรัฐประหารที่นำมาสู่ความวุ่นวาย ความแตกแยก และการนองเลือดของประชาชน
ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตยภายใต้กรอบแนวคิดอนุรักษ์นิยมจัด
ย่อมไม่ได้ผลและนำไปสู่ความอัปยศเป็นที่สุด
ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่าการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งนั้น
เผชิญปัญหาประการแรกทันที
เพราะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์ระหว่างประเทศ
เพราะโลกนานาชาติไม่ได้ถือกันแล้วว่าการรัฐประหารเป็นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบอารยะ
ประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรปไม่มีการรัฐประหารมาเป็นเวลาช้านาน ในลาตินอเมริกา แอฟริกา
แทบจะไม่เหลือประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหารเลย
รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ของไทยจึงถูกมองด้วยความประหลาดใจและไม่เข้าใจ
กล่าวกันว่าแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นว่ารัฐประหารในไทยครั้งนั้น
“ไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้”
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถถือครองอำนาจไว้ได้ยาวนาน
ต้องรีบดำเนินการให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองปรกติโดยเร็ว
ความล้มเหลวของการทำรัฐประหารประการสำคัญ
เห็นได้จากการไม่บรรลุข้ออ้างการทำรัฐประหาร เช่น
ทำเพื่อการป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม
แต่หลังรัฐประหารสังคมไทยยิ่งแตกแยกยิ่งกว่าเดิม
และยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม
จนถึงขณะนี้ผลกระทบจากความแตกแยกและความรุนแรงยังไม่อาจเยียวยาได้ แม้ว่า
พล.อ.สนธิในวันนี้จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร
และรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการปรองดองฯของรัฐสภา
พร้อมทั้งเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
แต่การปรองดองก็ยังไม่บรรลุผล
ข้ออ้างต่อมาคือ เรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ก็เห็นได้ชัดว่าหลังจากรัฐประหารมีการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายศัตรูทางการเมืองกันชัดเจน
เช่น การใช้มาตรา 112 จับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก
จนถึงขณะนี้ยังมีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังอยู่
การที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112
ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขังผู้บริสุทธิ์
หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตคาคุกเช่นนี้
ไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแยกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น
ข้อกล่าวหาเรื่องรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ
วันนี้องค์กรอิสระทั้งหมดก็ยังถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ
จนทำให้องค์กรเหล่านี้ถูกมองว่ามีบทบาทอันอัปลักษณ์บิดเบี้ยว
การดำเนินการและผลงานล้วนไม่เป็นที่ยอมรับ
กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยุติธรรมเช่นเดียวกับองค์กรตุลาการอื่น
ส่วนข้อกล่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อันชัดเจนแต่อย่างใด
เรื่องนี้จึงยังเป็นมายาคติขนาดใหญ่ที่มีการสร้างกันอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ฝ่ายประชาชนเสื้อเหลืองเชื่อว่าเป็นความจริง และยังต่อต้าน
พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา
แต่ผลของรัฐประหารที่เสียหายอย่างยิ่งคือ
การล้มเลิกรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ
เพราะความจริงแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาอย่างราบรื่นมาตั้งแต่ พ.ศ.
2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ
และมีกติกาชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด
และรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากกว่าครึ่งจะได้จัดตั้งรัฐบาล
การเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยเสมอ
ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2540
ถือว่าเป็นฉบับประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง
แต่คณะรัฐประหารล้มเลิกหมด แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550
ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ ที่ให้อำนาจแก่ศาลอยู่เหนือการเมืองมาใช้แทน
จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
แต่กระนั้นความพยายามที่จะแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมอัปลักษณ์นี้ก็ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายปฏิกิริยาเสมอมา
ปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงก็คือ
การที่กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลังรัฐประหารสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ
2 ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 โดยการรวบรวมเสียงจากพรรคเสียงเล็กๆ
กับกลุ่มแปรพักตร์มาตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ นั่นคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่รับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 จึงนำมาซึ่งการต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก
โดยกลุ่มชนชั้นนำที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ “ผังล้มเจ้า”
มาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม
เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนโดยกองทัพ
จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก
และขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกจับกุมอยู่
แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐประหาร พ.ศ. 2549
ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ
โดยเฉพาะการตื่นตัวของประชาชนที่มีความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง
ทำให้การทำรัฐประหารครั้งใหม่เกิดขึ้นได้ยาก ที่เห็นได้คือการเกิด
“ปรากฏการณ์ตาสว่าง” ที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์
และทำให้เกิดการปฏิเสธสถาบันหลัก (Establishment) ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน
ทำให้เห็นว่าสังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นเมืองตอแหล หน้าไหว้หลังหลอก
พร่ำพูดกันแต่เรื่องดีด้านเดียว ไม่สนใจความจริง
ชนชั้นนำไทยไม่สนใจและเอาใจใส่ชีวิตของประชาชนระดับล่าง
ยิ่งกว่านั้นยังได้เห็นธาตุแท้ของตุลาการและกระบวนยุติธรรมที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชั้นล่าง
แต่ยอมจำนนกับการรัฐประหารและพร้อมจะเอื้ออำนวยให้มีการจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก
สถานการณ์ในระยะ 6 ปีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า
การที่จะสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้ามั่นคงไม่อาจจะฝากความหวังใดกับชนชั้นนำ
เพราะชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มทางทรรศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมจัด โลกทัศน์แคบ
หวาดกลัวความคิดแตกต่าง ยอมรับและปอปั้นอภิสิทธิ์ชนและไม่นิยมประชาธิปไตย
อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงอยู่ที่ประชาชนระดับล่าง ซึ่งมีใจรักประชาธิปไตย
เคารพในสิทธิของมนุษย์ คิดในหลักเสมอภาคและมีจิตใจกล้าต่อสู้
ปัญญาชนที่ก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ครก.112
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนักวิชาการแนวหน้าคนอื่นๆ
อาจจะมีบทบาทในการนำเสนอประเด็นต่อสังคมไทย
แต่การผลักดันให้เป็นจริงย่อมอยู่ที่การทำให้ประเด็นเหล่านั้นมีลักษณะยอมรับร่วมกันในหมู่ประชาชน
การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงจะเป็นจริงได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น