ที่มา:มติชนรายวัน 8 ก.ค.2556
ประหนึ่งว่ารัฐประหารที่อียิปต์จะคล้ายกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ของคณะทหารแห่งประเทศไทย
กระทั่งบางคนเรียกขาน-รัฐประหารที่ชอบธรรม
เหมือนกับที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เคยรัฐประหารตนเองเมื่อเดือนเมษายน 2476
อันเป็นต้นแบบแห่ง "รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ"
กระทั่ง นักการเมืองบางคนออกมาสำทับในเชิงเตือนต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า น่าจะศึกษาบทเรียนจากกรณีอียิปต์
กระทั่ง บางคนมองเห็นต่อผลพวงของ "อาหรับสปริง"
กลายเป็นแรงดาลใจ ต่อเชื้ออันอาจนำไปสู่สำนึกแห่งความตื่นรู้ตามแนวทางแห่ง "ไทยสปริง" ตามจินตนการ
เหตุเกิดที่ "อียิปต์" แต่สะเทือนมาถึง "ไทย"
ทั้งๆ ที่มีความเหมือนเพียง 2 อย่างเท่านั้น 1 เหมือนตรงเป็นการโค่นรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้ง 1 เป็นการลงมือโดยทหาร
เป็นความเหมือนใน "ความต่าง"
ความจริงแล้ว หากเปรียบเทียบระหว่าง "อียิปต์ สปริง" กับสภาพทางการเมืองของไทยไม่น่าจะใกล้กับสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2549
แต่ใกล้กับเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มากกว่า
สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่นำโดยนิสิตนักศึกษาแม้ปฏิมาคือต้องการรัฐธรรมนูญ
แต่นี่คือสัญลักษณ์แห่งระบอบ "ประชาธิปไตย"
แม้จะมี "มือ" หลายมือแตะร่วมกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าทหารบางส่วนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคนของ พคท.บางคนที่แทรกซึมอยู่ ไม่ว่าพลังก้าวหน้าในหมู่นักธุรกิจ ปัญญาชนนักวิชาการ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อแท้การเคลื่อนไหวเป็นของ "พลังบริสุทธิ์" ของนิสิตศึกษา
การก่อรูปขึ้นของ "ขบวนการ" อาจผ่านการนำอย่าง "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" แต่ก็ไม่มีพลังอื่นใดกุมการนำอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด
รูปธรรมคือความขัดแย้งบริเวณหน้าสวนจิตรลดาก่อนการสลายในเช้าวันรุ่งขึ้น
การมิอาจประสานระหว่างแกนนำในกลุ่มของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กับกลุ่มของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กระทั่งมีการกล่าวหากันจากสวนสัตว์ดุสิต นับว่าเด่นชัด
เด่นชัดในวิถีดำเนินแห่ง "พลังบริสุทธิ์"
การต่อสู้เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ของพลังคนชั้นกลางไทยเป็นเช่นนี้ การต่อสู้เมื่อปี 2554 ของพลังคนชั้นกลางอียิปต์ก็เป็นเช่นนี้
เป้าหมายของไทยคือโค่นระบอบถนอม-ประภาส
เป้าหมายของอียิปต์คือโค่นระบอบมูบารัค
กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อสู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลาง ไม่ว่าของไทย ไม่ว่าของอียิปต์ มิได้ต้องการอำนาจรัฐ
สุญญากาศตรงนี้เองที่นำไปสู่การแย่งชิง
ในอียิปต์อาจเป็นของรัฐบาลอันเป็นตัวแทนจากพรรคภราดรภาพมุสลิม แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คืออำนาจแท้จริงอยู่ในมือของใคร
เดือนกรกฎาคม 2556 ก็แสดงตัวออกมา
ในไทย นิสิตนักศึกษาเหมือนกับได้อำนาจแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เพียงห้วงสุญญากาศการเปลี่ยนผ่านไม่กี่วัน
อย่างเก่งก็เล่นบทจราจร
แต่เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริงก็สำแดงตัวออกมาและส่งผลให้การต่อสู้ในเดือนตุลาคม 2516 เสมอเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวบุคคล 3 คนออกไป
ผู้กุมอำนาจรัฐแท้จริงยังเหมือนเดิม
สถานการณ์ในอียิปต์จึงเสมอเป็นเพียงการเริ่มต้นเหมือนไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2516
จากเดือนตุลาคม 2516 อำนาจรัฐยังอยู่กับกลุ่มเดิมไม่เคยแปรเปลี่ยนโดยมีกองทัพ มีทหารเล่นบทสำคัญเหมือนกับอำนาจที่ดำรงอยู่ในอียิปต์
นักการเมืองเสมอเป็นเพียง "ตัวละคร" ที่เปลี่ยนหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น