Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลับ ลวง แหล ปชป. กับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับ ปชช.

พาดหัวข่าวโดย ทีมงานสุนัยแฟนคลับ
บทความบางส่วน โดย วีรพัฒน์  ปริยวงศ์
https://www.facebook.com/verapat/posts/4737964261215

  


การที่ 'ประชาธิปัตย์' มีท่าทีพร้อมร่วมเจรจาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เสนอโดยกลุ่มญาติผู้สูญเสียล่าสุดนั้น

หากมองในแง่ดี ก็ต้องขอชม 'ประชาธิปัตย์' ที่พร้อมร่วมการเจรจาเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง

แต่หากมองในอีกแง่ ก็อาจเป็นเพราะ 'ประชาธิปัตย์' อ่านเกมส์ทะลุว่าการออกมาหนุนประเด็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อพรรครัฐบาลให้มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำมากขึ้น

เพราะ 'ประชาธิปัตย์' ทราบดีว่าหากร่างนี้เดินหน้าต่อได้ ก็จะต้องเจรจากันเรื่องข้อความที่ต้องมีการตีความ เช่น

- "มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง...เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ"

- "มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง"

ประเด็นเหล่านี้มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร ? ใครเป็นผู้พิจารณาทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ? พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล กระทรวงยุติธรรม ต่างคนต่างพิจารณา ?

สุดท้าย หากเจรจาประเด็นเหล่านี้ได้ ก็น่ายินดี แต่หากมีฝ่ายที่ไม่ยอม ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่ที่อยากรอดไปพร้อมกับคนตัวเล็ก หรือคนตัวเล็กที่ไม่ยอมไปพร้อมกับคนตัวใหญ่ ก็อาจมีการทะเลาะกันเองในพรรค ชุมนุมหน้าสภา หรือไม่ก็ขู่ว่าพรรครัฐบาลไม่จงรักภักดี ฯลฯ

รัฐบาลซึ่งย่อมอ่านเกมส์ออก บวกกับยังแก้ปัญหาเรื่องอื่นไม่ได้ ก็จะลังเล ส่งผลให้ร่างนี้และร่างอื่นๆ ค้างในสภาต่อไป

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็จะโดนโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งจากฝ่ายที่มองว่าร่างกฎหมายมีปัญหา และจากฝ่ายที่มองว่ากฎหมายดีแล้วแต่รัฐบาลผลักไม่สำเร็จ

สุดท้ายการเมืองก็จะเข้าทาง 'ประชาธิปัตย์' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แม้ในความเป็นจริง 'ประชาธิปัตย์' อาจจะร่วมเจรจาอย่างจริงใจก็ตาม)

===========

ถ้าจะให้ดีสำหรับทุกฝ่ายที่มีความจริงใจ ผมก็เสนออย่างที่เคยเสนอไปแล้ว คือ แทนที่จะมาเสียเวลาเถียงกันกับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับเดียว ผมเสนอให้ร่วมกันผลัก ร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับเข้าสภาพร้อมกัน และรับหลักการในวาระ 1 ไปพร้อมกันทั้งสองฉบับ ดังนี้

*** พ.ร.บ. ฉบับแรก ***

มุ่งนิรโทษกรรมโดยมีผลทันทีให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาความ ผิดรุนแรง เช่น อาจเป็นประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สั่งให้กลับบ้านแล้วไม่ยอมกลับ หรือเป็นความผิดลหุโทษอื่นๆ อันเกี่ยวกับการชุมนุม ที่สังคมยอมรับร่วมกันได้ว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรม และอาจมีการพิจารณาถึงการเยียวยาผู้ที่ได้ถูกลงโทษก็เป็นได้

*** พ.ร.บ. ฉบับที่สอง ***

มุ่งสร้างกลไกบรรเทาความขัดแย้งต่อกรณีการกระทำที่มีข้อหารุนแรง และสังคมยังไม่สามารถยอมรับร่วมกันว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรมทันทีหรือไม่ เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล การเผาสถานที่ หรือทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต กฎหมายฉบับที่สองจะสร้างกลไกในการทำแสวงหาหนทางว่าผู้ใดสมควรได้รับการ บรรเทาหรือไม่เพียงใด

การบรรเทาความขัดแย้งตามกฎหมายฉบับที่สอง อาจเสนอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ทางเลือกที่จะสู้คดีต่อไปตามปกติ หรือจะเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการที่พอยอมรับได้จากทุกฝ่าย มาพิจารณาปัจจัยและบริบทต่างๆเกี่ยวกับความขัดแย้ง เช่น การยอมรับข้อเท็จจริง การขอโทษ การให้อภัย การพิจารณามูลเหตุจูงใจทางการเมือง การพิจารณาลักษณะการกระทำในรูปแบบผู้ตัดสินใจสั่งการ การเยียวยา และปัจจัยอื่นๆ

เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาปัจจัยดังกล่าวแล้ว ก็จะพิจารณามาตรการบรรเทาความขัดแย้งในกรณีต่างๆให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งอาจมีหลายวิธี เช่น การนิรโทษกรรม หรือ การรอลงอาญา หรือลดโทษ หรือควบคุมความประพฤติ หรือถ้าไม่สมควรได้รับการบรรเทาความขัดแย้ง ก็ย่อมต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการปกติ

===========

แน่นอนว่าวิธีนี้ไม่ใช่ 'เสร็จได้เร็ว' แต่หากทุกฝ่ายยอมที่จะเจรจากัน วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ 'เริ่มได้เร็ว' โดยร่างฉบับแรก อาจเสร็จก่อนร่างฉบับที่สอง แต่ร่างที่สองก็เริ่มต้นได้โดยไม่ถูกทิ้ง

ที่สำคัญ แนวคิดนี้เป็นการรวมเรื่องการค้นหาความจริงและแสดงความรับผิดชอบต่อความจริงเข้าไปในกระบวนการด้วย

มิใช่ว่านิรโทษแล้วก็จบกันไป โดยต่างคนก็ต่างคิดว่าตนเท่านั้นที่ถูก อีกฝ่ายเท่านั้นที่ผิด

แนวคิดในการ 'เปิดพื้นที่เจรจา' เช่นนี้ ผมเคยอธิบายไปแล้ว หากท่านใดสนใจ หรือสงสัย หรือยังมีสภาวะจิตหลอนนึกว่าข้อเสนอนี้ต้องการไป 'แย่งหน้า' ใคร โปรดอ่านหรือฟังคำอธิบายเพิ่มได้ที่ comment ด้านล่าง แล้วเชิญมาคุยกันดีๆ ด้วยเหตุด้วยผลครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น