Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กุมเหตุ ปัจจัย การเมือง การทหาร ด้านหลัก รอง

คอลัมน์ การเมือง มติชน 27 ก.ค. 2556

ปัญหาการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกองกำลังของขบวนการก่อความไม่สงบในห้วงแห่งเดือนรอมฎอน ทำให้ประเด็นแหลมคม ว่าด้วย "การเมืองนำการทหาร"
หวนกลับมาอีกวาระหนึ่ง

คล้ายกับว่า เมื่อผ่านสงครามกลางเมือง เมื่อมีการประกาศใช้คำสั่ง 66/23 เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์

ความเข้าใจในเรื่อง "การเมืองนำการทหาร" จะเป็นเรื่องเล็กจ้อย

นายทหารตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านมาถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ล้วนมีความเข้าใจในแนวคิดนี้อย่างถ่องถ้วน

ไล่ระดับมาจนถึง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

แต่เมื่อสัมผัสกับการเคลื่อนไหว "แช่แข็ง" ประเทศไทย ประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวเพื่อฉีกหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่

ก็เริ่มสงสัย

เหมือนความสงสัยต่อความรับรู้ทางการเมืองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เหมือนความสงสัยต่อความรับรู้ทางการเมืองของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เข้าใจ "การเมือง" นำ "การทหาร" จริงหรือ

หากใครได้อ่านหนังสือเรื่อง "กำเนิดและความเปราะบางของเสรีประชาธิปไตย" อันเป็นงานวิจัยของ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จะทำให้รับรู้ถึงพัฒนาการ "การเมือง" ได้ลึกยิ่งขึ้น

รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การทหาร หนีไม่พ้นไปจากกระบวนการทางเศรษฐกิจ

บทบาทที่ไม่ควรมองข้าม คือ บทบาทของ นโปเลียน โบนาปาร์ต
ผู้คนมักเข้าใจภาพลักษณ์ของนโปเลียนทางด้านนักการทหาร และภาพลักษณ์ของการเป็นจอมเผด็จการ

แต่หารู้ไม่ว่า นโปเลียน เข้าใจบทบาทการเมือง การทหารอย่างแนบแน่น

นโปเลียนอาศัยพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านปืนใหญ่ปรับเข้ากับยุทธวิธีรวมศูนย์การยิงไปยังจุดเปราะบางข้าศึก กำชัยครั้งแล้วครั้งเล่า


กระนั้น การทหารกับการเมืองของนโปเลียนดำเนินไปอย่างเป็นองค์เอกภาพ

นั่นก็คือ อาศัยการทหารไปแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเดียวกัน อาศัยการทหารเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม

คำถามอยู่ที่ว่า การเมืองกับการทหารอะไรคือด้านหลัก
ต้องเริ่มต้นจากนิยามของเคลาซวิทซ์ที่ว่า สงครามคือความต่อเนื่องของการเมือง เป็นการเมืองที่หลั่งเลือด จึงจะตอบคำถามระหว่างการเมืองกับการทหารได้ว่าอะไรคือด้านหลัก อะไรคือด้านรอง

แน่นอน ในบางระยะการเมืองอาจเป็นด้านหลัก ในบางระยะการทหารอาจเป็นด้านหลัก

กระนั้น หากมองตามความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทางการทหารล้วนเป็นการดำเนินไปแห่งกระบวนการทางการเมืองมิใช่หรือ

เพราะว่า สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด

แม้ว่าขีดความขัดแย้งทางการเมืองมิอาจบริหารจัดการได้โดยวิธีการทางสันติ จำเป็นต้องใช้กำลัง จำเป็นต้องใช้อาวุธ นั่นก็คือ ก้าวเข้าสู่พรมแดนของการเมืองหลั่งเลือด การเมืองที่มีการตั้งปากกระบอกปืนเข้าหากัน

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ การเมืองอันหลั่งเลือดนั้นก็ยังถือว่าเป็น

พรมแดนของการเมืองอยู่นั่นเอง กระบวน

การทั้งหลั่งเลือด ทั้งไม่หลั่งเลือดจึงยังคงถูกกำกับอยู่ด้วยหลักทางการเมืองอย่างแนบแน่น

การเมืองต่างหากที่เป็นปัจจัยหลักตั้งแต่ต้นจนจบ

เพียงแต่จะยึดกุมอย่างไรจึงจะถือว่าไม่ละเมิดหลักการที่การเมืองนำการทหาร การทหารมีการเมืองเป็นธงกำกับ

หากยึดกุมได้ก็จะรบที่ไหนชนะที่นั่น
ความเป็นเหตุ ความเป็นปัจจัยระหว่างการเมืองกับการทหารจึงดำเนินไปอย่างเป็นองค์เอกภาพ

องค์เอกภาพนั้นในบางห้วงการเมืองอาจเป็นปัจจัยหลัก บางห้วงการทหารอาจเป็นปัจจัยหลัก แต่ที่ซึมซ่านอยู่โดยตลอดคือการไม่ทอดทิ้งธงทางการเมือง

การกุมเหตุ กุมปัจจัย จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น