Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จักรภพ เพ็ญแข เปรียบเทียบ "การเมืองไทย" กับ "การเมืองที่ตึงเครียดในอียิปต์"

3 กรกฎาคม 2556
โดย จักรภพ เพ็ญแข
 
 

อียิปต์ขณะนี้ตึงเครียดขึ้นทุกนาทีที่ผ่านไป ขบวนการต่อต้านรัฐบาล หรือ ทามารอด (Tamarod) ก็เดินหน้าปลุกใจผู้ประท้วงนับล้านทั่วประเทศให้ฮึกเหิมเต็มที่ และประกาศว่าพร้อมจะเดินขบวนไปสู่ทำเนียบประธานาธิบดีได้ทุกเมื่อ หากประธานาธิบดีโมฮัมหมัด มอร์ซีไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งตามที่พวกเขาเรียกร้อง ฝ่ายประธานาธิบดีก็ยืนหยัดแข็งกร้าวไม่แพ่้กัน เพิ่งออกโทรทัศน์แห่งชาติไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ประกาศว่าเขาคือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับเสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทั่วประเทศ และจะรักษารัฐธรรมนูญของชาติเอาไว้ด้วย “ชีวิต” 

ส่วนกองทัพแห่งชาติของอียิปต์ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือนายพลอับเดล ฟัตตา อัล-ซีซีที่แทรกตัวเข้ามาระหว่างกลาง ก็เผยแผนการของฝ่ายทหารว่าจะกระทำการ ๓ อย่างหากแต่ละฝ่ายไม่หยุดเผชิญหน้ากัน ได้แก่ พักใช้รัฐธรรมนูญ ยุบรัฐสภา และจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่โดยเร็ว 

สหรัฐอเมริกาก็สอดเข้ามา (โดยประธานาธิบดีโอบามาต่อสายไปหาประธานาธิบดีมอร์ซี) และเสนอว่า อยากให้พิจารณาจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้น (เหลือเวลาตามวาระอีกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น) และขณะเดียวกันก็เตือนฝ่ายทหารว่าระวังบทบาทในขณะนี้ให้ดี การออกมาสร้างแรงกดดันให้ทั้งสองฝ่ายหาทางรอมชอมกันในทางการเมืองนั้นเห็นด้วย แต่ถ้าจะขยายบทบาทไปถึงรัฐประหาร ก็จะคัดค้านเต็มที่ รวมทั้งจะตัดความช่วยเหลือทางทหารประจำปีปีละเกือบห้าแสนล้านบาทนั้นด้วย 

ตอนนี้ทุกฝ่ายในอียิปต์ รวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศ จึงกำลังกลั้นหายใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

ผมเองมีประสบการณ์อยู่บ้างในเรื่องแบบนี้ นึกในใจว่ามวลชนคงจะหมดความอดทนและเริ่มเดินหน้าก่อน จากนั้นกองทัพแห่งชาติหรือรัฐบาลจะเป็น “ไม้สอง” ก็สุดที่จะรู้ได้ ใครนึกง่ายๆ ว่าฝ่ายทหารคงจะเข้าไปจับตัวประธานาธิบดีหรือตรึงเขาไว้ไม่ให้ใช้อำนาจสั่งการใดๆ ควรรู้ด้วยว่า มวลชนฝ่ายประธานาธิบดีที่มาจากองค์กรภราดรภาพแห่งชาวมุสลิมก็กำลังกรีฑาทัพลงสู่สนามทั่วประเทศ เช่นเดียวกัน งานนี้มวลชนจะปะทะมวลชนก่อน ฝ่ายทหารจะ “เอาอยู่” หรือไม่ มหาอำนาจจะเข้าแทรกแซงหรือไม่ ยากที่พยากรณ์นัก รู้แต่ว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในอียิปต์กำลังถูกทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในขณะนี้
 
ผมเขียนไว้เมื่อวานนี้ว่าประสบการณ์ของอียิปต์จะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับไทย ไม่ว่าผลของอียิปต์จะออกมาอย่างไรก็ตาม จึงขอวิเคราะห์ถอยหลังไปสักหน่อยครับว่า อียิปต์เดินมาสู่ปากเหวอย่างนี้ได้อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยร่วมของประชาธิปไตยในระยะตั้งไข่ มีอันตราย หลุมพราง มุมอับ หรือจุดบอดอยู่ตรงไหนบ้าง

ประการแรก โมฮัมหมัด มอร์ซี ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอียิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง มรดกจากระบอบศักดินาอำมาตย์เก่าที่นำมาสามสิบปีโดย ฮอสนี่ย์ มูบารัค ล้วนเป็นของชำรุดทรุดโทรม ใช้การต่อแทบไม่ได้ทั้งสิ้น 

กลไกบางอย่างที่ยังใช้การได้ก็เป็นกลไกเผด็จการที่อาสารับใช้ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ต่อไปเพื่อตนจะอยู่รอดได้ด้วย ผู้นำประชาธิปไตยจึงต้องทุบทำลายเสียหรือหาทางเปลี่ยนไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ จะกลืนน้ำลายตนเองโดยไปรับกลไกเผด็จการเหล่านั้นมาใช้ต่อมิได้ 

รวมความแล้วก็สรุปได้ว่า ผู้นำหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยมักจะได้รับมรดกเป็น ระบบที่ชำรุด (broken system) กันแทบทั้งนั้น โมฮัมหมัด มอร์ซี ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ หันไปทางไหน ก็กลไกเก่าของมูบารัค แม้กระทั่งในศาล กองทัพ และระบบราชการ เพราะเขาวาง “เด็กสร้าง” ของเขาเป็นทอดๆ กันมานาน 

มอร์ซีจึงหันเหกลับมาทางกลไกที่ทำให้เขาได้มาเป็นประธานาธิบดี นั่นคือมวลชนอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนา โดยเฉพาะในเครือข่ายขององค์กรภราดรภาพแห่งชาวมุสลิม ผลด้านกลับก็คือประชาชนอียิปต์ส่วนใหญ่รู้สึกผู้นำละทิ้งตน จะเอาแต่มวลชนที่สนับสนุนตน และไม่สนใจความทุกข์ร้อนของมวลชนกลุ่มอื่นๆ เป็นผลให้มีความรู้สึกน้อยใจและลามมาเป็นความชิงชังโกรธแค้นในบัดนี้ 

ลองนึกถึงเมืองไทยของเราดูสิครับ เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายประชาธิปไตยประสบชัยชนะ เราจะพบกับเงื่อนไขที่ไม่ต่างจากมอร์ซีเลย กลไกรัฐที่เป็นศูนย์กลางอำนาจจริง เช่น กอ.รมน. ศรภ. กองบัญชาการหน่วยรบพิเศษ เป็นต้น จะยังคงภักดีต่อมือที่ให้อาหารเขามาก่อนเรา แถมมวลชนที่ถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังทุกๆ รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบเก่าที่คอยชักใยอยู่ ก็จะเดินสู่ถนนเหมือนในอียิปต์ทุกวันนี้ 

ที่พูดอย่างนี้มิใช่ว่า รัฐบาลของโมฮัมหมัด มอร์ซี เป็นเทวดาที่ใครจะแตะต้องมิได้เอาเลย แต่ผมกำลังห่วงว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลังการช่วงชิงอำนาจอย่างยิ่งใหญ่ จะไม่มีช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ใดๆ กับใครเขา แต่จะต้องเผชิญกับปิศาจร้ายรูปแบบต่างๆ จากกลุ่มอำนาจเก่าในทันที บ้างก็แสดงตนเป็นปิศาจอย่างชัดเจนเปิดเผย แต่บางตนจำแลงมาในรูปของผู้หวังดีเพื่อมาฆ่าเราเสียในบ้าน ถ้าขบวนประชาธิปไตยไม่คิดสร้างกลไกเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยใหม่ไว้ล่วงหน้า เห็นทีจะต้องนองเลือดกันหลายหนหลายครั้งจนหัวใจสลาย คล้ายกับอียิปต์ขณะนี้

ประการที่สอง ผมเห็นด้วยกับคุณ Paul Hemovich ที่เขียนมาว่า มอร์ซีก้าวขึ้นมาได้เพราะพร้อมกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ จริงครับ โมฮัมหมัด มอร์ซี ก้าวมาเป็นประธานาธิบดี หรือผู้นำระบอบประชาธิปไตยใหม่ในอียิปต์ได้ มิใช่เพราะตัวเขามีคุณสมบัติโดดเด่นที่สุดหรือได้รับความนิยมสูงสุด แต่เป็นเพราะองค์กรที่เขาสังกัดคือ The Muslim Brotherhood นับเป็นองค์กรจัดตั้งที่เพียบพร้อมที่สุดในขณะนั้น การวางเครือข่ายอย่างละเอียดลงไปจนถึงระดับชุมชนและครอบครัวของเขามีอยู่แล้ว ถึงจะฟาดฟันมาบ้างกับระบอบมูบารัค แต่ก็ยังเหลือทุนเดิมอยู่มากกว่าใครทั้งหมด 
กรณีนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมากสำหรับเรา เรายังคิดกันไม่พอว่าจะจัดตั้งตัวเองอย่างไรเพื่อให้สามารถ เข้าสู่อำนาจรัฐได้ องค์กรที่จัดตั้งอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย นปช. และแนวร่วมต่างๆ เปี่ยมไปด้วยความแน่วแน่มุ่งมั่นก็จริงอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่กลายเป็นกลไกที่บังคับให้มันเดินด้วยตัวมันเองเมื่อถึงคราวได้ เหตุผลก็เพราะเราบริหารในรูปบริษัทเอกชนมากจนเกินไป จนบางครั้งอาจกลายพันธุ์ไปเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งได้ 
เราต้องมีเครือข่ายที่แยกต่างหากจากหน่วย “แสดง” ในทางการเมือง และต้องมีบทบาทมากกว่าหลังร้านหรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ต้องเป็นองค์กรทำงานจัดตั้ง บริหารมวลชน และวางยุทธศาสตร์ / ยุทธวิธีขับเคลื่อนได้ตลอดเวลา เราจึงจะพร้อมรับสถานการณ์ทุกชนิดที่จะเกิดขึ้นได้

ประการที่สาม โมฮัมหมัด มอร์ซี คือตัวอย่างที่ชี้ถึงสัจธรรมอันเจ็บปวดแต่เป็นความจริงว่า อุดมการณ์กับความสามารถเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง ผู้เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์อาจเป็นผู้บริหารงานที่โหลยโท่ยที่สุดก็ได้ ผู้บริหารงานที่เก่งที่สุดก็อาจปราศจากอุดมการณ์โดยสิ้นเชิงจนเป็นคนไร้รากไร้วิญญาณเลยก็ได้ กระบวนการทางการเมืองของมนุษย์มักชูอุดมการณ์เป็นสำคัญเสมอ แต่ความสำเร็จของผู้นำกลับอยู่ที่การบริหารงานที่เกี่ยวกับทุกข์สุขของประชาชนเป็นหลัก 
เราจำเป็นต้องยอมผ่อนปรนท่าทีให้ องค์กรของเรามีคนหลายๆ จำพวกเอาไว้ บางคนไม่แก่กล้าทางอุดมการณ์นัก แต่พอไหว และเป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ เราก็ต้องคบค้าสมาคมเอาไว้เพื่ิอการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ผมสังเกตว่า เรามักคบกันในเครือข่ายด้วยความคิดทางการเมืองเป็นหลัก โดยลืมเรื่องความสามารถด้านอื่นๆ ไปเกือบหมดสิ้น เราอาจจะต้องทบทวนยุทธวิธีในเรื่องนี้และสะสมคนประเภทใหม่ๆ เอาไว้บ้าง มอร์ซีเกิดปัญหาใหญ่หลวงขณะนี้ด้วยความด้อยในฝีมือและความสามารถในการบริหารงาน มิได้อ่อนด้อยในด้านอุดมการณ์เลย แต่ก็นำพาขบวนทั้งขบวนมาสู่ปากเหวแห่งวิกฤติได้พอๆ กัน
ประการที่สี่ กองทัพและทหารอียิปต์อยู่ในสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างจากไทยมาก นายพันกามัล นัสเซอร์ ที่ก่อปฏิวัติล้มสถาบันกษัตริย์ของพระเจ้าฟารุคเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ จนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ เป็นผู้นำที่ถ่วงดุลระหว่างบารมีของเจ้า กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้ามาตลอด ไม่ยอมให้ใครมีอำนาจเกินเลยไปได้ ผลก็คือ คนอียิปต์มิได้มองกองทัพว่าเป็น “ม้าของพระราชา” แต่เห็นว่าเป็นผู้พิทักษ์ของตนเอง เมื่อถึงคราววิกฤติอย่างในขณะนี้ จึงมีคนอียิปต์จำนวนมากที่สนับสนุนให้ทหารเข้ามาแทรกแซงในทางการเมือง โดยหวังว่าแทรกแซงแล้วก็จะถอยกลับที่ตั้ง ไม่อยู่ในอำนาจอีกต่อไป 

นี่ก็เป็นบทเรียนของสังคมไทยที่ทำให้กองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์ จนผู้บัญชาการทหารบกลืมตัวอยู่หลายครั้ง พร่ำพูดถึงการปกป้องสถาบันฯ โดยลืมอีกสถาบันที่สำคัญเสมอกันคือ สถาบันประชาชน ถ้าเกิดวิกฤติไทยขึ้นอีกครั้ง เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ คือทหารกับประชาชนต้องเผชิญหน้ากันเอง ก็จะเกิดขึ้นอีกได้ เรื่องนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงในกองทัพไทย ความรักในสถาบันฯ ต้องคู่ไปความรักประชาชนด้วย จึงจะอยู่ร่วมกันได้ ยิ่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วเช่นนี้ ก็ต้องอย่าให้เสียโอกาส รายละเอียดนั้นเราคงไปคุยกันนอกรอบ

ประการสุดท้ายคือบทบาทของมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา ผลจากการแทรกแซงของโอบาม่าตามที่เล่าข้างต้นนั้น ปรากฏว่าเหมือนราดน้ำมันลงในกองไฟ ความโกรธของผู้ประท้วงฟูขึ้นมาทันทีที่รู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาวุ่นวายจุ้นจ้านในกิจการภายในของเขา บวกอคติเดิมที่ว่า รัฐบาลวอชิงตันเข้าข้างรัฐบาลของโมฮัมหมัด มอร์ซี ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ในขณะนี้ 

บทเรียนของเราก็คือการลากต่างชาติเข้ามาในกิจการของเรานั้น บางครั้งก็มีประโยชน์บ้าง แต่บางครั้งก็เป็นการเพิ่มดีกรีความโกรธแค้นของกลุ่มอื่นๆ ในสังคมของเราได้ จึงต้องระวังให้ดี อย่าลากต่างชาติเข้ามาเพียงเพราะเราต้องการพวก จำเป็นต้องคิดให้ไกลไปถึงวันที่เราไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเขาแล้วและต้องการให้เขาออกไปจากชีวิตของเราด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มปัญหาใหม่เปล่าๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น