Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กลับมาแล้ว ‚ การเมืองเรื่องข้าว ชาวนา และอคติเมือง

โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


ท่ามกลาง ดราม่าเรื่องข้าวŽ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นับเนื่องมาตั้งแต่เรื่องของข้อถกเถียงจากเรื่องจำนำข้าว มาจนถึง ข้าวเน่า-หนูตาย-แก๊งล้มข้าว-และการรมยาในข้าวนั้น ผมกลับรู้สึกดีใจที่สังคมนี้ให้ความสนใจกับเรื่องของข้าวและเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนหนึ่งของความดีใจก็เพราะว่า เรื่องข้าวและชาวนาจะได้กลายเป็นเรื่องที่กลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้น จากเดิมซึ่งขาดหายไปนานมากนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศนี้ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งที่การศึกษาและการเมืองของเรื่องชนบท ข้าว และชาวนา นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสังคมไทยนับจากอดีตเป็นต้นมา

ในอดีตนั้นเรื่องราวของเศรษฐกิจการเมืองเรื่องชาวนานั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของการเมืองและรัฐเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึง "ขบวนการชาวนา"Ž ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช หรือการเปลี่ยนแปลงประเทศในโลกที่สามไปสู่สังคมนิยม

อย่างน้อยในสังคมไทยเองนั้น เรื่องราวของข้าว ชาวนา และ การผูกโครงสร้างอำนาจกับนา นั้นก็มีให้รับทราบอยู่ทั่วไป ทั้งในชื่อของอาณาจักรอย่าง ล้านนาŽ และระบบเหมืองฝายต่างๆ หรือกระทั่งระบบที่เรียกว่า ศักดินาŽ ที่ผูกพันอำนาจกับเรื่องราวของที่ดิน การปลูกข้าว และการควบคุมกำลังคนรวมทั้งระบบการจัดสรรอำนาจต่างๆ (แม้จะมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่าตกลงเรามีที่ดินเยอะขนาดนั้นจริงหรือ? แต่อย่างน้อยการเรียกกษัตริย์ว่า พระเจ้าแผ่นดินŽ นั้นก็เกี่ยวข้องกับสังคมเกษตรกรรมในแบบที่อิงกับการปลูกข้าวเสมอ ยิ่งสมัยเดิมก็ชัดเจนอยู่ว่าข้าวเป็นสิ่งที่ห้ามส่งออกก่อนยุคสนธิสัญญาบาวริ่งอีกต่างหาก)

นอกจากนี้แล้วในยุคอดีตนั้นจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยและรัฐ-สังคมไทยนั้นเกี่ยวพันกับการขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวและชาวนา เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ดังที่งานวิชาการอย่างงานเศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯของ อาจารย์ผาสุก และอาจารย์คริส เบเกอร์ ชี้ให้เห็นพลังขับเคลื่อนสำคัญนอกเหนือจากรัฐ/กษัตริย์/ขุนนางเอง ก็คือ การ สร้างŽ และขับเคลื่อนพลังชาวนาในชนบท และ พลังกรรมกร (จากจีนอพยพ) ในเมือง ที่ทำให้พลวัตรของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย

เห็นได้ชัดจากปลดปล่อยพลังในชนบทจากโครงสร้างศักดินา และระบบโครงสร้างคูคลองสมัยใหม่ เพื่อเสริมกำลังการผลิตในเรื่องข้าว และการจัดระบบคนจีนอพยพที่ขับเคลื่อนแรงงานในเมือง อันเป็นการก่อร่างสร้างประเทศที่สำคัญก่อนที่จะเป็นเศรษฐกิจการเมืองสมัยใหม่จนถึงวันนี้

หรืออย่างสิ่งที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ เราจะเห็นถึงจุดเปลี่ยนแปลงสังคมสำคัญจากพลังของชาวนาและเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าว มาตั้งแต่อดีต นับตั้งแต่การสำรวจชนบทของไทยก่อนจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือจำนวนฎีกาที่เพิ่มขึ้นของชาวนาต่อองค์พระปกเกล้าฯ และกระทั่งข้อกล่าวหาของคณะราษฎรในประเด็นของ การทำนาบนหลังคนŽ ในแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง

มิพักต้องพูดถึงโครงการจัดการจำกัดการถือครองที่ดินที่เผชิญการต่อต้านอย่างหนักในเค้าโครงเศรษฐกิจฯของนายปรีดี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง



นอกจากนั้นเรายังต้องตั้งหลักกับเรื่องสำคัญอีกประการกนึ่งก็คือ การดำรงอยู่ของรัฐและเศรษฐกิจของไทยในอดีตนั้นจะต้องอยู่ให้ได้ภายใต้การจัดยึดครองจิตใจของชาวนาเป็นที่สำคัญ ดังที่เห็นจากการขับเคลื่อนขบวนการคอมมิวนิสต์เองนั้น หัวใจสำคัญของการต่อสู้ในแบบป่าล้อมเมือง และการต่อสู้ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากจีน และสงครามปลดแอกทั่วโลกในประเทศโลกที่สาม รวมทั้งไทยด้วยก็คือ การยึดกุมจิตใจของชาวนา และการทำความเข้าใจโครงสร้างความเชื่อมโยงของชาวนากับเศรษฐกิจโลก

นับเนื่องมาตั้งแต่ยุคที่เพลง เปิบข้าวŽ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ร้องกันอย่างติดปากในขบวนการนักศึกษา หรือในยุคที่สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย นั้นมีอิทธิพลสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง สามประสานŽ ร่วมกับขบวนการนักศึกษา และ กรรมกร

อย่างไรก็ตาม ความสนใจที่เรามีต่อเรื่องของชาวนาและเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าวนั้นดูจะลดลงไป อย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อน อย่างน้อยนับเนื่องมาจากเมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่เกิดการพัฒนาชนบทอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพัฒนามากมายในชนบท และการส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน (ผมเคยอภิปรายเรื่องเหล่านี้ไว้ในบทความปริทัศน์เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองในการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตร และขบวนการชาวนาในสังคมไทยปัจจุบัน : ข้อสังเกตเชิงวิพากษ์Ž ในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับแรกเมื่อปี 2546)

ยิ่งเมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป มาจนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าธนาธิปไตย และนับเนื่องมาจนถึงการปฏิรูปการเมือง เราจะเห็นว่าจุดสนใจของการเมืองไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และทำให้เห็นตัวแสดงใหม่ๆในการเมืองไทย อย่างน้อยในสามด้าน คือ ชนชั้นกลางในเมือง และ ชาวบ้านในชนบท โดยที่ในเรื่องชาวบ้านในชนบทนั้น เกิดการสร้างภาพที่น่าสนใจออกมาเป็นสองด้าน

หนึ่งคือ กลุ่มคนที่ได้รับความสนใจอย่างมากผ่านวาทกรรม ชาวบ้านŽ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ และโครงการพัฒนา ที่กลายเป็นข้ออ้างและกำลังขับเคลื่อนใน การเมืองภาคประชาชนŽ และ การเมืองแบบประชาสังคมŽ สอดประสานกับพลังก้าวหน้า (ใหม่) ของสังคมอาทิ เอ็นจีโอ และขบวนการต้านโลกาภิวัฒน์ต่างๆ รวมทั้งสมัชชาคนจน

กับกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก แต่เหมือนกับถูกละเลยทางทฤษฎีมาเป็นเวลานาน นั่นคือ ชาวบ้านปกติŽ หรือชาวนาเดิมนั่นแหละครับ โดยคนเหล่านั้นถูกมองว่าได้รับประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองอุปถัมภ์ ที่แปลงตัวเองมาสู่ระบบเลือกตั้ง และระบบสนับสนุนจากโครงสร้างของรัฐที่หมกมุ่นกับการพัฒนามาโดยตลอด

พวกหลังนี่แหละที่เมื่อเกิดการพรากอำนาจของเขาไปหลังจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 49 จึง กลายเป็นไพร่Ž ในวาทกรรมใหม่ที่นักวิชาการจำนวยหนึ่งเกิดอาการตื่นตาตื่นใจจนถึงกับทำวิจัยกันอย่างอึกทึกครึกโครมในช่วงที่ผ่านมา ว่าคนเสื้อแดงพวกนี้เป็นใคร มาจากไหนกันแน่

ถ้าอภิปรายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไปอีกสักหน่อย ก็จะพบว่า ชาวบ้านที่ดูจะอยู่ภายใต้ระบบการเมืองประชาธิปไตยเลือกตั้ง และโลกาภิวัตน์ที่พอจะต่อรองได้ผ่านการต่อรองกับกลไกการเมือง ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบาย เอาใจชาวบ้านŽ นั้นดูจะเป็นที่รังเกียจของพวก การเมืองใหม่Ž มาโดยตลอด แต่อย่างน้อยเมื่อระบบประชาธิปไตยเลือกตั้ง และทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ ดำเนินต่อไป การศึกษาเรื่องการเศรษฐกิจการเมืองในชนบทจึงไม่ค่อยเป็นเรื่องน่าสนใจมากไปกว่า การศึกษาเรื่องของการซื้อเสียงที่ซับซ้อน และระบบเจ้าพ่อที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่ว

จนกระทั่งเมื่อการต่อต้านการรัฐประหารมีมากขึ้น และการเมืองเสื้อแดงขยายตัวนั่นแหละครับ การพยายามจะลดทอนอำนาจของชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในขบวนของประชาสังคมจึงมีมากขึ้น และดูเหมือนว่าการเมืองบนท้องถนนในแบบที่ต่อต้านการรัฐประหารจะถูกลดทอนคุณค่าลง ทั้งที่การเมืองแบบนี้กลายเป็นพื้นที่และกิจกรรมการเมืองของคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีจำนวนมาก ซึ่งถูกกันจากระบบประชาธิปไตยเลือกตั้งที่ถูกพรากไปหมาดๆ และตกขบวนประชาธิปไตยอุดมคติแบบประชาสังคมที่ได้ดิบได้ดีกับการรัฐประหารและกระแสปฏิรูป (สิ่งนี้คือ สังคมของการเมือง (โดยแท้)Ž political society ซึ่ง Chaterjee ในงาน Politics of the Governed วิจารณ์พวกสำนักคิดประชาสังคม (civil society) ไว้นานแล้ว และผมได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในงาน การเมืองของไพร่Ž ตั้งแต่ปี 2550)

และหลังจากการ กระชับพื้นที่Ž ในปี 2553 เราก็จะพบกับการส่งอำนาจต่อให้กับคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของการเมืองอุปถัมภ์และเลือกตั้งที่เป็นอยู่ รวมทั้งความเฟื่องฟูของขบวนการ สินค้าศีลธรรมŽ ต่างๆท่ามกลางกระแสการต่อต้าน ทุน(นิยม)สามานย์Ž ในรูปแบบต่างๆ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สิ่งที่กลายเป็นสนามการต่อสู้สำคัญเรื่องของเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าวและชาวนานั้น ก็มาเป็นเรื่องของการจำนำข้าว และกระแสข้าวเน่า ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ข้อกล่าวหาถึงความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายที่ทำให้เกิดการขาดทุน เกิดการซื้อเสียงทางนโยบาย เกิดการคอร์รัปชั่น และการไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน (อาทิจัดเก็บไม่ดีและรมยาเกินขนาด)

จากการรบรอบที่หนึ่งที่อิงกับเรื่องนโยบายราคา ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังมีการตรึงราคาจำนำข้าวเอาไว้ได้ที่ราคาเดิมไปอีกระยะหนึ่ง เพราะความเป็น ชาวนาŽ นั้นทรงพลังเกินกว่าที่จะ ละเลยŽ ทางนโยบาย และการเมืองในท้ายที่สุด (แม้ว่าการเมืองของชาวนาจะหายไปนานแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้มีพลวัตรสูง เพราะกระแสการ กลับไปเป็นชาวนา (อีกครั้ง)Ž นั้นมีอยู่มาก และจากความเข้าใจจริงที่ว่า ชาวนาŽ นั้นเป็นเพียงบทบาทหนึ่งของผู้คนในทางเศรษฐกิจ ที่ซับซ้อนยิ่งในวันนี้ เพราะในแต่ละครัวเรือนนั้นมีรายได้ที่มามากกว่าหนึ่งทาง หรือมากกว่าจากการเป็นชาวนาเท่านั้น ดังนั้น เราจึงตอบไม่ได้ว่าชาวนาในวันนี้เป็นชาวนาจากอดีต หรือเป็นชาวนาที่แท้ แต่เราตอบได้ว่าชาวนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของชนบทที่มีพลวัตรสูงต่างหาก)

และการรบรอบที่สองนั้นเปลี่ยนจากเรื่องของการต่อสู้กับผู้ผลิต หรือชาวนามาสู่เรื่องของการโจมตีรัฐบาลในฐานะผู้บริโภคในกรณีข้าวเน่า ซึ่งในทางหนึ่งนั้นเหมือนกับจะทรงพลังและเห็นภาพได้ชัดกว่า และสื่อสารได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่ท้าทายมากขึ้นก็คือ แม้ว่างานนี้จะสงบศึกกับ (การเมืองแบบ) ชาวนาที่มีพลังและปริมาณมหาศาล เพราะถูกปลุกขึ้นมาทั้งจากนโยบายเอง และจากอคติเมือง (urban bias) แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องเจอก็คือการลากเอาบริษัทข้าวต่างๆเข้ามาเล่นเกมฟ้องร้องทางกฎหมายโดยตรงเข้าด้วย และยังโยกคลอนสายสัมพันธ์ที่กระชับแน่นของชาวนาและรัฐบาลไม่ได้

ยิ่งในวันนี้แม้ว่าการเมืองของชาวนา จะไม่ได้ออกมาในรูปแบบของ ขบวนการชาวนาŽ อีกต่อไป จนทำให้เราอาจลืมไปว่าการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของขบวนการเท่านั้น แต่เราจะพบว่า ความเป็นชาวนาŽ อาจไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากการทำความเข้าใจง่ายๆ เชิงปริมาณว่ามีคนทำนามากขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเทียบกับภาคการผลิตอื่นๆ แต่อาจจะต้องทำความเข้าใจถึงความเท่าทวีคูณทางอัตลักษณ์ (multiple identities) ของความเป็นชาวนา/ชนบท/ไพร่ ที่กระจายไปในคนจำนวนมากที่เชื่อมโยงตัวเองเข้าด้วยกันทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในวันนี้

และนั่นคือสิ่งที่ตอกย้ำว่า ในท้ายที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่คนที่เรียนเรื่องเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าวและชาวนาเขาศึกษากันมานาน แต่มักไม่ค่อยพูดก็คือเรื่องของ อคติเมืองŽ ที่ต้องการให้สินค้าเกษตรนั้นราคาถูก และการเมืองของชาวนานั้นไร้พลัง นั้นเอาเข้าจริงอาจจะอ่อนแรงลงจากการถูกท้าท้าย ‚ เพราะไปท้าทายและไปร่วมปลุกพลังของชาวนาและเศรษฐกิจการเมืองเรื่องข้าวขึ้นมาอีกครั้ง นั่นแหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น