ที่มา:มติชนรายวัน 22 ก.ค.2556
หมายเหตุ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายพันธ์ศักดิ์ เกตุวัตถา ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังชล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ความเห็นกรณีการเสนอร่าง (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
พงศ์เทพ เทพกาญจนา
พรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลจะมีการประชุมกันในสัปดาห์หน้า ประเด็นที่ว่าวาระต่างๆ ที่มีเรียงกันอยู่บางวาระ กฎหมายบางฉบับก็ยังไม่ถูกบรรจุกลับเข้ามา เพราะว่ายังอยู่ในชั้นกรรมาธิการบ้าง อะไรบ้าง ทางผู้ที่เกี่ยวข้องคงไปดูกันว่าในบรรดาร่าง พ.ร.บ.รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญจะจัดลำดับอย่างไร เพราะว่าร่าง พ.ร.บ.บางฉบับเป็นร่างที่มีกรอบเวลาไว้ว่าจะต้องทำเมื่อใด เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้เป็นร่างที่จะทำให้การจัดวางลำดับต้องคำนึงถึงตัวร่างที่มีกฎเวลาให้สอดคล้องกัน
สำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคงเป็นวาระที่ในส่วนวิปรัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าคงจะเห็นชัดเจนมากขึ้น และคิดว่าม็อบจะไม่มีผลอะไร เพราะในส่วนของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ในส่วนอะไรที่เป็นการแสดงความคิด การเสนอแนะ จะประท้วงอะไรก็แล้วแต่ในกรอบประชาธิปไตย ท่านแสดงอะไรมาเราก็ฟังอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่รูปแบบของการเสนอโดยปกติ เช่น ไปประท้วง ก็รับฟังอยู่แล้ว ขอเพียงให้อยู่ในกรอบของแนวประชาธิปไตย ไม่ใช่นอกแนวประชาธิปไตย เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้เราถือว่าเรามาในกรอบของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมน้อมรับฟังและนำไปดำเนินการด้วยเหตุผลอยู่แล้ว
คิดว่ารัฐบาลมีหน้าที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากพี่น้องประชาชน รัฐบาลก็ดำเนินไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เพราะฉะนั้นการทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับการปรองดองนั้นเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่พี่น้องประชาชนส่วนมากอยากเห็น และรัฐบาลก็ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลก็มีนโยบายในการสร้างความสมานฉันท์ การทำอย่างนี้ไม่ใช่เอาใจใคร เราถือว่าการทำเพื่อพี่น้องประชาชนไม่ว่ากลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่
ในส่วนของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เชื่อว่าพี่น้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง มีความผิดก็เป็นความผิดที่โทษไม่ร้ายแรง เป็นความผิดทางเทคนิค ที่เรียกว่าความผิดเพราะกฎหมายห้าม ไม่ใช่เป็นความผิดในตัว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าไม่ควรที่เขาต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินคดี ส่วนคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วนั้น คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าไม่ควรจะไปเอาผิดกับเขา มีอะไรหลายอย่างที่เห็นตรงกัน แต่เชื่อว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้ไปทำอะไรที่ผิดร้ายแรง คนส่วนใหญ่ก็เห็นไม่ต่างกันว่าควรจะนิรโทษกรรมให้ คิดว่าเป็นส่วนที่ช่วยกันดูได้ แต่สุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบไหนคงไม่มีใครบอกได้
อำนวย คลังผา
ขอย้ำว่าในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลจะมีการประชุมกรอบการทำงานทั้งหมดภายหลังเข้าสู่สมัยการประชุมสภาสามัญทั่วไปที่จะเปิดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ นอกจากนี้ยังจะการมีขอความเห็นและขอมติในที่ประชุมด้วยว่า จะมีมตินำร่างกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระก่อน-หลังตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในวันที่ 1 สิงหาคม จะไม่มีการพิจารณากฎหมาย แต่จะมีการตั้งกระทู้ถามสด กระทู้ถามและเรื่องที่เพื่อรับทราบเท่านั้น
ส่วนกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะคณะรองกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาให้ความเห็นว่า สภาน่าจะลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ในวันที่ 7 สิงหาคมนั้น ก็เป็นความเห็นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องขอให้ที่ประชุมวิปได้แสดงความเห็นและตัดสินใจกันอีกครั้งหนึ่งก่อน ขณะนี้คงให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้
พันธ์ศักดิ์ เกตุวัตถา
หากจะมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขึ้นพิจารณาในที่ประชุมสภา รัฐบาลควรต้องประเมินสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นก่อนว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะนำขึ้นพิจารณา เพราะขณะนี้ได้มีมวลชนบางกลุ่มเริ่มออกมาต่อต้าน ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีตัวแทนไปประสานงานเพื่อพูดคุยหรือสร้างความเข้าใจให้กับมวลชนกลุ่มต่างๆ ก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น คือ การนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมือง โดยไม่รวมแกนนำคนสั่งการ เพราะขณะนี้ประเทศชาติต้องการความสงบ และความปรองดอง เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้
เชื่อว่าเมื่อเปิดประชุมสภา สมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สถานการณ์บ้านเมืองจะมีความร้อนแรงมากขึ้น เพราะยังมีวาระร้อนๆ ที่รอการพิจารณาอยู่ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเงิน และกฎหมายนิรโทษกรรม อาจจะเป็นประเด็นทำให้กลุ่มก้อนต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้าน ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน หันมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง อย่านำความแค้นส่วนตัวมาเป็นชนวนปลุกระดมคนมาชุมนุม
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
เชื่อว่าความร้อนแรงระหว่างการอภิปรายหรือพิจารณากฎหมายจะอยู่ในรัฐสภา แม้ว่าจะร้อนแรงอย่างไรก็เป็นเพียงความร้อนแรงที่เกิดจากคำพูดและอยู่ในกรอบและระเบียบของรัฐสภา ส่วนความร้อนแรงภายนอกรัฐสภานั้นยังเป็นการเลี้ยงกระแสอยู่เพื่อรอปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมอยู่ ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ พ.ร.บ.ปรองดองนั้น ทุกฝ่ายก็ให้ความสำคัญรีบดำเนินการอยู่ แต่เนื่องจากมีหลายฉบับก็คงให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาจะไปหาฉบับสุดท้ายให้ชัดเจนว่าจะเลือกพิจารณาฉบับไหน
ส่วนการกลับมาอีกครั้งของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) รัฐบาลก็ให้เครดิตระดับหนึ่ง เพราะเป็นการสานต่อจาก พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ที่หมดบทบาทไป ส่วนจะยกระดับหรือเป็นการเลี้ยงกระแสก็ต้องดูสถานการณ์ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะมีการชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะมีการใช้กฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมสถานการณ์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มหรือสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยในขณะนี้มีการประเมินแล้วยังไม่น่ามีเหตุผลที่ต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแต่อย่างใด
องค์การพิทักษ์สยามมีความพยายามเชื่อมต่อกับกลุ่มหน้ากากขาว
เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มการเมืองภายนอกสภาต่างๆ มีความพยายามที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน เพียงแต่ว่าหากสถานการณ์ในขณะนั้นมีประเด็นที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวก็อาจจะมารวมกันได้ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป ทั้งนี้ คิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวลดลงมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างแกนนำ 2.ขาดนายทุนผู้สนับสนุน เพราะว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องมีทุนสนับสนุน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลด้วยว่าสามารถสืบสภาพได้แม่นตรงแค่ไหน หากสืบสภาพแม่นยำก็จะทำให้สามารถตัดวงจรเหล่านี้ออกไปได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ก็ยังมีอยู่เหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น